กรมศุลกากรบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อลดการลักลอบเติมน้ำมันเขียว

กรมศุลกากรบูรณาการต่อเนื่อง ลดการลักลอบเติมน้ำมันเขียว แนะผู้ประกอบการลดต้นทุนเชื้อเพลิง พร้อมเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการสถานีบริการ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน
ในวันนี้ (24 กรกฎาคม 2568) นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร พร้อมด้วย นายภาคภูมิ เลิศวัฒนารักษ์ ผู้อำนวยการกองสืบสวนและปราบปราม และพ.ต.ท.ศิโรจน์ ชุมศรี สารวัตรสืบสวนสถานีตำรวจน้ำ 4 กองกำกับการ 6 กองบังคับการตำรวจน้ำ ผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เข้าร่วมสังเกตการณ์วิธีปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการจำหน่ายน้ำมันดีเซลสำหรับชาวประมงในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักร (โครงการน้ำมันเขียว)และเข้าตรวจเยี่ยมผู้ประกอบการสถานีบริการจำหน่ายน้ำมันในเขตต่อเนื่อง (Tanker) บริเวณใกล้เกาะสมุย จำนวน 3 จุด เพื่อรับฟังปัญหาและอุปสรรค ข้อเสนอแนะ และข้อเรียกร้องต่าง ๆ ของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการน้ำมันเขียว รวมถึงร่วมหารือกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการปฏิบัติงานให้เกิดประสิทธิภาพในการปราบปรามการลักลอบนำน้ำมันเขียวมาบริโภคภายในประเทศ อันเป็นการใช้ที่ผิดวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ณ บริษัทท่าเรือขนอม จำกัด จังหวัดนครศรีธรรมราช











นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า การร่วมบูรณาการระหว่างกรมศุลกากร
กรมสรรพสามิต และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในครั้งนี้ เป็นการร่วมสังเกตการณ์วิธีปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการจำหน่ายน้ำมันดีเซลสำหรับชาวประมงในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักร (โครงการน้ำมันเขียว) และเข้าตรวจเยี่ยมผู้ประกอบการสถานีบริการจำหน่ายน้ำมันในเขตต่อเนื่อง (Tanker) ซึ่งเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากครั้งที่แล้ว (เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2568) ซึ่งในครั้งนั้นได้ร่วมกันสังเกตการณ์สถานีบริการฯ จำนวน 1 แห่ง ในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักร (พื้นที่ทางทะเล ใกล้เคียง อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์) สำหรับวันนี้เป็นการเดินทางไปร่วมสังเกตการณ์สถานีบริการฯ จำนวน 3 แห่ง ในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักร (พื้นที่ทางทะเล ใกล้เคียง เกาะสมุยและเกาะพงัน จังหวัดนครศรีธรรมราช)











อธิบดีกรมศุลกากร ยังกล่าวอีกว่า สำหรับโครงการน้ำมันเขียวจะช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการในการ
ลดต้นทุนด้านน้ำมันเชื้อเพลิง และเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการในกิจการประมง อันจะเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจในระดับชุมชนอีกทางหนึ่ง ทั้งสามหน่วยงานจึงให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในส่วนงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับภาคเอกชน ได้แก่ สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ค้าน้ำมันในเขตต่อเนื่อง และชาวประมง เพื่อให้การดำเนินการของทุกภาคส่วน เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เกิดประสิทธิภาพ ตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการ

โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ถึง วันที่ 18 กรกฎาคม 2568 (ระยะเวลากว่า 9 เดือน) มีสถิติการจับกุมการกระทำความผิดที่เกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิง จำนวน 260 ราย มีของกลางที่เป็นน้ำมันเชื้อเพลิง ทั้งสิ้น 255,625 ลิตร คิดเป็นมูลค่า 7,674,429 บาท มูลค่าของกลาง เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ทั้งปี คิดเป็นร้อยละ 29.24