สมาคมชาวนครศรีธรรมราช กรุงเทพมหานคร จัดงานแห่ผ้าขึ้นธาตุ ครั้งที่ 9 พิธีสมโภชผ้าพระบฏ ประทานจากสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก และพิธีถวายข้าวมธุปายาส
เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 08.00 น.ที่ พระมหาเจดีย์พุทธคยา วัดสุวรรณภูมิพุทธชยันตี อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ สมาคมชาวนครศรีธรรมราช กรุงเทพมหานคร จัดงานแห่ผ้าขึ้นธาตุ ครั้งที่ 9 ขึ้น โดยได้รับความเมตตาจาก “พระเดชพระคุณ พระธรรมโพธิวงศ์ (วีรยุทธ วีรยุทฺโธ) เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย หัวหน้าพระธรรมทูต สายประเทศอินเดีย-เนปาล เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พิธีสมโภชผ้าพระบฏ ประทานจากสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก และพิธีถวายข้าวมธุปายาส โดยมี พล.อ.ชนาธิป บุนนาค รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เป็นประธานฝ่ายฆราวาส โดยมี นายนริส วิชัยกุล นายกสมาคมชาวนครศรีธรรมราช กรุงเทพมหานคร กล่าวถวายรายงาน คณะตัวแทน ถวายเครื่องสักการะ และถวายเครื่องไทยธรรม พระเดชพระคุณฯ กล่าวสัมโมทนียคถา ลงนาม เจิมแป้ง ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ ที่ผ้าพระบฏ
จากนั้น พล.อ.ชนาธิป บุนนาค ประธานฝ่ายฆราวาส นายนริส วิชัยกุล นายกสมาคมชาวนครศรีธรรมราช กรุงเทพมหานคร นายมานะ ยวงทอง ประธานจัดงานแห่ผ้าขึ้นธาตุ คุณสุภาพ คงเอียด ที่ปรึกษา สารทเดือนสิบวัดบางนางเกรง คุณอริยะ ปิยจันทร์ ประธานชมรมนักธุรกิจชาวใต้ฯ คุณสิณิสา แจ้งจรัส ประธานชมรมชาวปักษ์ใต้บางนา กรุงเทพฯ นำคณะกรรมการ สมาชิกสมาคมชาวนครศรีธรรมราช กรุงเทพมหานคร สมาชิกสารทเดือนสิบวัดบางนางเกรง สมาชิกชมรมชาวปักษ์ใต้บางนา กรุงเทพฯ สมาชิกชมรมนักธุรกิจชาวใต้ฯ สมาชิกกลุ่ม อสม. หมู่ 4 ต.บางแก้ว และแขกผู้มีเกียรติ ร่วมกันอัญเชิญผ้าพระบฏ ประทานจากสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก และข้าวมธุปายาส เพื่อทำประทักษิณ รอบพระมหาเจดีย์พุทธคยา 3 รอบ ก่อนถวายน้ำนม ดอกไม้ บูชาต้นพระศรีมหาโพธิ์ พระสงฆ์ 9 รูป จากวัดสุวรรณภูมิพุทธชยันตี เจริญพระพุทธมนต์ ประธานฝ่ายฆราวาส และตัวแทนคณะ ถวายภัตตาหาร (ปิ่นโต) และเครื่องไทยธรรม พระสงฆ์ให้ศีล ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ เพื่อความเป็นสิริมงคล
ด้าน นายมานะ ยวงทอง ประธานจัดงานแห่ผ้าขึ้นธาตุ ครั้งที่ 9 ได้เปิดเผยถึงกำหนดการจัดงานประเพณีแห่ผ้าขึ้นองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ณ วัดพระบรมธาตุ วรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช โดยวันอังคารที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 16.00 น. จะมีพิธีเจริญพระพุทธมนต์สมโภชผ้าพระบฏ และวันพุธที่ 16 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 13.00 น. จะประกอบพิธีบวงสรวงถวายผ้าพระบฏ เวลา 15.00 น.จะมีพิธีอัญเชิญผ้าพระบฎตั้งขบวนหน้าศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช แห่ผ้าห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ทั้งนี้ จึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนชาว จ.นครศรีธรรมราช และจังหวัดใกล้เคียง เข้าร่วมงาน
ตามตำนานประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุมีว่า ในสมัยที่พระเจ้าสามพี่น้อง คือ พระเจ้าศรีธรรมโศกราช พระเจ้าจันทรภาณุ และพระเจ้าพงษาสุระ กำลังดำเนินการสมโภชพระบรมธาตุอยู่นั้น คลื่นได้ซัดผ้าแถบยาวชิ้นหนึ่ง ซึ่งมีลายเขียนเรื่องราวพุทธประวัติ (เรียกว่า พระบฎ หรือ พระบต) ขึ้นที่ชายหาดปากพนัง จึงนำผ้าผืนนั้นไปถวายพระเจ้าศรีธรรมโศกราช พระองค์จึงรับสั่งให้ซักจนสะอาด แต่ลายเขียนพุทธประวัติก็ไม่ลบเลือนยังคงสมบูรณ์ดีทุกประการ จึงรับสั่งให้ประกาศหาเจ้าของ ได้ความว่าชาวพุทธกลุ่มหนึ่ง จะเดินทางไปลังกา เพื่อนำพระบฎไปถวายเป็นพุทธบูชาพระทันตธาตุ คือ พระเขี้ยวแก้ว แต่เรือถูกมรสุมซัดแตกที่ชายฝั่งเมืองนครมีรอดชีวิต 10 คน ส่วนพระบฏถูกคลื่นซัดขึ้นฝั่งปากพนัง พระเจ้าศรีธรรมโศกราชทรงพิจารณาเห็นว่าควรจะนำขึ้นไปห่มพระบรมธาตุเจดีย์เนื่องในโอกาสสมโภชพระบรมธาตุ เจ้าของพระบฎที่รอดชีวิตก็ยินดีด้วย จึงโปรดให้ชาวเมืองนครจัดเครื่องประโคมแห่แหนผ้าห่มโอบฐานพระบรมธาตุเจดีย์ จึงเป็นประเพณีประจำเมืองนครสืบมา
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้มีการแห่ผ้าขึ้นธาตุในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 คือ วันวิสาขบูชา เรียกว่า “แห่พระบฎขึ้นธาตุ” มีการเวียนเทียนรอบองค์พระบรมธาตุ ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้มีการแห่ผ้าขึ้นธาตุ ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 คือ วันมาฆบูชา เพื่อให้พุทธศาสนิกชนที่อยู่ห่างไกลหรือไม่มีโอกาสกระทำพุทธบูชาในวันวิสาขบูชาได้มีโอกาสแห่ผ้าขึ้นธาตุในวันมาฆบูชาตามศรัทธาด้วย ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุของเมืองนครจึงมีปีละ 2 ครั้ง คือ ในวันเพ็ญเดือน 3 (วันมาฆบูชา) และในวันเพ็ญเดือน 6 (วันวิสาขบูชา) สืบมาจนทุกวันนี้
เดิมการแห่ผ้าขึ้นธาตุกระทำกันโดยพร้อมเพรียงเป็นขบวนที่เอิกเกริกเพียงขบวนเดียว ต่อมา ประชาชนมาจากหลายทิศหลายทาง แต่ละคนต่างเตรียมผ้ามาเองทำให้การแห่ผ้าขึ้นธาตุไม่พร้อมเพรียงเป็นขบวนเดียวกัน เพราะใครจะแห่ผ้าขึ้นธาตุในเวลาใดก็ได้ตามสะดวกตลอดทั้งวัน เมื่อขบวนแห่มาถึงวัดพระบรมธาตุวรมหาวิหาร ก็แห่ทักษิณาวัตรรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ 3 รอบ แล้วนำผ้าเข้าสู่วิหารม้า ซึ่งมีบันไดขึ้นสู่ลานภายในกำแพงแก้วล้อมฐานพระบรมธาตุเจดีย์ เพื่อนำผ้าขึ้นห่มโอบฐานพระบรมธาตุเจดีย์ซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ถือว่าเป็นการบูชาพระพุทธเจ้าอย่างใกล้ชิด