โรคกระเพาะอาหารเป็นโรคที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน เนื่องจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เร่งรีบ หรือพฤติกรรมของเราเอง เช่น การดื่มเหล้า ชา กาแฟ มีภาวะความเครียด วิตกกังวล การอดอาหารหรือทานอาหารไม่เป็นเวลา ส่งผลให้การทำงานของกระเพาะอาหารเปลี่ยนไป กระตุ้นให้กรดหลั่งเยอะ และทำให้เกิดการอักเสบในกระเพาะอาหารขึ้น
อาการของโรคกระเพาะอาหาร
– ปวด เสียด จุก แน่นบริเวณใต้ลิ้นปี่ หรือช่องท้องส่วนบน อาการจะพบบ่อยช่วงเวลาท้องว่าง เวลาอิ่มหรือหิว
– ท้องอืด ท้องเฟ้อ เรอบ่อย
– มีอาการปวดเป็นๆ หายๆ
– อาการแทรกซ้อน เนื่องจากเกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ เช่น อุจจาระมีสีดำ อาเจียนเป็นเลือด การทะลุของกระเพาะอาหาร
– เบื่ออาหาร รับประทานอาหารได้น้อย
การรักษา
โรคกระเพาะอาหารเป็นโรคเรื้อรัง ซึ่งการรักษาที่สำคัญที่สุดคือ การป้องกันไม่ให้เกิดโรคกระเพาะ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต แต่หากอาการไม่ดีขึ้นควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจเพิ่มเติม เช่น การตรวจโดยการส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร
พฤติกรรมที่ควรปรับเปลี่ยน
– รับประทานอาหารให้ตรงทุกมื้อ เลือกทานอาหารที่ย่อยง่าย
– งดสูบบุหรี่ งดดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
– ไม่เครียดหรือวิตกกังวล พักผ่อนให้เพียงพอ
– รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งสม่ำเสมอ
โดย พญ. วริษฐา วรเพียรกุล
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบทางเดินอาหาร
แผนกอายุรกรรม โรงพยาบาลบางปะกอกสมุทรปราการ โทร. 0-2109-3222 ต่อ 10115-10116