วันนี้ (19 กรกฎาคม 2563) นับเป็นวันที่ 69 แล้วนับตั้งแต่วันที่พบศพน้องชมพู่ (14 พ.ค.2563) ผ่านมาเนิ่นนานกว่า 69 วันแล้ว ที่พนักงานสอบสวนยังไม่สามารถหาตัวคนร้าย หรือ ผู้ที่ทำให้น้องชมพู่ถึงแก่ความตายได้เลย หรือ สาเหตุที่ทำให้น้องชมพู่ถึงแก่ความตายได้เลย เนื่องจากแพทย์ผู้ชันสูตรพลิกศพทั้งสองคนไม่สามารถระบุ สาเหตุการตายของน้องชมพู่ได้เลย ทั้งนี้แพทย์นิติเวชทั้งสองคนระบุสิ่งที่เหมือนกันคือ “ พบบาดแผลตามร่างกาย” แต่มีส่วนที่แตกต่างกัน คือ “ บาดแผลที่บริเวณอวัยวะเพศ” โดยแพทย์นิติเวชคนแรกระบุว่า “ไม่พบบาดแผลที่บริเวณอวัยะเพศ” แต่แพทย์นิติเวชคนที่สองกลับระบุ“ พบบาดแผลที่บริเวณอวัยวะเพศ ” ซึ่งแตกต่างในประเด็นสำคัญ แต่ต่อมาในภายหลัง แพทย์นิติเวชคนหลังได้อธิบายว่า “บาดแผลที่บริเวณอวัยวะเพศดังกล่าว อาจเกิดจากการเคลี่อนย้ายศพ หรือเกิดภายหลังการผ่าในครั้งแรกและเป็นบาดแผลภายหลังการตาย” และเมื่อแพทย์นิติเวชคนที่สองได้อธิบายขยายความดังกล่าว ประเด็นเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศจึงหายไป
คงเหลือประเด็นแต่เพียง “ น้องชมพู่ถูกทำให้ตาย” หรือ “น้องชมพู่ตายเอง” (ขาดน้ำ ขาดอาหาร)
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 148 บัญญัติว่า ให้มีการ “ ชันสูตรพลิกศพ ” ในกรณีดังต่อไปนี้
- ตายโดยผิดธรรมชาติ
- ตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน
แต่ถ้าเป็นการ “ ตายโดยการประหารชีวิตตามกฎหมาย ” ไม่ต้องมีการชันสูตรพลิกศพแต่อย่างใด
“ การตายโดยผิดธรรมชาติ ” หมายถึง
- (1) ฆ่าตัวตาย
- (2) ถูกผู้อื่นทำให้ตาย
- (3) ถูกสัตว์ทำร้ายตาย
- (4) ตายโดยอุบัติเหตุ
- (5) ตายโดยยังมิปรากฏเหตุ
การตายของ “น้องชมพู่ ” ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ น้องชมพู่จะ ฆ่าตัวตาย หรือ ถูกผู้อื่นทำให้ตาย หรือถูกสัตว์ทำร้ายตาย หรือ ตายโดยอุบัติเหตุ หรือ ตายโดยยังมิปรากฏเหตุ ก็ตาม ถือได้ว่า เป็น “ การตายโดยผิดธรรมชาติ” ซึ่งต้องทำ “ชันสูตรพลิกศพ”
การชันสูตรพลิกศพกรณีที่เป็นการตายโดยผิดธรรมชาติ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 150 กำหนดให้ต้องดำเนินการดังต่อไปนี้
1.ให้ พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่ กับ แพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ ทำ บันทึกรายละเอียดแห่งการชันสูตรพลิกศพทันที และให้แพทย์ดังกล่าวทำรายงานแนบท้ายบันทึกรายละเอียดแห่งการชันสูตรพลิกศพ ให้เสร็จภายใน เจ็ดวัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งเรื่อง แต่ถ้าไม่ทัน ขยายระยะเวลาได้ แต่ต้องไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินสามสิบวัน (แสดงว่า บันทึกรายละเอียดแห่งการชันสูตรพลิกศพ ต้องทำให้แล้วเสร็จ ไม่เกิน 67 วัน ) แต่ต้องบันทึกเหตุผลและความจำเป็นในการขยายระยะเวลาทุกครั้งไว้ในสำนวนชันสูตรพลิกศพ รายงานดังกล่าวให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของ “ สำนวนชันสูตรพลิกศพ”
2. ถ้า “ ความตายมิได้เป็นผลแห่งการกระทำผิดอาญา ” ให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนชันสูตรพลิกศพไปยัง “พนักงานอัยการ” เมื่อเสร็จสิ้นการชันสูตรพลิกศพโดยเร็ว
3.เมื่อ พนักงานอัยการได้รับ “ สำนวนชันสูตรพลิกศพ” ที่ความตายมิได้เป็นผลแห่งการกระทำผิดอาญา ให้พนักงานอัยการดำเนินการต่อไปตามมาตรา 156 คือ ส่งสำนวนชันสูตรพลิกศพไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อพิจารณาต่อไป
4. ให้ “ ผู้ชันสูตรพลิกศพ” ทำความเห็นเป็นหนังสือ “ แสดงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย, ผู้ตายคือใคร, ตายที่ไหน เมื่อใด ถ้าตายโดยคนทำร้าย ให้กล่าวว่าใครหรือสงสัยว่าใครเป็นผู้กระทำผิดเท่าที่จะทราบได้ ( มาตรา 154)
ดังนั้น เมื่อคดีนี้ พนักงานสอบสวนสืบสวนสอบสวนมานานกว่า 69 วัน ( ซึ่งเกินกว่ากำหนดเวลาที่กฏหมายกำหนด คือ 67 วัน ) ยังไม่ปรากฏคนร้ายหรือ ผู้ที่ทำให้น้องชมพู่ถึงแก่ความตาย หรือ สาเหตุการตายของน้องชมพู่ ซึ่งการตายของน้องชมพู่ถือได้ว่า เป็นการตายโดยผิดธรรมชาติ ที่ความตายยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าเกิดจากการกระทำผิดทางอาญาของบุคคล จึงชอบที่พนักงานสอบสวนจะต้องทำสำนวนชันสูตรพลิกศพแล้ว ส่งสำนวนชันสูตรพลิกศพไปยัง พนักงานอัยการแห่งท้องที่เพื่อพิจารณา และหากพนักงานอัยการเห็นว่า เป็นสำนวนการชันสูตรพลิกศพที่ ความตายมิได้เกิดจากการกระทำผิดอาญา ก็จะทำความเห็นและคำสั่งส่งสำนวนการชันสูตรพลิกศพดังกล่าวไปยัง “ ผู้ว่าราชการจังหวัด” เพื่อพิจารณา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 ประกอบมาตรา 156 ต่อไป
แต่ถ้า พนักงานอัยการ เห็นว่า สำนวนชันสูตรพลิกศพที่ความตายโดยผิดธรรมชาติ ดังกล่าว เป็นสำนวนการชันสูตรพลิกศพที่ความตายเกิดจากการกระทำผิดทางอาญา ก็จะส่งสำนวนชันสูตรพลิกศพดังกล่าว กลับคืนไปยังพนักงานสอบสวนเพื่อให้พนักงานสอบสวนสืบสวนสอบสวนต่อไป
หากต่อมา พนักงานสอบสวนสามารถสืบสวนสอบสวนจนปรากฏข้อเท็จจริงได้ว่า ความตายของน้องชมพู่เกิดจากการกระทำผิดทางอาญาของผู้หนึ่งผู้ใด ก็ชอบที่พนักงานสอบสวนจะได้นำพยานหลักฐานที่สืบสวนสอบสวนมาได้ในภายหลังมารวมเข้ากับสำนวนกับสำนวนชันสูตรพลิกศพเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด หรือ ผู้ที่ทำให้น้องชมพู่ถึงแก่ความตายต่อไป
ฉะนั้น จึงไม่จำเป็นต้องเร่งหา “แพะ” หรือ “แกะ” มารับโทษ หากแต่ สมควรที่จะต้องหาผู้กระทำผิดตัวจริงมาลงโทษต่อไป
แต่ก่อนอื่น….ต้องหา “ สาเหตุการตายให้ได้ก่อน” “น้องชมพู่ตายด้วยสาเหตุใด” เป็นการ ตายเอง หรือถูกทำให้ตาย จำเป็นต้องฟังจาก ผลการผ่าพิสูจน์ของแพทย์นิติเวชคนแรก ( ร.พ.สรรพสิทธิ์ประสงค์) เป็นสำคัญ (ตายเองหรือถูกทำให้ตาย) ส่วนการที่ น้องชมพู่ ไปตายในป่าเทือกเขาภูพานน้อยบน ที่สูงได้อย่างไร เชื่อว่า มีคนพาน้องชมพู่ไป แต่จะเป็นการพาไปในขณะน้องชมพู่ยังมีชีวิตหรือเสียชีวิตแล้วก็คงเป็นอีกประเด็นหนึ่ง ส่วนใครเป็นผู้พาไป และพาไปด้วยสาเหตุใด และพาไปแล้ว พากลับมาด้วยหรือไม่ หรือปล่อยทิ้งน้องชมพู่ไว้บนเขาจนกระทั่งน้องชมพู่ถึงแก่ความตายหรือไม่ และการปล่อยทิ้งเด็กสามขวบไว้บนภูเขา (ป่าเขา) ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่า น้องชมพู่อาจเสียชีวิตจากการขาดน้ำขาดอาหาร ถูกกิ่งไม้ขีดข่วนเป็นแผลได้
“ ฤ คดีน้องชมพู่ จะเป็นเค่สำนวนชันสูตรพลิกศพ”
แต่ สำนวนชันสูตรพลิกศพ ก็มิได้หมายถึงจุดสิ้นสุดแห่งคดี หากแต่เป็นจุดเริ่มต้นสอบสวนโดยไร้แรงกดดัน สืบสวนโดยคนร้ายอาจเผลอ หรือไม่ระมัดระวังตัว หรือพยานหลักฐานเริ่มปรากฏชัด ดังคำกล่าว “ น้ำลด ต่อผุด ” ก็อาจเป็นได้
นายวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์
อัยการจังหวัดอำนาจเจริญ
รองประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม(คนที่สี่) ในคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร