ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ สมาชิกวุฒิสภา ประธานคณะอนุกรรมาธิการด้านศิลปะสร้างสร้าง รับเรื่องร้องเรียนจาก อ.ชาตรี ลดาลลิตสกุล ศิลปินแห่งชาติ คัดค้านการแก้ไขแบบอาคารรัฐสภา

ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ สมาชิกวุฒิสภา ประธานคณะอนุกรรมาธิการด้านศิลปะสร้างสร้าง รับเรื่องร้องเรียนจาก อ.ชาตรี ลดาลลิตสกุล ศิลปินแห่งชาติ ผู้ออกแบบอาคารรัฐสภา กรณีคัดค้านการแก้ไขแบบอาคารรัฐสภา
วันที่ 8 พฤษภาคม 2568 เวลา 09.30 นาฬิกา ณ บริเวณห้องโถง ชั้น 1 อาคารรัฐสภา (สว.) ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ รองประธานคณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา และประธานคณะอนุกรรมาธิการด้านศิลปะสร้างสรรค์ รับหนังสือจากนายชาตรี ลดาลลิตสกุล ศิลปินแห่งชาติ และนายปิยเมศ ไกรฤกษ์ ในฐานะสถาปนิกผู้ออกแบบอาคารรัฐสภา คัดค้านกรณีที่จะมีการต่อเติมอาคารรัฐสภาโดยการถมสระมรกตเพื่อทำห้องสมุดและร้านค้า โดยชี้แจงข้อเท็จจริงและเหตุผลในการคัดค้านในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
1.กรณีอ้างน้ำเน่าและมียุงชุม เนื่องจากสระมรกตถูกออกแบบและมีระบบการกรองแบบสระว่ายน้ำ หากรัฐสภามีการดูแลตามปกติมีการเปิดระบบให้น้ำไหลเวียนทุกวันตามมาตรฐานทั่วไปก็ไม่สามารถเกิดยุงได้อย่างแน่นอน และกรณีสระมีการรั่วซึม หากจริงเป็นเรื่องคุณภาพการก่อสร้างควรเป็นความรับผิดชอบของผู้รับเหมา เนื่องจากอยู่ในระยะประกันผลงานและเพิ่งตรวจรับงานมาเพียงไม่นานทางรัฐสภาไม่จำเป็นต้องรับเอาปัญหาของผู้รับเหมามาเป็นของตนเอง
2.ความคิดที่จะย้ายห้องสมุดลงมาชั้น 1 นั้นไม่สมเหตุสมผล เนื่องจากตำแหน่งของห้องสมุดเดิมอยู่ที่ชั้น 9-10 และเชื่อมโยงกับหอจดหมายเหตุที่อยู่ที่ชั้น 8 ผู้ใช้อาคารที่มาจากภายในสามารถมาจากทุกระดับชั้นเข้าถึงห้องสมุดได้ รวมไปถึงหากย้ายห้องสมุดยังเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณโดยไม่จำเป็น เพราะห้องสมุดเดิมมีพื้นที่ถึง 3,533 ตร.ม. มีการตกแต่งครบถ้วน ใช้งานได้ดี เพิ่งรับมอบงานไม่นาน ยังไม่พ้นระยะประกันผลงาน ซึ่งใช้งบประมาณไปมากกว่า 100 ล้านบาท
3.สระมรกตมีความสำคัญอย่างมากต่ออุณหภูมิภายในโถงกลาง เนื่องจากอาคารรัฐสภาถูกออกแบบและตั้งเป้าหมายให้เป็นอาคารประหยัดพลังงานที่เป็นแบบอย่างของชาติ แต่จากขนาดที่ใหญ่โตของอาคารมีความยาวเกือบครึ่งกิโลเมตรไม่สามารถติดเครื่องปรับอากาศในทุกส่วนได้ ทางคณะผู้เชี่ยวชาญจึงกำหนดออกแบบให้อาคารเป็นอาคารประหยัดพลังงานแบบปรับเย็นธรรมชาติ (Passive Design) เป็นหลัก เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นอากาศร้อนจะลอยขึ้นสูงและไหลผ่านระบายออกไปตามช่องเปิดด้านบนตามหลัก Stack Ventilation โดยจะได้รับการถ่ายเทความเย็นและความชื้นจากสระด้านล่าง ซึ่งจะทำให้บริเวณกลางอาคารยังมีความเย็นสบายแม้อุณหภูมิภายนอกจะสูงขึ้น และการเอาน้ำออกจากสระแห่งนี้ยังเป็นการทำลายคุณภาพอากาศภายในอาคารและทำลายเครื่องมือหลักของงาน Passive Design ซึ่งเป็นหัวใจของการออกแบบด้านความน่าสบายและการประหยัดพลังงานของอาคาร
4.การต่อเติมอาคารรัฐสภายังเป็นการทำลายคุณค่าและความหมายของงานสถาปัตยกรรมชิ้นสำคัญของชาติ เนื่องจากงานสถาปัตยกรรมรัฐสภาเป็นสถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัยในเวทีสถาปัตยกรรมโลก ถือเป็นงานศิลปกรรมที่สำคัญชิ้นหนึ่งของชาติที่ต้องยืนอยู่นับ 100 ปี ให้ยั่งยืนต่อไป ส่วนเรื่องร้านค้า ผู้ออกแบบได้เตรียมพื้นที่ไว้ที่ชั้น B1 และ B2 บริเวณโถงทางเข้าหลักที่เป็นพื้นที่ประชาชนต้องผ่านเข้าอาคารและเป็นพื้นที่รองรับกิจกรรมอบรมสัมมนาซึ่งเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมแล้ว
5.ความมั่นคงแข็งแรงที่ลดลงจากการต่อเติม โดยวิศวกรโครงสร้างผู้ออกแบบอาคาร เป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อความมั่นคงแข็งแรงของอาคารตามกฎหมายและมาตรฐานต่าง ๆ ที่ได้กำหนดไว้ ทั้งในเรื่องการรับน้ำหนักพื้นฐาน การต้านทานแรงลม และแผ่นดินไหว ซึ่งหากการต่อเติมอาคารใด ๆ ที่เพิ่มการรับหนักให้ตัวโครงสร้างอาคารอาจส่งผลให้ความแข็งแรงโดยรวมลดลงหรืออาจส่งผลกระทบต่ออาคารได้
ผู้ออกแบบอาคารรัฐสภายังได้กล่าวถึงแนวความการออกแบบศาลาแก้วด้วยว่า ถูกออกแบบให้ใช้งานในงานพิธีที่สำคัญต่าง ๆ เช่น พิธีบวงสรวงพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 และงานพิธีทำบุญในเทศกาลต่าง ๆ ของรัฐสภา ในยามปกติประชาชนสามารถเข้ามาถ่ายภาพและนั่งพักผ่อนได้ เป็นศาลาที่ไม่ติดแอร์แต่สามารถใช้งานได้จริงโดยออกแบบให้มีผ้าใบชนิดเคลือบด้วยอลูมิเนียมสะท้อนแสงกันความร้อนที่เลื่อนปิดกระจกให้ทึบได้ด้วยระบบไฟฟ้า โดยอากาศระหว่างกระจกและผ้าใบจะทำหน้าที่เป็นฉนวนอีกชั้นหนึ่ง ศาลาอยู่ในที่โล่งมีลมพัดสะดวกถูกออกแบบให้ลดอุณหภูมิโดยสระน้ำที่อยู่ล้อมรอบช่วยให้เกิดความน่าสบายเพิ่มขึ้น
ด้านศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ กล่าวว่า จะรับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวไว้พิจารณา เพื่อนำเข้าไปหารือในคณะอนุกรรมาธิการด้านศิลปะสร้างสรรค์ต่อไป
ขอบคุณข้อมูลจาก Fb page : ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ สมาชิกวุฒิสภา