กฟผ. มุ่งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก ชูพลังงานสะอาด และเพิ่มพื้นที่ปลูกป่าในเวทีผู้นำ ‘CAL Forum’
กฟผ. เผยนโยบายเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และโครงการปลูกป่า 1 ล้านไร่ ร่วมเดินหน้าลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภาวะโลกร้อนในภาคธุรกิจพลังงาน มุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในงานแถลงผลสำเร็จโครงการ Climate Action Leaders Forum รุ่นที่ 1
นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า และพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำเสนอภาพรวมการดำเนินการสนับสนุนและส่งเสริมการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในงานแถลงข่าวผลสำเร็จของโครงการ Climate Action Leaders Forum หรือ CAL Forum รุ่นที่ 1 ซึ่งจัดโดย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) ร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) คณะสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ United Nations Development Programme
โดยมี นายวราวุธ ศิลปะอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เป็นประธานแถลงข่าวฯ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ประธานกรรมการ TGO ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการ สผ. นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการ TGO และผู้บริหารจาก 5 องค์กรชั้นนำของประเทศ ได้แก่ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จํากัด, บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จํากัด (มหาชน), บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จํากัด (มหาชน), โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประจำประเทศไทย ณ สโมสรราชพฤกษ์ โครงการนอร์ธ ปาร์ค กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา
นายวราวุธ ศิลปะอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การต่อสู้กับ Climate Crisis ต้องอาศัยความร่วมมือ ความพยายาม และความมุ่งมั่นของประชาคมโลก สำหรับประเทศไทย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้แสดงความมุ่งมั่นประกาศเจตนารมณ์ในที่ประชุมสมัชชารัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ สหราชอาณาจักร ถึงยุทธศาสตร์การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และยกระดับการดำเนินงานด้านการลดก๊าซเรือนกระจก โดยมีเป้าหมายมุ่งสู่ Carbon Neutrality ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ในปี ค.ศ. 2065 ในการบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนทุกองคาพยพร่วมกันผลักดันในทุกมิติ
นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า และพลังงานหมุนเวียน กฟผ. กล่าวว่า กฟผ. ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกมาโดยตลอด นับตั้งแต่ปี 2556 ถึงปัจจุบัน กฟผ. สามารถลดก๊าซเรือนกระจกในระดับมาตรการจากการดำเนินงานได้มากกว่า 42 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดย กฟผ. ได้เดินหน้านโยบายมุ่งสู่ Carbon Neutrality ภายในปี ค.ศ. 2050 เพื่อตอบสนองนโยบายของประเทศ ผ่านการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดที่ติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานเพิ่มเสถียรภาพการผลิตไฟฟ้า ศึกษาเทคโนโลยีการกักเก็บคาร์บอนมาใช้กับโรงไฟฟ้า และพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะเพื่อเพิ่มความมั่นคงของระบบผลิตไฟฟ้าของประเทศ นอกจากนี้ยังได้บูรณาการงานด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมตามกรอบแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกับพันธมิตร ดำเนินโครงการปลูกป่า 1 ล้านไร่ ภายในปี 2574 เพื่อเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งคาดว่าจะสามารถดูดซับคาร์บอนฯ ได้ถึง 1.2 ล้านตันต่อปี
สำหรับ “เวทีระดับผู้นำ” โครงการ CAL Forum รุ่นที่ 1 นี้ ได้ดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2564 เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ผู้นำระดับประเทศ ประมาณ 50 คน ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา สื่อมวลชน องค์กรอิสระ และองค์กรระหว่างประเทศ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง แนวคิด ประสบการณ์ การมีส่วนร่วมในการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality