สังคมท้องถิ่น

จัดใหญ่สงกรานต์พระประแดง “66 วันที่ 21-23 เม.ย.นี้

%e0%b8%88%e0%b8%b1%e0%b8%94%e0%b9%83%e0%b8%ab%e0%b8%8d%e0%b9%88%e0%b8%aa%e0%b8%87%e0%b8%81%e0%b8%a3%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b8%95%e0%b9%8c%e0%b8%9e%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b8%9b%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b9%81

จัดใหญ่สงกรานต์พระประแดง “66 วันที่ 21-23 เม.ย.นี้ เทศบาลเมืองพระประแดงจัดงานสืบสานประเพณีสงกรานต์ของชาวไทยรามัญ มีการประกวดคัดเลือกเทพีสงกรานต์จากสาวงามนับร้อยพร้อมขบวนรถบุปผชาติแห่นางสงกรานต์แห่นก แห่ปลา ยิ่งใหญ่อลังการกว่าทุกปี

เมี่อวันที่ 7 เม.ย. 66 เวลา 10.00 น. ที่อุทยานประวัติศาสตร์ป้อมแผลงไฟฟ้า อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ นายชัยพจน์ จรูญพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ เป็นประธานการแถลงข่าวการจัดงานประเพณีสงกรานต์พระประแดง ประจำปี 2566 โดยมี นางจิระพร วชิรเขื่อนขันธ์ นายกเทศมนตรีเมืองพระประแดง นายโชติพงศ์ เปล่งวิทยา นายอำเภอพระประแดง และ นายจิรศักดิ์ อ่วมอุไร ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานฉะเชิงเทรา ร่วมแถลงข่าวการจัดงาน ประเพณีสงกรานต์พระประแดงปี 2566 เป็นการรวมความสนุก ชุ่มฉ่ำ กลับมาอีกครั้ง กับสงกรานต์พระประแดง ซึ่งเดิมเรียกกันว่า “สงกรานต์ปากลัด” นับว่าคล้ายคลึงกับประเพณีสงกรานต์ทั่ว ๆ ไป แต่ที่โดดเด่น แตกต่างจากประเพณีสงกรานต์ที่อื่น ๆ ทั่วไปคือ การจัดงานสงกรานต์พระประแดง จะล่าช้ากว่าวันสงกรานต์ปกติ คือ แทนที่จะจัดในวันที่ 13 เมษายน ก็กลับเป็นวันอาทิตย์ต่อถัดจากวันสงกรานต์อีกหนึ่งสัปดาห์

ประเพณีสงกรานต์พระประแดง ถือเป็นวันเทศกาลขึ้นปีใหม่ เป็นวันสำคัญของชาวไทยเชื้อสายรามัญ หรือที่เรียกว่า ชาวไทยรามัญ ที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองพระประแดง นับเป็นเวลา2ร้อยกว่าปีแล้วที่ชาวมอญได้มาพักพิงอาศัยอยู่ที่เมืองปากลัด หรือพระประแดงสืบทอดประเพณีเก่าแก่ของชาวมอญเอาไว้

สงกรานต์พระประแดง เป็นเทศกาลที่สนุกสนาน รวมประเพณีหลาย ๆ อย่างเข้าด้วยกัน ในวันสงกรานต์ จะเริ่มต้นด้วยการส่งข้าวสงกรานต์ตามวัดต่างๆ ทำบุญทำทานในตอนเช้าตรู่ ในตอนสายลูกหลานจะพากันไปรดน้ำขอพรจากผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ตอนกลางคืนจะมีการเล่นสะบ้าตามหมู่บ้านต่าง ๆ การร้องเพลงทะแยมอญกล่อมบ่อน ซึ่งแสดงถึงวิถีชีวิตของชาวไทย เชื้อสายรามัญ และในวันท้ายของสงกรานต์ทุกหมู่บ้านจะร่วมใจกันจัดขบวนแห่นางสงกรานต์เพื่อนำขบวนไปปล่อยนก – ปล่อยปลา ณ อาราหลวง ซึ่งถือเป็นการสะเดาะเคราะห์ของชาวมอญ

เนื่องจากงานสงกรานต์พระประแดง มีประเพณีการปล่อยนก ปล่อยปลา วันท้ายวันสงกรานต์ การเเห่ปลาที่มีหนุ่มสาว แต่งตัวแบบรามัญกันอย่างสวยงามนำปลากับนกแห่เป็นขบวน แต่เดิมชาวบ้านทรงคนองและชาวหมู่บ้านแซ่ ได้จัดขึ้นก่อน คือหมู่บ้านแซ่ ก็จะนำปลาไปปล่อยที่วัดทรงธรรม ชาวหมู่บ้านทรงคนอง ก็จะนำปลาปล่อยที่วัดคันลัดต่อมาภายหลังเทศบาลเมืองพระประแดง ได้เล็งเห็นว่าควรจะอนุรักษ์ไว้จึงได้จัดแห่ปลาขึ้น

โดยเชิญชาวรามัญจากหมู่บ้านต่าง ๆ ในเขตตำบลตลาดและตำบลใกล้เคียงมาร่วมขบวนด้วย ในช่วงท้ายของสงกรานต์ชาวมอญในพระประแดงก็จะมีประเพณีสรงน้ำพระพุทธรูปวัดที่มีพระพุทธรูปมากมายและสวยงามคือ วัดโปรดเกษเชษฐาราม ในตอนเย็นหนุ่มสาวก็จะพากันนำน้ำอบไปสรงน้ำพระพุทธรูปรอบวัด เมื่อเสร็จสิ้นจากการสรงน้ำพระพุทธรูป แล้วหนุ่มสาวก็จะพากันนำน้ำอบไปรดน้ำ ขอพรผู้ใหญ่ การรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ชาวมอญ ถือว่าเป็นการให้ความเคารพนับถือผู้ใหญ่และเป็นการขอพรจากผู้ใหญ่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์

เมื่อเสร็จสิ้นแล้วระหว่างเดินทางกลับบ้านก็จะมีหนุ่มในหมู่บ้านต่าง ๆ ออกมาเล่นสาดน้ำกับสาว ๆ ด้วยกริยาท่าทีที่สุภาพรดน้ำแต่พองามและคุยกันตามประสาหนุ่มสาวตลอดทางที่เดินกลับบ้าน แต่ในปัจจุบันประเพณีนี้ก็ค่อย ๆ จาง หายไป

สำหรับกำหนดการจัดงานประเพณีสงกรานต์ 2566 ตั้งแต่วันที่ 21-23 เมษายนนี้โดยในคืนวันที่ 21 เม.ย 66 ตั้งแต่ 18.00 น. เป็นต้นไปบริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอพระประแดง จะมีการประกวดคัดเลือกสาวงามกว่าร้อยคนเพื่อคัดเลือกเป็นนางสงกรานต์และนางประจำปี2566

โดยไฮไลท์ของงานจะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 23 เมษายนจะเป็นวันเล่นน้ำสงกรานต์ตั้งแต่ช่วงเช้า จนกระทั่งเวลาประมาณ 15.00 น. นายศุภมิตร ชิณศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการเป็นประธานเปิดงานสงกรานต์พระประแดง 66 อย่างยิ่งใหญ่บริเวณลานพิธีหน้าอำเภอเมืองพระประแดง มีพิธีสรงน้ำพระพุทธรูป พิธีรดน้ำขอพรผู้สูงอายุ มีการแสดงรำแบบชาวรามัญ การกวนกะละแมของดีเมืองพระประแดง และเริ่มปล่อยขบวนแห่นางสงกรานต์ยิ่งใหญ่สวยงามอลังการจากบริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอพระประแดงประกอบด้วยรถบุปผชาติและกระบวนสาวงามและหนุ่มลอยชายจากทั้งหน่วยงานรัฐหน่วยงานท้องถิ่นโรงเรียนต่างๆ และหน่วยงานภาคเอกชนร่วมจัดขบวนและรถบุพชาติร่วมงานครั้งนี้นับ 10 ขบวนไปตามถนนนครเขื่อนขันธ์ ไปยังวัดโปรดเกตุเชษฐารามซึ่งเป็นสถานที่ปล่อยนกและปล่อยปลาตามประเพณี จึงขอเชิญชวนทุกท่านไปร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์ปี 66 กันที่พระประแดง ถิ่นสาวงามเมืองมอญนครเขื่อนขันธ์ตามวันและเวลาดังกล่าวด้วย โดยเฉพาะในช่วงเวลาของการจัดงานระหว่างวันที่ 21 ถึง 23 เมษายนนี้ ในช่วงค่ำจะมีการแสดงสะบ้าบ่อน สะบ้าทอยและการแสดงพื้นเมืองตามหมู่บ้านชาวมอญในเขตอำเภอพระประแดงให้ชมกันด้วย

0 Comments
Share

Admin

Reply your comment

Your email address will not be published. Required fields are marked*