กฎหมายน่ารู้

เรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับ “ความผิดเกี่ยวกับเพศ”

%e0%b9%80%e0%b8%a3%e0%b8%b7%e0%b9%88%e0%b8%ad%e0%b8%87%e0%b8%97%e0%b8%b5%e0%b9%88%e0%b8%84%e0%b8%a7%e0%b8%a3%e0%b8%a3%e0%b8%b9%e0%b9%89%e0%b9%80%e0%b8%81%e0%b8%b5%e0%b9%88%e0%b8%a2%e0%b8%a7%e0%b8%81

“ความผิดทางเพศ” เป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ ทั้งกับผู้หญิง และผู้ชาย รวมถึงเพศทางเลือก ไม่ว่าจะเป็น เด็ก ผู้ใหญ่ หรือ คนชรา คงไม่มีใครอยากจะให้เกิดขึ้นกับตน กับคนในครอบครัว หรือคนในสังคม จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีความรู้ด้านกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวกับความผิดทางเพศที่เป็นปัจจุบัน ทั้งนี้เนื่องจากปัจจุบันได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่เกี่ยวกับความผิดทางเพศในหลักการที่สำคัญหลายประการ เช่น การข่มขืนกระทำชำเราให้เป็น “ความผิดอันยอมความไม่ได้” เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้น และบทนิยามของคำว่า “กระทำชำเรา” เป็นต้น

และทุกครั้งที่เกิดเหตุคดีความผิดทางเพศที่รุนแรง เช่น ข่มขืนแล้วฆ่าผู้เสียหาย ก็มักจะมีการเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมาย จนถึงขนาดเรียกร้องให้ “ ข่มขืน เท่ากับ ประหาร”

ดังนั้น เพื่อเป็นเกราะป้องกัน และเป็นการเสริมความรู้ทางกฎหมายเกี่ยวกับความผิดทางเพศ ประกอบกับคดีความผิดเกี่ยวกับเพศที่ประชาชนกำลังให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้ ผู้เขียนจึงขอนำเสนอความรู้ทางกฎหมายเกี่ยวกับความผิดทางเพศ เพื่อจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่าน

ก่อนอื่นต้องพิจารณาว่า “เหตุข่มขืนกระทำชำเรา” หรือ “เหตุอนาจาร” นั้นเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใดและผู้เสียหายได้แจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาหรือไม่ เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

เนื่องจากความผิดฐาน “ข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่น” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 276 และความผิดฐาน “กระทำอนาจารแก่ผู้อื่น” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 278 รวมถึงความผิดที่เกี่ยวกับเพศอื่น ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2562 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2562 โดยมีผลเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญ โดยสรุปดังนี้

1.แก้ไข บทนิยามคำว่า “การกระทำชำเรา” ให้มีขอบเขตบังคับใช้เฉพาะกรณีการใช้ “อวัยวะเพศ” ของผู้กระทำล่วงล้ำ “อวัยวะเพศ” ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น เท่านั้น

ส่วนการใช้ “สิ่งอื่นใด” สอดใส่เข้าไปใน ”อวัยวะเพศ” หรือ “ทวารหนัก” ของผู้อื่น จะไม่เป็นความผิดฐาน “ข่มขืนกระทำชำเรา” อีกต่อไป (ซึ่งก่อนวันที่ 28 พฤษภาคม 2562 นั้น การที่ผู้กระทำใช้ “สิ่งอื่นใด” สอดใส่เข้าไปในอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่นนั้น เป็นความผิดฐาน “ข่มขืนกระทำชำเรา” แล้ว

2.ความผิดฐาน “กระทำอนาจาร” หากมีลักษณะเป็นการ ใช้ “วัตถุอื่นใด” ที่ไม่ใช่ “อวัยวะของมนุษย์” ล่วงล้ำ อวัยวะเพศ หรือทวารหนักของผู้อื่น” ให้ถือเป็น “ความผิดร้ายแรง” ที่ผู้กระทำจะต้องได้รับโทษหนักขึ้น เช่น

ตามมาตรา 278 วรรคสอง (“กระทำอนาจาร” บุคคลอายุกว่า 15 ปี โดยขู่เข็ญ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยบุคคลนั้นอยู่ในภาวะไม่สามารถขัดขืนได้, ทำให้เข้าใจผิดเป็นบุคคลอื่น ) หากมีลักษณะเป็นการใช้ “วัตถุอื่นใด” ที่ไม่ใช่ “อวัยวะของมนุษย์” ล่วงล้ำ “อวัยวะเพศ หรือทวารหนักของผู้อื่น” ด้วย ก็ให้มีความผิดเทียบเท่ากับ ความผิดฐาน “ข่มขืนกระทำชำเราฯ” ตามมาตรา 276 วรรคแรก กล่าวคือ มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 4 ปีถึง 20ปี และปรับตั้งแต่ 80,000 บาท ถึง 400,000บาท (แม้ว่าจะกระทำผิดฐาน “ อนาจารฯ” ก็ตาม)

“การกระทำอนาจาร” ความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง ความประพฤติชั่ว ความประพฤติน่าอับอาย การกระทำอันควรขายหน้าต่อหน้าธารกำนัล โดยเปลือย หรือเปิดเผยร่างกาย หรือกระทำลามกอย่างอื่น ทำให้อับอาย

ในทางกฎหมาย การกระทำอนาจาร คือ การกระทำที่ไม่สมควรทางเพศแก่ผู้ถูกกระทำ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4024/ 2534) เช่น กอด จูบ ลูบคลำ แตะเนื้อต้องตัวร่างกายในทางไม่สมควรก็เป็นความผิดฐาน กระทำอนาจารแล้ว
“การกระทำชำเรา” ก็รวมถึง “การกระทำอนาจาร” อยู่ด้วยในตัวเช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 501/2503 จำเลย จับมือและกอดเด็กหญิงอายุ 14 ปี ถือว่า เป็นการใช้กำลังแรงกายภาพ ซึ่งเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายแล้ว การกระทำของจำเลยดังกล่าว เป็นความผิดฐาน “กระทำอนาจาร” ตามมาตรา 278 แล้ว

3.หาก “ผู้กระทำ” ได้กระทำความผิดฐาน “ข่มขืนกระทำชำเรา” หรือ กระทำความผิดฐาน ”อนาจาร” โดยมีเหตุฉกรรจ์ คือ ทำให้ผู้ถูกกระทำเข้าใจว่าผู้กระทำมี “อาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด” ผู้กระทำจะต้องรับโทษหนักขึ้น เช่น มาตรา 276 วรรคสอง, มาตรา 277 วรรคสาม, มาตรา 278 วรรคสาม และมาตรา 279 วรรคหก (ที่แก้ไขใหม่)

4..แก้ไขโทษให้หนักขึ้น โดยมีการแก้ไขระวางโทษขั้นต่ำของความผิดฐาน “กระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ซึ่งมิใช่ภริยา หรือสามีของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ยินยอมก็ตาม” ตามมาตรา 277 วรรคหนึ่ง จากเดิม “จำคุกตั้งแต่ 4 ปีถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 8 หมื่นบาทถึง 4 แสนบาท” แก้ไขเป็น “จำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 1 แสนบาท ถึง 4 แสนบาท”

ทั้งนี้ เนื่องจากเห็นว่า “การกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม” ควรกำหนดระวางโทษขั้นต่ำให้ สูงกว่า ความผิดฐาน “ข่มขืนกระทำชำเราบุคคลอื่นฯ” ตามมาตรา 276 วรรคแรก ทั้งนี้ เนื่องจากเด็กโดยเฉพาะเด็กที่มีอายุไม่เกิน 15 ปี ย่อมอ่อนต่อโลก และอาจไม่สามารถปกป้องกันตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะสรีระร่างกาย รวมทั้งอาจถูกหลอกลวงได้ จึงสมควรจะลงโทษให้หนักขึ้น

5.ปกป้อง “เด็กอายุไม่เกิน 13 ปี“ โดยกำหนดโทษให้หนักขึ้น หากผู้กระทำไปกระทำความผิดฐาน “กระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 13 ปี “ และ “กระทำอนาจารเด็กอายุยังไม่เกิน 13 ปี” ให้ต้องรับโทษหนักขึ้น เช่น มาตรา 277 วรรคสอง, มาตรา 279 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่ )

6.เพิ่มการกำหนดโทษให้สูงถึง “จำคุกตลอดชีวิต” ถ้า

6.1 ผู้กระทำ กระทำความผิดฐาน “อนาจารบุคคลอายุกว่า 15 ปี” โดยมีพฤติการณ์ตามมาตรา 278 หรือ

6.2 กระทำผิดฐาน “อนาจารเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม” โดยมีพฤติการณ์ตามมาตรา 279

หากการกระทำตามข้อ 6.1 และ 6.2 นั้น เป็นเหตุให้ “ผู้ถูกกระทำ” ตามมาตรา 278, 279 ได้รับอันตรายสาหัส (สาหัส คือ เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาจนไม่สามารถประกอบกรณีกิจได้เกินกว่า 20 วัน)

7.เพิ่มการกำหนดโทษให้สูงถึง “ประหารชีวิต” ถ้า ผู้กระทำกระทำผิดฐาน “อนาจารบุคคลอายุกว่า 15 ปี” และ/หรือกระทำผิดฐาน “อนาจารเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม” จนเป็นเหตุให้ ผู้ถูกกระทำ ถึงแก่ความตาย หรืออาจเรียกว่า “ให้ตายตกไปตามกัน “

8.แก้ไขให้ความผิดฐาน “ข่มขืนกระทำชำเรา” ตามมาตรา 276 วรรคแรก และฐาน “กระทำอนาจารบุคคลอายุกว่า 15 ปี ” ตามมาตรา 278 ถ้า

8.1 ไม่ได้กระทำต่อหน้าธารกำนัล หรือไม่เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำได้รับอันตรายสาหัส หรือถึงแก่ความตาย หรือไม่ได้กระทำต่อ บุคคลตามมาตรา 285 คือ ผู้สืบสันดาน, ศิษย์ในความดูแล

จากเดิมเป็น “ความผิดอันยอมความได้” ตามมาตรา 281 แก้ไขเป็น “ความผิดอาญาต่อแผ่นดิน” หรือความผิดที่ยอมความไม่ได้ ตามมาตรา 281 (1) ที่แก้ไขใหม่

8.2 แต่ก็มีข้อยกเว้นให้ยังคงถือเป็น “ความผิดอันยอมความได้” ของกรณี การกระทำผิดตามมาตรา 276 วรรคหนึ่ง (ข่มขืนกระทำชำเราฯ) และ มาตรา 278 วรรคสอง (อนาจารบุคคลอายุกว่า 15 ปี โดยใช้วัตถุหรืออวัยวะอื่นที่ไม่ใช่อวัยวะเพศ ล่วงล้ำอวัยวะเพศหรือทวารหนักของบุคคลอื่น) ถ้า….

เป็น “การกระทำระหว่างคู่สมรส” หรือ “มิได้เกิดต่อหน้าธารกำนัล” หรือ ”ไม่เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำได้รับอันตรายสาหัส” หรือไม่เป็นเหตุให้ “ถึงแก่ความตาย”

กรณีเช่นนี้ให้ถือว่า “เป็นความผิดอันยอมความได้”

“ ความผิดอันยอมความได้” กับ “ความผิดอันยอมความไม่ได้” มีความแตกต่างกันอย่างไร ?

“ความผิดอันยอมความได้” คือความผิดที่ไม่ใช่ความผิด ต่อแผ่นดิน ซึ่งผู้เสียหายสามารถ “ถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้องหรือยอมความได้” และเมื่อผู้เสียหาย ถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้อง ยอมความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้อง ย่อมเป็นอันระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา39 (2) คดีย่อมเสร็จเด็ดขาดไป และไม่สามารถดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดได้อีก เพราะสิทธินำคดีอายามาฟ้องเป็นอันระงับไปแล้ว

แต่อย่างไรก็ตาม “คดีความผิดอันยอมความได้” นั้น ผู้เสียหายจะต้อง “ร้องทุกข์” ภายในกำหนดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 คือ “ภายใน 3 เดือน” นับแต่รู้เรื่องการกระทำผิด และรู้ตัวผู้กระทำผิด มิฉะนั้นเป็นอันขาดอายุความ

ส่วน “ความผิดที่ยอมความไม่ได้” หรือความผิดต่อแผ่นดินนั้น ไม่จำต้องอาศัยการร้องทุกข์ แต่อาจจะเป็นการกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดี หรือ พนักงานสอบสวนสามารถดำเนินคดีได้เองโดยไม่ต้องอาศัยการร้องทุกข์จากผู้เสียหาย หรือ ผู้หนึ่งผู้ใดก็สามารถดำเนินคดีได้ เพราะเป็นเรื่องความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่ต้องอาศัยอายุความร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่รู้เรื่องและรู้ตัวผู้กระทำผิดแต่อย่างใด

ดังนั้น คดีความผิดเกี่ยวกับเพศนั้น หากเป็นกรณีผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับเพศต่อผู้เสียหายจำนวนหลายราย ต่างกรรมต่างวาระกัน จำต้องพิจารณาว่า

1.เหตุ (แต่ละกรรมแต่ละวาระ) นั้น เกิดเมื่อใด (เหตุเกิดก่อนวันที่ 28 พฤษภาคม 2562 อันเป็นวันที่กฎหมายใหม่มีผลบังคับ หรือไม่ )

2.ผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ภายในกำหนด3 เดือน นับแต่รู้เรื่องและรู้ตัวผู้กระทำผิด หรือไม่ (หากเหตุนั้นเกิดขึ้นก่อนวันที่ 28 พฤษภาคม 2562 ถือเป็นความผิดอันยอมความได้ ซึ่งผู้เสียหายจะต้องร้องทุกข์ภายในกำหนดอายุความร้องทุกข์ตามกฎหมายดังกล่าว)

3.พฤติการณ์แห่งการกระทำเข้า “ข้อยกเว้น” ตามมาตรา 281 ในอันที่จะทำให้เป็นความผิดอันยอมความได้หรือไม่

4.คดีขาดอายุความร้องทุกข์และอายุความดำเนินคดีหรือไม่

5.พยานหลักฐาน (พยานบุคคลและพยานวัตถุ รวมถึงพยานที่เป็นนิติวิทยาศาสตร์ ภาพบันทึกจากกล้องวงจรปิด ฯลฯ ) มีเพียงใด

“การเก็บรักษาพยานหลักฐานที่ดี ย่อมฟังเป็นมั่นคง”

เคยมีคดีผู้มีชื่อเสียงถูกฟ้องดำเนินคดีฐาน ข่มขืนกระทำชำเรา จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ผู้เสียหาย มีพยานหลักฐานเป็น “กระดาษทิชชู่” ซึ่งผู้เสียหายได้เช็ดคราบสารคัดหลั่งแล้วนำไปเก็บแช่ตู้เย็นไว้เป็นหลักฐาน

6.“ความยินยอมของผู้ถูกกระทำ” หากผู้ถูกกระทำ “ยินยอม” ย่อมไม่เป็นความผิดฐาน “ข่มขืนกระทำชำเรา” ยกเว้นกรณี

  • กระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี เด็กจะยินยอมหรือไม่ยินยอม ก็เป็นความผิด ตามมาตรา 277
  • กระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 13 ปี เด็กจะยินยอมหรือไม่ยินยอม ก็เป็นความผิด ตามมาตรา 277
  • กระทำอนาจารแกบุคคลกว่า15 ปี โดยขู่เข็ญ โดยใช้กำลังประทุษร้าย ก็เป็นความผิดตามมาตรา 278

การข่มขืนกระทำชำเรา จึงเป็นเรื่องที่ ผู้เสียหายไม่ยินยอมให้ผู้กระทำข่มขืนกระทำชำเรา ดังนั้น การสืบพิสูจน์ว่า ผู้เสียหาย “ไม่ได้ยินยอมให้ข่มขืนกระทำชำเรา” จึงเป็นเรื่องสำคัญ

ความยินยอมของผู้ถูกกระทำ พิจารณาเป็นครั้งครั้งไป ครั้งไหนที่ผู้เสียหายไม่ยินยอม ครั้งนั้นก็อาจเป็นความผิดได้

มีตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4671/ 2554 เคยวินิจฉัยสรุปใจความว่า

“ปรากฏว่า ผู้เสียหายนอนหงายหลังพิงเบาะรถจักรยานยนต์ ศรีษะหันไปทางท้ายรถ เท้าสองข้างงอเหยียบข้างรถซึ่งจอดอยู่ข้างอาคารโดยยกขาตั้งขึ้น อันเป็นท่าทางพิเศษยากแก่การที่จะข่มขืนกระทำชำเรา ทั้งยังได้ความจากผู้เสียหายว่า ก่อนการกระทำชำเรา จำเลยได้เล้าโลมอารมณ์ทางเพศของผ้เสียหายให้พร้อมในการร่วมเพศ…………จึงไม่น่าเชื่อว่า การกระทำชำเราของจำเลยจะเป็นการข่มขืนผู้เสียหาย จึงพิพากษายกฟ้อง

มาถึงบรรทัดนี้ หวังว่า ผู้อ่านคงจะได้ความรู้ทางกฎหมายเกี่ยวกับความผิดทางเพศบ้างไม่มากก็น้อย เพื่อจะได้นำความรู้ไปเป็นเกราะป้องกันตัว และดำเนินคดี (หากมี)

ส่วนคดีนักการเมืองคนดัง จะเป็นความผิด และศาลจะพิพากษาลงโทษหรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไป

นายวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์
-อัยการศาลสูงจังหวัดสมุทรปราการ
-รองประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการปฎิรูปกระบวนการยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน (คนที่สี่) ในคณะกรรมาธิการ-การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร

0 Comments
Share

Admin

Reply your comment

Your email address will not be published. Required fields are marked*