วันนี้ (5 กรกฎาคม 2565) เวลา 10.00 น. นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร พร้อมด้วย นายพงศ์เทพ บัวทรัพย์ รองอธิบดีกรมศุลกากร นายปิยะศิริ วัฒนวรางกูร รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) นายปฤณ เมฆานันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการปราบปรามยาเสพติด สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พล.ต.ท. พรชัย เจริญวงศ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ปฏิบัติราชการ รอง ผบช.ปส. พล.ต. ธีรเดช กลัมพสุต ผู้อำนวยการสำนักปฏิบัติการข่าว ศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.) นายโคดี้ ต่ง เลขานุการฝ่ายกฎหมาย จากสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย (MJIB) ร่วมแถลงข่าวตรวจยึดยาเสพติดให้โทษประเภท 2 (เคตามีน) น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้มประมาณ 50 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 15 ล้านบาท ณ ศูนย์แถลงข่าว ชั้น 2 อาคาร 1 กรมศุลกากร
นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า กรมศุลกากรในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าส่งออกยาเสพติด อีกทั้ง ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ ที่ 11/2564 มีคำสั่งแต่งตั้งอธิบดีกรมศุลกากรเป็นประธานอนุกรรมการ สกัดกั้นการลักลอบส่งออก และนำเข้ายาเสพติดผ่านช่องทางศุลกากร เพื่อบูรณาการสกัดกั้นยาเสพติด สารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์จำเป็นในการผลิตยาเสพติดผ่านช่องทางศุลกากร กรมศุลกากรจึงเร่งรัดดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อสกัดกั้นการลักลอบเคลื่อนย้ายยาเสพติดข้ามชาติให้ได้ผลอย่างเป็นรูปธรรม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีผลการปราบปราม ดังนี้
เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2565 กองสืบสวนและปราบปราม กรมศุลกากร ได้ตรวจสินค้าที่มีลักษณะตรงตามความเสี่ยงในการกระทำความผิดเกี่ยวกับการลักลอบลำเลียงยาเสพติดไปยังต่างประเทศ สำแดงชนิดสินค้าเป็นเครื่องซีลสูญญากาศ โดยจะส่งออกทางท่าเรือกรุงเทพ ประเทศไทย ปลายทางไต้หวัน จึงได้ประสานข้อมูลร่วมกับหน่วยร่วมตามโครงการสกัดกั้นยาเสพติดพื้นที่ท่าเรือ (Seaport Interdiction Task Force: SITF) ประกอบด้วยกรมศุลกากร สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.) กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) และศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) ร่วมกันตรวจสอบสินค้าดังกล่าว เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2565 จากภาพเอกซเรย์พบความผิดปกติอยู่ภายในเครื่องซีลสูญญากาศ จึงได้ตรวจสอบโดยละเอียด พบวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 (เคตามีน) น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้มประมาณ 50 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 15 ล้านบาท หากส่งออกไปยังประเทศไต้หวันจะมีมูลค่าในราคาขายส่ง ประมาณ 87.5 ล้านบาท และมีมูลค่าในราคาขายปลีกประมาณ 175 ล้านบาท จึงได้ร่วมกันตรวจยึดพร้อมทั้งขยายผลหาผู้เกี่ยวข้อง
อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวต่ออีกว่า สำหรับสถิติการตรวจยึด – จับกุมคดียาเสพติดของกรมศุลกากร ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 จนถึงปัจจุบัน มีทั้งหมด 93 คดี รวมมูลค่ากว่า 2,312 ล้านบาท ซึ่งกรมศุลกากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมมือกันสกัดยาเสพติดไม่ให้เข้าหรือออกนอกราชอาณาจักรของไทยผ่านช่องทางศุลกากรอย่างเข้มงวดต่อไป