ข่าวประชาสัมพันธ์

“6 เสาหลัก” สู่อนาคต นโยบายราชทัณฑ์ 2566

6-%e0%b9%80%e0%b8%aa%e0%b8%b2%e0%b8%ab%e0%b8%a5%e0%b8%b1%e0%b8%81-%e0%b8%aa%e0%b8%b9%e0%b9%88%e0%b8%ad%e0%b8%99%e0%b8%b2%e0%b8%84%e0%b8%95-%e0%b8%99%e0%b9%82%e0%b8%a2%e0%b8%9a

ปี 2566 นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้เล็งเห็นความสำคัญของการสร้างรากฐานองค์กรให้มั่นคงและยั่งยืน รวมถึงมีทิศทางการพัฒนาดำเนินการในอนาคตที่ชัดเจน ด้วยแนวคิดเหลียวหลังแลไกล สู่อนาคตราชทัณฑ์ โดยชูนโยบาย 6 เสาหลักสู่อนาคตราชทัณฑ์ (Key Foundation) ซึ่งมีแนวทางในการดำเนินการดังนี้

เสาหลักที่ 1 การขับเคลื่อนโครงการพระราชทานและโครงการอันเกี่ยวเนื่องกับพระบรมวงศานุวงศ์ กำหนดให้ทุกหน่วยงานถวายงานเพื่อขับเคลื่อนโครงการพระราชทานและโครงการอันเกี่ยวเนื่องกับพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ อย่างสุดความสามารถ ตั้งแต่โครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความดีเพื่อ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์, โครงการพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง กรมราชทัณฑ์, โครงการห้องสมุดพร้อมปัญญา , โครงการ to be number one, โครงการคืนคนสุขภาพดีสู่สังคม, โครงการกำลังใจในพระราชดำริฯ เพราะทุกพระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ต่อกรมราชทัณฑ์ ดังนั้นจึงต้องให้ความสำคัญและร่วมกันขับเคลื่อนเป็นลำดับแรก

เสาหลักที่ 2 การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังตามมาตรฐานสากล คือการขับเคลื่อนและยกระดับภารกิจของกรมราชทัณฑ์ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลทั้งด้านการควบคุมผู้ต้องขัง ไม่ให้หลบหนี ก่อจลาจล หรือลักลอบนำสิ่งของต้องห้ามเข้าสู่เรือนจำ เพิ่มระบบความมั่นคงของเรือนจำและมีมาตรการควบคุมผู้ต้องขับที่มีประสิทธิภาพ การดูแลผู้ต้องขังให้มีความเป็นอยู่ที่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ไม่ละเมิดสิทธิ รีดไถ ทุบตีผู้ต้องขัง ตลอดจนการพัฒนาพฤตินิสัยของผู้ต้องขัง โดยเฉพาะด้านการศึกษา ศาสนา และการพัฒนาจิตใจไปจนถึงการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยเพื่อส่งต่อผู้ก้าวพลาดให้กลับคืนสู่สังคมโดยไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำ

ดังนั้นเจ้าหน้าที่ทุกคนจะต้องรู้จักและเข้าใจมาตรฐานสากลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อกำหนดแมนเดลลา และข้อกำหนดกรุงเทพ เพื่อให้สามารถนำมาใช้เป็นกรอบแนวทางในการปฏิบัติงานได้อย่างมืออาชีพ นอกจากนี้ยังช่วยให้เกิดการยอมรับในประสิทธิภาพการทำงาน ส่งผลต่อภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กร ทำให้สัมคมเกิดความเชื่อมั่นต่อกรมราชทัณฑ์มากยิ่งขึ้น

เสาหลักที่ 3 การปรับปรุงระบบทัณฑปฏิบัติให้สอดคล้องกับหลักทัณฑวิทยา เนื่องจากการปฏิบัติทัณฑวิทยาบางส่วนสมควรได้รับการปรับปรุงใก้เป็นไปตามยุคสมัยและตามหลักการตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 นอกจากนี้ในปีงบประมาณที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการถึงกรมราชทัณฑ์โดยตรงเกี่ยวกับทัณฑปฏิบัติหลายประการ เช่น การปรับปรุงกระบวนการจัดชั้น และเลื่อนชั้นนักโทษ การให้ความสำคัญกับพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นความสำนึกผิด ชอบชั่วดี , การให้หน่วยงานภายนอกเข้ามามีส่วนร่วมในการประเมินพฤติกรรมของผู้ต้องขัง ซึ่งล้วนแล้วแต่ต้องการให้กรมราชทัณฑ์พัฒนากระบวนการทัณฑปฏิบัติให้เป็นอย่างมีประสิทธิภาพ รอบคอบ โปร่งใส ไม่ก่อให้เกิดเป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นในสังคมเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งกระบวนการแรกที่มีความสำคัญ คือการจำแนกลักษณะผู้ต้องขัง เพื่อให้สามารถทราบภูมิหลังและประเมินปัจจัยความเสี่ยงของผู้ต้องขังทุกๆ ราย ได้อย่างครบถ้วน รอบด้านและใช้แระโยชน์ทั้งในการควบคุมดูแลและแก้ไขพัฒนาพฤตินิสัยให้เกิดผลสำเร็จ

เสาหลักที่ 4 การสร้างความโปร่งใสโดยยึดหลักคุณธรรมและธรรมาภิบาล กรมราชทัณฑ์ต้องพร้อมรับการตรวจสอบจากทุกฝ่าย เพราะงานเรือนจำเกือบทั้งหมดทำในที่ปิดคนทั่วไปไม่สามารถมองเห็นได้ ทำให้บางครั้งสังคมเกิดความเคลือบแคลงสงสัย ทั้งนี้รากฐานที่ขาดมิได้สำหรับการทำงานทุกยุคทุกสมัยของกรมราชทัณฑ์คือการยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาล ที่สำคัญคือการแสวงหาผลประโยชน์ใดๆ ที่มิชอบเป็นสิ่งที่ยอมรับมิได้เป็นอันขาด เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ทุกคนต้องรักเกียรติและศักดิ์ศรีของตนเองและองค์กร ซึ่งกลุ่มคนที่สามารถสะท้อนมุมมองเหล่านี้ คือญาติของผู้ต้องขังและบุคคลที่มาติดต่อราชการที่เรือนจำว่าหน่วยงานมีความโปร่งใสและปฏิบัติหน้าที่ตามหลักธรรมาภิบาลได้ดีเพียงใด ในข้อนี้ ปี 2565 กรมราชทัณฑ์ได้รับคะแนน ITA สูงเป็นลำดับที่สองของประเทศ

เสาหลักที่ 5 การสร้างขวัญกำลังใจบุคลากรเจ้าหน้าที่ งานราชทัณฑ์เป็นงานที่ตรากตรำไม่น่าอภิรมณ์และมีความเสี่ยงอันตรายกว่าข้าราชการพลเรือนหน่วยอื่น ทำให้เกิดปัญหาในการดึงดูดและรักษาบุคลาการที่มีความรู้ความสามารถ ด้วยเหตุนี้จึงต้องมุ่งเน้นผลักดันโครงการที่สร้างขวัญและกำลังใจ เช่นการสร้างความสมดุลย์ในชีวิตการทำงาน การจัดกิจกรรมบรรเทาความเครียดที่เกิดจากสภาพแวดล้อนในเรือนจำ การส่งเสริมการออมเงินและลดภาระหนี้สิน รวมไปถึงการจัดสวัสดิการต่างๆ ให้กับเจ้าหน้าที่และครอบครัว การเปิดโอกาสให้บุคลากรได้พัฒนาตนเองอยู่เสมอ การกำหนดเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพให้ชัดเจน ส่งเสริมคนดี คนเก่ง ที่ตั้งใจทำงานให้เจริญก้าวหน้า แต่งตั้งโยกย้ายโดยยึดหลักคุณธรรมเป็นสำคัญ

ในปี 2566 กรมราชทัณฑ์จะพยายามจัดสรรงบประมาณเพื่อซ่อมแซมปรับปรุงบ้านพักข้าราชการ เพราะเชื่อว่าการมีขวัญกำลังใจที่ดีจะทำให้เกิดความรักองค์กรและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

เสาหลักที่ 6 การส่งต่อผู้พ้นโทษและลดการกระทำผิดซ้ำ การดำเนินงานเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยและส่งต่อผู้พ้นโทษให้คืนสู่สังคมได้อย่างราบรื่นและยั่งยืนโดยไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำอีก และถือเป็นภารกิจที่ต้องผลักดันอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่กรมราชทัณฑ์ได้เริ่มก่อตั้งศูนย์ประสานงานและส่งเสริมการมีงานทำเมื่อปี 61 เพื่อให้ผู้พ้นโทษมีอาชีพภายหลังพ้นโทษสามารถช่วยเหลือตนเองไม่เป็นภาระแก่ครอบครัวและสังคม ปัจจัยหลักหนึ่งคือการแสวงหาความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายภายนอกและเตรียมคสามพร้อมให้ผู้พ้นโทษ ไม่ว่าจะเป็นด้านอาชีพ,ที่อยู่อาศัย,ความสัมพันธ์กับครอบครัว ซึ่งนอกจากจะเกิดประโยชน์โดยตรงกับผู้พ้นโทษโดยตรงแล้ว ยังถือเป็นการช่วยบ่มเพาะวัฒนธรรมการให้โอกาสผู้พลั้งพลาดให้ได้รับการยอมรับจากสังคมมากขึ้น จะเห็นได้ว่าสามปีที่ผ่านมา อัตราการกระทำผิดซ้ำของผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวในระยะเวลา 1 ปี มีแนวโน้มลดลง ถือเป็นการแสดงให้เห็นถึงทิศทางที่ถูกต้องในความพยายามให้ความช่วยเหลือและสงเคราะห์ผู้พ้นโทษ

เสาหลัก 6 ประการนี้จะเป็นการสร้างรากฐานให้กรมราชทัณฑ์ดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในทุกมิติขององค์กร เป็นเกาะในการทำงานและประเมินที่ชัดเจนและยังสามารถนำไปต่อยอดเพื่อพัฒนาองค์กรได้ภายในระยะเวลาอันรวดเร็วและยั่งยืนสืบไป

0 Comments
Share

Admin

Reply your comment

Your email address will not be published. Required fields are marked*