กฎหมายน่ารู้

หวังผลตอบแทนสูง
อาจสูญเสียเปล่า
“ แมลงเม่า บินเข้ากองไฟ ย่อมตายไปกับกองไฟ”

%e0%b8%ab%e0%b8%a7%e0%b8%b1%e0%b8%87%e0%b8%9c%e0%b8%a5%e0%b8%95%e0%b8%ad%e0%b8%9a%e0%b9%81%e0%b8%97%e0%b8%99%e0%b8%aa%e0%b8%b9%e0%b8%87%e0%b8%ad%e0%b8%b2%e0%b8%88%e0%b8%aa%e0%b8%b9%e0%b8%8d%e0%b9%80

เมื่อเร็วเร็วนี้ มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ คือ

ศาลจังหวัดพิมายได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา โดยมีประเด็นข้อกฎหมายที่น่าสนใจ เรื่อง “ หลอกให้ร่วมลงทุนเพื่อให้ได้ผลประโยชน์ตอบแทนในอัตราที่สูงโดยจ่ายค่าตอบแทนคิดเป็นดอกเบี้ยต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475ว่า

“ผู้เสียหายจึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่จะร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีในความผิดฐานฉ้อโกงได้”

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 282 / 2563  วินิจฉัยว่า “ ………. แม้ผู้เสียหายทั้งสามสิบสองจะหลงเชื่อคำหลอกลวงของจำเลยทั้งสามจึงมอบเงินให้แก่จำเลยทั้งสามเพื่อให้จำเลยทั้งสามนำเงินไปลงทุนเพื่อให้ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนในอัตราที่สูงโดยจ่ายค่าตอบแทนแก่ผู้เข้าร่วมลงทุนในหลายลักษณะคิดเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 72 , 144 , 192 ,240,288 และ 432  ต่อปี ของจำนวนเงินที่ผู้ร่วมทุนให้จำเลยทั้งสามกู้ยืมจะมีการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนในทุก 2 ถึง 3 วันหรือทุกสัปดาห์หรือทุกเดือน ซึ่งผลตอบแทนที่ผู้เสียหายทั้งสามสิบสองจะได้รับล้วนต้องห้ามตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475มาตรา 3 พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 มาตรา 4(1) ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654  ถือว่า เป็นกิจการที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามตามกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แสดงให้เห็นว่าผู้เสียหายทั้งสามสิบสองรับข้อเสนอดังกล่าวโดยมีเจตนาร้ายมุ่งประสงค์ต่อผลประโยชน์อันเกิดจากการกระทำที่ผิดกฎหมาย ผู้เสียหายทั้งสามสิบสองจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่จะมีสิทธิร้องทุกข์ขอให้เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสามในความผิดฐานฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ พนักงานสอบสวนย่อมไม่มีอำนาจสอบสวนคดีนี้ และพนักงานอัยการย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาควาอาญา มาตรา 2(4)(7) และมาตรา 120 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง มานั้นชอบแล้ว

พิพากษายืน  ( ศาลฎีกายกฟ้องฐาน ร่วมกันฉ้อโกง เหมือนกับศาลอุทธรณ์)

ข้อกฎหมายที่ได้จากคำพิพากษาศาลฎีกานี้

คดีนี้ แม้ผู้เสียหายทั้ง 32 คน จะถูกหลอกให้นำเงินไปร่วมลงทุนกับจำเลยทั้งสาม และในท้ายที่สุดก็ไม่ได้รับเงินคืนก็ตาม และได้รับความเสียหาย ความสูญเสียจากการกระทำผิด (ฉ้อโกง) ของจำเลยทั้งสามก็ตาม  ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา  341  บัญญัติว่า  ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกแจ้งให้ทราบและโดยการหลอกลวงดังกล่าวได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้ถูกหลอกหรือบุคคลที่สามฯ  ผู้นั้นกระทำผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงแห่งคดีแล้ว ก็อาจเข้าองค์ประกอบความผิดฐาน ร่วมกันฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา  341 ประกอบมาตรา 83 ก็ตาม ( ถูกหลอกให้ร่วมนำเงินมาลงทุนและสูญเสียเงินไป)

แต่คดีนี้ ทั้งศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา ได้วินิจฉัยว่า “ ค่าตอบแทนที่จำเลยทั้งสามตกลงจ่ายให้แก่ผู้เสียหายทั้ง 32 คนนั้น มีลักษณะคิดเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 72 , 144 , 192 ,240,288 และ 432  ต่อปี ของจำนวนเงินที่ผู้ร่วมทุนให้จำเลยทั้งสามกู้ยืมจะมีการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนในทุก 2 ถึง 3 วันหรือทุกสัปดาห์หรือทุกเดือน ซึ่งผลตอบแทนที่ผู้เสียหายทั้งสามสิบสองจะได้รับล้วนต้องห้ามตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475มาตรา 3 พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 มาตรา 4(1) ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 ( กฏหมายกำหนด ห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี )  ข้อตกลงดังกล่าว จึงถือได้ว่า เป็นกิจการที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามตามกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน และถือได้ว่า ผู้เสียหายทั้ง 32 คน มีเจตนาร้ายมุ่งประสงค์ต่อผลประโยชน์อันเกิดจากการกระทำที่ผิดกฎหมาย จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย และเมื่อไม่ใช่ “ ผู้เสียหายโดยนิตินัย”  แล้ว ก็ไม่มีสิทธิร้องทุกข์ขอให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสามในความผิดฐาน “ฉ้อโกง” ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้   ( ความผิดอันยอมความได้นั้น กฏหมายกำหนดให้ผู้เสียหายต้องร้องทุกข์ภายในกำหนดอายุความ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา  96 )  และเมื่อ ผู้เสียหายทั้ง 32 คน ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยแล้ว ก็ร้องทุกข์ไม่ได้  และเมื่อร้องทุกข์ไม่ได้ พนักงานสอบสวนก็ไม่มีอำนาจสอบสวนคดีนี้ (ตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 121 วรรคสอง ”  คดีความผิดต่อส่วนตัว ห้ามมิให้ทำการสอบสวนเว้นแต่จะมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ“)

เมื่อพนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจสอบสวนคดีนี้แล้ว  สำนวนการสอบสวนที่พนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนมาแล้วและส่งให้พนักงานอัยการพิจารณาย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยกฏหมาย  เมื่อการสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย พนักงานอัยการก็จะไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ( ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120  ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน ดังนั้น เมื่อฟ้องคดีนี้ไปในฐานความผิด “ ร่วมกันฉ้อโกง”  ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาจึงพิพากษา “ ยกฟ้อง”  ด้วยเหตุผลดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกานี้จึงเป็นอุทาหรณ์อันดีว่า

แม้จะเป็นผู้ถูกหลอกให้ร่วมลงทุน แต่ถ้าหวังผลประโยชน์ตอบแทนในลักษณะที่สูงเกินกว่าที่กฏหมายกำหนด  อาจจะไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยในความผิดฐาน  ร่วมกันฉ้อโกง และมีผลทำให้ พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจสอบสวน พนักงานอัยการไม่อาจฟ้องดำเนินคดีนี้ได้  ท้ายที่สุดแม้ผู้เสียหายจะถูกหลอกและสูญเสียเงินไป แต่อาจไม่ได้รับเงินคืน ต้องสูญเสียเงินไปก็ได้

แต่ยังโชคดีที่ คดีนี้ พนักงานอัยการจังหวัดพิมาย ฟ้องจำเลยทั้งสามในความผิดฐาน “ ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน” (ตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 ตามมาตรา 4 ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปีถึง 10ปี และปรับตั้งแต่ 5 แสนบาทถึง1 ล้านบาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 10,000 บาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่)  และความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกง”   ซึ่งคดีนี้ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฏหมายแล้วเห็นว่า เป็นการกระทำกรรมเดียวกันผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนัก (ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา  90) และพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสาม ในความผิดฐาน “ ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน”  ตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 ตามมาตรา 4 วรรคหนึ่งประกอบมาตรา  12   โดยให้เรียงกระทงลงโทษเป็นกรรมกรรมไป แต่พิพากษา ยกฟ้อง  จำเลยทั้งสามในความผิดฐาน “ ร่วมกันฉ้อโกง” ดังกล่าวข้างต้น

หากหวังผลประโยชน์ตอบแทนที่สูง อาจได้ไม่เท่าเสีย ดังคำกล่าวที่ว่า

แมลงเม่า บินเข้ากองไฟ  ย่อมตายไปกับกองไฟหวังผลประโยชน์ตอบแทนสูง อาจสูญเสียเปล่าในที่สุด


  • นายวรเทพ  สกุลพิชัยรัตน์
    อัยการจังหวัดอำนาจเจริญ
    รองประธานคณะอนุกรรมาธิการการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร
0 Comments
Share

Admin

Reply your comment

Your email address will not be published. Required fields are marked*