กฎหมายน่ารู้

มารู้จัก “พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566” กันเถอะ

%e0%b8%a1%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b8%b9%e0%b9%89%e0%b8%88%e0%b8%b1%e0%b8%81-%e0%b8%9e%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b8%a3%e0%b8%b2%e0%b8%8a%e0%b8%81%e0%b8%b3%e0%b8%ab%e0%b8%99%e0%b8%94%e0%b8%a1%e0%b8%b2

         “ หลอกให้กด link  แล้วถูกดูดโอนเงิน”

          “ หลอกให้กดดูเพจ แล้วถูกดูดเงิน โอนเงิน ”

          “ แก๊งค์ CALL CENTER  หลอกให้โอนเงิน”

          “ หลอกให้ร่วมลงทุนออนไลน์ ”

          “ ซื้อของออนไลน์ ได้ของไม่ตรงปก”

          “ ทำอย่างไรจึงจะอายัดเงินทัน”

ปัญหาดังกล่าว เป็นปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยีซึ่งมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ และสังคมเป็นวงกว้าง เพราะปัจจุบันมี ผู้เสียหาย ผู้ถูกหลอก ที่สูญเสียเงินเป็นจำนวนมากให้แก่ มิจฉาชีพ หรือผู้ก่อเหตุที่ใช้ความสามารถทางระบบเทคโนโลยีในการกระทำผิด โดยใช้ความไม่รู้เท่าทันของเหยื่อ ,ใช้ความกลัวของเหยื่อ, ใช้ความโลภของเหยื่อ, ใช้ความอยากรู้ อยากดูของเหยื่อ เป็นจุดล่อให้เหยื่อไปติดกับดัก และเมื่อเหยื่อหลงเชื่อไปกดดู, ไปทำตาม, ไปร่วมลงทุน หรือไปสั่งซื้อ ก็จะถูกคนร้ายใช้ระบบเทคโนโลยีเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์  เข้าถึงบัญชีเงินฝาก เข้าถึงบัตรอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งบัญชีเงินฝากอิเล็กทรอนิกส์แล้วยักย้ายถ่ายเทเงินออกจากระบบ หรือบัญชีเงินฝากของเหยื่อ ซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นเรื่อยเรื่อย หากไม่มีกฎหมายใดมาระงับยับยั้งความเสียหายดังกล่าว ย่อมเกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้ 

ดังนั้น เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2566 จึงได้มีการประกาศใช้บังคับ “ พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566”( มีผลใช้บังคับวันที่ 17 มีนาคม 2566)

        ทำไมต้องออกเป็น “ พระราชกำหนด

เนื่องจาก ปัจจุบันมีการใช้  “ วิธีการทางเทคโนโลยี” หลอกลวงประชาชนทั่วไปผ่านอุปกรณ์เทคโนโลยีต่าง ๆ จนทำให้ประชาชนสูญเสียทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก และ ผู้หลอกลวงได้โอนทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิดดังกล่าวนั้น ผ่านบัญชีเงินฝาก, บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ของบุคคลอื่นต่อไปเป็นทอด ๆ อย่างรวดเร็ว เพื่อปกปิดหรืออำพรางการกระทำ ความผิด ซึ่งแต่ละวันมีประชาชนผู้สุจริตถูกหลอกลวงจำนวนมากและมีมูลค่าความเสียหายสูงมาก และการหลอกลวงดังกล่าวซึ่งเป็นการกระทำความผิดได้เพิ่มมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้างและเป็นอันตรายร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ จึงเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ เพื่อประโยชน์ในอันที่จะต้องมีมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีดังกล่าว เพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ และความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ

นี่คือ เหตุผลและความจำเป็นที่จะต้องตรา “ พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ” ออกมาใช้บังคับเป็นการเร่งด่วน แทนที่จะต้องออกตราเป็น “พระราชบัญญัติ” โดยผ่านกระบวนการนิติบัญญัติผ่านทางรัฐสภาซึ่งมีขั้นตอนและระยเวลายาวนานมาก   ดังคำกล่าวที่ว่า “กว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้แล้ว”

         มาดูกันว่า พระราชกำหนดฯ ฉบับนี้ จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวข้างต้นอย่างไร

         ก่อนอื่นต้องเริ่มจาก บทนิยามศัพท์ : มาตรา 3 ในพระราชกำหนดนี้

อาชญากรรมทางเทคโนโลยี” หมายความว่า การกระทำ หรือ พยายามกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เพื่อฉ้อโกง กรรโชก หรือรีดเอาทรัพย์บุคคลหนึ่งบุคคลใด หรือโดยประการที่น่าจะทำให้บุคคลอื่นเสียหาย หรือกระทำความผิดฐานฉ้อโกง กรรโชก หรือรีดเอาทรัพย์ โดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือ

“สถาบันการเงิน” หมายความว่า ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงิน ของรัฐที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน

       “ผู้ประกอบธุรกิจ” หมายความว่า ผู้ประกอบธุรกิจตามกฎหมายว่าด้วย ระบบการชำระเงิน

หน้าที่ของ สถาบันการเงิน ผู้ประกอบธุรกิจ ผู้ให้บริการเครื่อข่ายโทรศัพท์ ผู้ให้บริการโทรคมนาคมอื่น  :  ในกรณีที่มี เหตุอันควรสงสัยว่า “มี” หรือ “อาจมี”  การกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ( มาตรา 4.)

       (1) ให้ “ สถาบันการเงิน” และ “ผู้ประกอบธุรกิจ”  มีหน้าที่

“ เปิดเผย”หรือ “แลกเปลี่ยนข้อมูล” เกี่ยวกับ “บัญชีและธุรกรรม” ของลูกค้าที่เกี่ยวข้องในระหว่าง “สถาบันการเงิน” และ “ผู้ประกอบธุรกิจ”  นั้นผ่านระบบหรือกระบวนการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูล ที่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และธนาคารแห่งประเทศไทย เห็นชอบร่วมกัน ( มาตรา 4 วรรคแรก )

  • ให้ “ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์, ผู้ให้บริการโทรคมนาคมอื่น”  หรือ ผู้ให้บริการอื่นที่เกี่ยวข้อง  มีหน้าที่

“เปิดเผย” หรือ “แลกเปลี่ยนข้อมูลการให้บริการ” ที่เกี่ยวข้องระหว่างกันผ่านระบบหรือกระบวนการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ กระทรวงดิจิทัลฯ และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)  เห็นชอบร่วมกัน ( มาตรา 4 วรรคสอง )

  • และเมื่อมีการ “เปิดเผย”หรือ“แลกเปลี่ยนข้อมูล”แล้ว ให้ผู้เปิดเผยหรือ           ผู้แลกเปลี่ยนข้อมูล แจ้งให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) หรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)(แล้วแต่กรณี)และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง)ทราบโดยทันที  
  • เมื่อ สตช. , ดีเอสไอ และ ปปง.  ได้รับแจ้งแล้ว ให้ สตช.,ดีเอสไอ หรือ   ปปง. (แล้วแต่กรณี)  มีอำนาจ นำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์เพื่อป้องกัน ปราบปราม หรือระงับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้  ( มาตรา 4 วรรคสาม )

หาก สตช., ดีเอสไอ  หรือ  ปปง.  มีความจำเป็นต้องทราบ “ข้อมูลการลงทะเบียน” ผู้ใช้งานหรือข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์” จะต้องทำอย่างไร :

มาตรา 5 –   ให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

สั่งให้ “ ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์,  ผู้ให้บริการโทรคมนาคมอื่น หรือผู้ให้บริการอื่นที่เกี่ยวข้องกับการกระทำดังกล่าว( ผู้รับคำสั่ง)  เปิดเผยข้อมูล ที่เกี่ยวข้องเท่าที่จำเป็น และ มีหน้าที่ส่งข้อมูลดังกล่าวให้แก่ “ผู้สั่ง”  ภายในระยะเวลาที่ผู้สั่งกำหนด

          จะระงับหรือยับยั้งการทำธุรกรรมได้อย่างไร  :

           กรณีที่หนึ่ง :  กรณี สถาบันการเงิน หรือ ผู้ประกอบธุรกิจ เป็นผู้แจ้ง

มาตรา 6 –กรณีที่ “สถาบันการเงิน” หรือ “ผู้ประกอบธุรกิจ”  พบเหตุอันควรสงสัยเอง หรือได้รับข้อมูลจาก ระบบ หรือ กระบวนการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูล ตามมาตรา 4 (ข้างต้น)  ว่า

“ บัญชีเงินฝาก หรือ บัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ใด ถูกใช้ หรือ อาจถูกใช้ ทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือการกระทำความผิดมูลฐาน หรือ ความผิดฐานฟอกเงินตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน”

   “สถาบันการเงิน” หรือ “ผู้ประกอบธุรกิจ ” มีอำนาจ / หน้าที่ :

   (1.)  ระงับการทำธุรกรรมชั่วคราว : ( ยับยั้งได้ไม่เกิน 7 วัน)

      1.1 ให้ สถาบันการเงิน หรือ ผู้ประกอบธุรกิจ มีหน้าที่ ระงับการทำธุรกรรม และ     

      1.2 แจ้งให้สถาบันการเงิน หรือ ผู้ประกอบธุรกิจที่รับโอนถัดไปทุกทอดทราบ พร้อมทั้ง นำข้อมูลเข้าสู่ระบบหรือกระบวนการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูล (ตามมาตรา 4) เพื่อให้ ระงับการทำธุรกรรมดังกล่าวไว้ทันทีเป็นการชั่วคราว  ไม่เกินเจ็ดวัน นับแต่วันที่พบเหตุอันควรสงสัยหรือได้รับแจ้ง (แล้วแต่กรณี)

        1.3  ทั้งนี้ การสั่งระงับการทำธุรกรรมชั่วคราว (ไม่เกิน 7 วัน)  ดังกล่าว ก็เพื่อ “ตรวจสอบความถูกต้องแท้จริง”  และ แจ้งให้ “เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจดำเนินคดีอาญา” (เช่น เจ้าพนักงานตำรวจ)  หรือ “เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน” (เลขา ปปง) ดำเนินการตรวจสอบ  ( มาตรา 6 วรรคหนึ่ง )

  (2)  สั่งระงับการทำธุรกรรมทันที :

ในกรณีที่ “สถาบันการเงิน” หรือ “ผู้ประกอบธุรกิจ”  ได้รับแจ้งเหตุ จากเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจดำเนินคดีอาญา (เจ้าพนักงานตำรวจ)  หรือ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ( เลขาธิการ ปปง.)    ให้ “สถาบันการเงิน” หรือ “ผู้ประกอบธุรกิจ” มีหน้าที่ ระงับการทำธุรกรรม พร้อมทั้ง นำข้อมูลเข้าสู่ระบบหรือกระบวนการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูล (ตามมาตรา ๔)  ทั้งนี้ เพื่อให้ “สถาบันการเงิน” และ “ผู้ประกอบธุรกิจ”  ผู้รับโอนทุกทอด ทราบและ ระงับการทำธุรกรรมดังกล่าวไว้ทันที แล้วแจ้งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบ  (มาตรา 6 วรรคสอง)

(3)  หาก เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจดำเนินคดีอาญา หรือ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ตรวจสอบแล้ว ปรากฏว่า

        3.1  มี พยานหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า บัญชีเงินฝาก หรือ บัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์นั้น ถูกใช้ในการกระทำความผิด ก็ให้ดำเนินการตามกฎหมาย ภายในเจ็ดวัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการระงับ การทำธุรกรรม หรือ แจ้งสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจ  (มาตรา 6 วรรคสาม)

         3.2 แต่หาก ไม่ปรากฏว่า มีพยานหลักฐานที่เชื่อได้ว่า บัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์นั้นได้ถูกใช้ในการกระทำความผิด ก็ให้แจ้งผลการตรวจสอบให้ สถาบันการเงินหรือ ผู้ประกอบธุรกิจ ทราบ เพื่อ “ยกเลิก” การระงับการทำธุรกรรมต่อไป  ( มาตรา 6 วรรคสาม)

          3.3 หาก พ้นกำหนดเวลา (ตามมาตรา 6 วรรคสาม) แล้ว หรือ พ้น 7 วันนับแต่วันรับแจ้งการระงับ) แล้ว  แต่เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจดำเนินคดีอาญา หรือเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ยังคงไม่ได้แจ้งผลการดำเนินการตามกฎหมาย ก็ให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจ “ยกเลิก”  การระงับการทำธุรกรรมนั้น

กรณีที่สอง :   กรณี “ผู้เสียหาย” เป็นผู้แจ้งเอง (ผู้เสียหายสามารถแจ้งให้ สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อให้ระงับการทำธุรกรรมไว้ชั่วคราวไว้ก่อนแล้วจึงค่อยไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนได้  )

มาตรา 7  ผู้เสียหาย ซึ่งเป็น “ผู้ถือบัญชีเงินฝาก” หรือ “บัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์”  สามารถแจ้งให้ “สถาบันการเงิน” หรือ “ผู้ประกอบธุรกิจ” ทราบว่า ได้มีการทำธุรกรรมโดย บัญชีเงินฝาก หรือ บัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวและเข้าข่ายเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี  เพื่อให้ “สถาบันการเงิน” หรือ “ผู้ประกอบธุรกิจ” ดังกล่าว

        (1) “ระงับการทำธุรกรรมนั้นไว้ชั่วคราว” ( ทันที) แม้ผู้เสียหายจะยังไม่ได้ไปแจ้งความร้องทุกข์  พร้อมทั้งนำข้อมูลเข้าสู่ระบบหรือกระบวนการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูล (ตามมาตรา 4)  ได้

         (2)  เมื่อ “สถาบันการเงิน” หรือ “ผู้ประกอบธุรกิจ” ได้ระงับการทำธุรกรรมชั่วคราวแล้ว ก็ให้แจ้ง “สถาบันการเงิน” และ “ผู้ประกอบธุรกิจ”  ผู้รับโอนทุกทอดทราบและ แจ้งให้ผู้เสียหายไป “ร้องทุกข์” ต่อพนักงานสอบสวนภายใน เจ็ดสิบสองชั่วโมง

(3)  เมื่อผู้เสียหายได้ไป “การร้องทุกข์” แล้ว ให้พนักงานสอบสวนแจ้ง ให้          “สถาบันการเงิน”หรือ “ผู้ประกอบธุรกิจ” ที่ได้รับการทำธุรกรรมนั้นไว้ทราบ (ว่ามีการร้องทุกข์แล้ว) และให้พนักงานสอบสวนพิจารณา ดำเนินการ เกี่ยวกับบัญชีเงินฝากและบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวภายในเจ็ดวัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งความร้องทุกข์

(4) หากภายใน 7 วัน นับแต่วันรับแจ้งความร้องทุกข์แล้ว พนักงานสอบสวนยัง ไม่ได้มีคำสั่งให้ “สถาบันการเงิน” หรือ “ผู้ประกอบธุรกิจ” ระงับการทำธุรกรรมไว้อีกต่อไป  ก็ให้ “สถาบันการเงิน” หรือ “ผู้ประกอบธุรกิจ” ยกเลิกการระงับ การทำธุรกรรม” นั้น

วิธีการแจ้งข้อมูล หรือหลักฐาน : มาตรา 8

  1. แจ้งทางโทรศัพท์” หรือ “วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์”  ก็ได้

ถ้าแจ้ง “ทางโทรศัพท์”  ก็ให้ ผู้ได้รับแจ้ง “บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ลงลายมือชื่อผู้รับแจ้ง และวันเวลาที่ได้รับไว้เป็นหลักฐาน พร้อมทั้งส่ง สำเนาให้ผู้แจ้งเก็บไว้เป็นหลักฐานด้วย

วิธีร้องทุกข์/ สถานที่ร้องทุกข์ :

      1. สามารถร้องทุกข์ต่อ พนักงานสอบสวน ณ สถานีตำรวจ แห่งใดในราชอาณาจักร หรือต่อ “กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี  ก็ได้

       2. ร้องทุกข์โดย “วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์” ก็ได้ ทั้งนี้ ให้ถือว่า เป็นการร้องทุกข์โดยชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

        3. ร้องทุกข์ต่อ “พนักงานสอบสวน” ที่ใดก็ได้

ในการสอบสวน หรือ ดำเนินการเกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าว ให้พนักงานสอบสวนที่ รับคำร้องทุกข์ ไม่ว่าประจำอยู่ที่ใดหรือพนักงานสอบสวนที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกำหนด เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ มีอำนาจสอบสวนและดำเนินการเกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าวได้ ไม่ว่าความผิดนั้นจะเกิดขึ้น ณ ที่ใดในราชอาณาจักร  (มาตรา 8)

ข้อสังเกตุ-  เป็นบทยกเว้นในเรื่องอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตามมาตรา 18 , 19 ซึ่งกำหนดให้ พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนความผิดอาญาซึ่งได้ เกิด หรืออ้างว่าเกิด หรือเชื่อว่าได้เกิดภายในเขตอำนาจ หรือ ผู้ต้องหามี ที่อยู่หรือถูกจับ ภายในเขตอำนาจของตน

การกำหนดความผิดและบทลงโทษตามพระราชกำหนดฯฉบับนี้ :

  •  บัญชีม้า  รับจ้างเปิดบัญชี / ยอมให้ใช้เลขหมายโทรศัพท์

        มาตรา  9–  ผู้ใด “เปิด” หรือ “ยินยอม” ให้บุคคลอื่นใช้บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ของตน โดยมิได้มีเจตนาใช้เพื่อตน หรือเพื่อกิจการที่ตนเกี่ยวข้อง หรือ ยินยอมให้บุคคลอื่นใช้หรือยืมใช้เลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของตน ทั้งนี้ โดยประการที่รู้หรือควรรู้ว่าจะนำไปใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ความผิดทางอาญาอื่นใด

        ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

  • เป็นธุระจัดหา รับโฆษณา ไขข่าว  : บัญชีเงินฝาก/บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือ บัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์

มาตรา 10-   ผู้ใด เป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใด ๆ เพื่อให้มีการซื้อ ขาย ให้เช่า หรือให้ยืม บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ความผิดทางอาญาอื่นใด

       ต้องระวางโทษ “จำคุกตั้งแต่สองปีถึงห้าปี” หรือ “ปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงห้าแสนบาท” หรือทั้งจำทั้งปรับ

  • เป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าว : เลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (ซิมโทรศัพท์)

มาตรา 11. –  ผู้ใด เป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใด ๆ เพื่อให้มีการซื้อ หรือขาย เลขหมายโทรศัพท์ (ซิมโทรศัพท์)  สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งลงทะเบียนผู้ใช้บริการในนามของบุคคลหนึ่งบุคคลใดแล้ว แต่ไม่สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการได้

ต้องระวางโทษ “จำคุกตั้งแต่สองปีถึงห้าปี” หรือ “ปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงห้าแสนบาท” หรือทั้งจำทั้งปรับ

บทยกเว้นกฎหมาย PDPA :

มาตรา 12-   การเปิดเผย/  การแลกเปลี่ยน/  การเข้าถึง/  ตลอดจน การเก็บ / การรวบรวม หรือ การใช้ข้อมูลส่วนบุคคล ตามพระราชกำหนดนี้ ไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล   

แต่อย่างไรก็ตาม  “ผู้ได้รับ” หรือ “ผู้ครอบครองข้อมูล” จะเปิดเผยให้บุคคลอื่นซึ่งไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องทราบ มิได้

หมายความว่า  สถาบันการเงิน / ผู้ประกอบธุรกิจ / ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์       ผู้ให้บริการโทรคมนาคมอื่น ได้รับการยกเว้น ให้สามารถจัดเก็บข้อมูล นำไปใช้ได้ โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้เจ้าของข้อมูลทราบ หรือไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากผู้เป็นเจ้าของข้อมูลก่อนได้  แต่ทั้งนี้ต้องเป็นการดำเนินการภายใต้เงื่อนไขแห่งพระราชกำหนดฯ ฉบับนี้เท่านั้น

หมายเหตุ – พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562หรือ PDPA  คือกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อ “ป้องกันการละเมิด” ข้อมูลส่วนบุคคลของทุกคน รวมถึง การจัดเก็บข้อมูลและนำไปใช้โดยไม่ได้แจ้งให้ทราบ และไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล จะกระทำไม่ได้

อ่านมาถึงบรรทัดนี้ ผู้เขียนหวังว่า ท่านคงได้รับความรู้เกี่ยวกับพระรราชกำหนดฯ ฉบับนี้บ้าง ไม่มากก็น้อย อย่างน้อยก็รู้ว่า เมื่อเกิดความเสียหายจากการกระทำอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สิ่งที่ต้องรีบที่สุดคือ ต้องแจ้งอายัดบัญชี หรือระงับยับยั้งการทำธุรกรรมทางบัญชีให้เร็วที่สุด โดยพระราชกำหนดฯ ฉบับนี้ได้ให้สิทธิแก่ ผู้เสียหายที่จะไป “ แจ้งอายัด” หรือ “แจ้งให้ธนนาคาร หรือสถาบันทางการเงิน ระงับยับยั้งการทำธุรกรรมทางบัญชีกับทางธนาคารหรือสถาบันทางการเงินได้ด้วยตนเองไว้ก่อน (ก่อนที่จะไปแจ้งความร้องทุกข์ ซึ่งในอดีต ธนาคาร หรือสถาบันการเงินมักจะปฏิเสธไม่รับแจ้งอายัด หรือระงับการทำธุรกรรม  โดยขอให้ผู้เสียหายไปแจ้งความมาก่อน )  แต่ก็เป็นการอายัด หรือระงับยับยั้งการทำธุรกรรมทางการเงินได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น  และเมื่อแจ้งอายัด หรือระงับยับยั้งการทำธุรกรรมทางบัญชีแล้ว  ต้องรีบไปแจ้งความร้องทุกข์ ต่อพนักงานสอบสวน ภายใน 72 ชั่วโมง  และเมื่อมีการแจ้งความร้องทุกข์แล้ว ก็จะก่อให้เกิดสิทธิแก่พนักงานสอบสวนที่จะสามารถไปดำเนินการเกี่ยวกับบัญชีเงินฝากและบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ต่อไป

นอกจากนี้ยังทำให้ทราบว่า วิธีการแจ้งอายัด หรือระงับยับยั้งการทำธุรกรรมทางบัญชีไว้ก่อน สามารถแจ้งทาง โทรศัพท์ หรือ ทางวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ก็ได้  และผู้เสียหายยังสามารถแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในท้องที่ใดก็ได้ และให้พนักงานสอบสวนในท้องที่รับแจ้งความเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ซึ่งเป็นการยกเว้นหลักตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่ว่า ผู้เสียหายจะต้องแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในท้องที่มี่ความผิดเกิด เชื่อว่าเกิด หรืออ้างว่าเกิด หรือในท้องที่ที่ผู้ต้องหาถูกจับกุม  และยังทราบต่อไปว่า หากไปรับจ้างเปิดบัญชีเงินฝาก  บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกว่า “ รับจ้างเปิดบัญชีม้า”  แล้วมีผู้ไปกระทำผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยีโดยใช้  บัญชีเงินฝาก  บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว ผู้เปิดบัญชี ฯ (บัญชีม้า) จะต้องรับผิดและมีโทษจำคุก และปรับ  ( ซึ่งแต่เดิม ไม่มีกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดโดยตรง จึงต้องใช้ความผิดฐาน “เป็นผู้สนับสนุน” หรือ “ตัวการร่วม”  (หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้รับจ้างเปิดบัญชี ร่วมรู้เห็นหรือ เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดฐานนั้น)  ซึ่งรวมถึง การรับจ้างเปิด ซิมโทรศัพท์เคลื่อนที่” ด้วย  

นายวรเทพ  สกุลพิชัยรัตน์

 อัยการศาลสูงจังหวัดสมุทรปราการ

อดีต รองประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน (คนที่สอง) ในคณะกรรมาธิการการกฎหมายการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร

0 Comments
Share

Admin

Reply your comment

Your email address will not be published. Required fields are marked*