ท้องถิ่น

ต่างด้าวปากน้ำโกลาหล วอนเปิดศูนย์บัตรชมพู แก้ปัญหาแรงงานเถื่อน

%e0%b8%95%e0%b9%88%e0%b8%b2%e0%b8%87%e0%b8%94%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%a7%e0%b8%9b%e0%b8%b2%e0%b8%81%e0%b8%99%e0%b9%89%e0%b8%b3%e0%b9%82%e0%b8%81%e0%b8%a5%e0%b8%b2%e0%b8%ab%e0%b8%a5-%e0%b8%a7%e0%b8%ad

นายอดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) กล่าวถึงเรื่อง มติคณะรัฐมนตรี 24 กันยายน 2567 กรณีการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งกลุ่มที่ต้องขึ้นทะเบียนใหม่และกลุ่มต่ออายุ ใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวที่ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางตามมติคณะรัฐมนตรีที่ได้รับอนุญาตทำงานถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ในลักษณะ MOU (พิเศษ) ความกังวลหลักประเด็นแรกคือ กลุ่มต่ออายุใบอนุญาตทำงานอยู่ที่วิธีการตามมติคณะรัฐมนตรีให้ดำเนินการในลักษณะ MOU หมายถึงการนำเข้าคนงานใหม่ โดยให้แจ้งบัญชีรายชื่อก่อน หากได้รับการอนุมัติจะต้องเดินทางกลับไปยังประเทศต้นทางหรือตามจุดที่กรมการจัดหางานกำหนด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของแรงงานจากประเทศพม่า ซึ่งมีประมาณ 2 ล้านคน

นอกจากนี้ กรณีที่รัฐบาลทหารพม่ากำหนดให้แรงงานพม่าส่งเงินกลับบ้าน 25% และเสียภาษีอีก 2% ซึ่งต้องมีหลักฐานไว้แสดงว่าได้จ่ายภาษีหรือได้โอนกลับบ้านแล้ว ถ้าหากไม่ดำเนินการตามก็จะไม่ต่อหนังสือเดินทางให้ หรือไม่อนุญาตให้ออกนอกประเทศโดยเงื่อนไขนี้ ทำให้แรงงานกังวลใจและสะท้อนว่าถ้าเกิดใช้ระบบเช่นนี้จะมีปัญหาหรือไม่ เท่าที่ได้ฟังผู้ประกอบการก็มีความกังวลว่าการที่ต้องมาบริหารจัดการเรื่องคนจำนวนมากและต้องเดินทางไปติดต่อจะสามารถทำได้หรือไม่ ขณะที่ระยะเวลาค่อนข้างสั้นเพราะจะต้องยื่นเอกสารเพื่อรอให้ประเทศต้นทางแจ้งกลับมาภายในวันที่ 13 กุมภาพันธุ์ 2568 จนวันนี้ยังไม่มีตัวประกาศที่เกี่ยวข้องออกมา แม้ว่ามีมติ ครม.แต่ก็ต้องประกาศของกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงแรงงานซึ่งขณะนี้ยังไม่มีออกมา

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เหลือเวลาอีกแค่ 4 เดือนที่จะต้องทำให้เสร็จกับคนกว่า 2 ล้านคน ถ้าการอนุมัติทุกอย่างล่าช้าไปหมด จะทำให้ไม่ทันการตามมติ ครม. ส่งผลให้ แรงงานต่างด้าวกลายเป็นผู้ผิดกฎหมายทันทีจะมีคนต่างด้าวจำนวนมากหลุดออกจากระบบกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมายไป นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มพม่าที่ต้องทำเอกสาร CI โดยกลุ่มนี้มีประมาณกว่า 6 แสนคน ล่าสุดที่ได้รับแจ้งว่าทำไปแล้วเพียง 4 แสนคนและยังขาดอยู่กว่า 2 แสนคน ซึ่งทุกอย่างต้องเสร็จภายในสิ้นเดือนตุลาคมนี้ และคงจะไม่ทันเวลาที่กำหนดและแรงงานก็ต้องกลายเป็นคนผิดกฎหมายทันที สิ่งที่ตัวกระทรวงแรงงานจะให้ทำคือจะต้องไปขึ้นทะเบียนใหม่ กลายเป็นว่าไม่ใช่ความผิดของแรงงานแต่ต้องไปทำใหม่ และยังมีความเสี่ยงที่ต้องเสียเงินซ้ำอีก

นายอดิศร กล่าวต่อว่า อีกเรื่องที่ต้องทำให้เสร็จคือทำบัตรชมพู ปัญหาที่เจอก็คือคนที่ต้องทำบัตรชมพูทั้งหมดประมาณกว่า 8 แสนคน รวมพม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม ทำไปแล้วแค่ 4 แสนคน เหลืออีกกว่า 4 แสนคน คือทำได้แค่ครึ่งเดียว อีกครึ่งยังทำไม่ได้ ฉะนั้นจะต้องทำให้เสร็จภายใน 31 ตุลาคมนี้ เราประเมินไว้แล้วว่าอย่างไรก็ทำไม่ทัน ทางเราและนายจ้างได้ยื่นหนังสือให้กับนายกรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทยรวมถึงกระทรวงแรงงานและคณะกรรมาธิการการแรงงานแล้วด้วย ให้มีการเร่งตรวจสอบ

“ข้อเสนอสำหรับกลุ่มนี้คืออาจจะต้องขยายเวลาในการทำเอกสารทั้งหมดออกไปก่อนจนถึง 13 กุมภาพันธุ์ 2568 เพื่อให้แก้ปัญหาเรื่องระยะเวลาเพราะกลัวว่าคนหลุดออกจากระบบไป ส่วนกลุ่มจดทะเบียนใหม่เรายังรอความชัดเจนอยู่และขั้นตอนจะยุ่งยากเช่นเดิมหรือไม่ ที่ผ่านมาปัญหาก็มีปัญหาทำไม่ทันแล้วหลุดออกจากระบบไปเยอะมากจึงควรมีการปรับ ข้อเสนอสำหรับกลุ่มนี้คืออยากให้ทำในรูปแบบของ One-Stop Service เพราะปัญหาที่ผ่านมาคือเป็นระบบออนไลน์แต่ก็ไม่ทั้งหมด เพราะจะต้องไปติดต่อ ตม. ติดต่อกรมอื่นๆ ก็กลายเป็น 3-4 ครั้งที่ต้องเดินทางทำให้เกิดความล่าช้าขึ้น ที่ผ่านมาเราจะเห็นภาพของคนที่ดำเนินการยังไม่เสร็จเกินกว่าครึ่งนึงและควรจะให้เป็น One-Stop Service ให้คนดำเนินการที่สถานที่เดียวให้จบ” นายอดิศร กล่าว

ด้านนางอุษณีย์ จันทร์ไทย ผู้บริหารบริษัทนำเข้าแรงงานต่างด้าว เปิดเผยว่า ปัญหาแรงงานต่างด้าวในขณะนี้อีกเรื่องคือ การลงทะเบียนทำบัตรสีชมพู เพราะยังมีแรงงานต่างด้าวอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้ทำหรือบัตรหมดอายุ โดยเฉพาะพื้นที่ จ.สมุทรปราการ ปัจจุบันมีเปิดศูนย์รับทำบัตรสีชมพูเพียงแห่งเดียวที่ อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ แต่สามารถทำได้วันละไม่เกิน 200 คน เพราะมีขีดจำกัดด้านบุคลากรและสถานที่ เดิมทีมีศูนย์เปิดบริการที่ซอยสุขสวัสดิ์ 76 พระประแดง แต่ถูกยุบไป ทั้งๆ ที่ศูนย์แห่งนี้มีความพร้อมทุกด้าน และทำงานได้รวดเร็ว

อย่างไรก็ตามจากการสอบถามแรงงานต่างด้าวต่างไม่สบายใจเพราะถ้าหากไม่ได้ทำบัตรสีชมพูได้ทันตามกำหนดจะกลายเป็นแรงงานเถื่อนทันที และทุกคนยินดีเสียค่าบริการตามกำหนดเพียงแต่ขอให้การบริการให้ทันตามกำหนดเท่านั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า พื้นที่ จ.สมุทรปราการ เป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่มีจำนวนแรงงานต่างด้าวมากไม่ต่างกับ จ.สมุทรสาคร แต่ปัญหาที่ จ.สมุทรปราการ ประสบขณะนี้คือ มีศูนย์บริการต่างด้าวเพียงแห่งเดียวคือ อ.บางเสาธง ทำให้ไม่สามารถทำบัตรสีชมพูให้กับต่างด้าวได้ทันตามเวลาเพราะมีแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก แต่ที่ จ.สมุทรสาคร อนุญาตให้เปิดศูนย์หลายแห่งรวมทั้งพื้นที่ต่างอำเภอด้วย ส่วน จ.สมุทรปราการนอกจากแรงงานต่างด้าวที่ตกค้างแล้วยังมีแรงงานต่างด้าวที่มาใหม่อีกรวมหลายหมื่นคน ดังนั้นการที่มีศูนย์รับทำบัตรสีชมพูเพียงแห่งเดียวไม่เพียงพออย่างแน่นอน

ส่วนนางมญ รณา เจ้าของบริษัทนำเข้าแรงงานต่างด้าวอีกราย กล่าวว่า บัตรสีชมพูถือว่าเป็นหัวใจหลักของแรงงานต่างด้าว เทียบกับทะเบียนราษฎร์หรือบัตรประชาชนของคนไทย หากใครไม่มีถือว่าเป็นแรงานเถื่อนจะยื่นเรื่องทำอะไรก็ไม่ได้ ไม่ว่าจะทำใบขับขี่ เปิดบัญชีธนาคาร ดังนั้นแรงงานต่างด้าวทุกคนต้องมีแต่ปัญหาใน จ.สมุทรปราการ แรงงานต่างด้าวจำนวนมากยังไม่มีบัตรนี้โดยเฉพาะแรงงานที่เข้ามาใหม่ รวมทั้งที่ตกค้างเก่าด้วย ดังนั้นทางจังหวัดสมุทรปราการควรเปิดศูนย์บัตรสีชมพูเพิ่ม เพราะศูนย์บางเสาธงแห่งเดียวทำไม่ทันแน่นอนถึงแม้จะขยายเวลาออกไปก็ตามหรือให้เปิดศูนย์ที่สุขสวัสดิ์ 76 ที่ถูกสั่งให้หยุดไปอีกครั้ง เพราะสถานที่แห่งนี้มีพร้อมทุกอย่างทั้งความสะดวกสบายถือว่าครบวงจรในการบริการด้วย

0 Comments
Share

Admin

Reply your comment

Your email address will not be published. Required fields are marked*