บทความทางกฎหมายเรื่อง “ยกฟ้องธนาคารพาณิชย์ คืนความเป็นธรรมให้ประชาชนผู้ถูกหลอก” โดยอัยการวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์
เมื่อเร็วๆ นี้ ศาลแขวงระยอง ได้มีคำพิพากษาคดีแพ่งคดีหนึ่ง ซึ่งอาจถือได้ว่า เป็นคดี “อาชญากรรมเทคโนโลยี” ด้วย ซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงในสังคมไทย มีประชาชนคนไทยถูกหลอกจากมิจฉาชีพต้องสูญเสียเงินทองและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก
โดยคดีนี้เป็นกรณี “ธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง” ฟ้อง “ประชาชน” (ผู้ถือบัตรเครดิต)
เนื่องจาก ประชาชน ถูกมิจฉาชีพหลอก และแอบ hack ข้อมูลบัตรเครดิต โดยมิจฉาชีพ หลอกแสดงตนเป็น “เจ้าหน้าที่ที่ดิน” แจ้งว่า “จะต้องชำระภาษี ในวันสุดท้าย” และให้ผู้เสียหาย เพิ่มเพื่อนในไลน์ จากนั้น ได้ “หลอกให้ผู้เสียหายกดลิงก์ Link” และ “Download app” และ “ให้กรอกข้อมูลส่วนตัว” สุดท้ายปรากฏว่า ผู้เสียหายต้องเป็นหนี้บัตรเครดิต โดยมิจฉาชีพนำข้อมูลบัตรเครดิตของผู้เสียหายไปทำการเบิกถอนเงินสด และต่อมา ธนาคารพาณิชย์ฟ้องผู้เสียหายเป็น “หนี้บัตรเครดิต” ทั้งที่ ผู้เสียหายมิได้เป็นผู้ทำรายการเบิกถอนเงินสด
สุดท้าย ศาลพิพากษา “ยกฟ้อง” ผู้เสียหาย ด้วยเหตุผลว่า
“การใช้สิทธิฟ้องคดีนี้ของโจทก์ (ธนาคารพาณิชย์) ขัดต่อ มาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งบัญญัติว่า การใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี ผู้ประกอบธุรกิจต้องกระทำด้วยความสุจริต โดยคำนึงถึงมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสม ภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรม”
มาดูกันว่า เหตุใดศาลแขวงระยอง จึงพิพากษา “ยกฟ้อง” ธนาคารพาณิชย์ ด้วยเหตุดังกล่าว ?
คดีนี้ โจทก์ (ธนาคารพาณิชย์) ฟ้อง จำเลย (ผู้เสียหาย) ว่า “โจทก์ได้อนุมัติบัตรเครดิตหมายเลข……………………………… ให้จำเลย เพื่อนำไปใช้ชำระค่าสินค้าและบริการตามเงื่อนไขที่โจทก์กำหนด และจำเลยสามารถทำรายการ ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านบริการแอพพลิเคชั่นทางโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยใช้รหัสผ่าน (PIN) รหัสแบบใช้ครั้งเดียว (OTP) และรหัสประจำตัวเพื่อเข้าใช้บริการซื้อสินค้าและบริการต่างๆ รวมทั้งเบิกถอนเงินสดออนไลน์เงินโอนเข้าบัญชีธนาคาร ซึ่งจำเลยสามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้ทุกสถานที่ตลอด ๒๔ ชั่วโมง โดยจำเลย (ผู้เสียหาย) ตกลงยินยอมทำธุรกรรม และ ให้ถือว่าการทำรายการธุรกรรมถูกต้องสมบูรณ์ และมีผลผูกพันจำเลย เมื่อร้านค้าหรือสถานประกอบการที่รับบัตรเครดิตส่งยอดรายการ ซื้อสินค้าหรือบริการมาเรียกเก็บเงินโจทก์ โจทก์จึงได้ชำระแทนไปก่อน โจทก์จะจัดส่งใบแจ้งยอด ค่าใช้จ่ายดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินจากจำเลยทุกรอบบัญชีหรือทุกเดือน ภายหลังจำเลยได้รับอนุมัติบัตรเครดิตจากโจทก์ จำเลยนำบัตรเครดิตดังกล่าวไปชำระค่าสินค้าและบริการตลอดมา แต่ปรากฏว่าจำเลยไม่นำเงินเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้บัตรเครดิตให้แก่โจทก์ครบถ้วนตามจำนวนและตามระยะเวลาที่โจทก์กำหนดในใบแจ้งยอดรายการใช้จ่ายบัตรเครดิต โจทก์หักทอนบัญชีครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่…… พฤศจิกายน ๒๕๖๖ จำเลยคงค้างชำระหนี้คิดเป็น ต้นเงิน ๓๕,๐๐๐ บาท ดอกเบี้ย ๑,๙๘๓.๓๗ บาท ค่าธรรมเนียมอื่นๆ ๑,๓๙๑ บาท รวมเป็นเงิน ๓๘,๓๗๔.๓๗ บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน ๓๘,๙๔๒.๐๔ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงินจำนวน ๓๕,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์”
ส่วนจำเลย (ผู้เสียหาย) ต่อสู้คดีว่า
“ที่โจทก์ ( ธนาคารพาณิชย์) อ้างว่า จำเลยค้างชำระหนี้บัตรเครดิต เป็นต้นเงิน ๓๕,๐๐๐ บาท นั้น ไม่ถูกต้อง และไม่เป็นความจริง แต่เกิดจากการกระทำของมิจฉาชีพที่หลอกลวงจำเลยจนถูกมิจฉาชีพกดเงินสดออกไปจากบัตรเครดิต ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย จำเลยไม่ได้เป็นผู้ทำรายการเบิกถอนเงินสดดังกล่าว
เมื่อวันที่ ……….กรกฎาคม ๒๕๖๖ เวลา …………น. มีโทรศัพท์หมายเลข……………………โทรเข้ามาหาจำเลย ปลายสายแจ้งว่า เป็น “เจ้าหน้าที่จากกรมที่ดิน” (มิจฉาชีพ) ติดต่อว่า “การจ่ายภาษีที่อยู่อาศัยวันนี้เป็นวันสุดท้าย หากไม่ชำระจะมีค่าปรับ” แล้วสอบถามจำเลยว่า “สะดวกไปชำระที่กรมที่ดินหรือไม่ หากไม่สะดวกสามารถชำระผ่านช่องทางออนไลน์ได้” ซึ่งในช่วงเวลาใกล้เคียง กับวันที่เกิดเหตุ จำเลยเคยไปติดต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดระยอง สาขาบ้านฉาง เพื่อทำนิติกรรม ซื้อขายที่ดิน จึงทำให้จำเลยเชื่อว่า การติดต่อดังกล่าวเป็นการติดต่อจากเจ้าหน้าที่กรมที่ดินจริง และจำเลยสามารถชำระโดยวิธีออนไลน์ได้ เพราะบุคคลดังกล่าวบอกเลขที่โฉนดที่ดินของจำเลยได้อย่างถูกต้อง จำเลย จึงหลงเชื่อ และยอมเพิ่มเพื่อนทางแอพพลิเคชันไลน์ (LINE) ชื่อบัญชีผู้ติดต่อ “สำนักงานที่ดิน” ตามคำบอกของมิจฉาชีพ จากนั้นจึงมีการสอบถามข้อมูลหมายเลขประจำตัวประชาชน วันเดือนปีเกิดและหมายเลขโทรศัพท์ของจำเลย จำเลยได้ขอดู “บัตรเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน” ซึ่งมิจฉาชีพก็ส่งมาให้ดูทางช่องแชทไลน์ จากนั้น มิจฉาชีพส่งลิงก์เวบไซด์ให้จำเลยกดเพื่อดาวโหลดแอพพลิเคชันและให้กรอกข้อมูลส่วนตัวตามขั้นตอน จนกระทั่งเมื่อถึงขั้นตอนให้จำเลยสแกนใบหน้ายืนยันตัวตน โทรศัพท์ของจำเลยขึ้นหน้าจอสีขาว จำเลยจึงฉุกคิดว่าอาจเป็นมิจฉาชีพและอาจถูกหลอกแล้ว จึงรีบปิดโทรศัพท์ และติดต่อธนาคารและศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศของสำนักงานตำรวจแห่งชาติทันที ต่อมาจำเลยตรวจพบว่าในช่วงเวลา ………. น. บัตรเครดิตของจำเลยมีการทำรายการขอเพิ่มวงเงินและมีการเบิกถอนเงินสด ๒ ครั้ง ครั้งแรกเป็นเงิน ๕,๐๐๐ บาท ครั้งที่สองเป็นเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท โดยจำเลยไม่ได้เป็นผู้ทำรายการดังกล่าว และเงินจำนวนนี้ถูกโอนเข้าบัญชีธนาคาร……………..ของจำเลยซึ่งเป็นบัญชีที่ผูกไว้กับบัตรเครดิตดังกล่าว จนต่อมาเวลา ………. น. เงินจำนวน ๓๕,๐๐๐ บาท ถูกโอนออกจากบัญชีของจำเลยไปยังบัญชีธนาคาร ……….ชื่อบัญชี……………ซึ่งจำเลยไม่รู้จักและไม่เคยทำธุรกรรมกับบุคคลดังกล่าวมาก่อน และจำเลยไม่ได้เป็นผู้ทำรายการโอนเงินนั้น
นอกจากนี้ยังมีเงินอีก ๕,๗๐๐ บาท ในบัญชีธนาคาร………..ของจำเลยก็ถูกโอนเข้าไปบัญชีของนาย…………………..ด้วย
ภายหลังเกิดเหตุ จำเลย (ผู้เสียหาย) ได้โทรศัพท์ติดต่อไปยัง “ผู้ให้บริการบัตรเครดิต” เพื่อขอให้ช่วยเหลือกรณีถูกดูดเงินและขอให้ระงับการใช้บัตรเครดิต ซึ่งเจ้าหน้าที่แนะนำให้จำเลยไป “แจ้งความ” เพียงอย่างเดียว
ต่อมา จำเลยได้ไป แจ้งความต่อ “เจ้าพนักงานตำรวจ” สถานีตำรวจภูธร……………….. ทั้งจำเลยยังยื่น ร้องเรียนต่อหน่วยงาน “สภาองค์กรผู้บริโภค” มูลหนี้บัตรเครดิตตามฟ้องจึงไม่ได้เกิดจากการกระทำของจำเลย หากแต่เกิดจากมีบุคคลอื่นนำ “ข้อมูลบัตรเครดิต” ที่พิพาทของโจทก์ไปใช้ แสดงว่า “ระบบความปลอดภัยของแอพพลิเคชันของโจทก์ที่จัดให้มีบริการนั้นมีความปลอดภัยที่ไม่เพียงพอ” และเมื่อจำเลยติดต่อไปยังโจทก์แล้ว เจ้าหน้าที่ของโจทก์ ไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนได้ คงแนะนำให้จำเลย (ผู้เสียหาย) ไป “แจ้งความ” เท่านั้น โดยไม่ได้ดำเนินการตาม “แนวนโยบายการบริหารจัดการภัยทุจริตจากการทำธุรกรรมทางการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย ฉบับลงวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๖”
จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามฟ้อง ขอให้ศาล ยกฟ้อง
จาก “คำฟ้องของโจทก์” และ “คำให้การต่อสู้คดี” ของจำเลย ดังกล่าว
คราวนี้มาดูว่า ศาลแขวงระยอง วินิจฉัยอย่างไร ?
เห็นว่า…… เมื่อ จำเลยแจ้งให้โจทก์ทราบในวันเกิดเหตุในทันที ที่จำเลยทราบถึงการถูกมิจฉาชีพหลอกลวงจนสามารถเข้าควบคุมโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยจากระยะไกลแล้วสั่งโอนเงินจากบัญชีบัตรเครดิตของจำเลย เข้าบัญชีธนาคารของจำเลยซึ่งผูกอยู่กับบัตรเครดิตดังกล่าว แล้วโอนเงินออกไปจากบัญชีธนาคารของจำเลยไปยังบัญชีของ “บุคคลอื่น” ย่อมแสดงให้เห็นชัดว่า “จำเลยมิได้เป็นผู้ใช้บัตรเครดิตดังกล่าวด้วยตนเอง” ดังนั้น จำเลย จึงไม่ต้องรับผิดในภาระหนี้ที่เกิดขึ้นดังกล่าว
ทั้งพฤติการณ์แห่งคดีปรากฏชัดว่า เมื่อโจทก์ (ธนาคาร) ได้รับแจ้งเหตุก็ไม่ได้เนินการอื่นใดนอกจากแจ้งให้จำเลยไปดำเนินการแจ้งความติดตามเรื่องด้วยตนเอง ทั้งที่ โจทก์เป็น “ผู้ประกอบธุรกิจ” ให้บริการทางการเงิน และ เป็นเจ้าของเงินที่ถูกคนร้ายลักไป โจทก์สามารถสร้างเครือข่ายร่วมกับธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่นเพื่อดำเนินการระงับยับยั้งหรืออายัดเงินที่ลูกค้า ผู้ถือบัตรเครดิตแจ้งเหตุว่า ถูกมิจฉาชีพหลอกลวงไว้ชั่วคราว เพื่อทำการตรวจสอบได้โดยง่าย แต่กลับไม่รวมกลุ่มกันเพื่อดำเนินการยกระดับการป้องกันภัยทุจริตดังกล่าว โดยปล่อยให้เป็นภาระของจำเลย (ผู้เสียหาย) ซึ่งเป็นผู้บริโภคขวนขวายติดตาม
ทั้งที่ “แนวนโยบายการบริหารจัดการภัยทุจริตจากการทำธุรกรรมทางการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย” เอกสารหมาย ล.๒ ระบุในเอกสารแนบ ๑ การบริหารจัดการ ภัยทุจริตจากการทำธุรกรรมการชำระเงินผ่านบัตร ข้อ ๓.๒ กำหนดชัดเจนว่า
“กรณีเหตุการณ์ทุจริต ที่มีผู้ถือบัตรได้รับความเสียหายที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมชำระเงินผ่านบัตร และมีเหตุอันเชื่อได้ว่าไม่ได้เกิดจากความผิดของผู้ถือบัตรหรือผู้ถือบัตรไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ผู้ให้บริการต้องเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้ถือบัตรอย่างครบถ้วน”
เมื่อในขณะที่ มิจฉาชีพ สั่งโอนเงินออกจากบัญชีบัตรเครดิตของจำเลย จำเลยย่อมไม่ทราบถึงการทำธุรกรรมของคนร้ายดังกล่าว ทั้ง จำเลย มิใช่ เป็นผู้ทำธุรกรรมการเงินดังกล่าว ด้วยตนเอง ประกอบกับ “เงินที่โอนออกไปนั้นเป็นของธนาคาร ไม่ใช่เงินของจำเลย” (เว้นแต่ เงินจำนวน ๕,๗๐๐ บาทในบัญชีเงินฝากของจำเลย ซึ่งเป็นของจำเลย)
การที่โจทก์ (ธนาคาร) จะเอาสัญญาสำเร็จรูปมาอ้างว่า “ธุรกรรมการเงินที่เกิดขึ้นดังกล่าวถือเป็นการกระทำของจำเลยและจำเลยต้องรับผิดชำระหนี้บัตรเครดิตดังกล่าวให้แก่โจทก์” ย่อมเป็นการใช้สิทธิที่ขัดต่อ มาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งบัญญัติว่า
“การใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี ผู้ประกอบธุรกิจต้องกระทำด้วยความสุจริตโดยคำนึงถึงมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสม ภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรม” อีกด้วย
จึงพิพากษา “ยกฟ้อง” ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จากคำพิพากษาของ “ศาลแขวงระยอง” ดังกล่าว แม้จะยังไม่ถึงที่สุด และอาจจะยังใช้อ้างเป็นบรรทัดฐานในขณะนี้ไม่ได้ แต่ก็ทำให้ได้เราได้ “แนวทางคดี” ของในลักษณะเช่นนี้ ได้ว่า
๑.ผู้บริโภค ควรรีบแจ้งให้ ธนาคาร หรือ ธนาคารบัตรเครดิต ทันที
๒.เมื่อ ธนาคารบัตรเครดิต ทราบเรื่องจาก “ผู้บริโภค” แล้ว ธนาคารฯ ควรดำเนินการอื่นต่อเพื่อปกป้องไม่ให้เงินถูกถ่ายโอนไปยังบัญชีอื่น ๆ ไม่ใช่ แค่เพียงแจ้งให้ผู้บริโภคไป “แจ้งความ” กับตำรวจ เท่านั้น
๓.เงินที่ถูกโจรกรรม (เฉพาะที่เบิกถอนเงินจากบัตรเครดิต) เป็นเงินของธนาคาร ไม่ใช่ ผู้เงินของผู้บริโภคฯ
๔.ธนาคารบัตรเครดิตฯ เป็นผู้ประกอบธุรกิจที่ให้บริการทางการเงินและเป็นเจ้าของเงินที่ถูกคนร้ายโจรกรรมไป สามารถสร้างเครือข่ายร่วมกับธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่น เพื่อระงับหรือายัดเงินดังกล่าวไว้ชั่วคราวเพื่อตรวจสอบได้ แต่กลับไม่รวมกลุ่มกันเพื่อยกระดับการป้องกันภัยทุจริตดังกล่าว
๕.แนวนโยบายการบริหารจัดการภัยทุจริตจากการทำธุรกรรมทางการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุถึงเรื่องการบริหารจัดการภัยทุจริตจากการทำธุรกรรมการชำระเงินผ่านบัตร โดย
ข้อ ๓.๒ กำหนดชัดเจนว่า “กรณีเหตุการณ์ทุจริตที่มีผู้ถือบัตรได้รับความเสียหายที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมชำระเงินผ่านบัตร และมีเหตุอันเชื่อได้ว่า ไม่ได้เกิดจากความผิดของผู้ถือบัตรหรือผู้ถือบัตรไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ผู้ให้บริการต้องเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้ถือบัตรอย่างครบถ้วน”
๖.เป็นความรับผิดชอบของ “ธนาคารบัตรเครดิตฯ” ที่ต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น จึงไม่ควรนำคดีมาฟ้องผู้บริโภคต่อศาล
๗.การที่ธนาคารบัตรเครดิตฯ ฟ้องร้องผู้บริโภคในลักษณะเช่นนี้ ถือเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ตามมาตรา ๑๒ ของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑ ศาลจึงมีคำพิพากษา “ยกฟ้อง”
ผู้เขียนเห็นว่า การรีบแจ้งให้ “ธนาคาร” และ แจ้งความกับ “ตำรวจ” ทันที จะเป็น มาตรการในการช่วยยืนยันความบริสุทธิ์ของผ