เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2566 ปรากฏข่าว สำนักงานอัยการสูงสุด คืนสำนวนคดีที่พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน ส่งสำนวนการสอบสวนให้กับพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 3 พิจารณาเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2566 โดยเป็นคดีกล่าวหา เด็กชาย อายุไม่เกิน 15 ปี ตกเป็นผู้ต้องหา ในความผิดฐาน “ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน , พยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต , พาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวและยิงปืนในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร” โดยเหตุเกิดภายในห้างพารากอน เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา
โดย พนักงานอัยการ ฯ ได้ตรวจสอบสำนวนการสอบสวนแล้วเห็นว่า ปรากฏข้อเท็จจริงในสำนวนการสอบสวนว่า เมื่อ วันที่ 5 ต.ค. 2566 พนักงานสอบสวนได้มีการส่งตัวผู้ต้องหาซึ่งเป็นเด็กไปยัง สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ เพื่อทำการตรวจและบำบัดรักษาแบบผู้ป่วยใน เพราะเชื่อว่าผู้ต้องหามีอาการป่วยทางจิตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้
และยังปรากฏข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 3 พ.ย.2566 ซึ่งอยู่ “ ในช่วงระหว่างระยะเวลาที่แพทย์ทำการตรวจวินิจฉัยและประเมินความสามารถในการต่อสู้คดี ยังไม่เสร็จสิ้น”
กลับปรากฎว่า “ พนักงานสอบสวนได้ดำเนินการ แจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนคำให้การของผู้ต้องหาซึ่งเป็นเด็ก โดยที่ พนักงานสอบสวนยังไม่ได้รับผลการตรวจประเมินและวินิจฉัยจากแพทย์สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ที่เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นแต่อย่างใด
จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ได้ส่งรายงานผลการตรวจวินิจฉัยและประเมินความสามารถของจิตแพทย์เจ้าของไข้ และทีมสหวิชาชีพ นิติจิตเวชได้ตรวจวินิจฉัยและประเมินผลว่า
“ผู้ต้องหาไม่มีความเข้าใจตระหนักรู้เรื่องของข้อกล่าวหา ไม่มีความสามารถในการพูดคุยและตอบคำถาม รวมทั้งไม่สามารถควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมของตนเองได้
ผลการประเมินสรุปว่า “ ผู้ต้องหาซึ่งเป็นเด็กยังไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ”
พนักงานอัยการฯ จึงเห็นว่า การที่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนผู้ต้องหาซึ่งเป็นเด็กในคดีนี้ โดยไม่ได้รอผลการวินิจฉัยจากแพทย์สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ในเรื่อง “ ความสามารถในการต่อสู้คดีของผู้ต้องหาที่เป็นเด็ก ” ก่อน แล้วทำการสอบสวนพร้อมกับมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาที่เป็นเด็ก จึงเป็น “การสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย”
ส่วนจะมีผลทำให้ “ ฟ้องเด็ก 15 ไม่ได้ หรือ ทำให้ เด็กรอด ไม่ต้องถูกดำเนินคดีหรือไม่? ”
มาดูบทกฎหมายในเรื่องนี้กัน
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14
มาตรา 14 ในระหว่างทำการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้อง หรือพิจารณา ถ้ามีเหตุควรเชื่อว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้วิกลจริต และไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ให้ พนักงานสอบสวนหรือศาลแล้วแต่กรณี สั่งให้ พนักงานแพทย์ตรวจผู้นั้น เสร็จแล้วให้เรียกพนักงานแพทย์ผู้นั้นมาให้ถ้อยคำ หรือให้การว่า “ ตรวจได้ผลประการใด”
ในกรณีที่พนักงานสอบสวน หรือ ศาลเห็นว่าผู้ต้องหาหรือจำเลย เป็นผู้วิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ให้งดการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้อง หรือ พิจารณาไว้ จนกว่าผู้นั้นหายวิกลจริต หรือ สามารถจะต่อสู้คดีได้ และให้มีอำนาจ ส่งตัวผู้นั้นไปยังโรงพยาบาล โรคจิตหรือ มอบให้แก่ผู้อนุบาล ข้าหลวงประจำจังหวัดหรือผู้อื่นที่เต็มใจรับไปดูแลรักษาก็ได้ตามแต่จะเห็นสมควร
กรณีที่ ศาลงดการไต่สวนมูลฟ้อง หรือ พิจารณาดั่งบัญญัติไว้ในวรรคก่อน ศาลจะสั่งจำหน่ายคดีเสียชั่วคราวก็ได้
คราวนี้มาดู คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1816/2541
“ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 ในกรณีที่ศาลเห็นว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้วิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ให้ศาลงดการไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาไว้ จนกว่าผู้นั้นหายวิกลจริตหรือสามารถจะต่อสู้คดีได้ ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจตามกฎหมายที่จะชี้ขาดในกรณีมีเหตุควรเชื่อว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้วิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้หรือไม่ เมื่อศาลชั้นต้นชี้ขาดว่าจำเลยสามารถต่อสู้คดีได้ และจำเลยก็มิได้โต้แย้งคัดค้านการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นต่อมาจึงชอบด้วยกฎหมาย
การที่แพทย์เบิกความเป็นพยานในชั้นที่ศาลชั้นต้นจะต้องชี้ขาดว่า สภาพของจำเลยในขณะที่ถูกฟ้องคดีนี้สามารถต่อสู้คดีได้หรือไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 โดยแพทย์เบิกความเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2536 ว่า จำเลยเข้ารับการรักษาตั้งแต่ปี 2532 ตรวจพบว่า จำเลยเป็นโรคจิตเภทขณะตรวจพบว่าจำเลยมีอาการวิตกกังวล ไม่สามารถตอบคำถามได้อย่างต่อเนื่อง จากสภาพของจำเลยขณะที่ตรวจ แพทย์วินิจฉัยว่าจำเลยเป็นโรคทางจิตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ เมื่อ ไม่มีปรากฏความเห็นของแพทย์ที่ตรวจอาการของจำเลยระหว่างเกิดเหตุ และเมื่อศาลชั้นต้นนัดพร้อมกลับปรากฏข้อเท็จจริงต่อหน้าศาลว่า จำเลยสามารถถามตอบต่อศาลได้
ดังนี้ ความเห็นของแพทย์ดังกล่าวจึงยังไม่สามารถรับฟังเป็นยุติได้ว่า ขณะกระทำความผิดจำเลยมีจิตบกพร่อง โรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน อันจะทำให้จำเลยไม่ต้องรับโทษตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาฎีกานี้บอกอะไรแก่เรา
1.ในกรณีที่ศาลเห็นว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้วิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ให้ศาลงดการไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาไว้ จนกว่าผู้นั้นหายวิกลจริตหรือสามารถจะต่อสู้คดีได้
2.การที่แพทย์เบิกความเป็นพยานในชั้นที่ศาลชั้นต้นจะต้องชี้ขาดว่า สภาพของจำเลยในขณะที่ถูกฟ้องคดีนี้สามารถต่อสู้คดีได้หรือไม่
3. ความเห็นของแพทย์ดังกล่าวที่สามารถรับฟังเป็นยุติได้ว่า ขณะกระทำความผิดจำเลยมีจิตบกพร่อง โรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน เท่านั้น ที่จะทำให้จำเลยไม่ต้องรับโทษตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคหนึ่ง
ดังนั้น เด็ก 15 ปี กราดยิงที่ พารากอน จะต้องรับโทษหรือไม่ จักต้องดูว่า ขณะกระทำความผิด จำเลยมีจิตบกพร่อง โรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน เท่านั้น และ การที่แพทย์เบิกความเป็นพยานในชั้นที่ศาลชั้นต้นจะต้องชี้ขาดว่า สภาพของจำเลยใน ขณะที่ถูกฟ้องคดีนี้ สามารถต่อสู้คดีได้หรือไม่
แต่ พนักงานอัยการ จะฟ้องคดีอาญาได้ ก็จะต้องมี “การสอบสวน”มาก่อน ทั้งนี้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 120
“ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการ สอบสวนในความผิดนั้นก่อน”
และการสอบสวนนั้นจักต้อง “ชอบด้วยกฎหมาย” ด้วย
“การสอบสวนที่ไม่ชอบ” คือ การสอบสวนที่มิได้ปฏิบัติตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าด้วย การสอบสวน
การสอบสวนที่ไม่ชอบ มีผลเท่ากับ ไม่ได้มีการสอบสวนในคดีนั้น ส่งผลกระทบถึงอำนาจฟ้องของพนักงานอัยการ ตามมาตรา 120.
การสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จะส่งผลอยู่ 2 กรณี คือ
กรณีที่ 1. ถือว่า คดีนั้นไม่มีการสอบสวนมาก่อน ทำให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องต่อศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120
กรณีที่ 2. ถือว่าคดีนั้นมีการสอบสวนมาแล้ว ทำให้พนักงานอัยการมีอำนาจฟ้องศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 เช่นกัน เพียงแต่ศาลก็จะรับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาจากการ สอบสวนที่ชอบกฎหมายเท่านั้น
การที่พนักงานอัยการ คืนสำนวนการสอบสวนคดีเด็ก 15 ปี กราดยิงที่พารากอน ที่ปรากฏ ข้อเท็จจริงว่า พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนผู้ต้องหาซึ่งเป็นเด็กในคดีนี้ โดยไม่ได้รอผลการวินิจฉัยจากแพทย์สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ในเรื่อง “ ความสามารถในการต่อสู้คดีของผู้ต้องหาที่เป็นเด็ก ” ก่อน แล้วทำการสอบสวนพร้อมกับมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาที่เป็นเด็ก จึงเป็น “ การสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งอาจมีผลถึง “อำนาจฟ้องของพนักงานอัยการ” และ “การรับฟังพยานหลักฐานของศาล” ดังที่ได้กล่าวแล้ว
อย่างไรก็ตาม การคืนสำนวนของพนักงานอัยการในครั้งนี้นั้น พนักงานอัยการยังไม่ได้วินิจฉัยในเนื้อหาของสำนวนแต่อย่างใด ยังไม่ได้วินิจฉัยว่า การกราดยิงของเด็ก 15 ปีดังกล่าวว่าไม่เป็นความผิด เพียงแต่เห็นว่า กระบวนการสอบสวนยังไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงส่งสำนวนคืนให้พนักงานสอบสวนไปดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย และเมื่อผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอยู่ในสภาวะหายป่วยเป็นปกติและสามารถต่อสู้คดีได้ ให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนให้เสร็จสิ้นแล้วส่งสำนวนคดีนี้ให้พนักงานอัยการ เพื่อพิจารณาอีกครั้งภายในอายุความตามกฎหมาย โดยอายุความในคดีนี้มีอายุความสูงสุด 20 ปี
และเมื่อการสอบสวนชอบด้วยกฎหมายและทำการสอบสวนเสร็จแล้วค่อยส่งสำนวนให้พนักงานอัยการเพื่อพิจารณาตามขั้นตอนของกฎหมายอีกครั้งก็สามารถทำได้
แต่การควบคุมตัวเด็กตามกฎหมายนั้นจะครบกำหนดระยะผัดฟ้องครั้งสุดท้ายในวันที่ 31 ธ.ค.2566 นี้ และแม้จะครบกำหนดฝากขังครั้งสุดท้าย แต่ไม่สามารถฟ้องเด็ก 15 ปี ได้ทันภายในกำหนดฝากขังครั้งสุดท้ายด้วยเหตุผลดังกล่าว
สิ่งที่สังคมเข้าใจว่า “ เด็ก 15 ปี กราดยิงที่พารากอนจะไม่ต้องได้รับโทษ โดยอ้างเหตุวิกลจริต และไม่สามารถต่อสู้คดีได้จนกระทั่งคดีขาดอายุความจะทำได้หรือไม่ ? นั้น
คำตอบคือ เมื่อครบกำหนดฝากขังครั้งสุดท้ายก็ต้องปล่อยเด็กไป สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ไม่มีอำนาจควบคุมตัวเด็กอีกต่อไป
แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีกฎหมายอีกฉบับที่เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา คือ
พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ.2551
มาตรา 22 บุคคลที่มีความผิดปกติทางจิต ในกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลที่ต้องได้รับการบำบัดรักษา
(1) มีภาวะอันตราย
(2) มีความจำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษา
และมาตรา 29 กำหนดให้ เมื่อ สถานบำบัดรักษารับบุคคลที่พนักงานเจ้าหน้าที่นำส่ง
ตามมาตรา 27 วรรคสาม หรือ แพทย์นำส่งตามมาตรา 28 แล้วแต่กรณี
ให้ คณะกรรมการสถานบำบัดรักษา ตรวจวินิจฉัยและประเมินอาการบุคคลนั้น
โดยละเอียดภายใน 30 วันนับแต่วันที่รับตัวบุคคลนั้นไว้
ในกรณีที่ คณะกรรมการสถานบำบัดรักษาเห็นว่าบุคคลนั้นมีลักษณะตามมาตรา 22
ให้มีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๑) ให้บุคคลนั้นต้องเข้ารับการบำบัดรักษาในสถานบำบัดรักษา
(๒) ให้บุคคลนั้นต้องรับการบำบัดรักษา ณ สถานที่อื่นนอกจากสถานบำบัดรักษา เมื่อบุคคลนั้นไม่มีภาวะอันตราย ทั้งนี้ จะกำหนดเงื่อนไขใดๆที่จำเป็นเกี่ยวกับการบำบัดรักษาให้บุคคลนั้นหรือผู้รับดูแลบุคคลนั้นต้องปฏิบัติด้วยก็ได้
มาตรา 30 คำสั่งรับผู้ป่วยไว้บำบัดรักษา ตามมาตรา 29 (1) ให้
คณะกรรมการสถานบำบัดรักษา กำหนดวิธีการและระยะเวลาการบำบัดรักษาตามความรุนแรงของความผิดปกติทางจิต แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินเก้าสิบวันนับแต่วันที่มีคำสั่ง และอาจขยายระยะเวลาได้อีกครั้งละไม่เกินเก้าสิบวันนับแต่วันที่มีคำสั่งครั้งแรกหรือครั้งถัดไป
ให้คณะกรรมการสถานบำบัดรักษาพิจารณาผลการบำบัดรักษา เพื่อมีคำสั่งตามมาตรา29 (1) หรือ (2) แล้วแต่กรณี ก่อนสิ้นกำหนดระยะเวลาบำบัดรักษาในแต่ละครั้งตามวรรคหนึ่งไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน
จะเห็นได้ว่า หากคณะกรรมการของแพทย์ประเมินแล้วว่า จำเป็นจะต้องดูแล ผู้ต้องหาเพื่อป้องกันอันตราย สำหรับตัวผู้ต้องหาเอง และสังคมอาจจะต้องใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ.2551 มาตรา 22 บังคับ ที่จะเอาตัวผู้ต้องหาไปรักษาตัวต่อ ซึ่งระยะเวลาการควบคุมตัวของแพทย์ผู้รักษามีกรอบกฎหมายชัดเจนอยู่ใน พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ.2551 จะมีการแจ้งผลการตรวจรักษาให้กับพนักงานสอบสวนทุก 180 วัน ถ้ายังไม่หายก็สามารถขยายได้อีก 180 วันไปเรื่อยๆ จนกว่าผู้ต้องหาจะหายและสามารถต่อสู้คดีได้ เพราะเราไม่สามารถจะนำคนป่วยเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ แต่ถ้าหายป่วยแล้วก็ไม่ต้องรอ 180 วัน ทีมแพทย์ที่รักษาสามารถรายงานให้พนักงานสอบสวนทราบเพื่อดำเนินการสอบสวนได้ทันที
ฉะนั้น การที่ พนักงานอัยการคืนสำนวนเด็ก 15 ปีกราดยิงที่พารากอนไป เพื่อให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามนัยยะของกฎหมายดังที่กล่าวอ้างข้างต้น ก็เพื่อให้การสอบสวนชอบด้วยกฎหมาย และพนักงานอัยการมีอำนาจฟ้องตามกฎหมายและเพื่อมิให้ศาลยกฟ้องด้วยเหตุพนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง ตาม ป.วิ.อ มาตรา 120 หรือศาลไม่รับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาจากการ สอบสวนที่ไม่ชอบกฎหมายดังกล่าว
มิใช่ ไม่ฟ้องเพราะเด็กไม่ได้กระทำผิด หรือปล่อยเด็กไปเพราะเด็ก(อ้าง) วิกลจริต หรือ อ้างวิกลจริตแล้วก็ไม่ต้องรับผิด และไม่ต้องถูกฟ้อง เพราะสุดท้ายคดีนี้ก็ต้องฟ้องเด็กอยู่ดี เพราะพยานหลักฐานเป็นที่ประจักษ์แก่สังคมขนาดนั้น
จะดีกว่าไหมถ้า…. ทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย มิให้ “คดีตกม้าตาย” ตอนจบ
นายวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์
อัยการศาลสูงจังหวัดสมุทรปราการ (อดีต) รองประธานคณะอนุกรรมาธิการการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน (คนที่สอง)ในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ในสภาผู้แทนราษฎร