“เด็กนักเรียนหญิงชั้น ม.6 ในจังหวัดลำปาง เอากัญชามาขายในโรงเรียน ทำเพื่อนติดงอมแงม สะลึมสะลืออ่อนเพลียนอนหลับในห้องเรียนเกือบทั้งวัน ”
ข่าวนี้ ทำให้นึกถึงสุภาษิตคำไทยที่ว่า “กว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้” ความหมาย “กว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้” ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง “ลักษณะของการทำงานที่มีความลังเลใจ ทำให้แก้ไขปัญหาได้ไม่ทันท่วงที เมื่อได้อย่างหนึ่ง แต่ต้องเสียอีกอย่างหนึ่งไป ดุจเอา “ถั่ว” กับ “งา” มาคั่วพร้อมกัน “กว่าจะคั่วถั่วจนสุก งาก็จะไหม้หมดไปก่อน”
แม้ความหมายดังกล่าวจะไม่ตรงเสียทีเดียวนัก แต่การปลด (ปล่อย) พืชกัญชา ออกจาก ยาเสพติดให้โทษ (ประเภท 5) โดยที่ ยังไม่มี “กฎหมาย หรือมาตรการทางกฎหมาย” รองรับ ที่ดีและเพียงพอ (และทันท่วงที) ย่อมเกิดผลเสียมากกว่าผลดี ดังเช่นที่เป็นอยู่ในขณะนี้
“มีการมวน (พันลำ) กัญชาขายกันในที่สาธารณะ (อย่างเปิดเผย), มีการขายกัญชาบรรจุซองพลาสติกตามร้านโชว์ห่วยทั่วไป (สะดวกซื้อ สะดวกใช้ ), มีการเปิดร้าน หรือ รถทรัค ขายกัญชากัน อย่างเปิดเผย, มี “เด็ก” ไปบริโภค กัญชา (ไม่ว่าโดยตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจ) แล้วเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง, มีการนำกัญชาไปใส่ในอาหาร (ปรุงอาหาร) โดยไม่แจ้งหรือบอกกล่าวให้ผู้บริโภคทราบแล้วผู้บริโภคเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง หรือ นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ หรือคนไทยก็ตามไปบริโภคอาหาร หรือผลิตภัณฑ์ที่มีกัญชาเป็นส่วนผสมแล้วเดินทางกลับไปที่ประเทศของตน หรือประเทศอื่น (ออกนอกประเทศ) แล้วถูกจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมายของประเทศนั้นนั้น”
นี่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้นภายหลังการการปลดล็อคกัญชาออกจาก ยาเสพติด โดยที่ยังไม่มีกฎหมาย หรือมาตรการทางกฎหมายรองรับที่ดีเพียงพอ จนเกิดภาวะ “กัญชาเสรี” กว่า “กฎหมายควบคุมพืชกัญชา” โดยเฉพาะ (เช่น พระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ………) จะออกมาใช้บังคับใช้ ประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบจากการใช้ประโยชน์จากพืชกัญชาที่ผิดประเภทไปมากมายแล้ว (จนเกินเยียวยาแล้ว) ไม่ได้เถียงว่า “กัญชามีประโยชน์ทางการแพทย์” และ “พืชกัญชาอาจเป็นพืชเศรษฐกิจ” ของประเทศได้ แต่ พืชกัญชาก็เป็น “พืชที่มีฤทธิ์ต่อจิตและประสาท” ทั้งนี้เนื่องจาก “พืชกัญชามีสารออกฤทธิ์” ที่สำคัญ 2 ขนาน คือ
1.THC (Tetrahydrocannabinol) ทำให้ความจำเสื่อมทั้งระยะสั้นและระยะยาว ตื่นเต้นเร้าใจง่าย และเกิดโรคจิตประสาท มีความหวาดระแวงสาร THC ออกฤทธิ์ในระบบสมองหลายแห่งและขัดขวางการสื่อนำไฟฟ้าระหว่างเซลล์สมอง ทำให้ผู้เสพรู้สึกมึนเมา ตัวเบาและร่างกายไม่ทำตามที่สมองสั่งการ สาร THC ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์สมอง ทำให้การสื่อสารระหว่างเซลล์ประสาทขัดข้อง จึงอาจทำให้เกิดโรคจิตประสาทได้ง่ายขึ้น
2. CBD (Cannabidiol) จะออกฤทธิ์ตรงข้ามกับ THC เหมือนคอยต้านฤทธิ์ของ THC (ต่อต้านการเกิดโรคจิตประสาท ความจำเสื่อมและลดความตื่นเต้นตกใจง่าย) สาร CBD ไม่ทำให้เสพติด ไม่ทำให้เกิดอาการเมา ซึมหรือร่างกายไม่ทำตามที่สมองสั่ง อาจทำให้ บางรายนอนหลับได้ เพิ่มความอยากอาหาร และมีอารมณ์ดี บรรเทาอาการของโรคหลายชนิด แต่ไม่เกิดผลดีทุกราย
ดังนั้น สารสกัดกัญชาที่มี CBD สูง จึงเป็นทางเลือกในการใช้ทางการแพทย์และต่อต้านฤทธิ์ที่ไม่พึงประสงค์ของ THC ได้
ส่วนผู้ที่เสพพืชกัญชาที่มีสาร THC ในขนาดสูง จะเกิดภาวะโรคประสาทแบบฉับพลัน เกิดภาพหลอน หรือประสาทหลอน และสูญเสียความรู้สึกเป็นตัวตนของตนเองได้ และ สาร THC ก็กระตุ้นสมองส่วนที่หลั่งสาร Dopamine ทำให้เกิดความรู้สึกที่ดี หรืออยากมีพฤติกรรมที่ให้ความรู้สึกดีดี หรือ สนุกสนาน เช่น จากการกิน หรือ การมีเพศสัมพันธ์ ทำให้เกิดความสนุกสนานมากเกินปกติ หรือ เมาเคลิ้ม อันเป็นการใช้เพื่อ “มุ่งเพื่อการนันทนาการ” ซึ่งมิใช่ ข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
การปลดล็อคกัญชาออกจากยาเสพติดก่อให้เกิด “ภาวะสุญญากาศ” (กัญชาเสรี) อย่างไร ?
ก่อนอื่นมาทราบความเป็นมาเสียก่อนว่า “การปลดล็อคกัญชา ออกจาก ยาเสพติดให้โทษ” ทำได้อย่างไร
แต่เดิม “กัญชา” จัดเป็น “ยาเสพติดให้โทษประเภท 5” ตาม พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ “ผู้ใดมีไว้ในความครอบครองเป็นความผิด” ดังจะเห็นได้จาก
มาตรา 76 ผู้ใด “มีไว้ในความครอบครอง” ซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 5. อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 26/3 ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 76 /1 ผู้ใด “จำหน่าย” หรือ “มีไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่าย” ซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 5. อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 26/3 (หากมีจำนวน ไม่ถึง 10 กิโลกรัม) ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
แต่ถ้ามีจำนวนตั้งแต่ 10 กิโลกรัมขึ้นไป ต้องระวางโทษ จำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 15 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 บาท ถึง1,500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 75 ผู้ใด ผลิต นำเข้า ส่งออก ซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 5. อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 26/2 ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 4. คำว่า “ผลิต“ หมายความว่า เพาะ ปลูก ทำผสม ปรุง แปรรูป การแบ่งบรรจุ
ดังนั้น ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 แม้จะปลูกต้นกัญชา (ผลิตกัญชา) จำนวนเพียง 1 ต้นไว้ภายในบ้าน เพื่อนำมาไว้ใช้ทำยา, รักษาโรค หรือ ใช้บริโภค ใส่อาหารกินเอง ก็เป็นความผิดแล้ว เพราะ กฎหมายถือว่า “พืชกัญชาเป็นสิ่งของที่ผู้ใดมีไว้ในความครองครอง ไม่ว่าจำนวนเท่าใดก็เป็นความผิดตามกฎหมาย หรือ แม้ปลูก 1 ต้นก็เป็นความผิดตามกฎหมายแล้ว“
แต่ต่อมา พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ดังกล่าวได้ถูกยกเลิกไป โดยมีการออก “ประมวลกฎหมายยาเสพติด” (พ.ศ. 2564) มาใช้บังคับ แล้ว ประมวลกฎหมายยาเสพติดที่ออกมาใหม่ กัญชายังคงเป็นยาเสพติดให้โทษหรือไม่ ?
ประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 29 กำหนดให้ (5) ยาเสพติดประเภท 5. ได้แก่ ยาเสพติดให้โทษที่ไม่ได้เข้าอยู่ในประเภท 1 – 4 เช่น พืชฝิ่น และวรรคสองของ มาตรา 29 ดังกล่าว ยังกำหนดให้ “การเพิกถอน” หรือเปลี่ยนแปลงชื่อ หรือประเภท ยาเสพติดให้โทษดังกล่าวให้เป็นไปตามที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยความเห็นชอบของ คณะกรรมการ ป.ป.ส. ประกาศกำหนด
นี่จึงเป็นที่มาที่ ต่อมาวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยความเห็นชอบของ คณะกรรมการ ป.ป.ส. ได้ปลดล็อคกัญชาออกจาก ยาเสพติดให้โทษ โดยการออก “ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565” โดยมีผลใช้บังคับนับตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 มีผลทำให้ “พืชกัญชา” ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามประมวลกฎหมาย ยาเสพติดอีกต่อไป
ดังนั้น การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย เสพ หรือมีไว้ในครอบครองซึ่ง “พืชกัญชา” หรือการกระทำอื่นเกี่ยวกับ “พืชกัญชา” ก่อนวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติ ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และตามประมวลกฎหมายยาเสพติด จึงไม่เป็นความผิดตามกฎหมายอีกต่อไป
คราวนี้ มาลองดู “ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 พ.ศ. 2565 ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 ดังกล่าว กำหนด ”ยาเสพติดให้โทษในประเภท 5” ได้แก่
1.พืชฝิ่น ….
2.เห็ดขี้ควาย หรือ พืชเห็ดขี้ควาย…..
3.สารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชา หรือกัญชง ซึ่งเป็นพืชในสกุล Cannabis ยกเว้น……..
แปลความได้ว่า นับแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นมา อะไรที่จะเป็น ยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ได้นั้น จะต้องเป็นเป็นไปตาม ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 พ.ศ. 2565 ลงวันที่8 กุมภาพันธ์ 2565 ฉบับดังกล่าว (รวมถึงประกาศฯ ฉบับในอนาคต หากมีการแก้ไขเพิ่มเติมด้วย) แต่หาก ไม่ใช่ สิ่งที่ระบุไว้ในประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับดังกล่าว) แล้วก็จะ ไม่เป็น ยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 แต่อย่างใด
ดังนั้น นับตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป “ต้นกัญชา, ใบกัญชา, ส่วนหนึ่งส่วนใดของพืชกัญชา ก็จะไม่เป็น ยาเสพติดให้โทษประเภท 5 อีกต่อไป”
แต่อย่างไรก็ตาม แม้ สารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชา หรือกัญชง จะจัดเป็น ยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฯฉบับนี้ก็ตาม แต่ก็มีข้อยกเว้น กล่าวคือ ถ้าเป็น สารสกัดที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ ไม่เป็น ยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ได้แก่
1. สารสกัดที่มี ปริมาณสารเตตราไฮดรแคนนาบินนอล (TETRAHYDROCABNABINOL หรือ (สาร THC) ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก เฉพาะที่ได้รับอนุญาต ให้สกัดจากพืชกัญชาหรือกัญชงที่ ปลูกภายในประเทศ หรือ แปลความได้ว่า “ หากสารสกัดดังกล่าวมี สาร THC เกินกว่าร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนักแล้ว สารสกัดจากพืชกัญชาดังกล่าวจัดเป็น ยาเสพติดให้โทษประเภท 5.
2.สารสกัดจาก “เมล็ดของพืชกัญชา หรือกัญชง” ที่ได้จากการปลูกภายในประเทศ เมื่อ พืชกัญชา ถูกปลดล็อคให้ไม่เป็น ยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 อีกต่อไปแล้ว อันเป็นการ ”ปลดปล่อย” ผู้กระทำผิดเกี่ยวกับ “กัญชา” ให้ไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย อีกต่อไป รวมถึงในความผิดที่ผ่านมาแล้วด้วย ในขณะที่ยังไม่มีกฎหมายโดยเฉพาะหรือมาตรการทางกฎหมายใด เพื่อควบคุมการใช้ประโยชน์จากพืชกัญชาที่ดีเพียงพอ จึงเกิดสภาวะสูญญากาศ (กัญชาเสรี) จนยากที่จะควบคุมปัญหาดังกล่าวได้
แล้วที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้ พืชกัญชา เป็น “สมุนไพรควบคุม” สามารถแก้ปัญหา “กัญชาเสรี” ได้หรือไม่ ?
แม้ต่อมา กระทรวงสาธารณสุขจะออก “ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2565 ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2565 กำหนดให้“ กัญชา หรือ สารสกัดจากกัญชาซึ่งเป็นพืชในสกุล Cannabis เป็น ”สมุนไพรควบคุม” ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 ก็ตาม
โดยประกาศฯ ฉบับนี้ มีผลทางกฎหมาย คือ
1.ห้ามมิให้ ใช้ประโยชน์ในที่สาธารณะโดยการสูบ (หรือ ห้ามสูบกัญชาในที่สาธารณะ)
2.ห้ามมิให้ ใช้ประโยชน์กับ สตรีมีครรภ์ หรือ สตรีให้นมบุตร
3.ห้าม “จำหน่าย” ให้กับ ผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์ หรือสตรีให้นมบุตร
แต่ประกาศฯฉบับนี้ ไม่ได้ห้าม สูบกัญชาในที่ที่ไม่ใช่ที่สาธารณะ เช่น สูบในสถานที่ส่วนตัว และแม้จะรวมตัวกัน (มั่วสุม) สูบกัญชาในที่ส่วนบุคคล (สถานที่ปิด) ก็จะไม่เป็นความผิด
ดังนั้น หาก ไม่ใช่ บุคคลตามประกาศฯฉบับนี้ เช่น ไม่ใช่ สตรีมีครรภ์ หรือ สตรีให้นมบุตร หรือ บุคคลอายุกว่า 20ปี ก็จะไม่ถูกห้าม นอกจากนี้ ตามข้อ 2. ของประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับดังกล่าว ยัง ”อนุญาต” ให้ ผู้มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป สามารถครอบครอง ใช้ประโยชน์ ดูแล รักษา ขนย้าย จำหน่าย กัญชาซึ่งเป็น “สมุนไพรควบคุม” ได้แสดงว่า “บุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป” สามารถ ครอบครอง ใช้ประโยชน์ ดูแล รักษา ขนย้าย รวมทั้ง จำหน่าย พืชกัญชา ซึ่งเป็นสมุนไพรควบคุม ได้ รวมถึง การสูบกัญชา (ในที่ที่ไม่ใช่ที่สาธารณะ) ได้ หรือแม้แต่การรวมตัวกันสูบกัญชาในที่ส่วนบุคคลได้
และแม้ การพยายามหาทางแก้ไขปัญหา “กัญชาเสรี” หรือ สภาวะสุญญากาศ โดยการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับดังกล่าวมากำหนดให้ “กัญชา” หรือ สารสกัดจากกัญชาซึ่งเป็นพืชในสกุล Cannabis เป็น ”สมุนไพรควบคุม” ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 อันจะมีผลเป็นการ ควบคุม “บุคคล” และ “วิธีการ” ใช้ประโยชน์จากพืชกัญชา ดังกล่าวก็ตาม รวมทั้งอาศัยบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 เพื่อควบคุมกัญชาในสภาวะสุญญากาศ เช่น มาตรา 46 ห้ามมิให้ ผู้ใด ศึกษาวิจัย หรือ ส่งออก สมุนไพรควบคุม หรือ จำหน่าย หรือ แปรรูป สมุนไพรควบคุม “เพื่อการค้า” เว้นแต่ จะได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต
หากฝ่าฝืน มีโทษตามมาตรา 78 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
และ บทนิยาม ตามมาตรา 3 “จำหน่าย” หมายความรวมถึง ขาย จ่าย แจก หรือแลกเปลี่ยนและ ให้หมายความรวมถึง มีไว้เพื่อจำหน่าย “แปรรูป” หมายความว่า การปรุงแต่ง หรือ การเปลี่ยนแปลงสภาพ หรือคุณสมบัติของสมุนไพร
แต่อย่างไรก็ตาม “การขอรับใบอนุญาต และการออกใบอนุญาต ให้เป็นไปตาม หลักเกณฑ์ วิธีการและเงือนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง” (มาตรา 46 วรรคสอง) แต่นับตั้งแต่ พระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 ประกาศใช้บังคับ ผู้เขียนยังตรวจไม่พบว่า มีการออก กฎกระทรวงฯ ซึ่งออกตามความในมาตรา 46 วรรคสองแต่อย่างใด
จึงอาจมีประเด็นโต้แย้งว่า เมื่อกฎกระทรวงกำหนดเงื่อนไขการอนุญาตและการออกใบอนุญาตให้ จำหน่าย แปรรูป สมุนไพรควบคุม เพื่อการค้า ตามมาตรา 46 วรรคสอง ยังไม่ออกหรือประกาศใช้บังคับแล้ว จะบังคับใช้ มาตรา 46 (ต้องขออนุญาต) ได้อย่างไร
หรืออาจจะแปลความว่า เมื่อ กฎกระทรวง กำหนดเงื่อนไขการอนุญาตและการออกใบอนุญาต ยังไม่ออกใช้บังคับ หรือยังไม่มี ก็เท่ากับ ไม่อนุญาตให้ผู้หนึ่งผู้ใด จำหน่าย แปรรูป สมุนไพรควบคุม เพื่อการค้า เลย และหากมี ผู้ใดไป จำหน่าย แปรรูป สมุนไพรควบคุม เพื่อการค้า ย่อมเป็นความผิดตามกฎหมาย
หรือ จะแปลความว่า เมื่อไม่มี กฎกระทรวงกำหนดเงื่อนไขการอนุญาตฯประกาศใช้บังคับ ทั้งที่ กฎหมายบัญญัติให้ต้องออกกฎกระทรวงฯ เพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อใช้ในการพิจารณาอนุญาตให้ผู้ใด จำหน่าย แปรรูป สมุนไพรควบคุมเพื่อการค้า อันเป็นการกำหนดขั้นตอนตามกฎหมาย ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 46 วรรคสอง แต่กลับไม่ยอมออกกฎกระทรวงเพื่อให้กฎหมายมีผลใช้บังคับ บทบัญญัติตามมาตรา 46 วรรคแรก ประกอบวรรคสอง จึงไม่อาจใช้บังคับตามกฎหมายได้
อันเป็นประเด็นทางกฎหมายทีอาจมีการโต้แย้งได้ อันมีผลทำให้การควบคุมสภาวะกัญชาเสรี อาจไม่เต็มประสิทธิภาพแล้วหากจะควบคุม “พืชกัญชา” เพื่อให้ใช้ประโยชน์เพื่อการแพทย์” (เท่านั้น) ทำได้หรือไม่ อย่างไร ?
ดังที่ได้กล่าวแล้ว พืชกัญชามีทั้งประโยชน์ทางการแพทย์ แต่ก็มีโทษต่อร่างกายเช่นกัน ทั้งนี้เนื่องจากพืชกัญชามีฤทธิ์ต่อจิตและประสาท หากจะควบคุม ”พืชกัญชา” เพื่อให้ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์เพียงอย่างเดียว โดยไม่ให้มีการนำพืชกัญชาไปใช้ประโยชน์ในทางอื่นนอกเหนือจากการแพทย์ (หรือนำไปใช้เพื่อการนันทนาการ) เราควรจะทำอย่างไร
ผู้เขียนเห็นว่า “มาทางไหน ก็ให้ไปทางนั้น” เราควรกำหนดให้ “พืชกัญชา” ยังคงเป็น “ยาเสพติดให้โทษประเภท 5” เหมือนเดิม รวมทั้งกำหนดบทห้าม “ห้ามมิให้ผู้ใด มีไว้ในความครอบครอง, ห้ามจำหน่าย, ห้ามมีไว้เพื่อจำหน่าย, ห้ามผลิต, ห้ามแปรรูปโดยไม่ได้รับอนุญาต และหากฝ่าฝืนเป็นความผิดและได้รับโทษตามกฎหมาย (ตามเดิม)
โดยการออก ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. ……… (ฉบับที่………) กำหนดให้ “พืชกัญชาและสารสกัดจากทุกส่วนของกัญชา” เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5
แต่หากจะใช้ประโยชน์จากพืชกัญชาเพื่อการแพทย์ ก็ควรจะออกเป็น “กฎกระทรวง การขออนุญาต และการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครองครองซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เฉพาะกัญชา ” โดยกำหนดเงื่อนไข
1.การขออนุญาต ผลิตกัญชาโดยการปลูกเพื่อใช้ในการแพทย์,
2.การกำหนดเงื่อนไขผู้ขออนุญาต จำหน่ายกัญชา เพื่อใช้ทางการแพทย์ ,
3.การขออนุญาต มีไว้ในครอบครองซึ่งยาที่มีกัญชาปรุงผสมอยู
หมายเหตุ- เหมือนกับ กฎกระทรวง การขออนุญาต และการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครองครองซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เฉพาะกัญชา พ.ศ.2564 (ซึ่งออกตามความแห่ง พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ซึ่งถูกยกเลิกไปแล้ว) ก็จะเป็น “ทางออกในการควบคุมพืชกัญชา แต่ยังคงใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ได้”
ทั้งนี้ ก็จะเป็นไปตาม ประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 35 (4) ผู้อนุญาตมีอำนาจอนุญาตให้ผู้ใด จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5
มาตรา 35 วรรคสอง ผู้อนุญาต โดยความเห็นชอบของ “คณะกรรมการควบคุมยาเสพติด” มีอำนาจอนุญาตให้ผู้ใด ผลิต นำเข้า ส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เพื่อประโยชน์ของทางราชการ การแพทย์ การรักษาผู้ป่วย …….ตามที่กำหนดใน กฎกระทรวง
การอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกำหนด ในกฎกระทรวงหากจะรอให้ (ร่าง) พระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ ……..ผ่านกระบวนการรัฐสภาและออกมาเป็นกฎหมายเพื่อใช้บังคับควบคุมพืชกัญชา เพื่อมิให้ใช้ประโยชน์ในทางอื่นนอกเหนือจากทางการแพทย์ ตามที่มีการพยายามผลักดันจนกระทั่งสามารถ “ปลดล็อคกัญชา” ออกจาก ยาเสพติดให้โทษได้สำเร็จ แต่กลับมีการใช้ประโยชน์จากพืชกัญชาไปในทางอื่น (ในทางนันทนาการ) มากกว่า เพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์ จนเกิดปัญหามากมายที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และผลที่จะตามมาในอนาคตจาก “สภาวะกัญชาเสรี” จนปัจจุบันมีหลายฝ่ายพยายามเรียกร้อง โดยเฉพาะแพทย์ที่ทนเห็นปัญหาอันเกิดจาก การบริโภคกัญชา หรือใช้ประโยชน์จากพืชกัญชาในทางอื่นนอกเหนือจากทางการแพทย์ เรียกร้องให้แก้กฎหมายกลับไปใช้บังคับตามเดิม คือ “กัญชา คือ ยาเสพติดให้โทษ”
คำกล่าวที่ว่า “กว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้ เสียแล้ว” คงจะตอบคำถาม “กัญชาเสรี” หรือ สภาวะสุญญากาศนี้ได้เป็นอย่างดี ท่านว่า จริงไหม……
นายวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์
อัยการศาลสูงจังหวัดสมุทรปราการ
รองประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (คนที่สี่) ในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร