กฎหมายน่ารู้

บทความทางกฎหมาย โดยอัยการวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์เรื่อง “ขังระหว่างสอบสวน เส้นบางบางระหว่างเสรีภาพ กับความสงบสุขของสังคม”

%e0%b8%9a%e0%b8%97%e0%b8%84%e0%b8%a7%e0%b8%b2%e0%b8%a1%e0%b8%97%e0%b8%b2%e0%b8%87%e0%b8%81%e0%b8%8e%e0%b8%ab%e0%b8%a1%e0%b8%b2%e0%b8%a2-%e0%b9%82%e0%b8%94%e0%b8%a2%e0%b8%ad%e0%b8%b1%e0%b8%a2-2

ทันทีที่มีข่าว “อัยการ สำนักงานคดีพิเศษ มีความเห็น สั่งฟ้อง บริษัทดิไอคอนกรุ๊ป กับ 16 บอส รวม 5 ข้อหา ส่วน “บอสแซม-บอสมิน” มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องเพราะไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอ

คำถามที่ตามมา คือ “ใครจะต้องรับผิดชอบ กรณี บอสแซม กับ บอสมีน ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ เกือบ 84 วัน” และ “บอสแซม กับ บอสมีน จะได้รับการชดเชยเยียวหรือไม่ อย่างไร?”

ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจขั้นตอนตามกฎหมายที่จะเกิดขึ้นภายหลัง พนักงานอัยการ มีความเห็น “สั่งไม่ฟ้อง” ผู้ต้องหา

ตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ.2563 ข้อ 83 – การปล่อยตัวผู้ต้องหาที่สั่งไม่ฟ้อง ถ้าผู้ต้องหาถูกควบคุม หรือ ขังอยู่ เมื่อพนักงาน อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องแล้ว ให้พนักงานอัยการ “สั่งปล่อย” หรือ “ขอให้ศาลสั่งปล่อย” ผู้ต้องหาไป แล้วแต่กรณี

แต่เมื่อพิจารณาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145 ได้บัญญัติขั้นตอน การดำเนินการไว้ดังนี้

“มาตรา 145 ในกรณีที่มี คำสั่งไม่ฟ้อง และคำสั่งนั้นไม่ใช่ของ “อัยการสูงสุด” ถ้าใน
กรุงเทพมหานคร ให้รีบส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมคำสั่งไปเสนอ “ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ”

แต่ถ้าในจังหวัดอื่นให้รีบส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมกับคำสั่งไปเสนอ “ผู้ว่าราชการจังหวัด”

ในกรณีที่ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือ ผู้ว่าราชการจังหวัด แย้งคำสั่งของพนักงานอัยการ ให้ส่งสำนวนพร้อมกับความเห็นที่แย้งกันไปยัง “อัยการสูงสุด” เพื่อชี้ขาด

จะเห็นได้ว่า เมื่อ “พนักงานอัยการ” มีคำสั่ง “ไม่ฟ้อง” ผู้ต้องหา กฎหมายได้กำหนดขั้นตอนให้ พนักงานอัยการ จะต้อง เสนอสำนวนและความเห็นที่ อัยการสั่งไม่ฟ้อง ไปยัง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (กรณีกรุงเทพมหานคร) และเสนอสำนวนและความเห็นไปยัง “ผู้ว่าราชการจังหวัด” (กรณีต่างจังหวัด)

ดังนั้น คำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ จึงยังไม่เด็ดขาด หรือถึงที่สุด กฎหมายต้องการให้มีการ ตรวจสอบ ถ่วงดุล คำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ โดยให้ “ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ” และ “ผู้ว่าราชการจังหวัด” พิจารณาอีกครั้ง

หาก “ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ” หรือ “ผู้ว่าราชการจังหวัด” เห็นชอบ ไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ คำสั่งไม่ฟ้องของ พนักงานอัยการ ก็ “เด็ดขาด” หรือ “ถึงที่สุด”

แต่ถ้า “ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ” หรือ “ผู้ว่าราชการจังหวัด” เห็นแย้ง หรือ แย้งคำสั่ง ไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ “ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ” หรือ “ผู้ว่าราชการจังหวัด” จะต้องเสนอสำนวนและความเห็นคำสั่ง “แย้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ” ไปยัง “อัยการสูงสุด” เพื่อ ชี้ขาด

คำสั่ง อัยการสูงสุด ไม่ว่าจะมีความเห็น “ เห็นด้วย” หรือ “ไม่เห็นด้วย” กับคำสั่ง “แย้งคำสั่ง ไม่ฟ้อง” ของ “ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ” หรือ “ผู้ว่าราชการจังหวัด” คำสั่งของ “อัยการสูงสุด” เป็น “ เด็ดขาด” ต้องปฏิบัติตามนั้น

“สั่งฟ้องผู้ต้องหาตามความเห็นแย้งของพนักงานสอบสวน” หรือ “ สั่งไม่ฟ้อง ตามความเห็นของพนักงานอัยการ”

กรณี “บอสแซม” และ “บอสมีน” ก็เช่นกัน เมื่อ พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ “สั่งไม่ฟ้อง” บอสแซม และ บอสมีน แล้ว พนักงานอัยการคดีพิเศษ ก็จะส่งสำนวนความเห็นคำสั่ง ไม่ฟ้องดังกล่าวไปให้ “อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ” หรือ DSI (เนื่องจากคดีนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI รับเป็นคดีพิเศษเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่) พิจารณาว่า จะมีความเห็นแย้งในคำสั่งไม่ฟ้องหรือไม่

แต่เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของ “ผู้ต้องหา” ที่ พนักงานอัยการ มีคำสั่ง “ไม่ฟ้อง” พนักงานอัยการก็จะมีคำสั่ง “ปล่อยตัวต้องหาทั้ง 2 คน” (บอสแซม และบอสมีน) โดยยื่นคำร้องต่อศาลอาญา เพื่อขอปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้ง 2 คน โดยไม่จำต้องรอว่า อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ จะมีความเห็นและคำสั่งแย้งคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการคดีพิเศษหรือไม่ ตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดฯดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม หากต่อมา อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI เกิดเห็น “แย้งคำสั่งไม่ฟ้อง”ของ “พนักงานอัยการคดีพิเศษ” ก็จะต้องส่งสำนวนและความเห็น “แย้ง” ไปยัง “ อัยการสูงสุด” เพื่อพิจารณาสั่งต่อไป

จะเห็นได้ว่า แม้ พนักงานอัยการคดีพิเศษ จะมีคำสั่งไม่ฟ้องและมีคำสั่งปล่อยตัว บอสแซม และบอสมีน ไปแล้ว (ซึ่งคนทั่วไปมักจะเข้าใจว่า คดีเด็ดขาดแล้ว ผู้ต้องหาพ้นผิดไปแล้ว ซึ่งความจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่) ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า คดียังคงต้องเสนอไปยัง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI เพื่อพิจารณาอีก รวมทั้ง อาจต้องเสนอไปยัง “ อัยการสูงสุด” เพื่อชี้ขาด กรณี อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือ DSI มีคำสั่งแย้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ

ในคดีอาญา ผู้ต้องหา หรือ จำเลย จะพ้นผิด หรือ พ้นความรับผิดไปได้ก็ต่อเมื่อ
1.พนักงานอัยการ มีคำสั่งไม่ฟ้อง และคำสั่งไม่ฟ้องดังกล่าว “เด็ดขาด” หรือ “ถึงที่สุด”แล้ว ตามประมวลกฎหมายวิพิจารณาความอาญา มาตรา 145 , 145/1
2.ศาลมีคำพิพากษา “ ยกฟ้อง” และ คำพิพากษาดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว (คดีถึงที่สุดเมื่อ พ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ หรือ ฎีกา และ/หรือ ไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ หรือ ฎีกา (แล้วแต่กรณี)

การที่ “ผู้ต้องหา หรือ จำเลยในคดีอาญา”ต้องถูก “รัฐ” ดำเนินคดีอาญาเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ทั้งที่ ไม่ได้เป็นผู้กระทำผิด หรือมีพยานหลักฐานเพียงพอให้ศาลรับฟังจนปราศจากข้อสงสัยจนเป็นเหตุให้ศาล “ยกฟ้อง” ต้องสูญเสียอิสรภาพ ถูกจองจำ ถูกบันทึกประวัติอาชญากรรม แต่สุดท้าย พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง หรือ ศาลพิพากษา ยกฟ้อง ผู้ต้องหา หรือ จำเลยในคดีอาญาดังกล่าวจะมีสิทธิได้รับค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา หรือไม่อย่างไรบ้าง?

พระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544(และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2559)

มาตรา 20 “จำเลย” ที่มีสิทธิได้รับค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายตามพระราชบัญญัตินี้ต้อง
(1) เป็น จำเลยที่ถูกดำเนินคดีโดยพนักงานอัยการ
(2) ถูกคุมขังในระหว่างการพิจารณาคดี และ
(3) ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่า จำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิด และ มีการถอนฟ้องใน ระหว่างดำเนินคดี หรือ ปรากฏตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดในคดีนั้นว่า ข้อเท็จจริง ฟังเป็นยุติว่า จำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิด หรือ การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด

มาตรา 3 ได้กำหนด บทนิยาม
“ผู้เสียหาย” หมายความว่า บุคคลซึ่งได้รับความเสียหายถึงแก่ชีวิตหรือร่างกายหรือจิตใจ เนื่องจากการกระทำความผิดอาญาของผู้อื่น โดยตนมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดนั้น
“จำเลย” หมายความว่า บุคคลซึ่งถูกฟ้องต่อศาลว่าได้กระทำผิดความอาญา

จากบทกฎหมายดังกล่าว มีข้อสังเกตว่า
1.ต้อง ถูกฟ้องคดี (โดย พนักงานอัยการ) ว่าได้กระทำผิดอาญา ต่อศาลแล้ว
2.ถูกคุมขังในระหว่างการดำเนินคดี
3.ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า จำเลยไม่ได้เป็นผู้กระทำผิด หรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด หรือ มีการถอนฟ้องในระหว่างดำเนินคดี

แต่ การที่ศาลพิพากษา “ยกฟ้อง” ด้วยเหตุ “พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังมีข้อสงสัยตามสมควจึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสองนั้น ไม่ใช่ เป็นกรณีที่ ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า จำเลยไม่ได้เป็นผู้กระทำผิด หรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด อันมีผลทำให้ไม่เข้าเงื่อนไขตามกฎหมายในอันที่จะทำให้จำเลยในคดีอาญาดังกล่าว (แม้จะเป็นการถูกฟ้องโดยพนักงานอัยการก็ตาม) ได้รับเงินค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา ตามกฎหมายฉบับดังกล่าวแต่อย่างใด

กรณี บอสแซม และบอสมีน จึงเป็นเพียง “ผู้ต้องหาที่ 17 และที่ 18” ในสำนวนคดี ดิไอคอนกรุ๊ป เท่านั้น ยังไม่ได้ถูกฟ้องเป็น “จำเลย” ต่อศาล จึงยังไม่ใช่ “จำเลย” ที่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา ตาม พระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 แต่อย่างใด

แต่การที่ บอสแซม และบอสมีน ถูกควบคุมตัวในเรือนจำเป็นเวลา 84 วัน เกิดจาก กระบวนการควบคุมตัวในระหว่างการสอบสวน (ขังในระหว่างสอบสวน) ซึ่งสามารถจะกระทำได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 84

“ในกรณีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่สิบปีขึ้นไป จะมีโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตาม ศาลมีอำนาจสั่งขังหลายครั้งติด ๆ กันได้ แต่ครั้งหนึ่งต้องไม่เกินสิบสองวัน และรวมกันทั้งหมดต้องไม่เกินแปดสิบสี่วัน”

การที่ผู้ต้องหา จะได้รับการประกันตัว หรือปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างการสอบสวนหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยและเป็น “ดุลพินิจของศาล” ในการพิจารณา อนุญาต หรือ ไม่อนุญาตให้ประกัน หรือปล่อยตัวชั่วคราว อาทิเช่น ความร้ายแรงแห่งคดี พฤติกรรมแห่งคดี มูลค่าความเสียหาย มีพฤติการณ์จะหลบหนีหรือไม่ หากปล่อยตัวชั่วคราวไปแล้ว หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือไม่ ความน่าเชื่อถือของหลักทรัพย์ เป็นต้น

การควบคุมตัวผู้ต้องหาในระหว่างการสอบสวน จึงเป็นดุลยภาค ระหว่าง “เสรีภาพของผู้ต้องหา” กับ “การรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม”

หาก “ศาล” เลือกที่จะรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมมากเกินไป ก็อาจจะกระทบต่อสิทธิ และเสรีภาพของผู้ต้องหา ที่กฎหมายสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลย เป็น ผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาว่า เขาเป็นผู้กระทำผิด

และหากศาลเลือกที่จะ คุ้มครองเสรีภาพของผู้ต้องหา มากเกินไป สังคมบ้านเมืองก็อาจไม่สงบสุข ผู้ต้องหาหลบหนี ผู้กระทำผิดไม่ได้รับการลงโทษ

ผู้เขียนเห็นว่า “การไม่ผลักประชาชนให้เข้าไปสู่ การเป็นผู้ต้องหา จนกว่า จะมีพยานหลักฐานแน่ชัดว่า เขาเป็นผู้กระทำผิด การกระทำของเขาเป็นความผิด และไม่มีกฎหมายยกเว้นความผิด หรือ ไม่มีกฎหมายยกเว้นโทษ”

โดยเริ่มจาก กระบวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวน “ยังไม่แจ้งข้อหาใครจนกว่า จะมีพยานหลักฐานแน่ชัดว่า เขาเป็นผู้กระทำผิด ทั้งนี้ เพราะ หากมีการแจ้งข้อหา เขาจะตกเป็น “ผู้ต้องหา” ทันที ผู้ต้องหาจะถูกควบคุมตัวในระหว่างการสอบสวน เว้นแต่จะมีประกัน หรือได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว หากไม่ได้รับการประกันตัว หรือปล่อยตัวชั่วคราวก็จะต้องถูกควบคุมตัว มีการฝากขังต่อศาล และถูกควบคุมตัวในเรือนจำจนกว่าจะพิจารณาคดีแล้วเสร็จ หรือได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว หรือ คดีถึงที่สุดให้ยกฟ้อง

การควบคุมตัวระหว่างการสอบสวน โดยฝากขังต่อศาล และให้ศาลใช้ดุลพินิจในการควบคุมตัวหรือปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างสอบสวนจึงเป็นปลายเหตุ โดยจักต้องเริ่มตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวน ที่จะต้องไม่แจ้งข้อหาแก่ บุคคลใด จนกว่า จะมีพยานหลักฐานแน่ชัดว่า จำเลยเป็นผู้กระทำผิด

ฉะนั้น การรักษา “ดุลยภาค ระหว่าง “เสรีภาพของผู้ต้องหา” กับ “การรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม”ให้สมดุล จึงเป็นสิ่งที่สังคมไทยต้องการ

กรณี “บอสแซม” และ “บอสมีน” จึงเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ

นายวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์
อัยการศาลสูงจังหวัดสมุทรปราการ
(อดีต) รองประธานคณะอนุกรรมาธิการการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร สมัยที่ 25
20 มกราคม 2568

0 Comments
Share

Admin

Reply your comment

Your email address will not be published. Required fields are marked*