โรคหัวใจจะไม่แสดงอาการชัดเจนในระยะเริ่ม แต่เมื่ออาการเริ่มรุนแรงขึ้นจึงสามารถสังเกตอาการได้จาก อาการบวมที่ขา ข้อและเท้า มีอาการเหนื่อยง่าย หายใจถี่ โดยอาการของโรคหัวใจแต่ละชนิดก็จะมีอาการที่แตกต่างกันไป
1. โรคหลอดเลือดหัวใจ เกิดจากเส้นเลือดแดงที่หล่อเลี้ยงหัวใจ ตีบ ตัน หรืออุดตันจากไขมัน เป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้ใหญ่
อาการ เจ็บแน่นหน้าอก ปวดร้าวไปกราม ไหล่ นอนราบไม่ได้ เหนื่อย อ่อนเพลีย หรือหมดสติ
2. โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เกิดจากความผิดปกติของกระไฟฟ้าในหัวใจทำให้การสูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่มีประสิทธิภาพ
อาการ หัวใจเต้นเร็ว หรือช้ากว่าปกติ ใจสั่น เหนื่อยง่าย หายใจถี่ วิงเวียนและมึนศีรษะ หรืออาจเป็นลมหมดสติได้
3. โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด เกิดจากความผิดปกติของการเจริญเติบโตของหัวใจขณะอยู่ในครรภ์มารดา
อาการ เหนื่อยง่าย ในทารกมักหายใจถี่ระหว่างการให้นม ทำให้น้ำหนักตัวไม่ขึ้น นิ้วปุ้ม หน้าอกผิดรูป อาจยุบหรือโป่งมากผิดปกติ
4. โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เกิดจากการมีเลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอต่อความต้องการของหัวใจ
อาการ เหนื่อยง่าย หายใจไม่อิ่ม อึดอัด จุดเสียดบริเวณลิ้นปี่ นอนราบไม่ได้ อาจหมดสติหรือหัวใจหยุดเต้น
5. โรคลิ้นหัวใจรั่วหรือตีบ ซึ่งลิ้นหัวใจจะทำหน้าที่เปิดและปิดเพื่อให้เลือดไหลผ่านหัวใจในทิศเดียวกัน ซึ่งมีหลายปัจจัยที่อาจทำลายลิ้นหัวใจได้
อาการ หายใจติดขัด แน่นหน้าอก เหนื่อยง่ายโดยเฉพาะเวลาออกแรง ใจสั่น ขาบวม และเกิดภาวะหัวใจวายหรือน้ำท่วมปอดได้
6. โรคติดเชื้อบริเวณหัวใจ เป็นการติดเชื้อบริเวณหัวใจที่มีความผิดปกติอยู่แล้ว เมื่อมีการติดเชื้อในร่างกาย เช่น เป็นหนอง ฝี หรือฟันผุ เชื้อโรคจะเข้าสู่กระแสเลือดไปยังบริเวณหัวใจ
อาการ ไข้ หายใจถี่ เหนื่อยง่าย ขาหรือหน้าท้องมีอาการบวม การเต้นของหัวใจผิดปกติ
โรคหัวใจแต่ละชนิดจะไม่แสดงอาการออกมาทั้งหมด การตรวจสุขภาพหัวใจเป็นประจำทุกปีจะสามารถทำให้รู้ถึงความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจในอนาคตได้ กรณีที่เราตรวจพบหัวใจตั้งแต่เริ่มต้นจะง่ายต่อการรักษากว่าตอนที่ตรวจเจอในระยะที่เป็นมากๆ
โดย นพ.พงษ์ภัค อารียาภินันท์
แพทย์ชำนาญการด้านหัวใจและหลอดเลือด
แผนกอายุรกรรม โรงพยาบาลบางปะกอกสมุทรปราการ โทร. 0-2109-3222 ต่อ 10115-10116