ไส้ติ่งเป็นอาการปวดท้องเฉียบพลันที่พบได้บ่อย และสามารถเกิดกับคนทุกเพศทุกวัย จะพบมากในช่วงอายุ 12-16 ปี โดยอาการระยะแรกจะมีความใกล้เคียงกับอาการปวดท้องเฉียบพลันแบบอื่นๆ ทำให้ผู้ป่วยมักได้รับการวินิจฉัยล่าช้า อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจนเกิดอันตรายมากขึ้นได้
อาการไส้ติ่งอักเสบ
โดยอาการจะแบ่งตามระยะของโรค ได้แก่
– ระยะที่ 1 ระยะเริ่มแรกที่ไส้ติ่งเริ่มอุดตัน มีอาการปวดท้องบริเวณรอบๆ สะดือ จุกแน่น เบื่ออาหาร
– ระยะที่ 2 เป็นระยะไส้ติ่งเริ่มบวม โดยจะมีอาการปวดบริเวณชายโครงด้านขวา หากมีการเคลื่อนไหว เช่น เดิน จาม ไอ จะรู้สึกเจ็บมากขึ้น ในบางรายอาจมีอาการท้องเสียร่วมด้วย
– ระยะที่ 3 เป็นระยะอันตรายเพราะไส้ติ่งแตก และเชื้อแบคทีเรียกำลังแพร่กระจายในช่องท้องจะทำให้ผู้ป่วยมีไข้ หากไม่ได้รับการผ่าตัดจะทำให้เชื้อโรคเข้าสู่กระแสเลือดส่งผลให้เสียชีวิตได้
การรักษา
– การผ่าตัดแบบเปิด (Open Appendectomy) โดยผู้ป่วยจะมีบาดแผลบริเวณท้องน้อยด้านขวา ตรงตำแหน่งของไส้ติ่งที่อักเสบ ระยะการพักฟื้นจะนาน
– การผ่าตัดไส้ติ่งโดยการส่องกล้อง (Laparoscopic Appendectomy) จะมีแผลเล็กเพียง 2-3 แผล คือบริเวณใต้สะดือ บริเวณด้านซ้ายและด้านขวาท้องน้อย หลังผ่าตัดผู้ป่วยจะเจ็บแผลน้อย ใช้เวลาพักฟื้นน้อย และขณะผ่าตัดแพทย์จะเห็นความผิดปกติได้ชัดเจนจากกล้อง ทำให้การผ่าตัดมีความปลอดภัยและแม่นยำมากขึ้น
การป้องกัน
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันไส้ติ่งอักเสบได้ แต่พบว่าผู้ที่รับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ จะมีอัตราการเป็นไส้ติ่งอักเสบน้อยกว่าผู้ที่รับประทานผัก ผลไม้น้อย แต่เมื่อไหร่ที่สงสัยว่ามีอาการของไส้ติ่งอักเสบ ควรรีบมาพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างทันท่วงที
โดย นพ. บุญมี วิบูลย์จักร์
แพทย์ชำนาญการด้าน ศัลยกรรมทั่วไป
แผนกศัลยกรรมทั่วไป โรงพยาบาลบางปะกอกสมุทรปราการ โทร. 0-2109-3222 ต่อ 10145-10146