แต่เดิม “ โทษทางอาญา” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๘ จะมีแต่ “ประหารชีวิต, จำคุก, กักขัง , ปรับ และริบทรัพย์สิน ”
เมื่อผู้กระทำความผิดต่อกฎหมายอาญา ย่อมต้องถูกจับกุมดำเนินคดี ต้องถูกพิมพ์มือและบันทึกประวัติอาชญากร แม้ว่าจะกระทำความผิดซึ่งมีแต่เพียงโทษปรับสถานเดียวก็ตาม
แต่ต่อมา เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๕ ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา“ พระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. ๒๕๖๕ ” โดยจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๖๖ เป็นต้นไป เว้นแต่ กฎหมายในบัญชี ๑ และบัญชี ๓ ท้าย พ.ร.บ. นี้มีผลใช้บังคับในวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๖
เจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. ๒๕๖๕
เพื่อเป็นการ “ ปรับปรุงกฎหมายในการกำหนดโทษอาญาให้เหมาะสมกับสภาพความผิดหรือกำหนดมาตรการลงโทษให้เหมาะสมกับการกระทำความผิดและฐานะของผู้กระทำความผิด เพื่อมิให้บุคคลต้องรับโทษหนักเกินสมควร หรือต้องรับภาระในการรับโทษที่แตกต่างกันอันเนื่องมาจากฐานะทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ในบางกรณีผู้กระทำความผิดอาจจะเป็นเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือ กระทำไป เพราะความยากจนเหลือทนทาน และเมื่อได้กระทำความผิดแล้ว ก็ต้องถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา เช่น ถูกจับกุม คุมขัง พิมพ์ลายนิ้วมือ และลงบันทึกประวัติอาชญากรเป็นประวัติติดตัวตลอดไป ซึ่งนานาประเทศได้เริ่มปรับเปลี่ยน บทลงโทษจากความผิดอาญา เป็น “มาตรการอื่นที่มิใช่โทษอาญา” รวมทั้งการใช้ มาตรการอื่นแทนการลงโทษทางอาญา เช่น การคุมประพฤติฯ
ทั้งนี้ โดยการปรับเปลี่ยนโทษอาญาบางประการที่มุ่งต่อการ ปรับเป็นเงินตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัติ เปลี่ยนเป็น “ มาตรการปรับเป็นพินัย” ที่สร้างขึ้นใหม่ ไม่ให้มีสภาพเป็นโทษอาญา โดยกำหนด “ หลักเกณฑ์ให้ใช้ดุลพินิจกำหนดค่าปรับ” ที่ต้องชำระให้เหมาะสมกับสภาพ “ ความร้ายแรงแห่งการกระทำ ”และ “ฐานะทางเศรษฐกิจของผู้กระทำความผิด”ให้สอดคล้องกัน และในกรณีที่ผู้กระทำความผิดไม่มีเงินชำระค่าปรับ อาจขอทำงานบริการสังคมหรือ ทำงานสาธารณประโยชน์แทนการชำระค่าปรับได้ โดยไม่มีการกักขังแทนค่าปรับดังเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อันจะเป็นการช่วยทำให้ประชาชน ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการทางอาญา และไม่มีประวัติอาชญากรรมติดตัวอีกต่อไป
นอกจากนั้น กฎหมายบางฉบับที่กำหนดให้มี “โทษทางปกครอง” แต่บัญญัติให้ฟ้องคดี
ต่อศาลที่มีเขตอำนาจในการพิจารณาคดีอาญาเพื่อ บังคับชำระค่าปรับทางปกครอง ไว้แล้ว สมควรเปลี่ยนโทษดังกล่าวเป็นมาตรการปรับเป็นพินัยเช่นเดียวกัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
- ความผิดทางพินัย หมายความว่าอย่างไร ?
“ความผิดทางพินัย” หมายความว่า การกระทำหรืองดเว้นกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่
ปฏิบัติตามกฎหมาย และกฎหมายนั้นบัญญัติให้ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัย (มาตรา ๓ วรรคสอง)
- ความผิดทางพินัย ไม่ถือว่า เป็นความผิดทางอาญา”
และไม่ถือว่าการปรับเป็นพินัยหรือคำสั่งปรับเป็นพินัยเป็นการกระทำทางปกครองหรือคำสั่ง
ทางปกครอง (มาตรา ๕)
ปรับเป็นพินัย หมายความว่าอย่างไร ?
“ปรับเป็นพินัย” หมายความว่า สั่งให้ผู้กระทำความผิดทางพินัยต้องชำระค่าปรับเป็นพินัย ไม่เกินที่กฎหมายกำหนด (มาตรา ๓ วรรคหนึ่ง)
- เจ้าหน้าที่ของรัฐ หมายความว่าอย่างไร ?
“เจ้าหน้าที่ของรัฐ” หมายความว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ เจ้าพนักงาน นายทะเบียน คณะ
บุคคล และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เรียกชื่ออย่างอื่น บรรดาที่กฎหมายบัญญัติให้มีอำนาจปรับเป็นพินัยหรือที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดให้เป็นผู้มีอำนาจปรับเป็นพินัยตามมาตรา ๑๔ (มาตรา ๓ วรรคสาม)
- ความผิดทางพินัย คือ ความผิดที่มีลักษณะอย่างไร ?
“ความผิดทางพินัย” คือ ความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวตามบัญชี ๑ บัญชี ๒ และ
ข้อบัญญัติท้องถิ่นที่กำหนดความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียว หรือความผิดที่มีโทษปรับทางปกครองตามบัญชี ๓ ท้ายพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. ๒๕๖๕ ซึ่งได้เปลี่ยนเป็นความผิดทางพินัยแล้วตามพระราชบัญญัตินี้หรือความผิดตามกฎหมายที่อาจบัญญัติขึ้นในอนาคตซึ่งกำหนดให้เป็นความผิดทางพินัย
อาจกล่าวได้ว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ.2565 เป็นกฎหมายกลางที่กำหนดหลักเกณฑ์ในทางสารบัญญัติและวิธีสบัญญัติเพื่อใช้ในการพิจารณาและกำหนดค่าปรับสำหรับความผิดที่มีกฎหมายกำหนดให้ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัย (มาตรา ๕) และ “ปรับเป็นพินัย” เป็นการบัญญัติชื่อขึ้นใหม่ซึ่งเป็นมาตรการในการลงโทษผู้กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่ “ ไม่ใช่ ความผิดร้ายแรง แทนโทษปรับทางอาญาและโทษทางปกครอง”
- ผู้กระทำผิดทางพินัย ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัย ตามจำนวนเงินที่ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือ ศาลกำหนด ตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งต้องไม่เกินจำนวนสูงสุดที่กฎหมายซึ่งบัญญัติความผิดทางพินัยนั้นบัญญัติไว้ เว้นแต่พระราชบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น (มาตรา ๗)
หลักในการพิจารณาและกำหนดค่าปรับเป็นพินัย :
เป็นการเปลี่ยนความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวและความผิดที่มีโทษทางปกครองเป็น “ความผิดทางพินัย” โดยใช้หลักการพิจารณาให้เหมาะสมกับสภาพความผิดและกำหนดค่าปรับให้เหมาะสมกับฐานะของผู้กระทำความผิด โดยให้พิจารณาจาก ระดับความรุนแรงของผลกระทบต่อชุมชนหรือสังคม,ความรู้ผิดชอบ อายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม, ผลประโยชน์ที่ผู้กระทำความผิดหรือบุคคลอื่นได้รับจากการกระทำความผิดทางพินัย และสถานะทางเศรษฐกิจของผู้กระทำความผิดด้วย โดยจะให้ “ ผ่อนชำระเป็นรายงวด” ก็ได้ (มาตรา ๙)
“ กระบวนการปรับเป็นพินัย” แบ่งเป็น ๓ ชั้น กล่าวคือ
(๑) ในชั้น เจ้าหน้าที่ของรัฐ คือ เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบการบังคับใช้กฎหมายฉบับนั้นเอง มีหน้าที่และอำนาจดำเนินการ ดังต่อไปนี้
๑) แสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิด
๒) ให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงหรือแก้ข้อกล่าวหาตามสมควร
๓) เมื่อมีพยานหลักฐานเพียงพอว่ามีการกระทำความผิดทางพินัย ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีคำสั่งปรับเป็นพินัย โดยทำเป็นหนังสือและส่งคำสั่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ โดยระบุข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดจำนวนเงินค่าปรับ ระยะเวลาที่ต้องชำระ และแจ้งให้ทราบถึงกระบวนการในขั้นตอนต่อไป (มาตรา ๑๙) และ (มาตรา ๒๐)
๔) เมื่อผู้กระทำความผิดชำระค่าปรับเป็นพินัยภายในระยะเวลาที่กำหนดแล้ว ให้ความผิดทาง
พินัย เป็นอันยุติ (มาตรา ๓๑ (๑))
๕) ในกรณีที่ ไม่มีการชำระ ค่าปรับเป็นพินัย ภายในระยะเวลาที่กำหนด ไม่ว่า
จะมีการแก้ข้อกล่าวหาหรือไม่ก็ตาม ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ สรุปข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย พยานหลักฐาน และส่งสำนวนให้ พนักงานอัยการ เพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลต่อไป (มาตรา ๒๓ )
อำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ทำการปรับพินัย (มาตรา ๑๔) :
ถ้าค่าปรับเป็นพินัยที่กฎหมายบัญญัติไว้มีอัตราอย่างสูง ไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท เจ้าหน้าที่ของรัฐคนเดียว เป็นผู้มีอำนาจปรับเป็นพินัยได้
แต่ถ้าค่าปรับเป็นพินัยที่กฎหมายบัญญัติไว้ มีอัตราอย่างสูง เกินหนึ่งหมื่นบาท ต้องทำเป็น องค์คณะ ซึ่งประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่น้อยกว่าสามคน
(๒) ในชั้นพนักงานอัยการ เมื่อพนักงานอัยการได้รับสำนวนคดีความผิดทางพินัยจากเจ้าหน้าที่ของรัฐแล้ว หากพนักงานอัยการเห็นควรสั่งฟ้อง ให้ฟ้องคดีต่อศาลโดยไม่ต้องนำตัวผู้กระทำความผิดไปเพื่อยื่นฟ้องด้วย (มาตรา ๒๕ วรรคหนึ่ง)
ในกรณีที่ พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง ให้แจ้งไปยัง “หัวหน้าหน่วยงานของรัฐ” ทราบ
พร้อมทั้งเหตุผล หากหัวหน้าหน่วยงานของรัฐไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของพนักงานอัยการ ให้ทำความเห็นแย้งเสนอไปยังผู้ดำรงตำแหน่ง เหนือพนักงานอัยการที่มีคำสั่งเพื่อวินิจฉัยชี้ขาด (มาตรา ๒๕ วรรคสอง)
(๓) ในชั้นศาล กำหนดให้ ศาลจังหวัดซึ่งมีอยู่ครอบคลุมทุกท้องที่เป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีความผิดทางพินัย และกำหนดให้วิธีพิจารณาคดีเป็นไปตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกาโดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา
เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้ชำระค่าปรับเป็นพินัยแล้ว หากผู้กระทำความผิดไม่ชำระค่าปรับภายในเวลาที่ศาลกำหนด ศาลมีอำนาจออก “หมายบังคับคดี” เพื่อ ยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องใน
ทรัพย์สินของผู้ต้องคำพิพากษาเพื่อชำระค่าปรับเป็นพินัย (มาตรา ๓๐ )
คดีความผิดทางพินัยเป็นอันยุติ ในกรณีดังต่อไปนี้ (มาตรา ๓๓)
- หากผู้กระทำความผิด ชำระค่าปรับเป็นพินัยครบตามจำนวนที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกำหนด ก่อนฟ้องคดีต่อศาล คดีความผิดทางพินัยเป็นอันยุติ ให้เจ้าหน้าที่รัฐ หรือ พนักงานอัยการ (แล้วแต่กรณี) สั่งยุติการดำเนินการฟ้องคดี หรือ แต่ถ้ามีการฟ้องคดีต่อศาลแล้ว ก่อนศาลพิพากษา ให้ศาลสั่งจำหน่ายคดี (มาตรา ๒๗ )
- ผู้กระทำความผิด ทำงานบริการสังคม หรือทำงานสาธารณะประโยชน์ แทนค่าปรับเป็นพินัยครบถ้วนแล้ว
- ผู้กระทำผิดทางพินัยถึงแก่ความตาย
- เมื่อมีการเปรียบเทียบความผิดทางอาญา มาตรา ๑๖(๔)
- เมื่อคดีขาดอายุความ ( ๒ ปีนับแต่วันกระทำผิด) ตามมาตรา ๑๑ หรือพ้นกำหนดเวลาตามมาตรา ๑๒ ( ห้าปีนับแต่วันที่มีคำสั่งหรือคำพิพากษาดังกล่าว )
อายุความดำเนินคดีความผิดทางพินัย
คดีความผิดทางพินัย เจ้าหน้าที่ของรัฐ ต้องมีคำสั่งปรับเป็นพินัย หรือฟ้องภายในกำหนด
สองปีนับแต่วันกระทำความผิด มิฉะนั้นเป็นอันขาดอายุความ เว้นแต่กฎหมายซึ่งบัญญัติความผิดทางพินัยจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ( มาตรา ๑๑)
อายุความบังคับตามคำสั่งหรือคำพิพากษาคดีความผิดทางพินัย
ในกรณีที่ เจ้าหน้าที่ของรัฐ มีคำสั่งปรับเป็นพินัย หรือศาลมีคำพิพากษาอันเป็นที่สุดให้ผู้ใดชำระค่าปรับเป็นพินัยแล้ว ถ้าผู้นั้น มิได้ชำระ หรือ ชำระค่าปรับเป็นพินัยแล้วแต่ยังไม่ครบถ้วน และ เกินห้าปี นับแต่วันที่มีคำสั่งหรือคำพิพากษาดังกล่าว จะบังคับตามคำสั่งหรือ คำพิพากษาต่อผู้นั้นมิได้
ผู้กระทำความผิดทางพินัย จะไม่ถูกบันทึกประวัติอาชญากร
มาตรา ๓๔ – ห้ามมิให้ หน่วยงานของรัฐ บันทึกการกระทำความผิดของบุคคลใด รวมไว้ในบันทึกประวัติอาชญากรรม หรือในฐานะเป็นประวัติอาชญากรรม
กล่าวโดยสรุป พระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. ๒๕๖๕ กำหนดให้การกระทำความผิดที่ไม่ใช่ความผิดร้ายแรงและโดยสภาพไม่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนอย่างร้ายแรงหรือไม่มีผลกระทบต่อส่วนรวมอย่างกว้างขวาง เป็นความผิดทางพินัย โดยไม่ถือเป็นความผิดทางอาญา และให้กำหนด ค่าปรับเป็นพินัยสำหรับผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม โดยไม่ถือเป็นโทษอาญา และไม่ถือว่า การปรับเป็นพินัยหรือคำสั่งปรับเป็นพินัยเป็นการกระทำทางปกครอง หรือคำสั่งทางปกครอง ทั้งนี้
๑. ไม่มีการบันทึกประวัติอาชญากรรม เนื่องจากความผิดทางพินัยมิใช่ความผิดอาญา การกระทำความผิดทางพินัยจึงไม่มีการบันทึกประวัติอาชญากรรมที่ทำให้ผู้กระทำความผิดต้องเสียประวัติและกระทบต่อหน้าที่การงานของผู้นั้น
๒. ไม่มีการกักขังแทนค่าปรับเป็นพินัย ความผิดทางพินัยมิใช่ความผิดอาญา ดังนั้น หากผู้กระทำความผิดไม่มีเงินชำระค่าปรับเป็นพินัย จะไม่มีการกักขังแทนค่าปรับเป็นพินัยในทุกกรณี และถ้าผู้กระทำความผิดทางพินัยเป็นผู้ยากจน ก็สามารถยื่นคำร้องเพื่อขอให้กำหนดค่าปรับเป็นพินัยต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดได้ หรือขอทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับเป็นพินัยได้ (มาตรา ๑๐) ส่วนผู้ต้องคำพิพากษาว่ากระทำความผิดอาญาที่เปลี่ยนเป็นความผิดทางพินัยตามพระราชบัญญัตินี้และถูกกักขังแทนค่าปรับอยู่ กฎหมายกำหนดให้การกักขังนั้นสิ้นสุดลงและผู้กระทำความผิดไม่ต้องชำระค่าปรับที่ยังคงค้างชำระอยู่ (มาตรา ๔๖ )
๓. การมีส่วนร่วมของผู้ถูกกล่าวหาในขั้นตอนการพิจารณาความผิดโดยเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจปรับเป็นพินัยต้องมีหนังสือแจ้งข้อกล่าวหาและให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงหรือแก้ข้อกล่าวหา (มาตรา ๑๙ ) โดยผู้ถูกกล่าวหาสามารถส่งหนังสือชี้แจงหรือแก้ข้อกล่าวหา รวมถึงเอกสารต่าง ๆ ต่อหน่วยงานของรัฐโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ (ข้อ ๔ แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยระเบียบปฏิบัติในการปรับเป็นพินัย พ.ศ. ๒๕๖๖ )
ส่วนพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. ๒๕๖๕ จะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายที่มีโทษทางอาญาของไทยที่จะก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้กระทำผิดทางพินัย หรือจะเป็น ข้อยุ่งยากในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือศาล ท่านลองคิดดู…..
นายวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์
อัยการศาลสูงจังหวัดสมุทรปราการ
อดีต รองประธานคณะอนุกรรมาธิการการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน (คนที่สอง) ในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน