นายแพทย์พรณรงค์ ศรีม่วง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่าในช่วงหน้าฝนจะมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มมากขึ้น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการจึงมีมาตรการให้สถานบริการสาธารณสุขทุกแห่งเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออกในพื้นที่อย่างใกล้ชิด พร้อมเตรียมทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว ลงพื้นที่เพื่อควบคุมโรคภายใน 24 ชั่วโมง รวมถึงการรณรงค์ให้ประชาชนทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทุกสัปดาห์อย่างต่อเนื่อง
โรคไข้เลือดออก หลังจากถูกยุงลายที่มีเชื้อกัด 5-8 วัน จะมีอาการไข้สูงลอย 38.5 – 40 องศาเซลเซียส ติดต่อกัน 2 -7 วัน หน้าแดง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก ปวดเบ้าตา บางรายมีปวดท้อง อาเจียน เบื่ออาหาร มีจุดแดงเล็กๆ ตามแขนขา ลำตัว อาจมีเลือดกำเดาไหล และเลือดออกตามไรฟัน อาการคล้ายเป็นหวัด แต่มักไม่ไอ และมักไม่มีน้ำมูก ผู้ที่อาการไม่รุนแรงหลังจากไข้ลดลง อาการต่างๆ จะดีขึ้น แต่ในรายที่มีอาการรุนแรง ขณะที่ไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว จะเกิดภาวะช็อก ผู้ป่วยจะมีอาการซึมลง กระสับกระส่าย กระหายน้ำ เหงื่อออก ตัวเย็น ปากเขียว ชีพจรเบาเร็ว ความดันโลหิตลดลง บางรายมีอาการปวดท้องกะทันหัน อาจมีเลือดออกในกระเพาะอาหารและลำไส้ ถ่ายเป็นเลือด ปัสสาวะน้อยลง ไม่ค่อยรู้สึกตัว ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอาจเสียชีวิตได้ภายใน 12 – 24 ชั่วโมง
จึงขอแนะนำวิธีการป้องกันโรคจากยุงลายแก่ประชาชนให้ใช้มาตรการ 3 เก็บ ได้แก่1. เก็บบ้าน ให้ปลอดโปร่งไม่ให้ยุงลายเกาะพัก 2. เก็บขยะเศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย และ3.เก็บน้ำ ปิดให้มิดชิดหรือเปลี่ยนถ่ายน้ำ ทุกสัปดาห์ไม่ให้ยุงลายวางไข่ และใช้มาตรการ 5 ส. ได้แก่สะสาง สะดวก สะอาด สุขลักษณะ สร้างนิสัย ในบ้าน สถานที่ทำงาน โรงเรียน วัดและชุมชน ดำเนินการพร้อมกันทุกวันศุกร์ หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 หรือสถานบริการสาธารณสุขของรัฐทุกแห่งใกล้บ้าน