วันที่ 11 กันยายน 2565 นายพชร ศศิชาชยานนท์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า ทางสำนักงานได้ออกหนังสือสรุปสถานการณ์อุทกภัยจากการเกิดฝนตกหนักในเขตพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ ตั้งแต่ช่วงค่ำวันที่ 9 กันยายนจนถึงวันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา พบว่า อำเภอบางพลี เกิดน้ำท่วมสูงในเขตพื้นที่ ต.บางแก้ว ต.บางโฉลง ต.หนองปรือ และ ต.ราชาเทวะ โดยเฉลี่ยมีระดับน้ำสูง 5-10 ซม. อ.บางบ่อ ในเขต ต.บางบ่อ ต.เปร็ง ต.บ้านระกาศ และ ต.บางเพรียง ระดับน้ำสูง 5-50 ซม. และ อ.บางเสาธง ในเขต ต.บางเสาธง หมู่ที่ 1-17 ต.ศีรษะจระเข้น้อย หมู่ 1-12 และ ต.ศีรษะจระเข้ใหญ่ หมู่1-9 โดยเฉลี่ยระดับน้ำสูง 5-30 ซม.
“ในส่วนความช่วยเหลือทางจังหวัดได้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ประสบปัญหาอุทกภัย กองทัพเรือ กรมชลประทาน ในส่วนทางอำเภอได้มีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการความช่วยเหลือ พร้อมบัญชาการณ์สถานการณ์น้ำท่วม”
“ในส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง อบจ.สมุทรปราการ เทศบาลฯ และอบต.ในเขตพื้นที่น้ำท่วม ได้ทำการติดตั้งเครื่องสูบน้ำตามจุดสำคัญกว่า 50 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำ ตลอดจนำกระสอบทรายแจกจ่ายให้กับชาวบ้านตามจุดต่าง ๆที่เกิดน้ำท่วมขัง”
นายพชร ศศิชาชยานนท์ กล่าวต่อว่า กรณีน้ำท่วมขังหมู่บ้านทิพมาศ-เสรี บางนา เขตอำเภอบางบ่อ ที่มีระดับน้ำสูง 50 ซม. ทางอำเภอบางบ่อ ร่วมกับกองทัพเรือ มูลนิธิร่วมกตัญญู ได้นำรถ และเรือท้องแบนมาบริการช่วยเหลืออำนวยความสะดวกการเคลื่อนย้ายชาวบ้านในการเข้า-ออกพื้นที่ที่เดือดร้อน พร้อมจัดบริการอาหารและน้ำดื่มแจกจ่ายชาวบ้าน
“สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันล่าสุด พบบางพื้นที่ที่ไม่อยู่ริมคลองสถานการณ์ได้กลับสู่ภาวะปกติ ส่วนชุมชนริมคลองยังคงได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขัง เนื่องจากน้ำในคลองยังคงมีระดับสูง ประชาชนยังคงสัญจรไปมาได้ตามปกติ ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ จะเกิดจาก 3 สาเหตุหลัก คือ น้ำทะเลขึ้นหนุน น้ำเหนือไหลบ่า และปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในทุกปีจะต้องประสบปัญหาดังกล่าว เนื่องจากเป็นภัยธรรมชาติ โดยทางจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการจัดประชุมแผนเตรียมความพร้อมแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี” นายพชร ศศิชาชยานนท์ กล่าวปิดท้าย