สังคมท้องถิ่น

คดีเล็ก ฆ่า คดีใหญ่

%e0%b8%84%e0%b8%94%e0%b8%b5%e0%b9%80%e0%b8%a5%e0%b9%87%e0%b8%81-%e0%b8%86%e0%b9%88%e0%b8%b2-%e0%b8%84%e0%b8%94%e0%b8%b5%e0%b9%83%e0%b8%ab%e0%b8%8d%e0%b9%88

สืบเนื่องจากผู้เขียนเคยเขียนบทความเรื่อง ”เหตุใดพนักงานอัยการจึงไม่สั่งฟ้องดำเนินคดีกับ “กระติก” ทั้งที่ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพ”

ยังมีกรณีศึกษาที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่ง คือกรณีที่ศาลชั้นต้นพิพากษา“ยกฟ้อง” คือ คดีที่คนขับรถบรรทุกพ่วงตู้คอนเทนเนอร์ขับขี่รถโดยประมาทในขณะขับรถเข้าสู่ทางโค้ง จนเป็นเหตุให้ ตู้คอนเทนเนอร์ล้มทับรถยนต์โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ พังเสียหาย แต่ผู้ขับขี่รถยนต์โตโยต้าฟอร์จูนเนอร์กลับรอดตายอย่างปาฏิหาริย์ แต่ก็ได้รับบาดเจ็บที่แขนช้าย เพราะถูกเหล็กหลังคารถกดทับ ซึ่งจากการ “ยกฟ้อง” ดังกล่าว เป็นการที่ศาลชั้นต้นพิพากษา “ยกฟ้อง” โดยอ้างเหตุเป็น “ฟ้องซ้ำ” หรืออาจกล่าวได้ว่า

เป็นการยกฟ้องด้วย ”เหตุทางเทคนิค”
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ทั้งทั้งที่…….
รถบรรทุกพ่วงตู้คอนเทนเนอร์ขับรถประมาทจริง และตู้คอนเทนเนอร์ก็ล้มทับรถยนต์ โตโยต้าฟอร์จูนเนอร์จริง และรถยนต์โตโยต้าฟอร์จูนเนอร์ก็พังเสียหายจริง และคนขับรถยนต์โตโยต้าฟอร์จูนเนอร์ก็ได้รับบาดเจ็บสาหัสจริง
แต่ทำไมศาลชั้นต้นจึงพิพากษา“ยกฟ้อง” คดีในส่วนคดีอาญา ทำให้ผู้เสียหายได้รับความเสียหายแต่กลับไม่ได้รับการชดใช้ความเสียหายในส่วนคดีอาญา (เท่าที่ควร)

ส่งผลให้ “ผู้กระทำผิด” ไม่ถูกลงโทษตามกฎหมาย (แม้จะถูกลงโทษเพียง “ปรับ” ฐาน ขับรถเมาในขณะเมาสุราฯ ก็ตาม และยังส่งผลให้ ผู้เสียหายอาจสูญเสียอำนาจในการต่อรองเรียกค่าสินไหมทดแทน ตามประมวลกฎหมายอาญาวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 44/1 ซึ่งตามปกติแล้วศาลจะนำประเด็นเรื่อง “ การชดใช้ค่าสินไหมทดแทน” มาพิจารณาประกอบ “ดุลพินิจ” ในการกำหนดโทษจำเลยด้วย
เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ?

การที่เป็นเช่นนั้น เนื่องจาก คดีนี้ในวันเกิดเหตุพนักงานสอบสวนได้ตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดของคนขับรถบรรทุก ปรากฏว่า มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด อันเป็นความผิดฐาน “ขับรถในขณะเมาสุรา” (ความจริงแล้วควรจะเป็นความผิดฐาน” เป็นผู้ประจำรถโดยเป็นผู้ขับรถขับรถยนต์บรรทุกในขณะเมาสุราหรือของมึนเมาอย่างอื่นโดยผิดกฎหมาย”

คดีนี้ นอกจากผู้ขับขี่รถยนต์บรรทุกพ่วงตู้คอนเทนเนอร์จะขับรถในขณะเมาสุราอันเป็นความผิดฐาน “ เป็นผู้ประจำรถโดยเป็นผู้ขับรถขับรถยนต์บรรทุกในขณะเมาสุรา” แล้วยังเป็นกรณีที่ ผู้ขับรถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์โดยประมาทเข้าสู่ทางโค้งจน จนเป็นเหตุให้ตู้คอนเทนเนอร์ล้มทับรถยนต์โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ ได้รับความเสียหาย และเป็นเหตุให้ผู้ขับรถยนต์ฟอร์จูนเนอร์ได้รับบาดเจ็บสาหัสด้วย อันเป็นความผิดฐาน “ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสและทรัพย์สินเสียหาย” ด้วย

แต่การที่พนักงานสอบสวนได้แยกส่งสำนวนคดีให้ พนักงานอัยการฟ้องเฉพาะความผิดฐาน “ ขับรถในขณะเมาสุราฯ” ไปก่อน ส่วนความผิดฐาน “ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสและทรัพย์สินเสียหาย” พนักงานสอบสวนได้แยกดำเนินการสอบสวนต่อไป โดยไม่ได้ส่งสำนวนมาพร้อมกันและเป็นคดีเดียวกันกับความผิดฐาน “ ขับรถในขณะเมาสุราฯ” จึงเป็นเหตุให้พนักงานอัยการ ยื่นฟ้องคดีด้วยวาจา (ภายใน 48 ชั่วโมง) ตามที่พนักงานสอบสวนส่งสำนวนคดีฟ้องวาจาในความผิดฐาน “ ขับรถในขณะเมาสุราฯ” ต่อศาลแขวง ซึ่งเป็นศาลที่มีเขตอำนาจ

ดังนั้น เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลแขวงจึงมีคำพิพากษาว่า จำเลยได้กระทำความผิดฐาน “ ขับรถในขณะเมาสุราฯ” จริง เมื่อไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ และเมื่อพ้นกำหนดเวลาตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว คดีดังกล่าวย่อมถึงที่สุด
การที่ พนักงานสอบสวน ส่งสำนวนคดีความผิดฐาน “ ขับรถในขณะเมาสุราฯ ” ซึ่งเป็นคดีที่มีอัตราโทษอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง (คดีที่มีระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ) ซึ่งตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 20 กำหนดให้ “ในคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจศาลแขวง เมื่อผู้ต้องหาให้การรับสารภาพ พนักงานสอบสวนไม่ต้องทำการสอบสวนและให้ฟ้องด้วยวาจาได้

เมื่อสำนวนคดีฟ้องวาจาที่พนักงานสอบสวนส่งให้ พนักงานอัยการฟ้องคดีในความผิดฐาน “ขับรถในขณะเมาสุราฯ” จึงมีแต่เพียง “ คำให้การรับสารภาพของผู้ต้องหา” และพยานหลักฐาน ”ผลการตรวจปริมาณแอลกอฮอลล์ในเลือดซึ่งเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด” โดยไม่ปรากฏพยานหลักฐานอื่น หรือพยานที่ได้จากการสอบสวนในเรื่อง “ ขับรถโดยประมาท” และ “ ความเสียหายที่เกิดขึ้นรวมทั้งบาดแผลหรือข้อเท็จจริงในเรื่องการได้รับบาดเจ็บสาหัสของคู่กรณี” ซึ่ง พนักงานอัยการ ไม่อาจจะทราบได้เลยถึงข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว

เมื่อ คนขับรถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ ถูกฟ้องดำเนินคดีจนศาลมีคำพิพากษาลงโทษในความผิดฐาน “ ขับรถในขณะเมาสุราฯ” แล้ว จากพฤติการณ์และการกระทำในครั้งนั้น เมื่อไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์และพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ตามกฎหมาย คดีดังกล่าวย่อมถึงที่สุด

ต่อมา…พนักงานสอบสวน จึงสรุปสำนวนคดีความผิดฐาน “ขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บสาหัสและทรัพย์สินเสียหาย” ส่งให้พนักงานอัยการพิจารณา เมื่อพนักงานอัยการฟ้องคดีต่อศาลชั้นต้น
ปรากฏว่า ทนายจำเลยได้ยกปัญหาข้อกฎหมายขึ้นต่อสู้ว่า “คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำ ” ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39(4) กับคดีขับรถในขณะเมาสุรา ฯ ในคดีที่ได้ฟ้องวาจาต่อศาลแขวงดังกล่าว เนื่องจากเป็นการกระทำกรรมเดียวกัน และคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว

ต่อมาศาลชั้นต้นได้พิจารณาแล้วมีคำพิพากษา “ยกฟ้อง”โจทก์ในความผิดฐาน “ ขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บสาหัสและทรัพย์สินเสียหาย” ด้วยเหตุผล“ คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำ ” ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39(4) ดังกล่าว

เมื่อพิจารณา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4)
ได้วางหลักไว้ว่า “ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้อง ”
หมายความว่า “ การกระทำในครั้งเดียวกันในคราวเดียวกัน กรรมเดียว ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจจะเป็นจะเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายมาตรา แต่ผู้กระทำผิดต้องได้รับโทษหรือการพิจารณาคดีเพียงครั้งเดียวเท่านั้น

ตามหลักที่ว่า “ การกระทำที่เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท เมื่อโจทก์ฟ้องและศาลได้มีคำพิพากษาในความผิดบทใดบทหนึ่งไปแล้ว ถือว่าได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้องแล้ว
โจทก์จะนำการกระทำกรรมเดียวกันนั้นมาฟ้องขอให้ศาลลงโทษจำเลยอีกไม่ได้ แม้จะฟ้องคนละฐานความผิดกันก็ตาม
ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีคำพิพาษาศาลฎีกาได้เคยวินิจฉัยและวางหลักดังนี้

คำพิพากษาศาลฎีกา 4067/2550 วางหลักว่า “ ความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุราหรือของมึนเมาอย่างอื่น กับ ความผิดฐาน “ ขับรถโดยประมาทฯ เป็นการกระทำกรรมเดียวกัน”

กล่าวคือ การที่จำเลย ขับรถในขณะเมาสุรา อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา43 (2), 160 วรรคสาม กับการที่จำเลย ขับรถโดยประมาท แซงรถที่อยู่ข้างหน้าไปในหน้าไปในช่องเดินรถขวามือในขณะที่ผู้ตายขับสวนมา เป็นเหตุให้ชนรถจักรยานยนต์ของผู้ตายเสียหายและทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย อันเป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 291 และ พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 43 (4), 157 นั้น เป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องและเป็นผลโดยตรงที่ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงเป็นการกระทำกรรมเดียว ต้องลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 291 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด

ดังนั้น เมื่อความผิดฐาน “ขับรถในขณะเมาสุราฯ กับความผิดฐาน “ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสและทรัพย์สินเสียหาย” เป็นกรรมเดียวกัน เป็นการกระทำในคราวเดียวกัน เมื่อจำเลยถูกศาลพิพากษาลงโทษในความผิดฐาน” ขับรถในขณะเมาสุราฯ” และคดีดังกล่าวเสร็จเด็ดขาดและถึงที่สุดแล้ว

การที่พนักงานสอบสวนส่งสำนวนคดีความผิดฐาน “ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสและทรัพย์สินเสียหาย” ไปให้พนักงานอัยการฟ้องในภายหลัง จึงเป็น “ฟ้องซ้ำ” ในคดีความผิดซึ่งเสร็จเด็ดขาด จึงเป็นเหตุให้ศาลพิพากษา ยกฟ้อง ด้วยเหตุฟ้องซ้ำ
ผลเสีย จึงเกิดแก่ผู้เสียหาย

คดีอุบัติเหตุจราจร นอกจาก “ ผลการตรวจสอบปริมาณแอลกอฮอลล์ในเลือด” ของผู้ต้องหา จะเป็น พยานหลักฐานสำคัญในอันพิสูจน์ความผิดฐาน “ ขับรถในขณะเมาสุราหรือของมึนเมาอย่างอื่น “ หรือไม่ ซึ่งผู้กระทำผิด มักจะหลีกเลี่ยง หลบหนี ไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบปริมาณแอลกอฮอลล์ในเลือดในทันทีทันใด หรือในเวลาที่ใกล้ชิดกับเหตุแล้ว เพื่อไม่ให้มีพยานหลักฐานว่า ตนเองเมาสุราหรือของมึนเมาอย่างอื่น โดยหลบหนี หรือ ไม่ยอมเข้าพบพนักงานสอบสวนจนกว่าปริมาณแอลกอฮอลล์ในเลือดลดลงจนเหลือในปริมาณต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดเพื่อ มิให้ถูกดำเนินคดีในความผิดฐาน “ขับรถในขณะเมาสุราฯ “ แล้ว

เรายังอาจพบ ผู้กระทำผิด ที่ขับรถในขณะเมาสุราจนเป็นเหตุให้ไปเฉี่ยวชนรถยนต์หรือยวดยานพาหนะอื่นใด ได้รับความเสียหาย รวมถึงเฉี่ยวชน บุคคลหนึ่งบุคคลใดได้รับบาดเจ็บ บาดเจ็บสาหัส หรือถึงแก่ความตาย แต่กลับถูก พนักงานสอบสวน แยกฟ้องดำเนินคดี (ฟ้องวาจา) ในความผิดฐาน ขับรถในขณะเมาสุราฯ ไปก่อน เพื่อให้คดีเสร็จเด็ดขาดไปก่อน ( ไม่ว่าจะเจตนา จงใจ หรือ ไม่เจตนา ไม่จงใจ หรือเหตุอื่นใดก็ตาม) ล้วนเป็น “ เทคนิคในเชิงคดี”

มาถึงบรรทัดนี้ ผู้อ่านคงจะเข้าใจแล้วว่า
“ เหตุใด พนักงานอัยการ จึงอาจไม่ฟ้องคดีที่ฟ้องด้วยวาจา แม้ว่า ผู้ต้องหาจะให้การ รับสารภาพ ? ”( หากเห็นว่า สำนวนคดีนั้นยังไม่สมบูรณ์และครบถ้วน)

พนักงานอัยการ ยังคงที่พึ่งแก่ประชาชนได้ หาก พนักงานอัยการ “ได้ทราบข้อเท็จจริงแห่งคดีทั้งหมดมาตั้งแต่ต้นคดี ”

แม้จะเป็น “คดีเล็ก” แต่ก็อาจฆ่า “ คดีใหญ่” ได้

นายวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์
อัยการศาลสูงจังหวัดสมุทรปราการ
รองประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (คนที่สี่) ในคณะกรรมาธิการการกฎหมายการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร

0 Comments
Share

Admin

Reply your comment

Your email address will not be published. Required fields are marked*