กฎหมายน่ารู้

การกระทำเพียงครั้งเดียวย่อมถูกดำเนินคดีได้เพียงครั้งเดียว (Non bis in idem)

%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b8%81%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b8%97%e0%b8%b3%e0%b9%80%e0%b8%9e%e0%b8%b5%e0%b8%a2%e0%b8%87%e0%b8%84%e0%b8%a3%e0%b8%b1%e0%b9%89%e0%b8%87%e0%b9%80%e0%b8%94%e0%b8%b5%e0%b8%a2

ดังที่เคยกล่าวไว้ว่า “คดีแตงโม ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการยุติธรรมของไทย” เป็นอย่างมาก

ใครที่ติดตามคดีแตงโมจะเห็นว่า คดีนี้ พนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนคดีอาญาไปให้ พนักงานอัยการจังหวัดนนทบุรี เพื่อพิจารณาแล้ว และคดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของพนักงานอัยการจังหวัดนนทบุรี (รอ อธิบดีอัยการภาค ๑ พิจารณาสั่ง)  

แต่ในอีกมุมหนึ่ง เราก็จะเห็น กลุ่มบุคคลหนึ่ง ที่เชื่อว่าการตายของแตงโมนั้น ไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุ หรือ เกิดจากความประมาท หากแต่เกิดการกระทำโดยเจตนาฆ่า หรือ เชื่อว่า มีเหตุฆาตกรรมบนเรือ และได้พยายามไปรวบรวมพยานหลักฐานแล้วส่งเรื่องและพยานหลักฐานไปให้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อพิจารณา และดำเนินคดี

จึงเกิด การกระทำ หรือ การสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีที่คู่ขนานกันไป

กรณีเช่นนี้จะทำได้หรือไม่อย่างไร

ก่อนอื่นต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า….

เมื่อ “คดีแตงโม” เริ่มต้นจาก “การสอบสวนของพนักงานสอบสวน” สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  ดังนั้น เมื่อพนักงานสอบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเสร็จสิ้น พนักงานสอบสวนจะต้องสรุปสำนวนคดีอาญาดังกล่าว แล้วมีความเห็นทางคดีไม่ว่าจะเป็น “เห็นควรสั่งฟ้อง” หรือ “เห็นควรสั่งไม่ฟ้อง” แล้วส่ง “สำนวนคดีอาญาดังกล่าวพร้อมความเห็นทางคดี” พร้อมตัว “ผู้ต้องหา” (หากมี)  ส่งไปให้ “พนักงานอัยการจังหวัดนนทบุรี” ที่มีเขตอำนาจเพื่อพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (มาตรา 140- 144) ต่อไป  

ครั้นเมื่อ ”พนักงานอัยการ” ได้รับสำนวนการสอบสวนคดีอาญาจาก พนักงานสอบสวนพร้อมตัวผู้ต้องหา (หากมี) แล้ว พนักงานอัยการจักต้อง “ตรวจสำนวน” คดีอาญาที่พนักงานสอบสวนได้ส่งมาให้ แล้วมีความเห็น และคำสั่งทางคดี (อย่างหนึ่งอย่างใด) ดังนี้

  • มีความเห็น “สั่งฟ้อง” หากเห็นว่า พฤติการณ์และการกระทำของผู้ต้องหา เป็นความผิดและเข้าองค์ประกอบความผิดตามกฎหมาย และกรณีดังกล่าว “ไม่เข้าข้อยกเว้นตามกฎหมาย” ในอันที่จะทำให้พฤติการณ์และการกระทำของผู้ต้องหาว่า ไม่เป็นความผิด  หรือ ไม่มีเหตุยกเว้นโทษ ในอันที่จะทำให้ผู้ต้องหาไม่ต้องรับโทษตามกฎหมาย แต่อย่างใด
  • มีความเห็น “สั่งไม่ฟ้อง” หากเห็นว่า พฤติการณ์และการกระทำของผู้ต้องหา ไม่เป็นความผิด และไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามกฎหมาย และกรณีดังกล่าว เข้าข้อยกเว้นตามกฎหมายในอันที่จะทำให้พฤติการณ์ และการกระทำของผู้ต้องหาไม่เป็นความผิด  หรือ มีเหตุยกเว้นโทษในอันที่จะทำให้ผู้ต้องหาไม่ต้องรับโทษตามกฎหมาย
  • มีความเห็น “สั่งสอบสวนเพิ่มเติม”  หากเห็นว่า พยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวนได้สอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานมานั้น ยังคงไม่เพียงพอในอันที่จะพิจารณาว่า พฤติการณ์และการกระทำของผู้ต้องหา เป็นความผิดตามกฎหมายหรือไม่  อย่างไร

หาก พนักงานสอบสวน  ได้รับคำสั่งจาก พนักงานอัยการ ที่สั่งให้ “พนักงานสอบสวน” สอบสวนเพิ่มเติม ตามข้อ (ค)  พนักงานสอบสวน จะต้องทำการสอบสวนเพิ่มเติมตามประเด็นที่พนักงานอัยการได้สั่งให้ พนักงานสอบสวน สอบสวนเพิ่มเติมดังกล่าว ให้ถูกต้องและครบถ้วน และเมื่อสอบสวนเพิ่มเติมในประเด็นดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้ว ก็ให้พนักงานสอบสวนส่งผลการสอบสวนเพิ่มเติมดังกล่าว ไปให้ พนักงานอัยการ เพื่อพิจารณาสั่งคดีอีกครั้ง

พนักงานอัยการ เมื่อได้รับผลการสอบสวนเพิ่มเติมจากพนักงานสอบสวนดังกล่าวแล้ว พนักงานอัยการ จักต้องมีความเห็นและคำสั่งทางคดี ไม่ว่าจะเป็นการสั่ง ตามข้อ (ก) หรือ ข้อ (ข) ต่อไป

แต่อย่างไรก็ตาม หาก พนักงานอัยการ เห็นว่า สำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวน ยังไม่เสร็จสิ้นในประเด็นสำคัญแห่งคดี  พนักงานอัยการ อาจพิจารณาสั่ง “ให้คืนสำนวนการสอบสวนดังกล่าวไปให้พนักงานสอบสวนกลับไปทำการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมใหม่ให้เสร็จสิ้นและครบถ้วน” ก็ได้

ภายหลัง พนักงานสอบสวนที่ได้รับสำนวนการสอบสวนกลับคืนมาจากพนักงานอัยการและได้ทำการสอบสวนใหม่จนเสร็จสิ้นในประเด็นสำคัญแห่งคดีตามที่พนักงานอัยการได้แจ้งและกำหนดประเด็นดังกล่าวมาให้จนเสร็จสิ้นและครบถ้วนแล้ว ก็ให้ พนักงานสอบสวน ส่งสำนวนคดีอาญาดังกล่าวกลับคืนไปยัง พนักงานอัยการ พิจารณาสั่งสำนวนคดี ตามข้อ (ก) หรือ ข้อ (ข)  อีกครั้ง

นี่คือ ขั้นตอนและหลักกฎหมายที่พนักงานสอบสวน และพนักงานอัยการจะต้องพิจารณาสั่งตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ได้กำหนดไว้

แต่ยังมี หลักกฎหมายที่สำคัญอีกประการ คือ

ในคดีอาญาเมื่อ พนักงานสอบสวน สอบสวนเสร็จสิ้นและส่งสำนวนคดีอาญาให้พนักงานอัยการพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 140- 144 แล้ว อำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวนย่อมสิ้นสุดลง พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจที่จะไปทำการสอบสวนหรือรวบรวมพยานหลักฐานอีกต่อไป แม้ว่าต่อมาจะปรากฏว่า พนักงานสอบสวนอาจเห็นว่า  ยังคงมีประเด็นสำคัญที่พนักงานสอบสวนยังไม่ได้สอบสวน หรือ เพิ่งมาพบพยานหลักฐานใหม่ หรือมีคนมาร้องขอให้พนักงานสอบสวนสอบสวน กรณีเช่นนี้ พนักงานสอบสวน ก็ไม่มีอำนาจสอบสวน และรวบรวมพยานหลักฐานใดใดอีกแล้ว ทั้งนี้เนื่องจาก อำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวนหมดสิ้นแล้ว ตั้งแต่ได้สรุปสำนวนและความเห็นส่งไปยังพนักงานอัยการเพื่อพิจารณาสั่งแล้ว

คดีแตงโม  ก็เช่นกัน เมื่อ พนักงานสอบสวน ได้สรุปสำนวนคดีและมีความเห็นทางคดีพร้อมส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมตัวผู้ต้องหา ส่งไปยังพนักงานอัยการจังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็น พนักงานอัยการที่มีเขตอำนาจพิจารณาคดีนี้ เนื่องจาก “มูลคดี”  หรือเหตุเกิดขึ้นที่จังหวัดนนทบุรี เพื่อพิจารณาคดีตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ได้บัญญัติไว้ และต่อมา เมื่อพนักงานอัยการจังหวัดนนทบุรี ได้พิจารณาและมีความเห็นและคำสั่งทางคดีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการสั่งคดี ตาม ข้อ (ก) หรือข้อ (ข) หรือข้อ (ค) ก็ตาม หรือ มีคำสั่งคืนสำนวนการสอบสวนไปให้พนักงานสอบสวนสอบสวนให้เสร็จสิ้นในประเด็นสำคัญแห่งคดีก็ตาม ย่อมเป็นการสั่งไปตามอำนาจและหน้าที่ของ พนักงานอัยการ ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้บัญญัติไว้

ส่วนกรณีที่  บุคคลหนึ่งบุคคลใดก็ตาม ที่ได้พยายามไปรวบรวมพยานหลักฐานแล้ว ส่งให้ “กรมสอบสวนคดีพิเศษ” หรือ DSI  เพื่อที่จะให้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ รับและดำเนินคดีกับผู้ต้องหา (ผู้ต้องหาในสำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมถึงบุคคลหนึ่งบุคคลใด) ในฐานความผิดหนึ่งฐานความผิดใด ตามที่กลุ่มบุคคลนั้นได้ไปดำเนินการสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานดังกล่าวด้วยตนเอง กรณีเช่นนี้สามารถทำได้หรือไม่ อย่างไร ?

ใครมี “อำนาจฟ้องคดีอาญา” ได้บ้าง ?

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 28 กำหนดให้ “บุคคลผู้มีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาล” ได้แก่

(1) พนักงานอัยการ

(2) ผู้เสียหาย

บุคคลแรก “พนักงานอัยการ”  ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 บัญญัติว่า

ห้ามมิให้ พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาลโดยมิได้ มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน”

หมายความว่า  พนักงานอัยการจะฟ้องคดีอาญาใดกับบุคคลใดได้นั้น จะต้องได้รับ สำนวนการสอบสวนคดีอาญาจาก พนักงานสอบสวน ซึ่งได้ทำการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานตลอดจนมีความเห็นและคำสั่งทางคดีเสียก่อน แล้วส่งสำนวนคดีอาญาพร้อมตัวผู้ต้องหาไปให้ พนักงานอัยการ เพื่อพิจารณาดำเนินคดีกับผู้ต้องหาหรือผู้กระทำผิดนั้นต่อไป

แปลความได้ว่า พนักงานอัยการ ไม่สามารถฟ้องคดีอาญากับใครได้ หากพยานหลักฐานนั้นไม่ได้ผ่านการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานมาจาก พนักงานสอบสวน มาก่อน

ดังนั้น พยานหลักฐานที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดจะนำมาส่งมอบให้พนักงานอัยการ โดยไม่ได้ผ่านการสอบสวนของพนักงานสอบสวน กรณีเช่นนี้ พนักงานอัยการไม่สามารถนำมารับฟังหรือนำมาใช้พิจารณาเป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ได้ เว้นเสียแต่ว่า หากพนักงานอัยการ เชื่อว่า พยานหลักฐานที่มีบุคคลนำมามอบให้เป็นพยานหลักฐานสำคัญในอันที่จะพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาได้ ก็ให้พนักงานอัยการสั่งให้พนักงานสอบสวนนำพยานหลักฐานชิ้นนั้นไปทำการสอบสวนโดยการสั่งสอบสวนเพิ่มเติมจากพนักงานอัยการ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม

มาพิจารณากันต่อว่า ….

ผู้มีอำนาจดำเนินคดีอาญาในประเทศไทย นอกจากจะเป็น พนักงานอัยการ แล้ว  จะเป็นใครได้อีก

“ผู้เสียหาย” ก็สามารถดำเนินคดีอาญากับผู้ต้องหา หรือผู้กระทำผิด ได้ด้วยตนเองเช่นกัน เพียงแต่ว่า “ผู้เสียหาย” ที่สามารถฟ้อง และดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดได้นั้นจะต้องเป็น “ผู้เสียหายโดยนิตินัย” ด้วย

ผู้เสียหายโดยนิตินัย หมายถึง ผู้เสียหายที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการกระทำผิดนั้นด้วย

แล้วถ้า “ผู้เสียหายถึงแก่ความตาย”  จะทำอย่างไร ?

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา  ๕  ได้บัญญัติให้ บุคคลเหล่านี้มีอำนาจจัดการแทน

  • ผู้แทนโดยชอบธรรม หรือ ผู้อนุบาล เฉพาะแต่ในความผิดซึ่ไงด่กระทำต่อผู้เยาว์หรือผู้ไร้ความสามารถซึ่งอยู่ในความดูแล
  • ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามี หรือภริยาเฉพาะแต่ในความผิดอาญาซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจัดการเองได้
  • ผู้จัดการหรือ ผู้แทนอื่นของนิติบุคคล  

เมื่อ คดีแตงโม เป็นคดีที่มีผู้ถึงแก่ความตาย ไม่ว่าจะเป็น “กระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้อื่นถึงแก่ความตาย” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 หรือ ทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย ตามมาตรา 290 หรือ เจตนาฆ่าผู้อื่น (ไม่ว่าจะเป็นเจตนาเล็งเห็นผล หรือประสงค์ต่อผล) ตามมาตรา 288 ก็ตาม  ย่อมเป็น “คดีอาญาต่อแผ่นดิน  อันกระทบต่อความสงบสุขของสังคม พนักงานสอบสวน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ย่อมมีอำนาจสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน และดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำผิดได้ ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาดังที่กล่าวแล้ว  

ดังนั้น คดีแตงโม เมื่อพนักงานสอบสวน สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้สอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานจนเสร็จสิ้นแล้ว และได้ส่งสำนวนคดีอาญาดังกล่าวไปให้ พนักงานอัยการ พิจารณาตามอำนาจหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้ว ผู้มีอำนาจฟ้องคดีอาญาคดีนี้ ย่อมเป็น ”พนักงานอัยการ” เท่านั้น

ส่วน “ผู้เสียหาย” นั้นแม้ตามกฎหมายจะสามารถเป็นผู้มีอำนาจดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำผิดได้เช่นเดียวกับพนักงานอัยการ  เมื่อ “แตงโม” ซึ่งเป็นผู้เสียหายได้ถึงแก่ความตายไปแล้ว  บุคคลผู้มีอำนาจจัดการแทนในการฟ้องดำเนินคดีแทน แตงโม ผู้ตาย คือ บุพการีของแตงโม ซึ่งก็คือ พ่อ และแม่ ของ คุณแตงโม แต่เมื่อปรากฏว่า พ่อของแตงโม ได้ถึงแก่ความตาย ไปก่อนหน้านี้แล้ว  แม่ของแตงโมซึ่งยังมีชีวิตอยู่ ย่อมเป็นผู้มีอำนาจจัดการแทนคุณแตงโมในการฟ้องดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำผิดซึ่งทำให้ คุณแตงโม ถึงแก่ความตายได้

ส่วน การที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดก็ตาม หากไม่ใช่ บุคคลที่แม่ของ แตงโม  มอบอำนาจ หรือมอบหมาย หรือ แต่งตั้งให้เป็น ทนายความผู้รับมอบอำนาจแล้ว ย่อมไม่มีอำนาจ จัดการแทนคดีอาญาคดีนี้แทนผู้เสียหายได้

“กรมสอบสวนคดีพิเศษ” แม้จะมี พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และ เจ้าหน้าที่พิเศษ เพื่อทำหน้าที่ดำเนินคดีพิเศษ ตามที่ พ.ร.บ. การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 บัญญัติให้อำนาจไว้ก็ตาม แต่คดีอาญาที่จะเป็น “คดีพิเศษ” จะต้องเข้าองค์ประกอบ ครบถ้วนทั้ง 3 ประการ  คือ

  • ต้องเป็นคดีความผิดทางอาญาตามกฎหมายที่กำหนดไว้ในบัญชีท้าย พระราชบัญญัติฯ และที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง
  • ต้องมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดตาม มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (ก)(ข)(ค)(ง) และ (จ)
  • ต้องเป็นไปตามรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดที่คณะกรรมการคดีพิเศษกำหนดด้วย

“หากคดีความผิดอาญาใด ไม่เข้าลักษณะหรือเงื่อนไขที่จะเป็นคดีพิเศษดังกล่าวแล้ว พนักงานสอบสวนคดีพิเศษย่อมไม่มีอำนาจในการสอบสวนคดีอาญานั้น”

เมื่อ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ไม่มีอำนาจในการสอบสวนคดีพิเศษด้วยเหตุดังกล่าว หากยังคงสอบสวนคดีอาญานั้นต่อไป ย่อมมีผลทำให้ การสอบสวนดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซี่งมีผลเท่ากับ “ไม่ได้มีการสอบสวนในความผิดดังกล่าว”  และ พนักงานอัยการ ย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120

อันแสดงให้เห็นว่า อำนาจในการสอบสวน และดำเนินคดีของ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ หรือ กรมสอบสวนคดีพิเศษ  นอกจากจะต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ. การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 บัญญัติไว้แล้ว และยังคงต้องอยู่ภายใต้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งบัญญัติในเรื่อง ผู้มีอำนาจฟ้องคดีอาญา (มาตรา 28), ผู้เสียหายขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ  (มาตรา 30), อำนาจการสอบสวนและดำเนินคดีของ พนักงานสอบสวน  ( มาตรา 140-144) รวมถึง อำนาจในการสั่งฟ้อง, สั่งไม่ฟ้องและดำเนินคดีของพนักงานอัยการ และบท “ห้ามมิให้พนักงานอัยการฟ้องคดีอาญา หากไม่ได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นมาก่อน” มาตรา 120) ฯลฯ

เมื่อ คดีแตงโม พนักงานสอบสวน สอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว และส่งสำนวนคดีอาญาดังกล่าวไปให้ พนักงานอัยการจังหวัดนนทบุรี พิจารณาสั่งตามอำนาจและหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาแล้ว พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ หรือ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ย่อมไม่มีอำนาจในการสอบสวนคดีอาญาในความผิดอาญาอันเกิดจากการกระทำของผู้ต้องหา หรือผู้กระทำผิดอื่นในการกระทำอันเป็นเหตุให้เกิดความตายของคุณแตงโม ที่เกิดขึ้นในครั้งเดียวกันหรือในคราวเดียวกันได้

ทั้งนี้ เป็นไปตามจ

หลักกฎหมายทั่วไปที่ว่า… “บุคคลไม่อาจถูกลงโทษหลายครั้งสําหรับการกระทําความผิดครั้งเดียวได้” ไม่ว่าบุคคลนั้นจะได้กระทําความผิดในทางอาญา, ทางปกครอง หรือทางวินัย   ก็ตาม

หลักการห้ามดําเนินคดีอาญาซ้ำ (Non bis in idem )

หมายถึง บุคคลจะไม่เดือดร้อนซ้ำสองสําหรับการกระทําความผิดเดียวกัน หลักการนี้เป็นข้อต่อสู้อย่างหนึ่งตามกฎหมายวิธีพิจารณาความที่จําเลยสามารถยกข้อต่อสู้ เพื่อแสดงว่า ถูกศาลพิพากษาในข้อหาเดียวกันมาแล้ว และขอให้ ศาลยกฟ้องปล่อยตัวจําเลยไป

ศาลปกครองสูงสุดได้เคยวินิจฉัยวางหลักว่า… การลงโทษบุคคลไม่ว่าโทษนั้นจะเป็นโทษทางอาญา ทางปกครอง หรือ ทางวินัย ถือได้ว่า เป็นการจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพในชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของบุคคลผู้ถูกลงโทษ การลงโทษบุคคลมากกว่าหนึ่งครั้งสําหรับการกระทําความผิดที่บุคคลนั้นได้กระทําเพียงครั้งเดียว จึงเท่ากับเป็นการจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้โดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายเกินความจําเป็นแก่การรักษาไว้ซึ่งประโยชน์สาธารณะที่กฎหมายฉบับที่ให้อํานาจจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพนั้นๆ มุ่งหมายจะให้ความคุ้มครอง อันเป็นการขัดกับหลักกฎหมายทั่วไป และต้องห้ามตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม หาก คดีนี้ พนักงานสอบสวน ยังสอบสวนไม่เสร็จสิ้น อันเนื่องจาก พนักงานอัยการ คืนสำนวนคดีนี้กลับไปให้ พนักงานสอบสวน สอบสวนในประเด็นสำคัญแห่งคดีให้เสร็จสิ้นและครบถ้วน เท่ากับ หรืออาจถือได้ว่า “การสอบสวนคดีอาญาดังกล่าวยังไม่เสร็จ”  และถือได้ว่า เป็นกรณีที่ พนักงานอัยการจังหวัดนนทบุรี ยังไม่ได้มีคำสั่งทางคดี อย่างหนึ่งอย่างใด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และหากเป็นกรณีที่เข้าเงื่อนไขในการดำเนินคดีอาญาของ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ตาม พ.ร.บ. การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547  หรือ คณะกรรมการคดีพิเศษมีมติให้คดีอาญาใดเป็นคดีพิเศษ แล้ว กรณีเช่นนี้ ถือว่า พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ย่อมมีอำนาจในการสอบสวน และดำเนินคดีอาญาคดีนี้ แทน พนักงานสอบสวน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้

การที่ บุคคลหนึ่งบุคคลใด มายื่นคำร้อง หรือนำพยานหลักฐานมามอบให้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ย่อมไม่เป็นการตัดสิทธิ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ในอันที่จะรับเรื่อง หรือ รับพยานหลักฐานนั้นไว้ เพื่อสืบสวนเท่านั้น  แต่อำนาจการสอบสวน ของ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ จะมีหรือไม่นั้น ย่อมขึ้นอยู่กับปัจจัย และเงื่อนไข ตลอดจนหลักกฎหมายที่ดังกล่าวข้างต้น

แต่อย่างไรก็ตาม ผู้มีอำนาจฟ้องคดีอาญานอกจากจะเป็น พนักงานอัยการ ดังที่ได้กล่าวแล้ว  อำนาจฟ้องคดีของพนักงานอัยการไม่ตัดสิทธิและอำนาจฟ้องคดีของผู้เสียหายในการฟ้องและดำเนินคดีกับผู้ต้องหาในความผิดฐานอื่นที่มิใช่ในฐานความผิดที่พนักงานอัยการดำเนินคดี หรือในฐานความผิดที่ พนักงานอัยการ มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง รวมทั้งผู้เสียหายมีอำนาจในการขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการในฐานความผิดที่พนักงานอัยการมีสั่งฟ้อง และยื่นฟ้องดำเนินคดีในศาล

ส่วน ผู้เสียหายนั้น แม้จะมีอำนาจฟ้องคดีอาญาด้วยตนเองก็ตาม แต่หากผู้เสียหายจะฟ้องคดีด้วยตนเอง ก็จะต้อง “ไต่สวนมูลฟ้อง” ให้ศาลเห็นว่า มีการกระทำความผิดอาญาเกิดขึ้นโดยผู้กระทำผิด หรือผู้ต้องหา หรือ ผู้ถูกฟ้อง จนกว่าศาลจะแน่ใจ และประทับรับฟ้อง เมื่อศาลประทับรับฟ้อง ผู้ถูกฟ้อง ก็จะตกเป็น จำเลย และผู้เสียหายจะต้องทำการสืบพยานให้ศาลเห็นว่าจำเลยกระทำผิดตามฐษนความผิดตามฟ้อง ทั้งนี้ฐานความผิดดังกล่าวจะต้องไม่ใช่ฐานเดียวกันกับฐานความผิดที่พนักงานอัยการได้สั่งฟ้องและเป็นโจทก์ดำเนินคดีกับจำเลยนั้น  มิฉะนั้นจะเป็น “ฟ้องซ้ำ”

ตามหลักกฎหมายทั่วไปที่ว่า… “บุคคลไม่อาจถูกลงโทษหลายครั้งสําหรับการกระทําความผิดครั้งเดียวได้” (Non bis in idem)

นายวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์
อัยการศาลสูงจังหวัดสมุทรปราการ
รองประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน(คนที่สี่)  ในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร

0 Comments
Share

Admin

Reply your comment

Your email address will not be published. Required fields are marked*