เมื่อวันที่ ๒๗ มิ.ย.๒๕๖๕ “ครม.มีมติยกเลิก พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คแล้ว” และต่อมาวันที่ ๓๑ ต.ค. ๒๕๖๕ ได้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๕๓๔ พ.ศ. … ต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อบรรจุระเบียบวาระเป็นเรื่องด่วน ทำให้ประชาชนทั่วไป รวมถึงนักกฎหมายหลายท่าน สงสัยว่า
“มีการยกเลิกการกระทำความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คไปแล้ว โดยจะมีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นเวลา ๑๒๐ วัน”แล้ว พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๕๓๔ จะยังคงใช้บังคับใช้ได้อีกต่อไปหรือไม่
มาดูเหตุผลว่า “ เหตุใด ครม.จึงมีมติยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๕๓๔ ? ”
สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ คือ จะยกเลิก พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๕๓๔ ทำให้ เมื่อมีกรณีลูกหนี้สั่งจ่ายเช็คโดยไม่มีเจตนาทุจริต แต่เช็คไม่สามารถขึ้นเงินได้ เพราะเงินในบัญชีของลูกหนี้ไม่เพียงพอ หรือที่เรียกว่า “เช็คเด้ง” จะเหลือเพียงมูลความผิดที่ฟ้องร้องกันทางแพ่ง เท่านั้น จะไม่มีโทษทางอาญาที่ต้องถูกปรับหรือจำคุกอีกต่อไป
ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๕๓๔ นั้น หากเกิดกรณี “เช็คเด้ง” ไม่ว่าจะมีเจตนาทุจริตหรือไม่ ลูกหนี้ต้องรับผิดและมีโทษทางอาญา ถูกปรับหรือจำคุกหรือทั้งจำทั้งปรับ เสมือนลูกหนี้ต้องเอาเสรีภาพของตนเองเป็นประกันว่า “เช็คจะไม่เด้ง”
ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว การที่เงินในบัญชีไม่พอจ่าย เจ้าหนี้ควรฟ้องร้องทางแพ่ง เรียกเงินตามเช็คเท่านั้น แต่เมื่อมี พ.ร.บ เช็ค พ.ศ.๒๕๓๔ ฯ ฉบับนี้ ทำให้ทางปฏิบัติเจ้าหนี้มักเลือก “ฟ้องเป็นคดีอาญา” เพื่อข่มขู่ บีบบังคับให้ลูกหนี้ต้องชำระหนี้ตามเช็ค
“ปัจจุบันเทคโนโลยีทางการเงินมีการเปลี่ยนไปมาก มีการใช้ทั้งบัตรเครดิต บัตรเดบิต การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ เข้ามาแทนที่การใช้เช็ค แต่หากยังคงมี พ.ร.บ. เช็ค พ.ศ.๒๕๓๔ ฯ ฉบับนี้ไว้ อาจจะเป็นการใช้โทษอาญาในทางที่ไม่เหมาะสม รัฐบาลจึงเร่งรัดให้มีการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ โดยให้การจัดการหนี้สินระหว่างเจ้าหนี้ กับ ลูกหนี้ อยู่ภายใต้กฎหมายที่เป็นธรรม
โดยเมื่อกฎหมายยกเลิก พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มีผลใช้บังคับแล้ว “ผู้ที่ต้องโทษอยู่” จะได้รับการ “ปล่อยตัวทันที” หรือ หากศาลพิจารณาคดีอยู่ก็จะ “จำหน่ายคดีส่วนอาญา” ออกไป และต่อไปนี้เจ้าหนี้จะไม่สามารถฟ้องทางอาญาเพื่อบีบบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตามเช็คได้อีกต่อไป”
อย่างไรก็ตาม แม้จะยกเลิกพ.ร.บ. เช็ค ๒๕๓๔ ฉบับนี้แล้วก็ตาม แต่ก็ยังคงมีบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายอาญา ลงโทษลูกหนี้ที่ “สั่งจ่ายเช็คเด้งโดยมีเจตนาทุจริต” โดยอาจเป็นความผิดฐาน “ฉ้อโกง” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑ ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๓ ปี หรือปรับไม่เกิน ๖๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับได้ (หากได้ความว่า การสั่งจ่ายเช็คดังกล่าวมีการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ แล้วได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้อื่น)
นอกจากนี้ การยกเลิก พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ ดังกล่าว จะเป็นการปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา ๗๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ( รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จําเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจําเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดํารงชีวิตหรือการประกอบอาชีพ โดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน ) และ ให้พึง “กำหนดโทษทางอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง” เท่านั้น และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ที่กำหนดว่า “บุคคลจะถูกจำคุกเพียงเพราะเหตุว่าไม่สามารถปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาไม่ได้ ”
แต่จนถึงปัจจุบัน ยังคงไม่ได้มีการออก “พระราชบัญญัติยกเลิก พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.๒๕๓๔” หรือ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ…………. (ฉบับใหม่) จึงทำให้เกิด ความสงสัยหรือความกังวล ทั้งฝ่ายของลูกหนี้, ผู้ออกเช็ค หรือผู้สั่งจ่ายเช็ค และฝ่ายเจ้าหนี้, ผู้รับเช็ค หรือผู้รับชำระหนี้ ว่า “จะยังคงบังคับใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.๒๕๓๔ ได้อีกต่อไปหรือไม่ ? หรือยังคงสามารถ รับเช็คเพื่อชำระหนี้ได้อีกต่อไป หรือไม่?
ก่อนอื่นมารู้จัก “พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๕๓๔ ” กันก่อน
องค์ประกอบความผิด : มาตรา ๔ ผู้ใด ออกเช็ค เพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๑) เจตนาที่จะ ไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น
(๒) ในขณะที่ออกเช็คนั้นไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้
(๓) ให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น
(๔) ถอนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนออกจากบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินตามเช็คจนจำนวนเงินเหลือไม่เพียงพอที่จะใช้เงินตามเช็คนั้นได้
(๕) ห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คนั้นโดยเจตนาทุจริต ( หรือที่เรียกว่า สั่งอายัดเช็ค)
เมื่อได้มีการ “ยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย” ถ้า “ธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น ผู้ออกเช็คมีความผิดต้องระวางโทษ ปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือ จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ
องค์ประกอบสำคัญ คือ เช็คที่ออก หรือสั่งจ่ายนั้น ต้องเป็นเช็คที่มีมูลหนี้ และเป็นมูลหนี้ที่มีอยู่จริงด้วย และเป็นมูลหนี้ที่บังคับได้ตามกฎหมายด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๔๙๘/๒๕๑๔ จำเลยออกเช็คเพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้ โดยไม่มีเจตนาที่จะให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้นมอบให้แก่ ต. แล้วต่อมา ต. ได้นำเช็คฉบับนี้ไปขอแลกเงินสด(เช็คแลกเงินสด โดยไม่มีมูลหนี้ที่แท้จริง) จากผู้เสียหาย โดยขณะที่ผู้เสียหายรับเช็คไว้รู้ดีอยู่แล้วว่า เป็นเช็คที่ไม่มีเงิน ดังนี้แม้ธนาคารจะปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค เมื่อผู้เสียหายนำไปยื่นขอรับเงิน จำเลยก็ยังไม่มีความผิดฐานออกเช็คโดยมีเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น
คดีเช็ค เป็นคดีความผิดอันยอมความได้ ดังนั้นจึงสามารถ “ถอนคำร้องทุกข์” ได้
มาตรา ๕ “ความผิดตามมาตรา ๔ เป็นความผิดอันยอมความได้”
ดังนั้น เมื่อคดีเช็คเป็นคดีความผิดอันยอมความได้ จึงมีความจำเป็นต้อง “ร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดี” และต้องร้องทุกข์ภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายด้วย
ถ้าไม่ได้ “ร้องทุกข์/ดำเนินคดี ภายในกำหนด ๓ เดือน นับแต้รู้เรื่องและรู้ตัวผู้กระทำผิด คดีเป็นอันขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายอาญา “มาตรา ๙๖ ภายใต้บังคับมาตรา ๙๕ ในกรณีความผิดอันยอมความได้ ถ้าผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ”
คดีเลิกกัน : มาตรา ๗ ถ้า “ผู้กระทำความผิด” ตามมาตรา ๔ ได้ใช้เงินตามเช็คแก่ “ผู้ทรงเช็ค” หรือแก่ “ธนาคาร” ภายใน สามสิบวัน นับแต่วันที่ผู้ออกเช็คได้รับหนังสือบอกกล่าวจากผู้ทรงเช็คว่าธนาคาร ไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น หรือหนี้ที่ผู้กระทำความผิดตามมาตรา ๔ ได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นได้สิ้นผลผูกพันไป ก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ให้ถือว่าคดีเลิกกัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ดังนั้น แม้ความผิด (ตาม พ.ร.บ. เช็ค ๒๕๓๔) จะสำเร็จแล้วก็ตาม แต่ก็สามารถทำให้ “คดีเลิกกัน” ได้ด้วยการ
(๑) “ใช้เงินตามเช็ค” แก่ “ผู้ทรงเช็ค” หรือแก่ “ธนาคาร” ภายใน สามสิบวัน นับแต่วันที่ผู้ออกเช็คได้รับหนังสือบอกกล่าวจากผู้ทรงเช็ค ว่าธนาคารไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น (เช็คเด้ง)
(๒) หนี้ที่ผู้กระทำความผิดตามมาตรา ๔ ได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้น ได้สิ้นผลผูกพัน
กล่าวโดยสรุป ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.๒๕๓๔ จะเห็นได้ว่า “ ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย แล้วธนาคารปฏิเสธมิให้มีการใช้เงิน ตามเช็ค โดยมีเจตนาและพฤติการณ์ตามมาตรา ๔ (๑) ถึง (๕) และมิได้มีการกระทำที่ทำให้ “ คดีเลิกกัน” ตามมาตรา ๗ แล้ว ย่อมต้องรับผิดตามมาตรา ๔ ซึ่งระวางโทษ ปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือ จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ
แต่เมื่อ คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ “ยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.๒๕๓๔” แล้ว แต่ปัจจุบันกลับยังคงไม่ได้มีการออก พระราชบัญญัติยกเลิก พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.๒๕๓๔” หรือ ออก พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ…………. ( ฉบับใหม่) จึงทำให้เกิด ความสงสัยหรือความกังวล ว่า “จะยังคงบังคับใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.๒๕๓๔ ได้อีกต่อไปหรือไม่ ? หรือยังคงสามารถ รับเช็คเพื่อชำระหนี้ได้อีกต่อไป หรือไม่?
บัดนี้ ศาลฎีกา ได้มีคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๒๗๙/๒๕๖๖ ได้วางหลักในเรื่องนี้ ดังนี้
“แม้คณะรัฐมนตรีมีมติยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.๒๕๓๔ แต่รัฐยังมิได้มีพระราชบัญญัติยกเลิก พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ๒๕๓๔ ยังคงมีผลใช้บังคับและมีโทษตามกฎหมายในทางอาญา”
ฉะนั้น จึงยังคงต้องถือว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ยังคงมีผลใช้บังคับและมีโทษตามกฎหมายในทางอาญาอยู่ต่อไป ( จนกว่าจะออก พระราชบัญญัติยกเลิก พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.๒๕๓๔ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ…………. ( ฉบับใหม่)
จึงต้องถือว่า “เช็คเด้ง” หากเข้าองค์ประกอบความผิดตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.๒๕๓๔ แล้ว และหากไม่ได้มีการยอมความหรือถอนคำร้องทุกข์แล้ว หรือมีการกระทำให้คดีเลิกกันตามมาตรา ๗ ผู้สั่งจ่ายเช็คย่อมอาจถูกจำคุก หรือ ติดคุกได้
ฉะนั้น เจ้าหนี้ ผู้รับเช็คชำระหนี้ จึงไม่ต้องกังวลถึงขนาดไม่ยอมรับเช็คชำระหนี้อีกต่อไป และฝ่ายลูกหนี้ หรือผู้สั่งจ่ายเช็ค ก็จะต้องระมัดระวัง และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการสั่งจ่ายเช็ค และกำหนดเวลาและจำนวนเงินตามเช็ค เพื่อมิให้ต้องรับโทษจำคุก
อย่าไปนึกว่า “ครม.มีมติยกเลิก พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.๒๕๓๔ แล้ว การสั่งจ่ายเช็คแล้วเช็คเด้งจะไม่ติดคุกนะครับ”
•วรเทพ สกุลพิชัยรัตน์
อัยการศาลสูงจังหวัดสมุทรปราการ
อดีต รองประธานคณะอนุกรรมการการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม(คนที่สอง)ในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร