ปิดตำนานซีอุย เอกพัน บรรลือฤทธิ์ และเจ้าหน้าที่มูลนิธิร่วมกตัญญู นำร่างซีอุยจากพิพิธภัณฑ์มาบรรจุใส่โลงฌาปนกิจ
ปิดตำนานซีอุย เอกพัน บรรลือฤทธิ์ และเจ้าหน้าที่มูลนิธิร่วมกตัญญู นำร่างซีอุยจากพิพิธภัณฑ์มาบรรจุใส่โลงฌาปนกิจ ที่เมรุวัดบางแพรกใต้ นนท์บุรี
เมื่อวันที่ 23 ก.ค.63 ที่พิพิธภันฑ์นิติเวชศาสตร์ อาคารอดุลยเดชวิกรม โรงพยาบาลศิริราช ถนนวังหลัง แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพ เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และมูลนิธิร่วมกตัญญูโดยนายเอกพัน บรรลือฤทธิ์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่-อาสาสมัครฯ มารับร่าง นายลีอุย แซ่อึ้ง หรือ ซีอุย ที่ภายในพิพิธภันฑ์นิติเวชศาสตร์ เพื่อนำไปประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลและฌาปนกิจตามประเพณี ณ วัดบางแพรกใต้ อ.เมืองนนทบุรี จ.นนทบุรี โดยการเคลื่อนร่างมีตัวแทนจากกระทรวงยุติธรรม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ร่วมเป็นสักขีพยาน โดยทางคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลร่วมเป็นเจ้าภาพในพิธีฌาปนกิจ ซึ่งจะเป็นไปอย่างเรียบง่าย
สำหรับประวัตินายซีอุย หรือหลีอุย แซ่อึ้ง มีผู้บันทึกไว้ อ้างว่า ซีอุยเป็นชาวเมืองซัวเถา ประเทศจีน เกิดปี พ.ศ.2470 พออายุ 18 ปี ถูกเกณฑ์ทหารไปรบกับกองทัพญี่ปุ่น ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะถูกปิดล้อมอดอยากได้ควักอวัยวะจากศพเพื่อนทหารมาต้มกินประทังชีวิต หลังสงครามสงบได้อพยพหนีความแร้นแค้นมาเป็นจับกังในเมืองไทย ต่อมาซีอุยถูกจับข้อหาทำลายศพเด็กชายใน จ.ระยอง และถูกกล่าวหาโยงกับคดีฆ่าเด็ก ผ่าท้องควักอวัยวะภายในออกมาอีก 6 คดีในพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ พระนคร และนครปฐม เจ้าตัวรับสารภาพเพียงคดีใน จ.ระยอง และปฏิเสธคดีอื่นๆ
ต่อมาซีอุยถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยการยิงเป้า เมื่อวันที่ 16 ก.ย.2502 หลังเสียชีวิต คณะแพทยศาสตร์ รพ.ศิริราช ได้ทำเรื่องขอศพซีอุยมาศึกษาเพื่อหาเหตุแห่งความวิปริตผิดมนุษย์ และเก็บศพจัดแสดงไว้ที่ตึกกายวิภาค มีป้ายเขียนว่า “นายซีอุย แซ่อึ้ง (มนุษย์กินคน)”กระทั่งปี 2562 มีการรณรงค์ให้เผาศพซีอุย และคืนสิทธิความเป็นมนุษย์และความชอบธรรมให้กับผู้ตาย