นายแพทย์พรณรงค์ ศรีม่วง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการแนะสังเกตอาการคนใกล้ชิด หากมีพฤติกรรมที่ผิดปกติให้พูดคุยทันที ป้องกันการฆ่าตัวตาย ทั้งนี้ประชาชนสามารถปรึกษาปัญหาด้านสุขภาพจิตได้ที่สายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323
จากข่าวการฆ่าตัวตายทั้งที่สำเร็จและไม่สำเร็จนั้น ขอให้ประชาชนช่วยกันป้องกัน เนื่องจากเป็นเรื่องใกล้ตัว อาจเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยสังเกตความผิดปกติของผู้ใกล้ชิด หากพูดว่า “อยากตาย” “ถ้าตายไป ก็คงดี” “ไม่อยากอยู่แล้ว” มีพฤติกรรมเปลี่ยนไปเช่นแปลกแยก หนีหายออกไปจากสังคม รูปร่างเปลี่ยนแปลงไป บริจาคของส่วนตัว หรือยกให้คนอื่น มีการเตรียมตัวตายเช่น จัดการทรัพย์สินมรดก นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่กระตุ้นหรือเพิ่มความเสี่ยงในการลงมือฆ่าตัวตายได้อีกเช่น ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า
ทั้งนี้ ผู้ใกล้ชิด หรือครอบครัว ควรให้การช่วยเหลือรับฟังอย่างใส่ใจและตั้งใจ การสัมผัสอย่างอ่อนโยน พูดคุย อย่าปล่อยทิ้งไว้ เพื่อให้ได้มีโอกาสระบายความรู้สึกออกมา แต่หากไม่ดีขึ้นขอให้พาไปพบจิตแพทย์ รวมทั้งขอให้ทุกคนสังเกตตัวเองว่ามีความเครียดสะสมหรือไม่ เช่นวิตกกังวลมาก นอนไม่หลับ ให้จัดการความเครียด เช่น ออกกำลังกาย ฝึกลมหายใจ ทำสมาธิ เป็นต้น หาวิธีแก้ปัญหา หากรู้ว่าเครียดจากปัญหาใด ให้พยายามหาวิธีแก้ปัญหาหานั้นโดยเร็ว ฝึกทักษะเช่นการสื่อสาร การสร้างสัมพันธภาพที่ดี การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ คิดบวก ปรับเปลี่ยนความคิด ทัศนคติมุมมองจากแง่ลบเป็นแง่บวก ระบายความรู้สึก ความทุกข์ในใจกับ ผู้ใกล้ชิด หรือโทรปรึกษาสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323