หน่วยงานในขบวนการสหกรณ์จังหวัดสมุทรปราการ ร่วมจัดงานวันสหกรณ์แห่งชาติจังหวัดสมุทรปราการ ประจำปี 2565
เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 25 ก.พ.65 ที่ห้องประชุม ชั้น 3 สำนักงานสหกรณ์จังหวัดสมุทรปราการ ตำบลบางปูใหม่ อำเภอเมืองฯ จังหวัดสมุทรปราการ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดสมุทรปราการ ร่วมกับสันนิบาตสหกรณ์จังหวัดสมุทรปราการ และสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรในจังหวัดสมุทรปราการ จัดงานวันสหกรณ์แห่งชาติจังหวัดสมุทรปราการ ประจำปี 2565 โดยมี นายไพบูลย์ จิรธานันท์ สหกรณ์จังหวัดสมุทรปราการ เป็นประธานในพิธี กล่าวสดุดีพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย วางพานพุ่มดอกไม้สด จุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย อ่านสารนายกรัฐมนตรี เนื่องในวันสหกรณ์แห่งชาติจังหวัดสมุทรปราการ ประจำปี 2565 และกล่าวเปิดงานวันสหกรณ์แห่งชาติจังหวัดสมุทรปราการ ประจำปี 2565 โดยมี นายพรศักดิ์ คุณวุฒิมโนธรรม ประธานคณะกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์จังหวัดสมุทรปราการ กล่าวรายงาน พร้อมด้วยกลุ่มผู้แทนสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และเครือข่ายกลุ่มอาชีพฯ จำนวน 60 คน ข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานราชการ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดสมุทรปราการ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง จำนวน 40 คน รวมทั้งสิ้น 100 คน เข้าร่วมในพิธีวางพานพุ่มดอกไม้สดสักการะพระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย
ทั้งนี้ เพื่อให้สมาชิกสหกรณ์ และกลุ่มเกษตรกรทุกคน ได้น้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณของพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย และตระหนักถึงความสำคัญของระบบสหกรณ์กับการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคม รวมทั้งเป็นการเผยแพร่งานสหกรณ์ให้ประชาชนรู้จักมากยิ่งขึ้น และเพื่อให้เกิดความสามัคคีของขบวนการสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรในจังหวัดสมุทรปราการ ความคิดเรื่องการสหกรณ์ เกิดขึ้นในประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อปี พ.ศ.2457 ซึ่งในสมัยนั้นประเทศไทยได้เริ่มทำการค้าขายกับต่างประเทศมากขึ้น ระบบเศรษฐกิจชนบท เปลี่ยนจากระบบเลี้ยงตนเอง มาเป็นระบบเศรษฐกิจเพื่อการค้า ความต้องการเงินทุนในการขยายการผลิตและการครองชีพ การกู้ยืมเงินจากนายทุนท้องถิ่นที่ต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราสูง การถูกเอารัดเอาเปรียบในการขายผลผลิต สภาพดินฟ้าไม่อำนวย ทำให้ผลผลิตได้รับความเสียหาย การเกิดหนี้สินพอกพูนกับเกษตรกร ประเทศไทยเริ่มศึกษาวิธีการสหกรณ์ ในปี พ.ศ.2457 และได้ดำเนินการทดลองจัดตั้งสหกรณ์ขึ้น โดยมีพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ในฐานะอธิบดีกรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์ขณะนั้น ได้ทรงพิจารณาเลือกแบบอย่างของสหกรณ์ไรฟ์ไฟเซน ของประเทศเยอรมันเป็นตัวอย่างขึ้นในประเทศไทย เนื่องจากมีความเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจของเกษตรกรไทยในขณะนั้นมากกว่ารูปแบบอื่น และได้ทดลองจัดตั้งสหกรณ์แห่งแรกของประเทศไทยขึ้น ณ ท้องที่อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ชื่อว่า “สหกรณ์วัดจันทร์ ไม่จำกัดสินใช้” มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการเงินกู้แก่สมาชิก
โดยจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติเพิ่มเติมสมาคม พ.ศ.2459 เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2459 ซึ่งมีพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ เป็นนายทะเบียนสหกรณ์พระองค์แรก ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติกำหนดให้วันที่ 26 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันสหกรณ์แห่งชาติ เพื่อเป็นการระลึกถึงพระกรุณาธิคุณของพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย ที่ทรงนำริเริ่มวิธีการสหกรณ์มาใช้ในประเทศไทย เป็นแบบอย่างให้ราษฎรนำอุดมการณ์ หลักการ และวิธีการสหกรณ์มาใช้ในการดำรงชีวิต เพื่อให้สามารถช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีความอยู่ดีกินดีแบบพอเพียง