อาชญากรรม

สำนักงานศุลกากรภาคที่ 2 จับกุมบุหรี่ไฟฟ้า ลักลอบนำเข้า จำนวนมาก มูลค่ารวม 7 ล้านบาท

%e0%b8%aa%e0%b8%b3%e0%b8%99%e0%b8%b1%e0%b8%81%e0%b8%87%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b8%a8%e0%b8%b8%e0%b8%a5%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%81%e0%b8%a3%e0%b8%a0%e0%b8%b2%e0%b8%84%e0%b8%97%e0%b8%b5%e0%b9%88-2

ตามที่ นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร มีนโยบายมุ่งเน้นการป้องกันและปราบปราม การลักลอบนำเข้าสินค้าต้องห้ามต้องจำกัด เพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง จึงได้มอบหมายให้ นายพงศ์เทพ บัวทรัพย์ รองอธิบดีกรมศุลกากร รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านการพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร และนายพร้อมชาย สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรภาคที่ 2 สั่งการให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรในพื้นที่ตรวจสอบและเฝ้าระวังเป็นพิเศษ 

นายชนินทร์ ศุภรินทร์ ผู้อำนวยการส่วนควบคุมทางศุลกากร และนายเรวัตน์ บางพา หัวหน้าฝ่ายสืบสวนและปราบปราม ได้นำเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนและปราบปราม ส่วนควบคุมทางศุลกากร สำนักงานศุลกากรภาคที่ 2 ลงพื้นที่สืบสวนอย่างเข้มงวด และจากการตรวจสอบโดยละเอียดพบการกระทำความผิดในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา มีพฤติกรรมซุกซ่อนและจำหน่ายสินค้าประเภทบุหรี่ไฟฟ้า น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 จึงได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ศุลกากรหน่วยสืบสวนปราบปรามประจำพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ฝปป.2 สปป.1 กสป. และด่านศุลกากรช่องจอม วางแผนตรวจค้น-จับกุม พื้นที่เป้าหมายในตัวเมืองจังหวัดนครราชสีมา รวม 4 แห่ง ผลการตรวจค้นพบบุหรี่ไฟฟ้า น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง จำนวนมาก มูลค่ารวม 7 ล้านบาท เจ้าหน้าที่ ฯ ได้ทำการยึดของกลาง พร้อมทั้งควบคุมตัวผู้ต้องหาทั้งหมด ส่งสำนักงานศุลกากรภาคที่ 2 เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

โดยสินค้าประเภทบุหรี่ไฟฟ้า และน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้านั้นถือเป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง “กำหนดให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557 ลงวันที่ 12 ธันวาคม 2557” จุดประสงค์เพื่อป้องกันมิให้นำสินค้าดังกล่าวไปใช้อันก่อให้เกิดปัญหาทางด้านสุขภาพ สุขอนามัย สังคม ความมั่นคง ของประเทศ และความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน และเป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้าหรือส่งออก ตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 การจำหน่ายของซึ่งตนรู้ว่าเป็นความผิดดังกล่าว เป็นความผิดตามมาตรา 246 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของรวมค่าอากร หรือทั้งจำทั้งปรับ  

0 Comments
Share

Admin

Reply your comment

Your email address will not be published. Required fields are marked*