สังคมท้องถิ่น

รัฐมนตรีเกษตรไทย-ซาอุดีอาระเบีย เห็นพ้องพัฒนากลไกความร่วมมือด้านการเกษตร เสริมความมั่นคงทางอาหาร

%e0%b8%a3%e0%b8%b1%e0%b8%90%e0%b8%a1%e0%b8%99%e0%b8%95%e0%b8%a3%e0%b8%b5%e0%b9%80%e0%b8%81%e0%b8%a9%e0%b8%95%e0%b8%a3%e0%b9%84%e0%b8%97%e0%b8%a2-%e0%b8%8b%e0%b8%b2%e0%b8%ad%e0%b8%b8%e0%b8%94%e0%b8%b5

รัฐมนตรีเกษตรไทย-ซาอุดีอาระเบีย เห็นพ้องพัฒนากลไกความร่วมมือด้านการเกษตร เสริมความมั่นคงทางอาหาร และสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชน

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยวันนี้ (30 ก.ย) ภายหลังการหารือกับนายอับดุลเราะห์มาน บิน อับดุลมุห์สิน อัลฟัฎลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม น้ำ และการเกษตร แห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรก ภายหลังการปรับความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันให้กลับเป็นปกติโดยสมบูรณ์ เมื่อเดือนมกราคม 2565 ที่ผ่านมา พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงเกษตรฯ ทั้งสองฝ่าย กระทรวงการต่างประเทศของไทย และสถานเอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบีย ประจำประเทศไทย ณ ห้องรับรองกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า นโยบาย Saudi Vision 2030 ของซาอุดีอาระเบีย มีความสอดคล้องกับโมเดล BCG ที่เน้นการเสริมสร้างเศรษฐกิจที่มีความสมดุล รักษาสิ่งแวดล้อม และสร้างความมั่นคงทางอาหาร และเน้นการบูรณาการทรัพยากรธรรมชาติทั้ง 5 อย่าง ได้แก่ ระบบนิเวศ ดิน ป่าไม้ ที่ดิน และน้ำ ยึดหลักเกษตรอินทรีย์ เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน เกษตรธรรมชาติ และวนเกษตร โดยฝ่ายไทยพร้อมร่วมมือเพื่อให้บรรลุนโยบาย Saudi Vision 2030

สำหรับประเด็นการหารือในวันนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องให้มีกลไกความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างกัน โดยฝ่ายซาอุฯ เสนอให้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding: MOU) และมอบหมายให้สำนักการเกษตรต่างประเทศเป็นผู้ประสานงานหลักของไทย ส่วนความร่วมมือด้านการประมงนั้น ซาอุฯ มีความยินดีที่จะร่วมมือกับไทย ทั้งการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยี และกฎระเบียบการลงทุนด้านกิจการประมงในซาอุดีอาระเบีย ซึ่งภาคเอกชนของไทยได้ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก

“ด้านการค้าสินค้าเกษตร ฝ่ายไทยได้ผลักดันการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารปรุงสุกที่มีคุณภาพไปยังซาอุฯ ส่วนฝ่ายซาอุฯ ได้กล่าวถึงตลาดซาอุฯ ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพ เนื่องจากมีขนาดใหญ่ ผู้บริโภคมีความต้องการสินค้าที่มีคุณภาพและความปลอดภัย มีกำลังซื้อสูง และซาอุฯ ยังสามารถเป็นประตูไปสู่ประเทศแถบตะวันออกกลาง นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องให้มีการขยายความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนในลักษณะ Business to Business (B2B) และการจับคู่ทางธุรกิจ (Business Matching) เพื่อเพิ่มโอกาสการค้าและการลงทุนด้านเกษตรและอาหาร” รัฐมนตรีเกษตรฯ กล่าว

ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีเกษตรฯ ซาอุฯ ขอเชิญรัฐมนตรีเกษตรฯ ของไทยเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบีย เพื่อหารือและขยายความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างกัน พร้อมทั้งเชิญชวนภาครัฐและภาคเอกชนของไทยเข้าร่วมงานแสดงสินค้าด้านการเกษตร ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนตุลาคมนี้ ที่ซาอุฯ ด้วย

รัฐมนตรีเกษตรฯ กล่าวในช่วงท้ายของการหารือ โดยได้ขอบคุณที่ซาอุดีอาระเบียที่ได้สนับสนุนให้มีการส่งออกปุ๋ยมายังไทยเพิ่มเติมมากขึ้น เพื่อแก้ไขการขาดแคลนปุ๋ย รวมทั้ง เห็นพ้องกันว่าการหารือในวันนี้เป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกระทรวงเกษตรฯ ของทั้งสองประเทศ และจะส่งผลถึงการขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนด้านการเกษตรและอาหารในอนาคตต่อไป

ทั้งนี้ ซาอุดิอาระเบียเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรอันดับที่ 29 ของไทย โดยระหว่างปี 2562-2564 มูลค่าการค้าสินค้าเกษตรเฉลี่ย 6,836 ล้านบาท โดยไทยส่งออก 6,791 ล้านบาท ไทยนำเข้า 46 ล้านบาท ซึ่งสินค้าเกษตรส่งออกของไทย 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) ปลาทูน่า ปลาสคิปแจ็ค และปลาโบนิโต 2) ข้าว 3) สับปะรด 4) ข้าวโพดหวาน 5) อาหารสุนัขหรือแมว ส่วนสินค้าเกษตรนำเข้าจากซาอุฯ 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) อาหารปรุงแต่ง เช่น เต้าหู้ เครื่องดื่มสำเร็จรูป 2) อาหารสัตว์ 3) ลูกนัทหรือผลไม้แห้ง 4) ปลาหมึกกระดองและปลาหมึกกล้วยแช่แข็ง และ 5) ไม้ต้น ไม้พุ่ม และไม้กอ ที่ให้ผลไม้หรือลูกนัท

สำหรับคณะผู้บริหารระดับสูงที่ร่วมในการหารือครั้งนี้ ฝ่ายไทยได้แก่ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายธนา ชีรวินิจ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประยูร อินสกุล รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสมชวน รัตนมังคลานนท์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายพิศาล พงศาพิชญ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) และ นายดามพ์ บุญธรรม อธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา (ว่าที่เอกอัครราชทูตไทยประจำซาอุดีอาระเบีย) และคณะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง.

0 Comments
Share

Admin

Reply your comment

Your email address will not be published. Required fields are marked*