กนอ.จับมือ 4 พันธมิตร ร่วมกันกำจัดสารทำความเย็น ผ่านระบบ “Fluidized Bed” สู้วิกฤติโลกร้อน – ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (net zero emission)
วันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ที่บริษัท บางปู เอนไวรอนเมนทอล คอมเพล็กซ์ จำกัด ภายในนิคมอุตสาหกรรมบางปู ต.บางปู อ.เมือง จ.สมุทรปราการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ กนอ. ร่วมกับ กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กรมศุลกากร บริษัท เวสท์ แมเนจเม้นท์ สยาม จำกัด และบริษัท บางปู เอนไวรอนเมนทอล คอมเพล็กซ์ จำกัด ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมพิธีเปิดโครงการเผาทำลายสารทำความเย็นที่อยู่ในกำกับดูแลของกรมศุลกากรอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ในงานมี รศ.ดร.วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้กำกับดูแลโครงการเตาเผา BPEC ดร.จุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ในฐานะผู้กำกับดูแลการจัดการของเสียอุตสาหกรรมในประเทศไทย นายถวัลย์ รอดจิตต์ ผู้อำนวยการกองสืบสวนและปรามปรามกรมศุลกากร รวมถึงคณะจากเลขานุการ
เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และบริษัทในเครือของ Dowa Eco Systems จากประเทศญี่ปุ่น ในการเผาทำลายสารทำความเย็นที่จับกุมได้จากการลักลอบเข้าประเทศซึ่งมีปริมาณมากกว่า 10,000 ถัง โดยสารทำดังกล่าวเป็นสารในกลุ่ม Ozone-Depleting Substances หรือ ODS ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ทำลายชั้นโอโซนของโลกเข้าร่วม
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ( กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ.ได้รับการประสานจากกรมศุลกากร ผ่านมาทางกรมโรงงานอุตสาหกรรม ตั้งแต่ ปี 2558 เพื่อขอความอนุเคราะห์ให้ใช้เตาเผาของ กนอ.ซึ่งเป็นเตาเผาระบบฟลูอิดไดซ์เบดที่ กนอ.ได้รับความช่วยเหลือด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์เตาเผาพร้อมระบบผลิตไอน้ำภายใต้โครงการอนุรักษ์พลังงานและพิทักษ์สิ่งแวดล้อม จากองค์กรพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม หรือ NEDO แห่งประเทศญี่ปุ่น และบริหารโดยบริษัท เวสท์ แมนเนจเม้นท์ สยาม จำกัด ภายใต้ชื่อ โครงการบางปู เอนไวรอนเมนทอล คอมเพล็กซ์ หรือ BPEC ในการเผาทำลายสารทำความเย็นที่กรมศุลกากรจับกุมได้ ซึ่งมีปริมาณมากกว่า 10,000 ถังภายใต้เงื่อนไขที่ต้องควบคุมประสิทธิภาพในการเผาทำลายให้ไม่น้อยกว่า 99.99%
“การเผาทำลายสารทำความเย็นที่ผ่านมาทั้งหมดจนถึงครั้งนี้มีประมาณ 147 ตัน ซึ่งช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 1.2 ล้านตันของคาร์บอน ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีของประเทศไทยที่จะเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) เพื่อนำไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ หรือ net zero emission) ในที่สุด”
ด้านนายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในปี 2558 มีการทดลองเผาสารทำความเย็นด้วยการควบคุมประสิทธิภาพในการเผาทำลายให้ไม่น้อยกว่า 99.99% ซึ่งในที่สุดการกำจัดสารทำความเย็นอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมก็ได้เกิดขึ้นจริงแล้ว โดยที่บริษัทฯ สามารถรับสารทำความเย็นที่คงค้างทั้งหมดของกรมศุลกากร จำนวน 10,080 ถัง มาเผาทำลายที่เตาเผาในครั้งนี้ โดยความร่วมมือในการจัดการสารทำความเย็นของหลายหน่วยงานในครั้งนี้ ถือเป็นต้นแบบที่แท้จริงในการจัดการสารทำความเย็นในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามมาตรฐาน ทำให้สามารถลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ก่อให้เกิดสภาวะโลกร้อนได้มากกว่า 1.1 ล้านตันของคาร์บอน อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดียิ่งเนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ที่ช่วยเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และกระตุ้นให้เกิดการตระหนักถึงความจำเป็นในการร่วมมือกันหาวิธีในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งก่อให้เกิดสภาวะโลกร้อนเพื่อเป็นการส่งต่อโลกที่น่าอยู่ให้กับลูกหลานและคนรุ่นต่อๆ ไป
ในขณะที่ นายยาซุฮารุ ยะใน ประธานกรรมการ บริษัท Dowa Eco systems จำกัด (บริษัทโดวะ อีโคซิสเต็ม จำกัด) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ บริษัท เวสท์ แมเนจเม้นท์ สยาม จำกัด และ บริษัทบางปู เอนไวรอนเมนทอล คอมเพล็กซ์ จำกัด ได้กล่าวว่า บริษัทฯ ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นความสำเร็จเป็นรูปธรรมของการจัดการสารทำความเย็นในประเทศไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ด้วยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมศุลกากร และพันธมิตรในทุกภาคส่วน DOWA Eco Systems Ltd. โดยการสนับสนุนจากกระทรวงสิ่งแวดล้อมญี่ปุ่นจะอุทิศตนเพื่อช่วยพัฒนามาตรฐาน เทคโนโลยีและขีดความสามารถในการจัดการขยะของประเทศไทยให้ทัดเทียมสากลหรือดียิ่งขึ้นอยู่เสมอ สำหรับมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเราจะไม่เพียงแต่จำกัดการปล่อย CO 2 ของเราเท่านั้น แต่เราจะรับผิดชอบจัดหาวัสดุและชิ้นส่วนเพื่อเพิ่มประสิทธิผลของการประหยัดพลังงาน และพัฒนาเทคโนโลยีในการทำลายสารทำความเย็น Freon ในเอเชีย เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อนำไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ หรือ net zero emission