กฎหมายน่ารู้

บทเปลี่ยนของประเทศไทย เรื่อง กัญชา

%e0%b8%9a%e0%b8%97%e0%b9%80%e0%b8%9b%e0%b8%a5%e0%b8%b5%e0%b9%88%e0%b8%a2%e0%b8%99%e0%b8%82%e0%b8%ad%e0%b8%87%e0%b8%9b%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b9%80%e0%b8%97%e0%b8%a8%e0%b9%84%e0%b8%97%e0%b8%a2-%e0%b9%80

“ค่ำคืนนี้ยังมีดวงดาวเจิดจ้า คราบท้องฟ้ายังดูสดใส

สุดส่วนของขอบฟ้ากว้างไกล ไม่มีวันใดมืดมิดสนิทนาน…

คราบรอยยิ้มยังแต้มเติมตามใบหน้า  กลิ่นกัญชาโชยมาแต่ไกล

ชั่วชีวิตคิดสั้นทำไม   เสพสิ่งจูงใจให้ร้ายแก่ตัวเราเอง………

คนที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับผู้เขียน และ/หรือคนที่เป็นแฟนเพลงของวงคาราบาว คงไม่ใคร ไม่เคยฟังเพลง “กัญชา“ ของวงคาราบาว วงดนตรีเพื่อชีวิต ชื่อดังในอดีต

ในสมัยนั้น นับเป็นความท้าทายที่ วงคาราบาว ประพันธ์เนื้อร้องที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ “กัญชา” ซึ่งเป็น ยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5  แต่ด้วยเนื้อหา ทำนองของเพลงและวิธีการร้อง เสียงร้องของน้าแอ๊ด วงคาราบาว ทำให้เพลง “ กัญชา”  ได้รับความนิยมสมัยนั้น

มาถึงวันนี้ ปี พ.ศ.2565 ยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป จากการพยายามผลักดันให้ “กัญชา” ซึ่งเป็น ยาเสพติดให้โทษประเภท ๕ ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522  รวมถึง “กระท่อม” ให้กลายเป็น  “พืชเศรษฐกิจ” และไม่เป็น ยาเสพติดให้โทษ อีกต่อไป

และ จากกรณีที่ นาย ช. ออกมาร้องเรียนว่า ตนเองปลูกต้นกัญชา1 ต้น สูงไม่เกิน 50 ซม. ไว้ที่หน้าห้องเช่า ปรากฎว่าในขณะที่ตนเองออกไปทำงาน ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ บุกเข้ามาที่ห้องพัก ซึ่งขณะนั้น มี นาง พ.ภรรยาตนเองอยู่ห้อง และถูกจับกุมในตัวไปที่ สภ.ศรีราชา พร้อมด้วยต้นกัญชา 1 และคุมขังไว้ที่โรงพัก

ต่อมาปรากฏว่า ทางด้าน พนักงานอัยการยังไม่สั่งฟ้อง ทางศาลจึงพิจารณาแล้วว่า   พนักงานอัยการยังไม่สั่งฟ้อง จึงปล่อยตัวนาง พ.ชั่วคราวไป แต่ให้มารายงานตัว

ทั้งนี้ สืบเนื่องมากจาก  กระทรวงสาธารณสุขได้ออก ประกาศเรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 โดยนับตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 ซึ่งประกาศฯดังกล่าว มีผลใช้บังคับจะมีผลทำให้

“ พืชกัญชาไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติดอีกต่อไป

ดังนั้น การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย เสพ หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งพืชกัญชา หรือการกระทำอื่นเกี่ยวกับพืชกัญชา ก่อนวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ซึ่งเดิมเคยเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และตามประมวลกฎหมายยาเสพติด จึงไม่เป็นความผิดอีก

นาง พ.  ได้เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ตนเองยอมรับว่าตนเองได้ปลูกต้นกัญชาจริงแต่เพียงต้นเดียว เพราะจะเอาไว้ต้มกินเพื่อรักษาโรคที่ตนเองเป็นอยู่ และไม่คาดคิดว่าจะถูกจับเรื่องนี้

ต่อมา ผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม ได้มีคำสั่งย้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม “หญิงปลูกกัญชา 1 ต้น” ดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่า ได้ฝ่าฝืนนโยบายของผู้บังคับบัญชา ที่ให้ใช้ “หลักนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์” ควบคู่กัน แต่ตำรวจทั้ง 4 นาย ไม่ปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด และยังเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งได้มีการออกนโยบายในการปฏิบัติให้ทราบแล้ว

เรื่องนี้สอนให้เรารู้อะไรได้บ้าง

  1. ผู้มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย จะต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างไรจึงจะเรียกว่า “ ให้ความยุติธรรม” หรือ “อำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน   หรือ
  2. “นโยบายแห่งรัฐ”  กับ “ หลักกฎหมาย” อะไรจะใหญ่กว่ากัน
  3. บุคคลทุกคน จักต้อง “อยู่ภายใต้กฎหมาย”  อย่างเท่าเทียมกัน 

จาก “กฎหมาย “ เปลี่ยนเป็น “ นโยบาย (บังคับใช้กฎหมาย) ”

จาก “นโยบาย (การเมือง ) แปรเป็น“ กฎหมาย “

จาก “ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 พ.ศ. 2565 ลงวันที่8 กุมภาพันธ์ 2565   ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565  และมีผลใช้บังคับ เมื่อพ้น 180 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งก็คือ วันที่ 9 มิถุนายน 2565   โดยประกาศฯ ฉบับนี้จะกำหนดให้ยาเสพติดที่ระบุชื่อดังต่อไปนี้ เป็นยาเสพติดในประเภท 5 ได้แก่

1.พืชฝิ่น ….

2.เห็ดขี้ควาย หรือ พืชเห็ดขี้ควาย…..

3. สารสกัดจากทุกส่วนของพื้ชกัญชา หรือกัญชง ซึ่งเป็นพืชในสกุล Cannabis  ยกเว้น……..

แปลความได้ว่า นับแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 อะไรที่จะเป็น ยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ได้นั้น จะต้องเป็นเป็นไปตาม ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 พ.ศ. 2565 ลงวันที่8 กุมภาพันธ์ 2565   ฉบับดังกล่าว (รวมถึงประกาศฯ ฉบับในอนาคต หากมีการแก้ไขเพิ่มเติม) แต่หาก ไม่ใช่ สิ่งที่ระบุไว้ในประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับดังกล่าว) แล้วจะ  ไม่เป็น ยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 แต่อย่างใด

ดังนั้น นับตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป  “ต้นกัญชา, ใบกัญชา, ส่วนหนึ่งส่วนใดของพืชกัญชา ( ที่ไม่ใช่ สารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชา หรือกัญชง) ก็จะไม่เป็น ยาเสพติดให้โทษประเภท 5 อีกต่อไป

แต่ประกาศฉบับดังกล่าวก็มี “ข้อยกเว้น” ให้ สารสกัดดังต่อไปนี้ ไม่เป็น ยาเสพติดให้โทษประเภท 5  คือ

1.สารสกัดที่มี ปริมาณสารเตตราไฮดรแคนนาบินนอล (TETRAHYDROCABNABINOL , THC )ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก เฉพาะที่ได้รับอนุญาต ให้สกัดจากพืชกัญชาหรือกัญชงที่ปลูกภายในประเทศ

2.สารสกัดจากเมล็ดของพืชกัญชา หรือกัญชง ที่ได้จากการปลูกภายในประเทศ

3.เมื่อ กฎหมายมีการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว  ผู้มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายก็มีความจำเป็นต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย

4.มาดูกันว่า สำนักงานอัยการสูงสุดและ สำนักงานศาลยุติธรรมได้มีการดำเนินการอย่างไรเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายในเรื่อง “กัญชา” ที่เปลี่ยนแปลงไป ?

5.สำนักงานศาลยุติธรรมได้ออก “หนังสือเวียน เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2565 เรื่อง ข้อพิจารณาความผิดเกี่ยวกับพืชกัญชาตามประมวลกฎหมายยาเสพติด”   พอสรุปสาระสำคัญตามหนังสือเวียนดังกล่าว ได้ดังนี้

ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 นับตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 ซึ่งประกาศฯ มีผลใช้บังคับ

พืชกัญชาไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด อีก

ดังนั้น การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย เสพ หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งพืชกัญชา หรือการกระทำอื่นเกี่ยวกับพืชกัญชา ก่อนวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ซึ่งเดิมเคยเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษในประเภท 5  ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522  และตามประมวลกฎหมายยาเสพติด จึงไม่เป็นความผิดอีกต่อไป

ทั้งนี้ เป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า

ถ้าตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดอีกต่อไป ให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด และถ้าได้มี คำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้ว ก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้น ถ้ารับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง

ดังนั้น ผลทางกฎหมายจากการที่ “ พืชกัญชาไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษใน ประเภท 5”  ตามประมวลกฎหมายยาเสพติดอีกต่อไป  จึงมีผลดังนี้

1. ผู้ต้องหา ที่อยู่ระหว่างถูกดำเนินคดี หรือจำเลยที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลในความผิดเกี่ยวกับพืชกัญชาดังกล่าว พ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด

2. สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (5)

3. ศาลไม่อาจขัง ผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ในระหว่างสอบสวนหรือระหว่างการพิจารณาคดีของศาลได้ อีกต่อไป ดังนั้น เมื่อสำนวนความปรากฏแก่ศาลก็ต้องยกเลิกการฝากขัง ปล่อยตัวผู้ต้องหา หรือตรวจคืนหลักประกันในการปล่อยชั่วคราว (ถ้ามี) หรือหากคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ก็ต้องพิพากษายกฟ้อง

4. คดีความผิดเกี่ยวกับพืชกัญชาที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว จำเลยที่ได้รับโทษอยู่ก็ ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง

ดังนั้น หากจำเลยยังคง อยู่ระหว่างการ “ถูกกักขังแทนค่าปรับ”  ศาลก็จะต้องปล่อยตัวจำเลยไป ทั้งนี้  เนื่องจากไม่มีโทษปรับที่จะให้ “กักขังแทนค่าปรับ” ได้อีกต่อไป

หรือหากจำเลยอยู่ระหว่างการคุมความประพฤติ ก็ต้องยกเลิกการคุมความประพฤติ

และหากจำเลยอยู่ระหว่างการถูกจำคุกในการกระทำความผิดฐานอื่นด้วย ก็จะต้องมีการแก้ไขหมายจำคุกเพื่อยกเลิกการบังคับโทษสำหรับความผิดเกี่ยวกับพืชกัญชา

5. ไม่อาจนำคดีความผิดเกี่ยวกับพืชกัญชาซึ่งศาลเคยมีพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกจำเลยในคดีก่อนมาเป็นเหตุเพิ่มโทษ บวกโทษ หรือไม่รอการลงโทษในคดีหลังได้ เนื่องจากตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง ดังที่กล่าวไป ถือว่าจำเลยไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดเกี่ยวกับพืชกัญชาในคดีก่อน

6.เมื่อ “ พืชกัญชา” ไม่เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 อีกต่อไปแล้ว  พืชกัญชา จึงมิใช่ทรัพย์สินที่ต้องริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 และประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 134   ศาลจึงไม่อาจริบ พืชกัญชา ได้ หากริบแล้ว ต้องสั่งคืนเจ้าของไป

เมื่อ สำนักงานศาลยุติธรรม ปรับตัวในเรื่องดังกล่าว โดยได้ออกหนังสือเวียนในเรื่องดังกล่าวเพื่อให้ศาลยุติธรรมทั่วประเทศปฏิบัติให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันทั่วประเทศ

สำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งเป็น หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายเช่นกัน ก็จะต้องปฎิบัติ      หรือบังคับใช้กฎหมายให้สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้ จักต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ ตลอดจน ระเบียบการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2563 เพื่อ   จะได้อำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน

แม้ พืชกัญชา จะไม่เป็น ยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ต่อไปแล้ว   อันเป็นการปลดปล่อยจากการเป็นผู้กระทำผิดเกี่ยวกับ “กัญชา” ให้ไม่เป็นความผิดอีกต่อไป รวมถึงในความผิดที่ผ่านมาแล้วด้วย

แต่ “สารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชาหรือกัญชง”  ก็ยังคงเป็น ยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 อยู่ (เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้น) 

การบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับ พืชกัญชา จึงต้องเป็นไปเพื่อความยุติธรรมตามที่กฎหมายกำหนด

บริษทของ “กัญชา” ในประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว

ท่านว่า จริงไหม ?

นายวรเทพ  สกุลพิชัยรัตน์
อัยการศาลสูงจังหวัดสมุทรปราการ
รองประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (คนที่สี่) ในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร

0 Comments
Share

Admin

Reply your comment

Your email address will not be published. Required fields are marked*