กฎหมายน่ารู้

บาดแผลทางใจกับความสำคัญของการสอบสวนเด็ก

%e0%b8%9a%e0%b8%b2%e0%b8%94%e0%b9%81%e0%b8%9c%e0%b8%a5%e0%b8%97%e0%b8%b2%e0%b8%87%e0%b9%83%e0%b8%88%e0%b8%81%e0%b8%b1%e0%b8%9a%e0%b8%84%e0%b8%a7%e0%b8%b2%e0%b8%a1%e0%b8%aa%e0%b8%b3%e0%b8%84%e0%b8%b1

หลายคนคงเคยได้ยินว่าบาดแผลทางกายนั้นแม้จะเจ็บปวดแค่ไหนก็สามารถรักษาหายได้ แต่บาดแผลทางใจนั้นยากแก่รักษาหรือยากแก่การลืมเลือนไปได้และบางคนไม่อาจรักษาแผลใจให้หายได้ตลอดไป

บาดแผลทางใจ (Trauma) คืออารมณ์และความรู้สึกเจ็บปวดใจที่บาดลึกลงไปในจิตใจ ความเจ็บปวดใจหรือบาดแผลทางใจของแต่ละบุคคลจะมีความแตกต่างกันไป หลายครั้งจะเห็นว่าในข้อเท็จจริงเดียวกันเรื่องราวเดียวกันบางคนรับได้ลืมได้ง่าย แต่บางคนกลับรับไม่ได้ ลืมไม่ลง ทั้งที่เป็นเรื่องเดียวกัน นั่นก็เพราะแต่ละบุคคลถูกเลี้ยงดูมาต่างกันหรือเจริญเติมโตมาในครอบครัวที่ต่างกัน อยู่ในสังคมที่แตกต่างกัน มีประสบการณ์หรือเบื้องหลังชีวิตที่แตกต่างกัน  ทำให้การรับความรู้สึกทางจิตใจแตกต่างกันไป บางคนไวต่อสิ่งกระตุ้น (Sensitive) รับความรู้สึกได้ง่าย รับอิทธิพลภายนอกได้ง่าย ดังนั้นในเรื่องเดียวกันบางคนทำใจได้ง่าย ก็ลืมเลือนได้ง่าย แต่บางคนกลับทำใจไม่ได้ ต้องอาศัยเวลาและกระบวนการการรักษาทางใจหลายประการกว่าจะรักษาใจให้ดีขึ้น หรือจนหายเป็นปกติ และกลับมาใช้ชีวิตเหมือนเดิม แต่ก็มีอีกหลายคนที่มีบาดแผลทางใจ แล้วมีร่องรอยฝังรากลึกติดอยู่ในความทรงจำตลอดไป ไม่มีวันหาย ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต นำมาซึ่งผลเสียทั้งต่อทางร่างกายและจิตใจ รวมไปถึงครอบครัวอีกด้วย

การสอบสวนคดีอาญาในความผิดเกี่ยวกับเพศ ชีวิต ร่างกาย… กรณีที่เด็กมีอายุไม่เกิน ๑๘ ปี เป็นผู้เสียหาย หรือเป็นผู้ต้องหาก็ตาม จำเป็นต้องมีสหวิชาชีพ ซึ่งประกอบไปด้วย พนักงานอัยการ พนักงานสอบสวน นักสังคมสงเคราะห์ หรือนักจิตวิทยา และบุคคลที่เด็กไว้วางใจเข้าร่วมในการซักถามปากคำเด็ก และกรณีผู้ต้องหาเป็นเด็กต้องที่ปรึกษากฎหมายอีกด้วย นอกจากนี้การสอบสวนดังกล่าว พนักงานสอบสวนต้องแยกเป็นส่วนสัดในสถานที่ที่เหมาะสม ในการซักถามปากคำเด็ก อาจต้องถามผ่านนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์อีกด้วย ทั้งนี้  ตาม ป.วิอาญา มาตรา ๑๓๓ ทวิ ๑๓๔/๒

การสอบปากคำเด็กในคดีอาญา หากทีมสหวิชาชีพดังกล่าวร่วมกันซักถามปากคำพยาน ทั้งที่เป็นผู้เสียหาย หรือพยานอื่นหรือผู้ต้องหาให้ดี เก็บรายละเอียดให้ครบถ้วน จะเป็นประโยชน์ในทางพิจารณาเป็นอย่างมาก ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะกรณีสอบสวนปากคำพยานผู้เสียหายในคดีเกี่ยวกับเพศ ในคดีเกี่ยวกับเพศหากผู้เสียหายเป็นผู้หญิง การสอบสวนต้องให้พนักงานสอบสวนหญิงเป็นผู้สอบสวน  เนื่องจากความผิดเกี่ยวกับเพศ อาจต้องมีการซักถามปากคำถึงข้อเท็จจริงในเชิงลึก และในข้อเท็จจริงบางเรื่องเป็นสิ่งน่าอับอาย ยากแก่การจะสื่อสารหรือให้การถึงข้อเท็จจริงทั้งหมด ให้คนที่ไม่รู้จักคุ้นเคยฟัง โดยเฉพาะพนักงานสอบสวนที่เป็นผู้ชาย แต่หากพนักงานสอบสวนที่เป็นผู้หญิงความอาย ก็จะน้อยลงอีก ทั้งผู้หญิงด้วยกันสามารถเข้าใจกันมากกว่าผู้ชาย การจะพูดคุยสื่อสารกัน ก็จะง่ายขึ้นดังคดีที่เกิดขึ้นจริงดังต่อไปนี้

คดีแรก ด.ญ เอ (นามสมมุติอายุประมาณ ๙ ปี) เป็นเด็กผู้หญิงตาโต จมูกโด่ง หน้าตาน่ารัก ผิวดำแดงรูปร่าง หน้าตาดี เรียนอยู่ ป. ๔ บ้านของ ด.ญ.เอ อยู่สระบุรี ด.ญ.เอ เป็นเด็กดีขยันขันแข็งช่วงเช้ามืดเวลาประมาณตีห้าของทุกวัน ด.ญ. เอ จะลงจากบ้าน เพื่อมาหุงข้าวทำกับข้าวที่เพิงใต้ถุนบ้านพักของ ด.ญ.เอ เพื่อเตรียมไปโรงเรียนเป็นประจำ (เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๔)

วันนั้นก็เช่นกันขณะที่ ด.ญ.เอ กำลังชุลมุนกับการหุงหาอาหารอยู่ผู้ต้องหา ซึ่งเป็นเพื่อนบ้าน ก็เข้ามากอดรัด ด.ญ.เอ และใช้มือปิดปากพร้อมกับลากตัว ด.ญ.เอ เข้าไปในดงกล้วยข้างบ้าน แล้วใช้กำลังข่มขืนกระทำชำเรา หลังจากนั้น ผู้ต้องหาได้ใช้ก้านกล้วยมัดมือด.ญ.เอ ไหว้หลังติดกับต้นกล้วย พร้อมข่มขู่ไม่ให้บอกใคร ต่อมา ด.ญ.เอ ดิ้นรนจนหลุดออกมาได้ และมาเล่าเรื่องให้ผู้ปกครองฟัง ผู้ปกครองพามาแจ้งความกับพนักงานสอบสวน

หลังจากแจ้งความแล้ว พนักงานสอบสวนพร้อมนักสังคมสงเคราะห์ และพนักงานอัยการไม่สามารถสอบปากคำ ด.ญ.เอ เด็กน้อยคนนี้ได้ เนื่องจาก ด.ญ.เอ ไม่ยอมพูดคุย และให้การใด ๆ เนื่องจากพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการและนักสังคมสงเคราะห์ ล้วนเป็นผู้ชายและการสอบสวนเด็ก ในสมัยก่อนนั้น ไม่ได้แยกห้องสอบสวนไว้เป็นส่วนสัด ขณะนั้นผู้เขียนดำรงตำแหน่งอัยการจังหวัดผู้ช่วยที่สำนักงานอัยการคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสระบุรี (ปี พ.ศ.๒๕๔๔) อัยการรุ่นพี่ให้มาช่วยสอบสวนเด็ก เนื่องจากเด็กผู้หญิงไม่ยอมพูด และไม่ให้การใด ๆ เลย ถามข้อเท็จจริงเบื้องต้นจากอัยการรุ่นพี่ พนักงานสอบสวน และผู้ปกครองของเด็กจึงพอทราบข้อเท็จจริงเบื้องต้น

เมื่อแรกที่ผู้เขียนมาที่ห้องสอบเด็ก เห็นหน้าตา ด.ญ.เอ มีท่าทางวิตกกังวลตื่นกลัวมาก จึงขอพูดคุยกับเด็กเพียงลำพัง โดยมีบุคคลที่เด็กไว้วางใจอยู่ด้วย ได้ชวนพูดคุยเรื่องอื่น ๆ เพื่อสร้างความคุ้นเคย และความไว้วางใจ ทำให้เด็กเห็นถึงความมีเมตตา ความปรารถนาดี ความเข้าใจ ความพร้อมที่จะช่วยเหลือเด็ก สร้างความคุ้นเคยและทำให้เด็กไว้วางใจก่อน เมื่อเห็นว่าเด็กมีอาการผ่อนคลายกังวลแล้ว จึงสอบถามเด็กว่าพร้อมจะเล่าเหตุการณ์หรือไม่ โชคดีที่พอได้พูดคุยแล้ว เด็กยอมเล่าเหตุการณ์ให้ฟัง ทำให้ได้ข้อเท็จจริงดังกล่าว การสอบสวนในวันนั้นจึงสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี แม้เหตุการณ์จะผ่านมา ๒๐ ปีเศษ  ผู้เขียนเองไม่อาจลืมเลือนเหตุการณ์ในวันนั้นได้เลย แล้วเด็กผู้หญิงคนนั้น จะลืมเลือนเรื่องดังกล่าวนี้ได้หรือไม่ นอกจากคดีนี้แล้ว ยังมีคดีอื่น ๆ อีกหลายคดี เช่น คดีที่ผู้ต้องหาซึ่งเป็นเพื่อนบ้าน หลอกพาเด็กอายุ ๓ ปีเศษ ซึ่งพักอาศัยอยู่กับยายไปเก็บมะม่วง แล้วข่มขืนกระทำชำเรา จนอวัยวะเพศฉีกขาด ถึงทวารหนัก ผู้เขียนเป็นพนักงานอัยการที่ทำคดีนี้ และต่อมาได้ทำคดีประเภทนี้หลายคดี จนทำให้รู้สึกว่าเจ็บปวดใจ เกิดบาดแผลทางใจยากจะลืมเลือนได้เช่นกัน แล้วตัวผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ถูกกระทำ หากต้องมาให้การในเรื่องเดิมเรื่องครั้งแล้วครั้งเล่า กว่าคดีเสร็จสิ้นสภาพจิตใจจะเป็นเช่นไร

จากคดีตัวอย่างดังกล่าว จะเห็นว่าการซักถามปากคำเด็ก ไม่อาจทำได้ เมื่อมีทีมสหวิชาชีพหลายคนมานั่งรุมล้อมซักถามเด็ก และตัวผู้ร่วมซักถามปากคำเป็นผู้ชายทั้งหมด ทำให้เด็กอายไม่กล้าเล่าเหตุการณ์เรื่องให้ฟัง หรือบางกรณีหากกล้าเล่าเรื่อง แต่ในขณะที่เล่านั้นมีความเครียดความอายหรือความวิตกกังวลอยู่มาก หรือเด็กไม่มีความพร้อมทั้งทางร่างกายและจิตใจ อาจทำให้เด็กให้การได้ไม่ดี ได้ข้อเท็จจริงไม่ครบถ้วน หรืออายไม่กล้าพูดความจริงทั้งหมดก็เป็นได้ ซึ่งการไม่ได้ข้อเท็จจริงทั้งหมด อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อรูปคดี และไม่อาจทำให้ไม่สามารถลงโทษผู้กระทำความผิดได้อีกด้วย

คดีที่ ๒ นางสาวบี เรียนอยู่ชั้น ม.๕ ในวันเกิดเหตุ นางสาวบี ผู้เสียหายไปงานเลี้ยงบ้านเพื่อน กลับมาถึงซอยหน้าบ้านเวลาประมาณ ๕ ทุ่มเศษ ได้เรียกรถจักรยานยนต์รับจ้างให้ไปส่งที่บ้านในซอย ผู้เสียหายขึ้นนั่งบนรถแล้วเห็นคนขับรถ (คนร้าย) หันหน้าไปพยักหน้าให้กับพวกคนขับรถจักยายนต์รับจ้างด้วยกัน ซึ่งผู้เสียหายเห็นแต่ไม่ได้สงสัยอะไร ผู้เสียหายนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์รับจ้างดังกล่าว คนขับรถ (คนร้าย) ได้ขับรถพาผู้เสียหายเข้าไปในซอยด้วยความเร็วสูง และขับรถเลยซอยบ้านเสียหายเข้าไปที่บ้านร้าง  แล้วได้ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายในบ้านร้างนั้น ในขณะที่คนขับรถจักรยานยนต์รับจ้างคนแรกข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายอยู่นั้น มีคนร้ายอีก ๑๐ คน ซึ่งเป็นพวกที่ขับรถจักรยานยนต์รับจ้างด้วยกัน ขับรถตามมาที่บ้านร้าง และได้มาผัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย ขณะนั้นมีพลเมืองดีได้แจ้งเจ้าพนักงานตำรวจมาที่เกิดเหตุ เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจมาถึงที่เกิดเหตุ พบผู้ต้องหาทั้งหมดจำนวนหลายคนอยู่ที่เกิดเหตุ จับกุมได้จำนวน ๕ คนในขณะจับกุมผู้ต้องหาบางคน ใส่แค่กางเกงชั้นในตัวเดียว บางคนก็ใส่แค่เสื้อ ยังไม่ทันได้ใส่กางเกง ส่วนผู้ต้องหาที่เหลืออีกหกคน ได้หลบหนีไปได้ เจ้าพนักงานตำรวจได้พาผู้เสียหายไปที่โรงพัก และผู้เสียหายได้ชี้ตัวผู้ต้องหาทั้งห้าคนหลังจากนั้น พนักงานสอบสวนได้ส่งผู้เสียหายไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาล พบว่าที่ช่องคลอดมีร่องรอยฉีกขาดใหม่ สันนิษฐานว่ามีการร่วมประเวณี จากนั้นพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนผู้เสียหายไว้เป็นพยาน หลังเกิดเหตุคดีนี้แล้ว ผู้เสียหายมีอาการป่วยทางจิต มารดาของผู้เสียหายได้พาผู้เสียหายย้ายโรงเรียนไปเรียนที่อื่น และได้พาผู้เสียหายไปเข้ารักษาอาการทางจิตจากแพทย์ จนอาการดีขึ้น ต่อมาพนักงานอัยการฟ้องผู้ต้องหาทั้งห้าคนต่อศาล และเมื่อศาลมีหมายเรียกผู้เสียหายให้มาเบิกความ เมื่อผู้เสียหายเห็นหมายเรียกจากศาล อาการทางจิตก็กำเริบต้องเข้าไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล ส่วนมารดาผู้เสียหายเกิดอาการเครียด จนป่วยเป็นมะเร็ง มารดาผู้เสียหายจึงต้องพาผู้เสียหายหนีไปอยู่ที่อื่น เพื่อไม่ต้องการที่จะมาเบิกความที่ศาล จนไม่สามารถติดตามตัวผู้เสียหายมาเบิกความที่ศาลได้ แต่คดีนี้เนื่องจากมีพยานแวดล้อม เจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมเป็นพยานแวดล้อมจับผู้ต้องหาทั้งหมดได้ในที่เกิดเหตุ แม้ผู้ต้องหาทั้งหมดจะให้การปฏิเสธ และไม่ได้ผู้เสียหายมาเบิกความในชั้นศาล แต่ศาลก็ฟังคำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายมาประกอบกับพยานแวดล้อม และลงโทษผู้ต้องหาทั้งห้าคนตามกฎหมาย

เห็นได้ว่าคดีนี้ผู้เสียหายเป็นเด็กผู้หญิงเรียบร้อยตั้งใจเรียนดี ไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับผู้ชายมาก่อน เมื่อเกิดเหตุดังกล่าวนี้ สภาพจิตใจย่ำแย่ รับไม่ได้ต่อการกระทำของผู้ต้องหา หลังเกิดเหตุจึงเกิดอาการป่วยทางจิต ต้องใช้เวลาในการรักษาตัวอยู่นาน เมื่อรักษาตัวจนอาการดีขึ้นแล้ว ต่อมาเห็นแค่หมายเรียกจากศาลอาการทางจิต ก็กำเริบขึ้นมาทันที คดีนี้ในชั้นสอบสวนพนักงานอัยการและพนักงานสอบสวนได้ดำเนินการสอบสวนปากคำของพยานปากนี้เอาไว้ มีรายละเอียดครบถ้วนชัดเจน และมีพยานปากอื่นซึ่งเป็นพยานแวดล้อมอื่น ประกอบกับเจ้าพนักงานตำรวจจับผู้ต้องหาได้ในที่เกิดเหตุศาลจึงพิพากษาลงโทษผู้ต้องหาได้

แต่อย่างไรก็ตาม ในคดีดังกล่าว หากชั้นสอบสวนทำการสอบปากคำผู้เสียหายไว้ไม่ดี ไม่มีรายละเอียดสมบูรณ์ครบถ้วน คดีจะเป็นเช่นไรเพียงคำให้การของพยานแวดล้อมอาจไม่เพียงพอรับฟังลงโทษผู้ต้องหาได้ เช่นคำพิพากษาฎีกาที่  ๑๖๑/๒๕๖๔ ในคดีที่พนักงานอัยการจังหวัดชุมพร เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราเด็กซึ่งมีอายุไม่เกิน ๑๓ ปี (อายุ ๕ ปีเศษ) ซึ่งเป็นผู้สืบสันดานของจำเลยฯ ซึ่งศาลฎีกาได้มีคำพิพากษายกฟ้องจำเลย โดยให้เหตุผลว่า คดีนี้มีผู้เสียหายเพียงปากเดียวเป็นประจักษ์พยานยืนยันการกระทำผิดของจำเลย แต่เนื่องจากขณะเกิดเหตุผู้เสียหายเป็นเด็กมีอายุเพียง  ๕ ปี โดยธรรมชาติมักมีจิตนาการในเรื่องราวต่างๆ ตามที่ผู้ใหญ่เล่าให้ฟังและถูกชักจูงได้ง่าย และในชั้นพิจารณาคดีศาลได้เปิดบันทึกภาพและเสียงคำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหาย ที่พนักงานสอบสวนบันทึกไว้ พบว่านักสังคมสงเคราะห์ได้ใช้บันทึกคำให้การชั้นสอบสวน ที่พนักงานสอบสวนบันทึกไว้ล่วงหน้า มาเป็นหลักในการซักถามปากคำเด็ก และนักสังคมสงเคราะห์ได้ใช้คำถามนำ ในการซักถามปากคำเด็ก อีกทั้งในการซักถามปากคำเด็ก เมื่อเด็กให้การพนักงานสอบสวนได้ทำการบันทึกปากคำเด็กไว้ไม่ครบถ้วนตามที่เด็กให้การไว้แต่อย่างใด  คำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายจึงถือไม่ได้ว่าเป็นคำให้การที่เกิดขึ้นด้วยใจสมัครของผู้เสียหายจึงใช้รับฟังไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๖ ประกอบกับรายงานแพทย์ตรวจไม่พบร่องรอยบาดแผลและไม่พบเชื้ออสุจิที่ตายแล้ว อันเป็นข้อบ่งชี้ว่าผู้เสียหายถูกล่วงละเมิดทางเพศแต่อย่างใด และไม่มีพยานหลักฐานอื่นที่สอดคล้องต้องกันเชื่อมโยงให้เห็นว่า จำเลยได้ข่มขืนกระทำชำเราหรือล่วงละเมิดทางเพศผู้เสียหาย คดีมีเหตุอันควรสงสัยจึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้กับจำเลย พิพากษายกฟ้องจำเลยตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์  จากคำพิพากษาฎีกาคดีดังกล่าวนี้ เห็นได้ว่าคดีนี้แม้ผู้เสียหายจะได้มาเบิกความต่อศาล แต่เนื่องจากการเปิดบันทึกภาพและเสียงของผู้เสียหาย ที่พนักงานสอบสวนได้ทำการบันทึกไว้ในชั้นสอบสวน ทำให้เห็นว่าการสอบสวนมีลักษณะการใช้คำถามนำ ซึ่งถือว่าเป็นการจูงใจให้เด็กให้การตามที่ใช้คำถามนำไว้ อีกทั้งขณะเด็กให้การพนักงานสอบสวนไม่ได้ทำการบันทึกรายละเอียดไว้ให้ครบถ้วนทำให้เกิดความเสียหายต่อรูปคดีศาลยกฟ้องจำเลยดังกล่าว

ดังนั้นในชั้นสอบสวนการซักถามปากคำผู้เสียหายจึงเป็นสิ่งสำคัญ ในความผิดเกี่ยวกับเพศกรณีผู้เสียหายที่เป็นหญิง ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือไม่ก็ตาม ต้องให้พนักงานสอบสวนซึ่งเป็นผู้หญิงทำการสอบสวน  และการสอบสวนผู้เสียหายเป็นผู้หญิงและเป็นเด็ก ถ้าเป็นคดีเกี่ยวเพศ นอกจากพนักงานสอบสวนต้องเป็นผู้หญิงแล้ว ยังต้องจัดให้มีสหวิชาชีพเข้าร่วมทำการสอบสวนตามกฎหมาย และแยกห้องสอบสวนจัดให้เป็นส่วนสัด ไม่นั่งรุ่มล้อมซักถามเด็ก เพราะการรุ่มล้อมซักถามปากคำเด็ก อาจทำให้เด็กเกิดความอับอายและเครียด ไม่กล้าเล่าเรื่องราวทั้งหมด หรือเล่าเรื่องแต่เล่าความจริงออกมาได้ไม่ครบถ้วน ก็เป็นไปได้  อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อรูปคดี และอาจทำให้ไม่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้

การที่กฎหมายได้กำหนดให้มีสหวิชาชีพและพนักงานอัยการเข้าร่วมซักถามเด็กหรือเยาวชนนั้น เนื่องจากพนักงานอัยการซึ่งถือว่าเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญทั้งทางด้านกฎหมายเป็นอย่างดี และเป็นผู้พิจารณาคดีสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา รวมไปถึงการนำสืบพยานและนำเสนอพยานหลักฐานในชั้นศาลอีกด้วย พนักงานอัยการย่อมต้องทราบว่า พยานหลักฐานใดเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญที่สามารถพิสูจน์ความผิดหรือบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา และคำให้การชั้นสอบสวนของพยานในลักษณะใด เป็นคำที่ได้มาโดยชอบและสามารถใช้รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา ๒๒๖ ดังนั้นการซักถามปากคำเด็ก พนักงานอัยการต้องให้ความสำคัญและควบคุมหรือแนะนำแจ้งให้พนักงานสอบสวน นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ซักถามปากคำเด็กให้ถูกต้องตามกฎหมาย

หลักการสอบสวนพยานที่เป็นเด็กหรือเยาวชนนั้น เมื่อทุกฝ่ายมาพร้อมกันแล้ว ต้องมีการประชุมซักถามข้อเท็จจริงเบื้องต้นจากผู้ปกครอง หรือผู้ที่ทราบเรื่องหรือข้อเท็จจริง และดูพยานหลักฐานเบื้องต้น หากมีรายงานการตรวจชันสูตรร่องรอยบาดแผล ควรตรวจดูให้เรียบร้อยก่อนซักถามปากคำพยานผู้เสียหาย การสอบถามข้อเท็จจริงเบื้องต้น ต้องไม่สอบถามตรงจากผู้เสียหาย ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เป็นการถามซ้ำไปมาหลายรอบ การซักถามหลายรอบหลายครั้งเป็นการตอกย้ำความเจ็บปวดของผู้เสียหาย เป็นการสร้างบาดแผลทางใจให้เพิ่มมากขึ้น

ในการสอบสวนหรือซักถามเด็กหรือเยาวชน นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ หรือพนักงานอัยการต้องทำความคุ้นเคยกับเด็กหรือเยาวชน ก่อนที่จะทำการสอบสวน การสร้างความคุ้นเคยและไว้เนื้อเชื่อใจให้กับเด็กฯ ทำให้เด็กมีความพร้อมที่จะให้การหรือเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่การทำความสนิทสนมดังกล่าวนี้ ต้องไม่ใช่เป็นการซักถามในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ การที่ผู้เสียหายถูกกระทำมาแต่อย่างใด และต้องไม่เป็นการจูงใจหรือให้คำมั่นสัญญาหรือขู่เข็ญด้วยประการใดๆเพื่อให้เด็กหรือเยาวชนให้การ เมื่อเห็นว่ามีความคุ้นเคยเพียงพอและเด็กมีความพร้อมที่จะให้การแล้ว จึงเริ่มซักถามพยานหรือผู้ต้องหาในห้องที่แยกเป็นส่วนสัด โดยให้เด็กฯ นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์และ/หรือบุคคลที่ไว้วางใจอยู่ห้องหนึ่ง ส่วนพนักงานอัยการและพนักงานสอบสวนอยู่อีกห้อง การซักถามปากคำพยานต้องให้ได้รายละเอียดให้ครบถ้วน

ทั้งในส่วนของวันเวลาสถานที่เกิดเหตุ แสงสว่างที่เกิดเหต พฤติการณ์แห่งการกระทำของผู้ต้องหา อาจต้องจัดให้การมีชี้ภาพถ่ายผู้ต้องหาอีกด้วย พนักงานอัยการซึ่งเป็นผู้พิจารณาคดี และสืบพยานในชั้นศาล ย่อมต้องทราบดีว่าในชั้นพิจารณาคดีของศาลต้องมีพยานหลักฐานและรายละเอียดข้อเท็จจริงเพียงใด  การซักถามปากคำพยานผู้เสียหายนี้ ต้องซักถามให้ได้รายละเอียดให้ครบถ้วน เสมือนสืบพยานในชั้นศาลเลยทีเดียว และต้องทำการบันทึกภาพ และเสียงไว้พร้อม ที่ใช้เปิดเป็นพยานหลักฐานในชั้นศาล ซึ่งในการสืบพยานในชั้นศาล ก่อนสืบพยานถ้าศาลเห็นสมควรหรือพยานที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน ๑๘ ปี หรือคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอโดยมีเหตุอันสมควร ซึ่งศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ถ้าไม่อนุญาตจะเป็นผลร้ายแก่เด็ก ให้ศาลจัดให้มีการถ่ายทอดภาพและเสียงคำให้การของผู้เสียหายหรือพยานที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน ๑๘ ปี ที่ได้บันทึกไว้ในชั้นสอบสวนตามมาตรา ๑๓๓ ทวิ ดังกล่าวต่อหน้าคู่ความ ในกรณีนี้ให้ถือว่า สื่อภาพและเสียงคำให้การของพยานดังกล่าวที่บันทึกไว้ เป็นส่วนหนึ่งของคำเบิกความในชั้นศาลโดยให้คู่ความ ถามค้าน ถามติงได้เท่าที่จำเป็นและภายในขอบเขตที่ศาลเห็นสมควร หรืออีกกรณีหนึ่งหากไม่ได้ตัวพยานมาเบิกความในชั้นศาล เพราะมีเหตุจำเป็นอย่างยิ่ง ให้ศาลรับฟังสื่อภาพและเสียงคำให้การของพยานดังกล่าวนั้น เสมือนหนึ่งเป็นคำเบิกความของพยานชั้นพิจารณาของศาล ตาม ป.วิอาญามาตรา ๑๗๒ ตรี ซึ่งในการสืบพยานในชั้นศาลอาจต้องนำคำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายพร้อมสื่อการบันทึกภาพและเสียงที่บันทึกไว้มาใช้ประกอบในการสืบพยานดังกล่าว

ทำไมต้องแยกห้องสอบเด็กเป็นส่วนสัดตามกฎหมาย ในคดีเกี่ยวกับความผิดทางเพศหรือในคดีบางประเภทเป็นเรื่องน่าอายที่ผู้เสียหาย หรือผู้ต้องหาจะต้องมาเล่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ให้บุคคลหลาย ๆ คนฟัง พร้อมกัน หรือหากผู้เสียหายหรือผู้ต้องหาต้องมาเล่าเหตุการณ์ต่อหน้าบุคคลจำนวนหลายคน ในบางครั้งผู้เสียหายหรือผู้ต้องหาอาจไม่กล้าพูดความจริงทั้งหมด เพราะอาย แต่หากอยู่กับคนที่คุ้นเคยและไว้วางใจ จะทำให้คลายความกังวลลงไปได้ และกล้าที่จะสื่อสารเล่าเหตุการณ์ตามความจริงออกมาได้มากกว่าการที่จะไปเล่าให้บุคคลทั้งห้าหกคน นั่งรุมล้อมซักถามพยาน

การรุมล้อมซักถามพยานผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กหรือเยาวชน หรือพยานผู้เสียหาย แม้เป็นผู้ใหญ่ที่อยู่ในสภาพจิตใจย่ำแย่ แต่มีคนมารุมล้อมซักถาม เพื่อจะเค้นหรือค้นหาความจริง โดยเฉพาะความผิดเกี่ยวกับเพศ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าอับอายจะมีผู้เสียหายสักกี่คน ที่จะกล้าพูดหรือเล่าเหตุการณ์จริงออกมาทั้งหมดได้ ถึงแม้จะกล้าเล่าเหตุการณ์อาจเล่าผิดๆ ถูกๆ ก็เป็นไปได้ ดังนั้น เพื่อให้ได้ ข้อเท็จจริงที่ครบถ้วนถูกต้อง การสอบสวนเด็กหรือเยาวชน จึงต้องแยกห้องสอบสวนเด็กให้เป็นส่วนสัดดังกล่าว          

ดังนั้นพนักงานอัยการ พนักงานสอบสวนและสหวิชาชีพต้องให้ความสำคัญในการสอบสวนซักถามปากคำพยานที่เป็นเด็กหรือเยาวชนให้มาก และต้องจัดให้มีห้องสอบเด็กแยกเป็นสัดส่วน โดยจัดให้เด็กนั่งอยู่กับนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์และ/หรือบุคคลที่เด็กไว้วางใจ ในห้องแยกต่างหากจากห้องที่พนักงานอัยการและพนักงานสอบสวนนั่งสอบสวน ต้องซักปากคำ โดยไม่ใช้คำถามนำ ไม่ถามซ้ำไปมา ไม่ชี้นำ หรือจูงใจ ต้องให้พยานสมัครใจให้การเอง ต้องซักถามพยานให้ได้ใจความให้ครบถ้วนจนสิ้นกระแสความ ทั้งในส่วนของวันเวลาสถานที่เกิดเหตุ แสงสว่างที่เกิดเหต พฤติการณ์แห่งการกระทำของผู้ต้องหาให้ได้รายละเอียด เสมือนสืบพยานในชั้นศาล และในบางกรณีอาจต้องจัดให้การมีชี้ภาพถ่ายหรือชี้ตัวผู้ต้องหาด้วย  และต้องทำการบันทึกภาพและเสียงคำให้การของพยานไว้ด้วย เพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานในชั้นศาลตามกฎหมายต่อไป

นางจตุพร อาจคงหาญ
อัยการผู้เชี่ยวชาญ
วุฒิการศึกษา นบ.นบท.หลักสูตรพัฒนาศักยภาพพนักงานอัยการให้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการคุ้มครองเด็กรุ่น 4
ผลงานพิเศษ รางวัลชนะเลิศอัยการจังหวัดยุติความรุนแรงดีเด่น ปี พ.ศ.2562
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑ โครงการประกวด ผลงานอัยการผู้เชี่ยวชาญด้านคุ้มครองเด็ก ปี พ.ศ.2563 (โครงการของOAGร่วมกับ Unicef)

0 Comments
Share

Admin

Reply your comment

Your email address will not be published. Required fields are marked*