ลมพิษ คือผื่นคันที่เกิดขึ้นบริเวณผิวหนัง ลักษณะเป็นผื่นหรือปื้นนูนแดง กระจายตามตัว แขน ขา หรือบริเวณใบหน้าและสามารถเกิดขึ้นได้ทุกส่วนของร่างกาย ส่วนใหญ่ผื่นจะหายไปภายใน 24 ชั่วโมง แต่ในบางรายอาจมีอาการปวดท้อง หายใจติดขัด หรือมีอาการรุนแรงมากถึงขั้นเสียชีวิตได้
ประเภทของผื่นลมพิษ
โรคลมพิษและผื่นลมพิษ แบ่งตามระยะเวลาที่เกิดได้เป็น 2 ประเภท คือ
1. ลมพิษชนิดเฉียบพลัน มีอาการต่อเนื่องกันไม่เกิน 6 สัปดาห์ สาเหตุที่เกิดคือ การแพ้อาหาร แพ้ยา แมลงกัดต่อย
2. ลมพิษชนิดเรื้อรัง แสดงอาการเป็นๆ หายๆ อย่างน้อย 2 วัน/สัปดาห์ ต่อเนื่องกันนานเกิน 6 สัปดาห์ สาเหตุจากปัจจัยภายใน เช่น โรคภูมิแพ้ตัวเอง การติดเชื้อเรื้อรังในร่างกาย โรคไทรอยด์
สาเหตุการเกิดลมพิษ
– แพ้อาหาร เช่น อาหารทะเล สารกันบูดในอาหาร
– แพ้ยาบางชนิด เช่น กลุ่มยาแก้ปวด แอสไพริน
– แพ้ฝุ่น ละอองเกสร พืชบางชนิด และขนสัตว์
– การติดเชื้อ เช่น ไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา พยาธิ
– แพ้แสงแดด ความร้อน-เย็น หรือเหงื่อ
– พักผ่อนไม่เพียงพอ ร่างกายอ่อนแอ
– ภาวะเครียด วิตกกังวล
ควรพบแพทย์เมื่อใด
– ควรพบแพทย์เมื่ออาการลมพิษไม่หายไปภายใน 24 ชั่วโมง หรือเข้าพบทันทีเมื่ออาการเริ่มรุนแรงขึ้น
– มีอาการอ่อนเพลีย มีไข้โดยไม่ทราบสาเหตุ ปวดตามข้อ และมีอาการเจ็บบริเวณผื่น
– มีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ปวดท้อง หน้าบวม ตาบวม รีบเข้าพบแพทย์โดยด่วน อาการเหล่านี้อาจส่งผลให้เกิดอาการหอบหืด อันตรายถึงขั้นเสียชีวิต
วิธีดูแลตัวเองเมื่อเป็นลมพิษ
– ไม่เกาบริเวณที่เป็นผื่นลมพิษ เพราะจะทำให้เป็นแผลติดเชื้อ
– ทาครีมหรือโลชั่นแป้งที่มีส่วนผสมของเมนทอล เช่น คาลาไมน์
– ไม่อาบน้ำอุ่นหรือน้ำร้อน เพราะจะทำให้ผิวแห้ง
– งดใช้สบู่ ครีมบำรุงผิว น้ำหอมที่มีสารเคมีรุนแรง
– ประคบด้วยน้ำเย็น น้ำแข็ง หรือเจลทำความเย็น
– พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียดหรือวิตกกังวลมากเกินไป
โดยพญ.มัทนา ภาติยะศิขัณฑ์
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรกรรมทั่วไปและผิวหนัง
แผนกความงามและผิวหนัง โรงพยาบาลบางปะกอกสมุทรปราการ โทร. 0-2109-3222 ต่อ 10250-10251