เมื่อวันก่อน เพิ่งเห็นข่าวแม่ของน้องชมพู่ทำบุญ 100 วันให้แก่น้องชมพู่ ณ.บ้านกกกอก นั่นหมายความว่า เป็นเวลากว่า100 วันแล้ว ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่สามารถรู้ตัวคนร้ายที่ทำให้น้องชมพู่ถึงแก่ความตายหรือสาเหตุการตายน้องชมพู่ได้เลย จนกระทั่งปัจจุบันนี้ ก็ยังหาคำตอบไม่ได้ว่า น้องชมพู่เดินขึ้นไปบนภูเหล็กไฟด้วยตนเอง หรือมีผู้พาน้องชมพู่ขึ้นไปบนภูเหล็กไฟแล้วไปปล่อยหรือทำให้น้องชมพู่ถึงแก่ความตายบนภูเหล็กไฟ
ในครั้งก่อน ผู้เขียนได้เขียนบทความเรื่อง “ คดีน้องชมพู่ ฤาจะแค่ คดีชันสูตรพลิกศพ ”
“ คดีชันสูตรพลิกศพ” แตกต่างจาก “ คดีอาญาทั่วไป” อย่างไร ?
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 148 บัญญัติว่า
ให้มีการ “ ชันสูตรพลิกศพ ” ในกรณีดังต่อไปนี้
1.ตายโดยผิดธรรมชาติ
2.ตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน
แต่ถ้าเป็นการ“ตายโดยการประหารชีวิตตามกฎหมาย ” ไม่ต้องมีการชันสูตรพลิกศพแต่อย่างใด
“ การตายโดยผิดธรรมชาติ ” หมายถึง
(1) ฆ่าตัวตาย
(2) ถูกผู้อื่นทำให้ตาย
(3) ถูกสัตว์ทำร้ายตาย
(4) ตายโดยอุบัติเหตุ
(5) ตายโดยยังมิปรากฏเหตุ
ฉะนั้น การตายของ “น้องชมพู่ ” ไม่ว่าจะเป็นกรณีน้องชมพู่ ฆ่าตัวตาย หรือถูกผู้อื่นทำให้ตาย หรือถูกสัตว์ทำร้ายตาย หรือ ตายโดยอุบัติเหตุ หรือ ตายโดยยังมิปรากฏเหตุ ก็ตาม ถือได้ว่า เป็น “ การตายโดยผิดธรรมชาติ” ซึ่งต้องทำ “ชันสูตรพลิกศพ”
การชันสูตรพลิกศพกรณีที่เป็นการตายโดยผิดธรรมชาติ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 150 กำหนดให้ต้องดำเนินการดังต่อไปนี้
1.ให้ พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่ กับ แพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ ทำ บันทึกรายละเอียดแห่งการชันสูตรพลิกศพทันที และให้แพทย์ดังกล่าวทำรายงานแนบท้ายบันทึกรายละเอียดแห่งการชันสูตรพลิกศพ ให้เสร็จภายใน เจ็ดวัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งเรื่อง แต่ถ้าไม่ทัน ขยายระยะเวลาได้ แต่ต้องไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินสามสิบวัน (แสดงว่า บันทึกรายละเอียดแห่งการชันสูตรพลิกศพ ต้องทำให้แล้วเสร็จ ไม่เกิน 67 วัน ) แต่ต้องบันทึกเหตุผลและความจำเป็นในการขยายระยะเวลาทุกครั้งไว้ในสำนวนชันสูตรพลิกศพ รายงานดังกล่าวให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของ “ สำนวนชันสูตรพลิกศพ”
- ถ้า “ ความตายมิได้เป็นผลแห่งการกระทำผิดอาญา ” ให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนชันสูตรพลิกศพไปยัง “พนักงานอัยการ” เมื่อเสร็จสิ้นการชันสูตรพลิกศพโดยเร็ว
3.เมื่อ พนักงานอัยการได้รับ “ สำนวนชันสูตรพลิกศพ” ที่ความตายมิได้เป็นผลแห่งการกระทำผิดอาญา ให้พนักงานอัยการดำเนินการต่อไปตามมาตรา 156 คือ ส่งสำนวนชันสูตรพลิกศพไปยัง “ผู้ว่าราชการจังหวัด” เพื่อพิจารณาต่อไป - ให้ “ ผู้ชันสูตรพลิกศพ” ทำความเห็นเป็นหนังสือ “ แสดงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย, ผู้ตายคือใคร, ตายที่ไหน เมื่อใด ถ้าตายโดยคนทำร้าย ให้กล่าวว่าใครหรือสงสัยว่าใครเป็นผู้กระทำผิดเท่าที่จะทราบได้ ( มาตรา 154)
ดังนั้น เมื่อคดีนี้ พนักงานสอบสวนสืบสวนสอบสวนมานานกว่า 100 วันแล้ว ( ซึ่งเกินกว่ากำหนดเวลาที่กฏหมายกำหนดกรณีสำนวนคดีชันสูตรพลิกศพ คือ 67 วัน ) โดยที่ยังไม่ปรากฏคนร้ายหรือ ผู้ที่ทำให้น้องชมพู่ถึงแก่ความตาย หรือ สาเหตุการตายที่แท้จริงของน้องชมพู่ ซึ่งการตายของน้องชมพู่ ถือได้ว่าเป็นการตายโดยผิดธรรมชาติ แต่ขณะนี้ ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าความตายเกิดจากการกระทำผิดทางอาญาของบุคคลหนึ่งบุคคลใด จึงชอบที่พนักงานสอบสวนจะต้องทำสำนวนชันสูตรพลิกศพแล้ว ส่ง “สำนวนชันสูตรพลิกศพ”ไปยัง พนักงานอัยการแห่งท้องที่เพื่อพิจารณา และหากพนักงานอัยการเห็นว่า เป็นสำนวนการชันสูตรพลิกศพที่ ความตายมิได้เกิดจากการกระทำผิดอาญา ก็จะทำความเห็นและคำสั่งส่งสำนวนการชันสูตรพลิกศพดังกล่าวไปยัง “ ผู้ว่าราชการจังหวัด” เพื่อพิจารณา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 ประกอบมาตรา 156 ต่อไป
แต่ถ้า พนักงานอัยการ เห็นว่า สำนวนชันสูตรพลิกศพที่ความตายโดยผิดธรรมชาติ ดังกล่าว เป็นสำนวนการชันสูตรพลิกศพที่ความตายเกิดจากการกระทำผิดทางอาญา ก็จะส่งสำนวนชันสูตรพลิกศพดังกล่าว กลับคืนไปยังพนักงานสอบสวนเพื่อให้พนักงานสอบสวนสืบสวนสอบสวนต่อไป
หากต่อมา พนักงานสอบสวนสามารถสืบสวนสอบสวนจนปรากฏข้อเท็จจริงได้ว่า ความตายของน้องชมพู่เกิดจากการกระทำผิดทางอาญาของผู้หนึ่งผู้ใด ก็ชอบที่พนักงานสอบสวนจะได้นำพยานหลักฐานที่สืบสวนสอบสวนมาได้ในภายหลังมารวมเข้ากับสำนวนกับสำนวนชันสูตรพลิกศพเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด หรือ ผู้ที่ทำให้น้องชมพู่ถึงแก่ความตายต่อไป แต่ถ้าพนักงานสอบสวนสืบสวนสอบสวนมานานมากแล้วแต่ก็ยังไม่สามารถรู้ตัวผู้กระทำผิด หรือหาสาเหตุการตายของน้องชมพู่ไม่ได้เลย พนักงานสอบสวนจะทำอย่างไร ? นอกจากจะทำเป็น “ สำนวนคดีชันสูตรพลิกศพ” ( แต่บัดนี้ล่วงเลยกำหนดเวลาตามกฏหมายแล้ว) พนักงานสอบสวนยังอาจทำเป็นสำนวน “ คดีไม่ปรากฏตัวผู้กระทำผิด” ดังที่จะกล่าวต่อไปนี้ “ คดีที่ไม่ปรากฏตัวผู้กระทำผิด” คือคดีอะไร ?
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 140
เมื่อพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวน เห็นว่า “การสอบสวนเสร็จ” แล้ว ให้พนักงานสอบสวนจัดการอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(1) ถ้า “ ไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นผู้กระทำความผิด” และความผิดนั้นมีอัตราโทษ “จำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี” ให้พนักงานสอบสวน “ งดการสอบสวน” และ บันทึกเหตุที่งด นั้นไว้ แล้วให้ส่งบันทึกพร้อมกับสำนวนไปให้ พนักงานอัยการ พิจารณา แต่ถ้าคดีนั้นมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินกว่าสามปี ก็ให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวน ไม่ปรากฏตัวผู้กระทำผิดนั้น ไปยังพนักงานอัยการพร้อมทั้งความเห็นที่” ควรให้งดการสอบสวน” (แสดงว่า อำนาจในการสั่งงดการสอบสวนเป็นของพนักงานอัยการ ) ฉะนั้น สำหรับคดีน้องชมพู่นั้น ไม่ว่าจะมีผู้ทำให้น้องชมพู่ถึงแก่ความตายด้วยการทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย หรือ ฆ่าให้น้องชมพู่ตายก็ตาม คดีดังกล่าวย่อมมีอัตราโทษจำคุกเกินกว่าสามปี คดีน้องชมพู่ จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของพนักงานอัยการที่จะสั่ง“ งดการสอบสวน” (หากได้ความว่า ไม่ปรากฏตัวผู้กระทำผิด) แล้ว “ พนักงานอัยการ” จะสั่ง “ คดีไม่ปรากฏตัวผู้กระทำผิด” อย่างไรได้บ้าง ?
1.สั่งให้ “ งดการสอบสวน” (หากเห็นว่ายังไม่ปรากฏตัวผู้กระทำผิดทางอาญา หรือผู้ที่ทำให้น้องชมพู่ถึงแก่ความตาย ) หรือ - “ สั่งให้ทำการสอบสวนต่อไป” ( คือไม่สั่งงดการสอบสวนแต่ให้พนักงานสอบสวนสืบสวนสอบสวนต่อไป)
(2) แต่ถ้าพนักงานสอบสวนสอบสวนจนกระทั่ง “ รู้ตัวผู้กระทำผิด” แล้ว ก็ให้ใช้บทบัญญัติในสี่มาตราต่อไปนี้
มาตรา 141 ถ้า “ รู้ตัวผู้กระทำความผิด แต่เรียกหรือจับตัวมายังไม่ได้” เมื่อได้ความตามทางสอบสวนอย่างใด ก็ให้พนักงานสอบสวนทำความเห็นว่า “ ควรสั่งฟ้อง” หรือ “ควรสั่งไม่ฟ้อง” แล้วส่งไปพร้อมกับสำนวนยังพนักงานอัยการเพื่อพิจารณาสั่งคดี
ถ้าพนักงานอัยการเห็นชอบกับคำสั่งของพนักงานสอบสวนที่มีความเห็น “ ควรสั่งไม่ฟ้อง” พนักงานอัยการก็จะให้ยุติการสอบสวน โดยการ “ สั่งไม่ฟ้อง” แล้วให้แจ้งคำสั่งไม่ฟ้องนั้นไปยังพนักงานสอบสวนทราบ
แต่ถ้าพนักงานอัยการไม่เห็นด้วยกับคำสั่งไม่ฟ้อง แต่เห็นว่า “ ควรสอบสวนต่อไป” ก็จะสั่งให้พนักงานสอบสวนทำการ” สอบสวนต่อไป”
และถ้าพนักงานอัยการเห็นว่า “ ควรสั่งฟ้อง” ก็ให้จัดการเพื่อให้ได้ตัวผู้ต้องหามาฟ้อง จุดจบของคดีน้องชมพู่ ตอนนี้เดินเลยจุดที่ว่า “ คดีชันสูตรพลิกศพ” มาแล้ว( เพราะเกินกำหนดเวลาตามกฏหมายแล้ว) คงมาถึงทางแยก
ทางแยกซ้าย – คือ “ สืบสวนสอบสวนต่อไป” ในกรณี พนักงานอัยการ ไม่สั่งงดการสอบสวน แต่ “สั่งให้พนักงานสอบสวนทำการสืบสวนสอบสวนต่อไป”
ทางแยกขวา – คือ “ สั่งงดการสอบสวน” ในกรณีที่พนักงานอัยการเห็นว่า สำนวนการสอบสวนคดีนั้น พนักงานสอบสวนได้สืบสวนสอบสวนอย่างละเอียดรอบคอบอย่างเต็มที่แล้วแต่ยังไม่ปรากฏตัวผู้กระทำผิด ก็ให้พนักงานอัยการสั่ง “งดการสอบสวน” แต่หากต่อมาปรากฎข้อเท็จจริงใหม่ก็ให้พนักงานสอบสวนสืบสวนสอบสวนต่อไปได้
บทสรุป หากพนักงานสอบสวนมีความเห็น “ ควรงดการสอบสวน” แล้วส่งสำนวนงดการสอบสวนให้พนักงานอัยการพิจารณา และ พนักงานอัยการมีคำสั่ง “ งดการสอบสวน” เท่ากับ “ คดีน้องชมพู่จะหยุดลงชั่วคราว แต่คดียังไม่สิ้นสุด” เพราะหากต่อมาปรากฏข้อเท็จจริงใหม่ พนักงานสอบสวนก็สามารถสืบสวนสอบสวนต่อไปได้ ดังที่ได้กล่าวแล้ว
กระแสการติดตามข่าวของสื่อมวลชนคงจะลดลง กระแสของลุงพล ป้าแต๋น และพ่อแม่น้องชมพู่ ณ.บ้านกกกอกคงจะลดลง และการเดินทางของผู้คนที่จะเดินทางไปหมู่บ้านกกกอกคงจะลดน้อยถอยลง แต่พนักงานสอบสวนยังคงสามารถทำการสืบสวนสอบสวนต่อไปโดยไร้กระแสกดดัน เชื่อว่าในท้ายที่สุดแล้ว คดีนี้อาจจะได้ตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีนี้ก็ได้ ดังคำกล่าวที่ว่า“ น้ำลด ต่อผุด”
• นายวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์
อัยการจังหวัดอำนาจเจริญ
รองประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ในคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร