โรงพยาบาลไทยนครินทร์ เปิดอาคารรังสีรักษาพร้อมลงนามบันทึกข้อตกลง “Eastern Cancer Network” (อีสเทิร์น แคนเซอร์ เน็ทเวิร์ค)
เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 เวลา 10.00 น. ที่อาคารรังสีรักษา โรงพยาบาลไทยนครินทร์ บริษัท โรงพยาบาลไทยนครินทร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TNH จัดพิธี “เปิดอาคารรังสีรักษาและการลงนามบันทึกข้อตกลง Eastern Cancer Network” โดยมีนายแพทย์เจริญ มีนสุข ประธานกรรมการบริษัท โรงพยาบาลไทยนครินทร์ จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยคุณฐิติ สิหนาทกถากุล ประธานบริหารบริษัท โรงพยาบาลไทยนครินทร์ จำกัด (มหาชน) และนายแพทย์อาคม เชียรศิลป์ ผู้อำนวยการศูนย์มะเร็งโฮลิสติค ร่วมเป็นประธานเปิดอาคารรังสีรักษา พร้อมร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการ “Eastern Cancer Network” เพื่อเป็นการก่อตั้งเครือข่ายการรักษาผู้ป่วยมะเร็งในภาคตะวันออกของประเทศไทยเพื่อการส่งต่อผู้ป่วย การใช้อุปกรณ์ร่วมกันให้มีประโยชน์สูงสุด คุ้มค่า และประหยัดค่าใช้จ่าย รวมทั้งเป็นความร่วมมือในการถ่ายทอดองค์ความรู้ทางวิชาการระหว่างเครือข่าย โดยมี 4 สถานพยาบาลได้แก่ โรงพยาบาลไทยนครินทร์, โรงพยาบาลสำโรงการแพทย์, โรงพยาบาลแคนเซอร์อลิอันซ์ ศรีราชา และสหคลินิกฉะเชิงเทรา โดยมีคุณฐิติ สิหนาทกถากุล ประธานบริหารบริษัท โรงพยาบาลไทยนครินทร์ จำกัด (มหาชน), คุณสมพงษ์ ชื่นกิติญานนท์ ประธานกรรมการบริษัท แคนเซอร์อลิอันซ์ จำกัด, แพทย์หญิง วิภาวัลย์ วงศ์แพทย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสำโรงการแพทย์ และ ศาตราจารย์คลินิก นายแพทย์ทิพชาติ บุณยรัตพันธุ์ สหคลินิกฉะเชิงเทราร่วมลงนามฯ โดยบันทึกข้อตกลง “Eastern Cancer Network” ครั้งนี้ เพื่อเป็นความร่วมมือในการถ่ายทอดองค์ความรู้ทางวิชาการระหว่างเครือข่ายเพื่อยกระดับการให้บริการผู้ป่วยโรคมะเร็ง สามารถรับการให้บริการและเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น ทำให้ผลลัพธ์การรักษาดีขึ้น ด้วยทีมแพทย์ที่มีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ ซึ่งในการบริหารจัดการในส่วนนี้จะทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการบริการที่เหมาะสมด้วยเทคโนโลยีที่ใกล้เคียงกันเหมาะสมกับสิทธิ์การรักษา ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องรักษาด้วยการฉายแสง ลดระยะเวลาการรอคอย เพื่อไม่ให้เสียประโยชน์ในการรักษา
โดยในการเปิดอาคารรังสีรักษา มีจุดเด่นของการให้บริการรักษามะเร็งด้วยรังสีของโรงพยาบาลไทยนครินทร์ คือเครื่องจำลองการฉายรังสีเพื่อล็อกเป้าหมายจุดที่ต้องการฉายรังสีหลังจากนั้นจะทำการฉายรังสีด้วยเครื่องฉายรังสี Vital Beam (ไวทัล บีม) ซึ่งข้อดีของเครื่องคือมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยช่วยลดผลกระทบจากการฉายรังสีที่อาจส่งผลต่ออวัยวะข้างเคียงช่วยให้ผู้ป่วยลดความเสี่ยงของผลข้างเคียงในระยะยาวจากการฉายรังสี ซึ่งวิธีการรักษามะเร็งของโรงพยาบาลไทยนครินทร์ คือการทำงานเป็นทีมระหว่างทีมแพทย์เฉพาะทางในหลายสาขาวิชา รวมถึงทีมพยาบาลวิชาชีพที่มากประสบการณ์เพื่อให้การวางแผนรักษามะเร็งระหว่างทีมแพทย์และผู้ป่วยมีประสิทธิภาพมากที่สุด ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาที่ดี ได้มาตรฐานโดยเฉพาะโรคซับซ้อนที่ต้องการแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางด้านมะเร็ง
สำหรับจุดเด่นและข้อดีของอาคารรังสีรักษาคือ เป็นอาคารที่แยกมาจากอาคารใหญ่ ซึ่งมีความแตกต่างจากที่อื่น โดยส่วนใหญ่สถานพยาบาลที่มีการให้บริการรังสีรักษามักมีพื้นที่ร่วมกับการบริการรักษาผู้ป่วยประเภทอื่น ดังนั้นผู้ป่วยโรคมะเร็งของโรงพยาบาลจะไม่ปะปนกับผู้ป่วยกลุ่มอื่น ซึ่งจะช่วยลดภาวะการติดเชื้อ เพราะในกลุ่มนี้เป็นผู้ป่วยที่เปราะบางติดเชื้อได้ง่าย