วันที่ 10 กันยายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงคืนที่ผ่านมาที่จังหวัดสมุทรปราการเกิดฝนตกในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอบางบ่อ เกิดฝนตกลงมาอย่างหนักหลายชั่วโมงทำให้หลายหมู่บ้านในพื้นที่ อำเภอบางบ่อเกิดน้ำท่วมสูง โดยเฉพาะที่หมู่บ้านทิพมาศ-เสรี ถนนปานวิถี ไม่สามารถสัญจรเข้าออกหมู่บ้านได้ประชาชน 1,300 หลังคาเรือนได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก รถเสียหายจากน้ำท่วมหลายสิบคัน ประชาชนไม่สามารถนำรถเข้าออกหมู่บ้านได้ หลายคนยังไม่ได้รับประทานอาหารเช้า บ้านบางหลังขาดแคลนน้ำดื่ม เจ้าหน้า ที่และหน่วยงานท้องถิ่นได้เร่งสูบน้ำออกแต่ทำไม่ได้เต็มที่เพราะน้ำจากหมู่บ้านต้องระบายออกคลองกันยาแต่คลองกันยาน้ำก็สูงเกือบถึงระดับเดียวกับน้ำในหมู่บ้าน หากฝนไม่ตกซ้ำอีก 2-3 วันน่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ
นางสาวพัตตรา บุณสำ อายุ 30 ปี เล่าว่า วันนี้ตนต้องลางานเพราะไม่สามารถออกไปทำงานได้ และไม่สามารถออกไปซื้ออาหารได้ จึงต้องออกมาเก็บผักในซอยไปทำอาหารกินมื้อเช้าที่บ้านทาน
ด้านป้าเล็ก อายุ 60 ปี กล่าวว่า ตอนนี้เดือดร้อนมาก ฝนตกลงมาอย่างหนักตั้งแต่เมื่อช่วงตีหนึ่งจนถึงเช้า ต้องการให้หน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือเรื่องข้าวและน้ำดื่มเพราะชาวบ้านออกไปซื้อเองไม่ได้ ตั้งแต่ตนอยู่มาสิบกว่าปี ไม่เคยท่วมขนาดนี้ตอนนี้รถไม่สามารถเข้าออกได้เลย
นายวัฒนา เจริญจิตร นายอำเภอบางบ่อ กล่าวว่าตอนนี้เรื่องการขนย้ายประชาชนได้ประสานรถยกสูงจากสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสมุทรปราการ โรงเรียนนายเรือ และอบจ.สมุทรปราการ เข้ามาช่วยเหลือสนับสนุนรับส่งประชาชนเข้าออกหมู่บ้าน สำหรับความเดือดร้อนเรื่องอาหารและน้ำดื่มตนได้ประสานไปยัง นายยกเทศบาลบางบ่อ และ นายก อบต.บางเพรียง ให้เข้ามาสนับสนุน และรถสุขาจาก อบจ.สมุทรปราการมาบริการ ขณะเดียวกันตนยังประสานไปยังชลรหารพิจิตรให้เร่งระบายน้ำพร่องน้ำในคลองสำโรงลงสู่ทะเลโดยเร็ว
ขณะที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชลหารพิจิตร รายงานว่า ความกดอากาศต่ำพาดผ่านจังหวัดกรุงเทพมหานคร จังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดสมุทรปราการ ทำให้เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 7 – 10 กันยายน 2565 บริเวณพื้นที่อำเภอบางพลี รวม 242.00 มม. คิดเป็นปริมาณน้ำ 6.08 ล้าน ลบ.ม. อำเภอบางบ่อ รวม 363.00 มม.คิดเป็นปริมาณน้ำ 12.19 ล้าน ลบ.ม. และอำเภอเมืองสมุทรปราการ รวม 129.90 มม. คิดเป็นปริมาณน้ำ 1.80 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นปริมาณน้ำรวม 20.07 ล้าน ลบ.ม. ส่งผลทำให้ระดับน้ำในคลองเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและอยู่ในเกณฑ์วิกฤต จึงขอให้ราษฎร ที่อยู่ริมคลองพระองค์ไขยานุชิต คลองด่าน คลองสำโรง คลองชายทะเล(เลียบถนนสุขุมวิท) คลองลาดกระบัง คลองบางปลา คลองเจริญราษฎร์ คลองบางโฉลง คลองจระเข้ใหญ่ และคลองบางเสาธง ให้ติดตามสภาพอากาศและเฝ้าระวังสังเกตุระดับน้ำในคลองดังกล่าวอย่างใกล้ชิด พร้อมเตรียมขนย้ายสิ่งของมีค่าขึ้นที่สูงไว้ก่อนเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินของประชาช ทั้งนี้กรมชลประทาน จะเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่าวันละ 15 ล้าน ลบ.ม. จนกว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ คาดว่าหากไม่มีฝนตกจะเข้าสู่สภาวะปกติ 1-2 วัน