ดีพร้อม ผนึก วช. ดันงานวิจัยขึ้นห้าง เสริมแกร่งเศรษฐกิจอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ คิกอ๊อฟ “เซรามิกลำปาง” พัฒนาวัสดุขั้นสูง เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม ผนึกกำลังกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ลงนามความร่วมมือส่งเสริมการใช้งานวิจัยเพื่อสนับสนุนและเพิ่มมูลค่าให้กับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม โดยนำร่องอุตสาหกรรม เซรามิก จังหวัดลำปาง ด้วยการถ่ายทอดผลงานวิจัยเชิงนวัตกรรมในการพัฒนาชิ้นส่วนเซรามิกขั้นสูง เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเซรามิกดั้งเดิมสู่อุตสาหกรรมเซรามิกขั้นสูง พร้อมสร้างแนวความคิดการต่อยอดผลิตภัณฑ์ทำให้เกิดการใช้งานได้จริงสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยคาดว่าจะสามารถเพิ่มมูลค่าอุตสาหรรมเซรามิกลำปาง ได้กว่า 150 ล้านบาท
นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการส่งเสริมการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันอุตสาหกรรมไทย ระหว่าง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าอุตสาหกรรมภาคเหนือ (DIPROM MICE CENTER) จังหวัดลำปาง ว่า ตามที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการนำวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ให้เป็นรูปธรรม เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงและยกระดับคุณภาพชีวิต ของประชาชน รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมของประเทศอย่างก้าวกระโดด อันจะทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางและลดความเหลื่อมล้ำได้ อย่างไรก็ตาม การยกระดับขีความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมให้สามารถตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์จำเป็นต้องอาศัยงานวิจัยที่มีคุณภาพโดยผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐและเอกชนมาบูรณาการความร่วมกันในการ ริเริ่ม-ส่งเสริม-วิจัยและพัฒนา เพื่อก่อให้เกิดผลงานที่เป็นรูปธรรมและเป็นรากฐานในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของประเทศ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้ “โครงการส่งเสริมการนำผลงานวิจัย และนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันอุตสาหกรรมไทย” เพื่อประสานความร่วมมือระหว่าง สองหน่วยงานให้เกิดการพัฒนางานวิจัยในเชิงพาณิชย์และนวัตกรรมขั้นสูงในระดับอุตสาหกรรมอย่างเป็นรูปธรรม เท่าทันการเปลี่ยนแปลง และสอดรับกับสอดรับกับนโยบาย Reshape the Future: โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต ผ่านกลยุทธ์การปรับตัวเพิ่มการเข้าถึงโอกาส (Reshape the accessibility) เพื่อขยายเครือข่าย ความร่วมมือ (DIPROM Connection) สร้างโอกาส และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไทยอย่างต่อเนื่อง
สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นได้ว่าเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมผ่านการนำผลการวิจัย และนวัตกรรมไปพัฒนาอุตสาหกรรมไทยอย่างยั่งยืน โดยได้นำร่องความร่วมมือการปฏิรูปอุตสาหกรรมเซรามิก ในจังหวัดลำปาง ซึ่งมีผู้ประกอบการจำนวนกว่า 200 กิจการ ด้วยการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปถ่ายทอด ให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมเซรามิคไทยนำไปใช้ประโยชน์ผ่านการสนับสนุนการนำแนวคิดด้านนวัตกรรม และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปก่อให้เกิดการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ การพัฒนาบุคลากร รวมถึงการยกระดับและพัฒนา ขีดความสามารถผู้ประกอบการด้านเซรามิก การพัฒนาให้ผลิตภัณฑ์มีมูลค่าเพิ่มขึ้นและมีศักยภาพสู่เชิงพาณิชย์ ตลอดจนสร้างแนวความคิดการต่อยอดผลิตภัณฑ์ทำให้เกิดการใช้งานได้จริงสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังส่งเสริมและเชื่อมโยงช่องทางการตลาดใหม่ ๆ ให้ผู้ประกอบการและมองหาทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคตร่วมกัน อาทิ การถ่ายทอดผลงานวิจัยเชิงนวัตกรรมในการพัฒนาชิ้นส่วนเซรามิกขั้นสูง เนื่องมาจากการขยายตัว ของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก และมีการเพิ่มกำลังการผลิตของอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนไฟฟ้าฯ ในประเทศไทยทำให้มีความต้องการชิ้นส่วนเซรามิกขั้นสูง เช่น แกนเฟอร์ไรต์ของหม้อแปลงไฟฟ้า (Ferrite Toroid) วาริสเตอร์ (Varistor) เป็นต้น โดยคาดว่าจะสามารถเพิ่มมูลค่าอุตสาหรรมเซรามิกลำปางได้กว่า 150 ล้านบาท
ด้าน นายสมปรารถนา สุขทวี รองผู้อํานวยการสํานักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. เร่งขยายผลการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ตามนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม “การวิจัยไม่ขึ้นหิ้ง แต่นำไปสู่การขึ้นห้าง” (Research Utility) โดยได้ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีโดยนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญให้กับผู้ประกอบการเซรามิก ร่วมกับ ศูนย์วิจัยและพัฒนาวัสดุอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และโครงการกิจกรรมบริหารโครงการและผลักดันงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ประเด็นการวิจัยและพัฒนาวัสดุขั้นสูงเพื่ออุตสาหกรรม ภายใต้การบริหารงานของกลุ่มงานอุตสาหกรรม กองบริหารทุนวิจัย และนวัตกรรม 1 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ดั้งเดิมไปสู่ผลิตภัณฑ์ขั้นสูง (Advance ceramics) ตลอดจนการสนับสนุนจากดีพร้อมในด้านโครงสร้าง หรือระบบพื้นฐาน (Infrastructure) ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ สนับสนุนการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ และการส่งเสริมการตลาด รวมทั้งการสนับสนุนการออกมาตรการของภาครัฐ โดยความร่วมมือในครั้งนี้ จึงถือเป็นโอกาสสำหรับนักวิจัยในการยกระดับงานวิจัยที่สามารถสร้างขับเคลื่อนการเติบโตของภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรม โดยปัจจุบัน วช. มีงานวิจัยที่พร้อมส่งเสริมในเชิงพาณิชย์จำนวน 260 โครงการ และสามารถนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้อย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต นายสมปรารถนา กล่าวทิ้งท้าย