ท้องถิ่น
five-important-facts-that-you-should-know-about-travel

รายงานข่าวจากนักวิชาการอิสระที่ศึกษาติดตามคดีคลองด่านมานับ 10 ปี เปิดเผยว่า จากกรณีที่ นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลง เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2563 กรณี นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกมาเปิดเผยว่า ป.ป.ช.ยกข้อกล่าวหา นายวัฒนา อัศวเหม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมช.มหาดไทย จากกรณี ที่ ป.ป.ช ชุดเดิม(2554) กล่าวหา นายวัฒนา อัศวเหม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ข่มขืนใจ หรือจูงใจให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ สังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลคลองด่าน จัดประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลคลองด่าน เพื่อให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ก่อสร้างอาคารโครงการจัดการน้ำเสีย และได้มีการจัดทำหลักฐานการประชุมสภาอันเป็นเท็จ นั้น

ข้อเท็จจริงที่ ป.ป.ช ชี้แจง ในส่วนเกี่ยวข้องกับนายวัฒนา อัศวเหม มีความผิดพลาดคลาดเคลื่อน ดังนี้ คือ

1.นายวัฒนา อัศวเหม บังคับข่มขืนใจเจ้า พนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ สาขาบางพลี ให้ร่วมกันดำเนินการออกโฉนดที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ ในเขตพื้นที่สงวนหวงห้าม ทับที่สาธารณประโยชน์ ให้แก่ นายวัฒนา อัศวเหม ในนามของ บริษัท ปาล์มบีช ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด

ตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า 

นายรอย อิศราพร ชุตาภา กรรมการผู้มีอำนาจของ บริษัท ปาล์มบีช ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เป็นผู้มอบอำนาจให้ นายกิติชัย พิมพาภรณ์ เป็นผู้ยื่นขอรังวัดออกโฉนด ในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2533  ซึ่ง นายเฉลา ทิมทอง วัย 71 ปี (เกิดปี 2491) ผู้นำคัดค้านการก่อสร้างโครงการบำบัดน้ำเสีย ก็ยืนยันเช่นเดียวกัน

อีก 4-5 ปีถัดมาคือในปี  2535-2536 จึงออกโฉนดเสร็จสิ้น สำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการก็มอบโฉนดให้บริษัท ปาล์มบีชฯ และ นายวัฒนา อัศวเหม มิได้เป็นกรรมการฯบริษัทปาล์มบีชฯ

2.นายวัฒนา อัศวเหม กับพวกได้ร่วมกันรวบรวมที่ดิน แล้วนำมาเสนอขายกรมควบคุมมลพิษ (เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2540) โดยหลอกลวงและปกปิดข้อเท็จจริงที่ว่าที่ดินที่มีเนื้อที่ไม่ครบ เนื่องจากมีการออกโฉนดโดยมิชอบออกทับคลองและถนนสาธารณะ

ตรวจสอบแล้ว ปรากฎข้อเท็จจริง ว่า บริษัทปาล์มบีช ดีเวลอบเมนท์ จำกัด เป็นผู้รวบรวมที่ดิน ต่อมาขายให้กับ บริษัทคลองด่านมารีน จำกัด เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2537 ( ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีแผนโรงบำบัดน้ำเสียคลองด่าน)และบริษัทคลองด่านมารีน

ขายให้กับกรมควบคุมมลพิษอีกทอดหนึ่ง ซึ่งนายวัฒนาก็ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆอีกเช่นกัน ‘เนื่องจากไม่มีพยานหลักฐานใดที่ยืนยันว่านายวัฒนาเข้ามาเกี่ยวข้องกระทำการใดใดให้คณะกรรมการคัดเลือกของกลุ่มควบคุมมลพิษเลือกที่ดินของบริษัทคลองด่านมารีน แอนด์ ฟิชเชอนรี่ จำกัด’ ( คำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ 2794 / 2553 หมายเลขแดงที่ 14544 / 2556 วันที่ 19 กรกฎาคม 2556)

โดยมีข้อเท็จจริงว่า วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2541 ตัวแทนกระทรวงการคลัง (นางยุวรี อินนา) รับโอนที่ดินจากบริษัทคลองด่านมารีน แอนด์ฟิชเชอรี่ จำกัด ( รายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและติดตามตรวจสอบโครงการจัดการน้ำเสีย เขตควบคุมมลพิษจังหวัดสมุทรปราการ วุฒิสภา ส่วนที่ 1 : 27 มีนาคม 2546) และ นายวิรัตน์ จุลนวล ผู้รับมอบอำนาจ จาก บริษัทคลองด่านมารีน แอนด์ฟิชเชอรี่ จำกัด ทำสัญญาขายที่ดินให้กับกรมควบคุมมลพิษ ( คำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ 2794 / 2553 หมายเลขแดงที่ 14544 / 2556 วันที่ 19 กรกฎาคม 2556 หน้า 44)

0 Comments
Share

Admin

Reply your comment

Your email address will not be published. Required fields are marked*