เวทีนำเสนอผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่องความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประเพณีสงกรานต์พระประแดง
เวทีนำเสนอผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่องความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประเพณีสงกรานต์พระประแดง กับสถานการณ์ Covid-19 สายพันธ์ใหม่ 2019 จังหวัดสมุทรปราการ
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 9 เม.ย.64 ที่ห้องประชุม วัดทรงธรรมวรวิหาร ตำบลตลาด อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ วัดทรงธรรมวรวิหาร ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี สมุทรปราการ (มรธ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าจังหวัดสมุทรปราการ (คสล.) จัดเวทีนำเสนอผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่องความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับประเพณีสงกรานต์พระประแดง กับสถานการณ์ไวรัสโคโรน่าสายพันธ์ใหม่ 2019 ในจังหวัดสมุทรปราการ โดย อาจารย์จักรพันธ์ พรหมฉลวย มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี สมุทรปราการ (มรธ.) และ นายธิติ ภัทรสิทธิกฤษ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (คสล.) เป็นพิธีกรดำเนินรายการ พร้อมด้วย พระคุณท่าน พระครูพัชรวีราภรณ์ (ชวลิต ปิ่นแก้ว) รองเจ้าอาวาสวัดทรงธรรมวรวิหาร ดร.วิชัย จันทร์จำรูญ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดสมุทรปราการ ร.ต.ท.วรพจน์ แสงเนตร์ รองสว.(จร.) สภ.พระประแดง นางสาวโชติมา ยะกาศคะนอง สภาวัฒนธรรมอำเภอพระประแดง นายระเด่น โพธิ์เมือง ปลัดอำเภอเมืองพระประแดง นางสาววลีรัตน์ ใจสูงเนิน นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ เข้าร่วมเวทีเสวนา หัวข้อประเพณีสงกรานต์พระประแดง ดั้งเดิม สู่ วัฒนธรรมประเพณีสงกรานต์สุขไม่เสี่ยงฯลฯ
โดยมี นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าจังหวัดสมุทรปราการ (คสล.) และนายสุรเชษฐ์ โพธิ์อ่อน ประชาคมสร้างเสริมสุขภาวะจังหวัดสมุทรปราการ เป็นพิธีกรดำเนินรายการ ตลอดจน นางสาวไพเราะ แจ่มจักษุ ประชาคมสร้างเสริมสุขภาวะจังหวัดสมุทรปราการ เจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดงาน และคณะสื่อมวลชน ร่วมรับฟังการเสวนา โดย“เปิดผลวิจัย สวนสงกรานต์พระประแดงไม่ใช่วันไหลประชาชนเห็นด้วย มาตรการรัฐ หยุดขายเหล้า หยุดโควิด 19” ผลวิจัยชี้ประชาชนเห็นด้วยกับมาตรการรัฐปิดร้านค้าหรือสถานที่จำหน่ายสุราจะสามารถควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้มากที่สุด และการยกเลิกสงกรานต์พระประแดงในปี2563 ที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและรายได้ของประชาชนในพื้นที่ลดลงอย่างมาก ขณะที่ประชาชนมีความรู้สึกและความกังวลมากที่สุดใจในเรื่องการทะเลาะวิวาท หากมีการจัดสงกรานต์พระประแดง คิดเป็นร้อยละ 68.6 โดยเป็นผลการสำรวจวันที่ 1 มีนาคม – 31 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา
นายธิติ ภัทรสิทธิกฤษ ภาคีภาคประชาชนจังหวัดสมุทรปราการภายใต้การสนับสนุนของ สสส. กล่าวถึง วัตถุประสงค์การสำรวจความคิดเห็นประชาชนเพื่อศึกษาความรู้ความเข้าใจของประชาชนที่มีต่อวัฒนธรรมประเพณีสงกรานต์พระประแดงดั้งเดิม และผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 19 ในช่วงสงกรานต์พระประแดง รวมถึงการพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเพณีสงกรานต์พระประแดง โดยสำรวจประชากรกลุ่มตัวอย่างที่อยู่อาศัยในพื้นที่อำเภอพระประแดง จำนวน 484 คน ในพื้นที่อำเภอพระประแดงเท่านั้น ซึ่งภาคประชาชนเล็งเห็นโอกาสในวิกฤตที่จะใช้ข้อมูลที่สะท้อนความรู้สึกประชาชนในพื้นมาร่วมสร้างการเรียนรู้ร่วมกันในวิถีชีวิตที่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนในสถานการณ์โควิด 19 และเป็นข้อมูลเสนอฝ่ายนโยบายให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน และเพื่อประโยชน์ในการลดผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง
อาจารย์จักรพันธ์ พรหมฉลวย สาขาการจัดการชุมชน คณะคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี จ.สมุทรปราการ รายงานผลการศึกษาผลการสํารวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประเพณีสงกรานต์พระประแดงกับสถานการณ์ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ในจังหวัดสมุทรปราการ รวมทั้งศึกษาพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเพณีสงกรานต์พระประแดง พบว่า ภาพรวมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประเพณีสงกรานต์พระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ร้อยละ 63.14และยังขาดความรู้ความเข้าใจร้อยละ 36.86 ประชากรกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ที่ตอบแบบสอบถามเป็นเพศชาย โดยจะมีอายุอยู่ในช่วง 40 ปี – 49 ปี มีสถานภาพสมรสมากที่สุด ส่วนใหญ่สำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น นับถือศาสนาพุทธ จำนวนมากถึงร้อยละ 84.3 ประกอบอาชีพรับจ้าง ซึ่งมีรายได้เฉลี่ย 5,001 – 15,000 บ. โดยสรุปนับว่า ประชากรกลุ่มตัวอย่าง มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประเพณีสงกรานต์พระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ โดยมีค่าเฉลี่ยภาพรวมคิดเป็นร้อยละ 63.14 แบ่งเป็น รู้และเข้าใจว่าอำเภอพระประแดง มีชื่อเดิมว่า เมืองนครเขื่อนขันธ์ ร้อยละ 98.6 และไม่ทราบร้อยละ 1.7 สงกรานต์พระประแดงเดิมเรียกว่า “สงกรานต์ปากลัด” ของชาวไทยรามัญ ร้อยละ 96.9 และทราบว่าสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 ร้อยละ 86.8 และทราบว่าในอดีตมีประเพณีส่งข้าวสงกรานต์ 3วัน ในช่วง 13-15 เมษายน ร้อยละ 51.4 การแห่นางสงกรานต์และหนุ่มน้อยลอยชายและสะบ้ารามัญคือหัวใจของงานสงกรานต์ ร้อยละ 43.2 ขบวนแห่ปล่อยนกปล่อยปลาที่วัดโปรดเกศเชษฐารามร้อยละ 38.2 ทราบว่าอดีตสงกรานต์พระประแดงจัดขึ้นในวันที่ 13-15 เมษายน ของทุกปี ร้อยละ46.1 สงกรานต์พระประแดงเป็น 1 ใน 4 มหาสงกรานต์ 4ภาค ของ ททท.ร้อยละ 49.6 และในปีที่ผ่านมาทราบจากเทศบาลเมืองพระประแดง จังหวัดสุทรปราการประกาศยกเลิกการจัดงานประเพณีสงกรานต์ปี 2563เพื่อควบคุมและป้องกันโควิด 19 ร้อยละ 57.4 และไม่ทราบร้อยละ 42.6
เมื่อสรุปผลความคิดเห็นจากการสำรวจแบ่งเป็น 4 ด้าน พบว่า ประชาชนให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม เป็นอันดับ 1 หมายรวมถึง ขยะ น้ำ เสียง ฝุ่น ควันจากการจราจร ที่ส่งผลกระทบอย่างชัดเจนเมื่อจัดงาน อันดับ 2 ด้านวัฒนธรรมประเพณี แม้ใรการยกเลิกการจัดงานแต่ในพื้นที่มีความตระหนักในการอนุรักษ์และสืบสานต่อไปนับเป็นจุดแข็งของพื้นที่มากที่สุด อันดับ 3 ด้านสังคม คนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญผลการดำเนินชีวิตแบบ วิถีใหม่และด้านเศรษฐกิจ อันดับที่ 4 ประชาชนให้ความสำคัญในประเด็นนี้โดยหัวข้อย่อย คือ ผลกระทบโดยตรงต่อรายได้ของประชาชนหายไป และเป็นข้อเสนอต่อภาครัฐในการแก้ไขปัญหาภาวะเศรษฐกิจครัวเรือนของพื้นที่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์พระประแดง
ผลสำรวจยังพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ “เคย” พบเห็นโลโก้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในการประชาสัมพันธ์การจัดงานสงกรานต์พระประแดง จำนวน 285 คน คิดเป็นร้อยละ 58.9 โดยสื่อหรือช่องทางที่ประชาชนพบเห็นโลโก้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในการจัดงานสงกรานต์พระประแดง มากที่สุดคือ กิจกรรมหรืออีเว้นท์ต่าง ๆ คิดเป็นร้อยละ 41.95 “เคย” พบเห็นหรือได้ยินการรณรงค์เกี่ยวกับสงกรานต์ปลอดเหล้าหรือการกำหนดโซนนิ่ง (Zoning) พื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้าในประเพณีสงกรานต์พระประแดงในปีที่ผ่านมา จำนวน 336 คน คิดเป็นร้อยละ 69.5 และประชาชน“ทราบ” นโยบายและมาตรการคำสั่งปิดร้านค้าหรือสถานที่จำหน่ายสุรา ในช่วงประเพณีสงกรานต์พระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 387 คน คิดเป็นร้อยละ 80
ผลการสำรวจ พบว่า ส่วนใหญ่ “ไม่เคย” ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงประเพณีสงกรานต์พระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ปี 2563 และ“เห็นด้วย” มาตรการปิดร้านค้าหรือสถานที่จำหน่ายสุรา เพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมทั้งยังมีความคิดเห็นว่ามาตรการปิดร้านค้าหรือสถานที่จำหน่ายสุราจะสามารถควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 “มาก” และสุดท้ายประชาชนมีความรู้สึกและความกังวลมากที่สุด การทะเลาะวิวาท จำนวน 332 คน คิดเป็นร้อยละ 68.6 ความกังวลใจมากที่สุดของคนในพื้นที่ ได้แก่ เรื่องทะเลาะวิวาท ที่มาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร้อยละ 68. และเชื่อมั่นในมาตรการของภาครัฐในจังหวัดสมุทรปราการในการควบคุมป้องกันโควิด19 และเห็นด้วยในการดำเนินงานของภาครัฐที่ออกมาตรการควบคุมการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างจริงจังในช่วงสถาการณ์โควิด 19