เหตุใด “ อัยการสั่งไม่ฟ้อง นาย บอสส์ จึงรุนแรงเหลือเกิน ” ทั้งที่คดีนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้องพนักงานอัยการ
ชั่วโมงนี้ คงไม่มีใคร ไม่รู้จัก “ บอสส์ อยู่วิทยา” พอพอกับไม่มีใครไม่รู้จัก “ น้องชมพู่” ณ.บ้านกกกอก
กระแสของ “นายบอสส์” แรงมากกก… มากจนกระทั่งกลบกระแสข่าว “ คดีน้องชมพู่ ” และมากจนกระทั่งกลบข่าวที่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ “ยกฟ้อง”ในคดีที่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นท่านหนึ่งที่ได้ใช้อาวุธปืนยิงตัวเองจนถึงแก่ความตาย….ใช้ “ชีวิตหนึ่งชีวิต” แลกกับคำพิพากษาที่ตนเห็นว่า จำเลยไม่มีความผิด จึงมีคำพิพากษา“ ยกฟ้อง ” แต่ในท้ายที่สุดศาลอุทธรณ์ก็พิพากษากลับเป็น พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย หนึ่งชีวิตที่จากไป แต่อาจจะไม่เป็นผล เพราะในที่สุดศาลอุทธรณ์ก็มีคำพิพากษากลับ เป็นลงโทษจำคุกจำเลย คงจะต้องรอดูต่อไปว่า คดีนี้ศาลฎีกาจะพิพากษา “ยืน” ตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ (คือจำคุก) หรือ “กลับ” คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์( คือ ยกฟ้องตามศาลชั้นต้น) แต่หากศาลฎีกาพิพากษากลับเป็น “ ยกฟ้อง ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น “ หนึ่งชีวิตของผู้พิพากษาที่จากไปแลกกับอิสรภาพของจำเลย” ยังคงเป็น คำถามที่ต้องการคำตอบ แต่ผู้ที่ตอบคำถามนั้นได้ เขาไม่ได้อยู่กับเรา เขาได้จากเราไปแล้ว ”
มาดูว่า ศาลมีดุลพินิจวินิจฉัย หรือไม่ ?
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 กำหนด “ ให้ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัย ชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง อย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น
หากมีความ สงสัยตามสมควร ว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ให้ศาลยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลย ( หรือพิพากษายกฟ้องนั่นเอง)
ฉะนั้น เมื่อศาลเกิดความสงสัยว่า “ จำเลยได้กระทำผิดตามฟ้องโจทก์หรือไม่ และการกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดตามกฏหมายหรือไม่ ” ศาลมีดุลพินิจวินิจฉัย “ ยกฟ้อง” ได้เลย
อันแสดงให้เห็นว่า “ ศาลมีดุลพินิจวินิจฉัยพิพากษาคดี ซึ่งหากคู่ความไม่พอใจ หรือไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาล ไม่ว่าจะเป็น “ข้อเท็จจริง” หรือ “ข้อกฎหมาย” ก็สามารถยื่น “ อุทธรณ์” หรือ “ ฎีกา” คัดค้านคำพิพากษานั้นต่อศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกา (แล้วแต่กรณี) เว้นแต่จะเป็นกรณีต้องห้ามมิให้ อุทธรณ์ หรือ ฎีกา โดยมีกฎหมายรองรับดุลพินิจวินิจฉัยดังกล่าว
การสั่งคดีของพนักงานอัยการ มีกฎหมายใดมารองรับ ดุลพินิจวินิจฉัย ?
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
มาตรา 248 พนักงานอัยการมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปโดยรวดเร็ว เที่ยงธรรม และปราศจากอคติทั้งปวงและไม่ถือเป็นคำสั่งทางปกครอง
การพิจารณาสั่งสำนวนคดีและการดำเนินคดีของพนักงานอัยการ มีอิสระจริงหรือ ?
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 “ ห้ามมิให้ พนักงานอัยการ ยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน”
แสดงว่า การพิจารณาสั่งคดีและการดำเนินคดีของพนักงานอัยการในฐานะ“ ทนายแผ่นดิน” จะฟ้องคดีต่อศาลได้ ต่อเมื่อ มีการสอบสวนในความผิดฐาน นั้นแล้ว
นอกจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาดังกล่าวแล้ว การดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการยังคงอยู่ภายใต้ ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ.2547 ข้อ 56 (2) พนักงานอัยการพิจารณาสั่งสำนวน โดยพิจารณาพยานหลักฐานในสำนวนว่า เป็นพยานหลักฐานซึ่งน่าจะพิสูจน์ความผิด หรือ บริสุทธิ์ของผู้ต้องหา หรือไม่ เช่น พยานบุคคล พยานเอกสาร พยานวัตถุ รวมทั้ง คำให้การของผู้ต้องหาในชั้นสอบสวน
ฉะนั้น การพิจารณาสั่งสำนวนคดีและการดำเนินคดีของพนักงานอัยการ จึงต้องพิจารณาจาก พยานหลักฐานเฉพาะที่ผ่านการสอบสวนของพนักงานสอบสวนในสำนวนการสอบสวนเท่านั้น พนักงานอัยการไม่อาจนำพยานหลักฐานที่อยู่ภายนอกสำนวนการสอบสวน หรือที่ไม่ได้ผ่านการสอบสวนจากพนักงานสอบสวน มาพิจารณาสั่งสำนวนคดีได้ รวมทั้งต้องฟังพยานหลักฐานที่น่าจะพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหาหรือพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาด้วย ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่คู่ความทุกฝ่าย
ทฤษฎี “ ต้นไม้พิษ ผลย่อมเป็นพิษ”
เมื่อ ต้นไม้ต้นนี้เป็นต้นไม้ที่มีพิษ ผลไม้อันเกิดจากหรือเป็นผลพวงจากต้นไม้พิษดังกล่าว ย่อมเป็นพิษด้วย ฉันใด การสอบสวนที่มีแต่พยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือ การสอบสวนที่มีแต่พยานหลักฐานอันเป็นเท็จ พยานหลักฐานที่ไม่ตรงไปตรงมา พยานไม่ได้พูดความจริง พยานหลักฐานที่ตกแต่งมา การพิจารณาสั่งคดีและการดำเนินคดีของพนักงานอัยการ ย่อมไม่อาจถูกต้องและเป็นธรรม ได้ฉันนั้น
พนักงานอัยการ มิอาจทราบได้เลยว่า พยานบุคคลที่พนักงานสอบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานมาดังกล่าวนั้นจะให้การจริง หรือให้การเท็จ ดังนั้น พนักงานอัยการในฐานะผู้ดำเนินคดีอาญาแทนรัฐ ( ทนายแผ่นดิน) จะต้องใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานว่า คำให้การของพยานหรือพยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวนได้รวบรวมมาในสำนวนการสอบสวนนั้น น่าเชื่อว่าถูกต้องหรือไม่อย่างไร หากเชื่อว่าถูกต้อง ก็ต้องพิจารณาต่อไปว่า พฤติการณ์และการกระทำของผู้ต้องหาตามที่พยานหลักฐานหรือพยานบุคคลดังกล่าว จะเป็นความผิดตามกฎหมายหรือไม่อย่างไร หรือ มีกฎหมายยกเว้นความผิด กฎหมายยกเว้นโทษหรือไม่อย่างไร พนักงานอัยการก็จะพิจารณาสั่งสำนวนคดีไปตามพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนการสอบสวนนั้น
แล้วหากพยานให้การเท็จ หรือพยานให้การไม่ตรงกับความจริงพนักงานอัยการจะทำอย่างไร ?
หากยังไม่ได้มีการสืบพยานในชั้นศาล พนักงานอัยการไม่อาจทราบได้เลยว่า พยานบุคคลดังกล่าว จะให้การเท็จ หรือ เบิกความเท็จ พนักงานอัยการจะทราบว่าพยานให้การเท็จหรือเบิกความเท็จ ต่อเมื่อมีการสืบพยานในชั้นศาล โดยมีการซักถาม , ซักค้าน เพราะหากสิ่งที่พยานเบิกความไม่เป็นความจริง ความจริงย่อมปรากฏ ความเท็จย่อมปรากฏ ( แต่ก็มีบางคดีที่พยานตระเตรียมมาดี/ซักซ้อมพยานมาดี พยานเบิกความไม่แตกต่างกันจนศาลเชื่อในคำเบิกความของพยานเท็จดังกล่าวก็อาจพิพากษาลงโทษจำเลยก็อาจเป็นได้ เช่น คดี เชอรี่แอนดันแคน )
พนักงานอัยการคงจะพิจารณาพยานหลักฐานในสำนวนคดีได้แต่เพียงว่า พยานปากดังกล่าว หรือพยานหลักฐานดังกล่าว น่าเชื่อว่า จะให้การไปตามความเป็นจริงหรือไม่ อย่างไร หรือ คำให้การดังกล่าวน่าเชื่อถือหรือถูกต้องตรงตามความเป็นจริงหรือไม่ หากเชื่อ… พนักงานอัยการก็จะนำมารับฟังแล้ววินิจฉัย แต่หากไม่เชื่อ ก็จะไม่หยิบยกเอาคำให้การของพยานปากดังกล่าวมาวินิจฉัย จึงเป็น “ดุลพินิจวินิจฉัย” ที่เกิดจากการรับฟังพยานหลักฐานในสำนวนคดีอาญาเท่านั้น
นอกจากข้อจำกัดดังกล่าวแล้ว ตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดฯ ข้อ 56 ดังกล่าว การพิจารณาพยานหลักฐานในสำนวนคดีอาญาของพนักงานอัยการ พนักงานอัยการจักต้องพิจารณาทั้งเพื่อพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหา และ เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา ประกอบ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พุทธศักราช 2560 มาตรา 29 กำหนดว่า“ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด “
ประเด็นปัญหาเกิดจาก “ การร้องขอความเป็นธรรม ”
ตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ.2547 ข้อ 48 กำหนด “ ในคดีที่มีการร้องขอความเป็นธรรมและเป็นกรณีที่พนักงานอัยการจะมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทุกข้อหาหรือบางข้อหาให้เสนอสำนวนพร้อมความเห็นตามลำดับชั้นถึงอธิบดีเพื่อ พิจารณาสั่ง
แต่ในกรณีที่พนักงานอัยการจะมีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหา ก็ให้ทำจัดทำ บันทึกส่งคำร้องขอความเป็นธรรม, สำเนาความเห็นและคำสั่งพร้อมทั้งสำเนารายงานการสอบสวน เสนอไปยังอธิบดีอัยการเพื่อทราบ
แต่การร้องขอความเป็นธรรม แทนที่จะเป็นการแก้ปัญหาให้แก่คู่ความที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมให้ได้รับความเป็นธรรม แต่กลับกลาย เป็นดาบสองคม ด้านหนึ่งเพื่อให้คู่ความที่ไม่ได้รับความจากเป็นธรรมจากพนักงานสอบสวนให้ได้รับความเป็นธรรมอย่างเต็มที่ แต่ในทางตรงข้ามกลับกล่ายเป็นช่องว่างให้คู่ความใช้ในการประวิงคดี
ในการพิจารณาและดำเนินคดีของ “พนักงานอัยการ” จะมีความแตกต่างจาก การพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
การสั่งคดีของพนักงานอัยการ จะพิจารณาจากพยานหลักฐานในสำนวนคดี
หากพยานหลักฐาน “ พอฟ้อง” จะพิจารณา “ สั่งฟ้อง” และ “ ยื่นฟ้อง” ดำเนินคดีกับผู้ต้องหา
หากพยานหลักฐาน “ ไม่พอฟ้อง” อาจพิจารณาสั่ง“ สอบสวนเพิ่มเติม”(หากเห็นว่า พยานหลักฐานยังไม่พอวินิจฉัยอย่างหนึ่งอย่างใดได้ ) หรือ “ สั่งไม่ฟ้อง” (หากเห็นว่า พยานหลักฐานไม่พอฟ้อง)
พยานหลักฐาน พอฟ้อง ก็มิได้หมายความว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้กระทำผิด จนกว่าจะสืบพยานพิสูจน์ความผิด และศาลพิพากษาว่า จำเลยเป็นผู้กระทำผิด
พยานหลักฐาน “ไม่พอฟ้อง” ก็มิได้หมายความว่า ผู้ต้องหา ไม่ได้เป็นผู้กระทำผิด หรือการกระทำของผู้ต้องหาไม่เป็นความผิด หากแต่ พยานหลักฐานไม่เพียงพอฟ้องคดีต่อศาล เช่น การกระทำของผู้ต้องหาไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย หรือ ผู้ต้องหาไม่ได้เป็นผู้กระทำผิด มีกฎหมายยกเว้นความผิด มีกฎหมายยกเว้นโทษ เป็นต้น
“ การฟ้องคดีต่อศาลทั้งที่ พยานหลักฐานไม่เพียงพอฟ้อง เท่ากับเป็นการฟอกจำเลยให้พ้นผิด(หากศาลพิพากษายกฟ้อง ) และหากจะให้ต้องฟ้องคดีทุกคดีไปพิสูจน์กันในชั้นศาลเท่ากับเป็นการเพิ่มปริมาณคดีในศาล และอาจทำให้การพิจารณาคดี ไม่ต่อเนื่อง รวดเร็วและเป็นธรรม ดังคำกล่าวที่ว่า “ กระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้า เท่ากับความไม่ยุติธรรม”
การที่พยานหลักฐานไม่พอฟ้องและการสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ ไม่ได้มีความหมายว่า ผู้ต้องหาไม่ได้เป็นผู้กระทำผิดดังที่ได้กล่าวแล้ว หากแต่พยานหลักฐานยังไม่พอฟ้อง แต่อย่างไรก็ตาม คำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะฟ้องคดีต่อศาลด้วยตนเอง ทั้งนี้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 34
อย่างไรก็ตาม แม้พนักงานอัยการจะมีคำสั่งไม่ฟ้อง คำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการดังกล่าว ยังไม่ถึงที่สุด โดยยังคงต้องถูกตรวจสอบความถูกต้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 145 ในกรณีที่มีคำสั่งไม่ฟ้อง และคำสั่งนั้นไม่ใช่ของ อัยการสูงสุด ถ้าในกรุงเทพมหานคร ให้รีบส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมกับคำสั่งไปเสนอ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ถ้าในจังหวัดอื่นให้รีบส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมกับคำสั่งไปเสนอผู้ว่าราชการจังหวัด
ในกรณีที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดอื่นแย้งคำสั่งของพนักงานอัยการ ให้ส่งสำนวนพร้อมกับความเห็นที่แย้งกันไปยัง อัยการสูงสุดเพื่อชี้ขาด
มาตรา 145/1 สำหรับการสอบสวนซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าพนักงานตำรวจในกรณีที่มีคำสั่งไม่ฟ้องและคำสั่งนั้นไม่ใช่คำสั่งของอัยการสูงสุด ถ้าในกรุงเทพมหานครให้รีบส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมกับคำสั่งเสนอผู้บัญชาการตำรวจ ถ้าในจังหวัดอื่นให้รีบส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมกับคำสั่งเสนอผู้บัญชาการหรือรองผู้บัญชาการ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ
ในกรณีที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในกรุงเทพมหานคร หรือผู้บัญชาการหรือรองผู้บัญชาการซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในจังหวัดอื่นแย้งคำสั่งของพนักงานอัยการให้ส่งสำนวนพร้อมกับความเห็นที่แย้งไปยังอัยการสูงสุดเพื่อชี้ขาด
จะเห็นได้ว่าการที่พนักงานอัยการพิจารณาพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวนรวมถึงพยานหลักฐานที่ได้จากการสอบสวนเพิ่มเติมจากการร้องขอความเป็นธรรม (ที่ผ่านการสอบสวนแล้ว) และมีคำสั่งไม่ฟ้องแล้วเสนอสำนวนคดีไปยัง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแล้ว แต่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการดังกล่าว คดีย่อมเป็นอันถึงที่สุด ตามบทกฎหมายดังกล่าว
สำหรับประเด็น พยานหลักฐานในเรื่องความเร็วรถที่มีความเปลี่ยนแปลงไป และการมีพยานบุคคลมาให้การเพิ่มเติมยืนยันข้อเท็จจริงที่เปลี่ยนแปลงไป ( ซึ่งหากต่อมาได้ความว่า พยานให้การเท็จ พยานปากนั้นจะต้องถูกดำเนินคดีฐาน แจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน ) ดังนั้น พยานที่ผ่านการสอบสวนดังกล่าว พนักงานอัยการย่อมมีดุลพินิจวินิจฉัยว่า จะ” เชื่อ” หรือ “ไม่เชื่อ” พยานหลักฐานทีได้มาภายหลังการร้องขอความเป็นธรรม แต่ไม่ว่า พนักงานอัยการ จะมีความเห็นและคำสั่งทางคดีอย่างไรก็ตาม ความเห็นและคำสั่งของพนักงานอัยการก็ยังคงถูกตรวจสอบโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติตามที่กฏหมายบัญญัติดังกล่าว
ฉะนั้น ไม่ว่า การสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการในคดีนี้ หรือ คดีอื่นใดก็ตาม ก็เป็นไปตามหลักกฏหมายดังที่ได้กล่าวมาแล้ว เพียงแต่ว่า “ดุลพินิจวินิจฉัยสั่งคดี” ของพนักงานอัยการกลับไม่มีกฎหมายคุ้มครองดังเช่นดุลพินิจวินิจฉัยของศาลยุติธรรมทีให้คู่ความที่ไม่เห็นด้วยสามารถอุทธรณ์หรือฎีกาโต้แย้งคัดค้านได้ ( ทั้งที่ความจริงแล้ว คำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะฟ้องคดีด้วยตนเองได้เท่านั้น และ พนักงานอัยการมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปโดยรวดเร็ว เที่ยงธรรม และปราศจากอคติทั้งปวงและไม่ถือเป็นคำสั่งทางปกครอง )
ฉะนั้น การที่ พยานหลักฐานในสำนวนเป็นอย่างไร และพยานหลักฐานดังกล่าวจะถูกต้องหรือไม่อย่างไรนั้น หากพยานหลักฐานในสำนวน ไม่ถูกต้อง ย่อมเปรียบเสมือน “ต้นไม้พิษ ” เพราะการสั่งสำนวนคดีของพนักงานอัยการ ไม่อาจนำพยานหลักฐานนอกสำนวนคดี หรือพยานหลักฐานตามที่ปรากฎจากสื่อมาพิจารณาสั่งสำนวนคดีได้ และเมื่อ “ต้นไม้พิษ” แล้ว การพิจารณาสั่งสำนวนคดีจากพยานหลักฐานที่ไม่ถูกต้อง ย่อมไม่อาจถูกต้องและเป็นธรรมได้
ดังทฤษฎีที่ว่า “ต้นไม้พิษผลย่อมเป็นพิษ ”
นายวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์
อัยการจังหวัดอำนาจเจริญ
รองประธานคณะอนุกรรมาธิการการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
(คนที่สี่)ในคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร