อาชญากรรม

จากคดี “ชมพู่” สู่คดี “แตงโม” ผลพวงจากทฤษฎี “ต้นไม้พิษผลย่อมเป็นพิษ”

มาถึงตอนนี้ คดี ”แตงโม” คงจะใกล้ถึงบทสรุป แต่ไม่ว่าบทสรุปจะออกมาอย่างไร
๑. ประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
๒. “ฆาตกรรม” (เจตนาฆ่า ไม่ว่าจะเป็น โดยเล็งเห็นผล หรือ อาจจะประสงค์ต่อผล)
๓. “ ใครบนเรือ” จะถูกฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลบ้าง และฟ้องข้อหาอะไร คนไทยได้อะไรจากเรื่องนี้บ้าง

คงจะจำกันได้ว่า คดี “น้องชมพู่” แห่งบ้านกกกอก จังหวัดมุกดาหาร คดีดังกล่าวทำให้เกิด “ลุงพลกับป้าแต๋นฟีเวอร์” จาก “ผู้ต้องสงสัย” กลายเป็น “ขวัญใจ” และจาก “ขวัญใจ” กลายเป็น “จำเลย” เพราะถูกฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว (คดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล)

ในคดีของ “น้องชมพู่” ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมกับ คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร และได้มีโอกาสซักถาม ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติและแพทย์ผู้ตรวจศพ (เป็นครั้งที่สอง) ของสถาบันนิติเวช โรงพยาบาลตำรวจ ว่า

“ เหตุใด จึงต้องผ่าพิสูจน์ศพน้องชมพู่อีกครั้งเป็นครั้งที่สอง โดยใช้แพทย์ของสถาบันนิติเวช โรงพยาบาลตำรวจ ทั้งที่ แพทย์ผู้ผ่าศพในครั้งแรก” (แพทย์นิติเวช โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์) ได้ผ่าพิสูจน์ศพของน้องชมพู่ อย่างละเอียดและรอบคอบดีแล้ว และ

“ เหตุใด ในการผ่าศพเป็นครั้งที่สอง จึงระบุผลการผ่าพิสูจน์ว่า “พบบาดแผลที่บริเวณอวัยวะเพศ” (ทั้งที่ รายงานการตรวจศพของแพทย์นิติเวช ของ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ซึ่งเป็นแพทย์คนแรกที่ผ่าศพน้องชมพู่ในระยะเริ่มแรก กลับไม่พบหรือไม่ได้ระบุว่า พบบาดแผลที่บริเวณอวัยวะเพศแต่อย่างใด ซึ่งทำให้เกิดประเด็นสงสัยในขณะนั้นว่า “ มีการล่วงละเมิดทางเพศหรือไม่” และเกิดเป็นประเด็นใหม่ขึ้นทันที

นอกจากนี้ ผู้เขียนยังได้มีโอกาสเดินทางไปดูสถานที่เกิดเหตุจริงร่วมกับคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร และได้มีโอกาสเดินเท้าขึ้น “ภูเหล็กไฟ” เพื่อไปดูจุดหรือบริเวณที่น้องชมพู่เสียชีวิต และพบว่า “ สถานที่เกิดเหตุดังกล่าวกลับไม่ได้มีการกั้นหรือกันสถานที่เกิดเหตุ หรือ POLICE LINE แต่อย่างใด จึงมีการเหยียบย่ำสถานที่เกิดเหตุจนไม่อาจเก็บพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุดังกล่าวได้อีกต่อไป

มาถึงคดี “แตงโม” คดีดังแห่งปี ๒๕๖๕ ข้อเท็จจริงที่เราได้จากสื่อ ไม่ว่าจะเป็น สื่อโทรทัศน์ สื่อทีวี สื่อวิทยุกระจายเสียง สื่อออนไลน์ มีการสัมภาษณ์บุคคลทั้งที่เกี่ยวข้องบ้าง ไม่เกี่ยวข้องบ้าง ภาพจากกล้องวงจรปิด จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง จินตนาการบ้าง ทำให้เราเกิดความสงสัยว่า

๑. แตงโม ตกจากเรือลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างไร และตกไปตอนไหน
๒. แตงโม ตกลงไปน้ำด้วยตนเอง หรือถูกทำให้ตก และใครทำให้ตก
๓. เหตุการณ์บนเรือก่อนที่ ”แตงโม” จะตกลงไปในน้ำเป็นอย่างไร
๔. คำพูดของคนบนเรือทั้งห้าคน ใครพูดจริง ใครพูดเท็จ
๕. ทำไม คนบนเรือทั้งห้าคนจึงไม่ช่วย “แตงโม”
๖. ทำไมภายหลังเกิดเหตุ “แตงโม” ตกน้ำแล้ว กลับแยกย้ายแล้วกลับมารวมตัวกันใหม่
๗. ทำไม ตำรวจไม่ดำเนินการให้ได้ตัวคนบนเรือทั้งห้าคนมาให้การหรือตรวจร่างกายในทันทีหรือ ในระยะเวลาที่ใกล้กับเหตุ
๘. ทำไม ตำรวจไม่ยึดหรืออายัดเรือลำเกิดเหตุมาเป็นของกลางเพื่อเก็บพยานหลักฐาน
๙. ทำไม ไม่ส่งศพของ “แตงโม” ไปตรวจพิสูจน์ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม แต่กลับส่งศพไปตรวจที่ สถาบันนิติเวช โรงพยาบาลตำรวจ

มาถึงวันนี้ แม้จะมีการผ่าศพ “แตงโม” เป็นครั้งที่สอง โดยมติของคณะกรรมการ นิติวิทยาศาสตร์ก็ตาม อันอาจทำให้ความสงสัยเกี่ยวกับสภาพศพ หรือพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นจากเนื้อตัวร่างกายของ “แตงโม” เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่า การผ่าศพในครั้งที่สองนี้มีความสอดคล้องหรือแตกต่างจากการผ่าศพในครั้งแรกหรือไม่ อย่างไร และจากสภาพศพสามารถ บ่งบอกอะไรให้กับเราได้บ้าง หรือสาเหตุการตายและบาดแผลตามร่างกายเกิดขึ้นได้จากอะไร ได้บ้าง

คดีของ “แตงโม” ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก มากจนถึงขนาดมีแฟนคลับหรือ FC อยากให้ ”กรมสอบสวน คดีพิเศษ” หรือ ดีเอสไอ เข้ามารับทำคดีนี้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อันเนื่องมาจากความไม่เชื่อมั่นจากการทำงานของ พนักงานสอบสวน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
แต่สังคมกลับลืมไปว่า……

เมื่อสำนวนคดีนี้ส่งถึงมือ “พนักงานอัยการ” ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายในการพิจารณาสั่งสำนวนคดีอาญาและเป็นผู้ที่จะต้องเป็น “โจทก์” ฟ้องผู้กระทำผิดต่อกฎหมายเป็น “จำเลย”ต่อศาล และยังจะต้องเป็นดำเนินคดีสืบพยานในชั้นศาล เพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลย เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยต่อไป

แต่ถ้า…. “พนักงานอัยการ” ตรวจสำนวนคดี “แตงโม” แล้ว เกิดเห็นว่า มีความจำเป็นต้อง “สั่งสอบสวนเพื่มเติม” เช่น

๑. หากการตกลงไปจากเรือของ “แตงโม” เป็นไปตามคำให้การของ “แซน” เป็นเพราะ “แตงโม” ไปปัสสาวะที่ท้ายเรือ โดยที่มือของ “แตงโม” ได้จับ, ยึด หรือสัมผัสที่บริเวณต้นขา หรือกางเกงของ “แซน” แล้วย่อมจะต้องเกิดรอยมือหรือรอยนิ้วมือ หรือ ดีเอ็นเอของ “แตงโม” ปรากฏขึ้นบนบริเวณขาหรือกางเกงของ “แซน” เป็นแน่แท้ ดังนั้น จึงขอให้พนักงานสอบสวนส่งกางเกงของ “แซน” ตัวที่สวมใส่ในวันเกิดเหตุ ไปตรวจหาร่องรอยมือ หรือรอยนิ้วมือ หรือ ดีเอ็นเอ ของ “แตงโม” หรือ สั่งให้พนักงานสอบสวนไปทำการตรวจหา รอยมือ รอยนิ้วมือ หรือดีเอ็นเอที่บริเวณท้ายเรือบริเวณตามที่ “แซน” ให้การว่า “แตงโม” ไปปัสสาวะที่ท้ายเรือ ดังนี้ อาจจะไม่สามารถกระทำได้ ถ้า…คุณแซน นำกางเกงตัวที่สวมใส่ในวันเกิดเหตุไปซักหรือทำความสะอาดแล้ว หรือบริเวณท้ายเรือได้มีการทำความสะอาดไปแล้ว หรือ มีการจับหรือสัมผัสจากบุคคลอื่นไปแล้ว (อย่างไรก็ตาม ในประเด็นนี้พนักงานสอบสวนอาจเก็บรวบรวมพยานหลักฐานดังกล่าวไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็อาจเป็นได้ )

๒. เมื่อ พนักงานอัยการ ได้อ่าน “รายงานการผ่าศพของคุณแตงโม ทั้งสองฉบับ หรือของทั้งสองสถาบันฯดังกล่าวแล้ว เกิดมีความเห็นว่า มีความจำเป็นจะต้องทราบข้อเท็จจริงบางประการเกี่ยวกับสภาพของศพที่อาจจะบังเอิญการผ่าศพทั้งสองครั้งอาจจะไม่ได้ผ่า หรือไม่ได้เก็บรายละเอียดดังกล่าวไว้ (ทั้งนี้เนื่องจากในการผ่าครั้งที่สองนั้น น่าจะเป็นการผ่าเฉพาะบริเวณตามประเด็นที่มารดาของ ”แตงโม” มีความสงสัยเกี่ยวกับสภาพศพของ “แตงโม”เท่านั้น) กรณีดังกล่าว ก็อาจจะไม่สามารถทำได้ หรืออาจจะทำให้ ไม่ได้รายละเอียดดังกล่าวตามที่พนักงานอัยการได้สั่งสอบสวนเพิ่มเติม เพราะมันเลยขั้นตอนการผ่าศพทั้งสองครั้งไปแล้ว

ทำให้ผู้เขียนนึกถึงสุภาษิตไทยที่ว่า “กว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้”

ผู้เขียน มิได้หมายความว่า สำนวนการสอบสวนคดี “แตงโม” ที่พนักงานสอบสวนได้สอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานไว้แล้วไม่ดี หรือไม่สมบูรณ์ หรือไม่ครบถ้วน แต่จะดีกว่าไหม ถ้า ….ในคดีสำคัญหรือคดีที่ประชาชนให้ความสนใจดังเช่นคดี “แตงโม” จะให้ “พนักงานอัยการ” เข้าร่วมทำการสอบสวนตั้งแต่เริ่มแรกแห่งคดี เพราะจะทำให้สำนวนคดีนี้ มีความสมบูรณ์ครบถ้วนเพียงพอที่จะสั่งฟ้อง, เพียงพอที่จะดำเนินคดี, เพียงพอที่จะสืบพยานให้ศาลได้เห็นข้อเท็จจริงแห่งคดีและเพียงพอที่ศาลจะพิพากษาลงโทษผู้กระทำผิด และลงโทษผู้กระทำผิดในบทกฎหมายที่ถูกต้อง และครบถ้วน

ดังคำกล่าวที่ว่า “สองหัวดีกว่า หัวเดียว“

ในต่างประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ฯลฯ ในคดีสำคัญและคดีที่ประชาชนให้ความสนใจ “พนักงานอัยการ” จะเข้ามามีบทบาทในการ “เข้าร่วมสอบสวน” และ” เข้าตรวจสถานที่เกิดเหตุ” และ ได้รับรู้ได้เห็นพยานหลักฐานมาตั้งแต่เริ่มต้นคดี ทำให้การสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานมีความสมบูรณ์และครบถ้วนมากขึ้น พยานหลักฐานจึงไม่อาจถูกบิดเบือนหรือทำลายหลักฐานได้ เนื่องจากมีผู้รู้เห็นพยานหลักฐานมากกว่าหนึ่ง กล่าวคือ มีพนักงานอัยการเข้าร่วมรับรู้ด้วย การสืบพยานในชั้นศาลจึงมีความสมบูรณ์

เพราะพนักงานอัยการ ได้เห็นได้ทราบ “ข้อเท็จจริงแห่งคดี” อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ความ การดำเนินคดีในชั้นศาลจึงเกิดประสิทธิภาพ และในทางตรงข้าม หากผู้ต้องหาไม่ได้กระทำผิด หรือพยานหลักฐานไม่เกี่ยวข้องกับผู้ต้องหา ก็จะไม่ถูกสั่งฟ้อง อันเป็น “หลักประกันความยุติธรรม” และ “ประสิทธิภาพในการนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ “

คดี “ แตงโม” กับ คดี “น้องชมพู่” ไม่ต่างกันเลยตรงที่พยานหลักฐานในที่เกิดเหตุไม่ได้ถูกปกป้อง, ไม่มีการเก็บรักษาพยานหลักฐานในที่เกิเหตุให้ดีเพียงพอ และไม่เก็บพยานหลักฐานในเวลาที่ใกล้ชิดกับเหตุมากที่สุด และมีการผ่าศพถึงสองครั้ง

ในคดีอาญานั้น ศาลจะพิพากษาลงโทษผู้กระทำผิดได้นั้น จักต้องพิสูจน์ให้ได้จำเลยเป็นผู้กระทำผิด, การกระทำของจำเลยเป็นความผิด ไม่มีเหตุยกเว้นความผิดและไม่มีเหตุยกเว้นโทษ

“ หากเกิดความสงสัย ให้ศาลยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย” ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๗ วรรคสอง

ดังนั้น พยานหลักฐาน ไม่ว่าจะเป็น พยานบุคคล ซึ่งมีทั้ง ประจักษ์พยาน (พยานที่เห็นเหตุการณ์มาด้วยตนเอง) รวมทั้งพยานแวดล้อม และพยานบอกเล่า (พยานที่ไม่ได้เห็นเหตุการณ์มาด้วยตนเอง หากแต่ได้รับฟังข้อเท็จจริงมา) หรือ พยานวัตถุ (รวมถึงพยานที่เป็นนิติวิทยาศาสตร์) ล้วนเป็นสิ่งสำคัญในอันพิสูจน์ความถูกผิดของจำเลย

“ พยานบุคคล” นั้นอาจให้การจริงก็ได้หรือให้การเท็จก็ได้ และ “พยานวัตถุ” ก็อาจปรุงแต่งขึ้นได้เช่นกัน (จัดฉาก) แต่พยานหลักฐานที่เป็นนิติวิทยาศาสตร์จะเป็นพยานที่เป็นเครื่องพิสูจน์ความจริงที่ซ่อนอยู่
การเก็บหลักฐานที่เป็น” นิติวิทยาศาสตร์ “ ให้ได้มากที่สุดและให้ได้เร็วที่สุด (ใกล้ชิดกับเหตุที่สุด) จะเป็นพยานหลักฐานที่ดีที่สุด

บุคคลทั้งห้าในเรือ อาจพูดจริงก็ได้ หรือ พูดความเท็จก็ได้ หรือจริงบ้างไม่จริงบ้างก็ได้ แต่ความจริงแห่งคดีนี้ ก็คือ “ มีเรือ, มีคนขับเรือ, มีผู้โดยสารในเรือรวม ๕ คน, มีคนตกจากเรือ และคนที่ตกจากเรือถึงแก่ความตาย”

เมื่อพิจารณาคดี “แตงโม” และคดี “ชมพู่” ตามหลักกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญา…..
มาตรา ๕๙ “ บุคคลจักต้องรับผิดในทางอาญาต่อเมื่อได้ “กระทำโดยเจตนา”

เว้นแต่จะได้ “กระทำโดยประมาท” ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท หรือ เว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิด แม้ไม่ได้กระทำโดยเจตนา”

“การกระทำโดยประมาท” คือ กระทำความผิดโดย มิใช่เจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และ ผู้กระทำ อาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่

มาตรา ๒๙๑ ผู้ใด “กระทำโดยประมาท” เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๑๐ ปี และปรับไม่เกิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท

คดี “แตงโม” จึงมีประเด็นว่า
ความตายของ “แตงโม” เกิดจากการกระทำของผู้หนึ่งผู้ใดบนเรือลำดังกล่าวหรือไม่ (หากใช่) เกิดจาก “การกระทำโดยเจตนา” หรือ เกิดจาก “ความประมาท” และหากเกิดจากความประมาทแล้ว ใครเป็นคนกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ “ แตงโม”ตกลงไปในน้ำ และ หากจะฟังว่าเป็นการกระทำโดยประมาท จะต้องได้ความว่า ประมาทอย่างไร เช่น ขับเรือไม่ดีหรือขับเรือกระชากหรือมีการหันหัวเรืออย่างเร็วจนเกิดแรงเหวี่ยง หรือเกิดจากการ “ไม่ยึดหรือไม่ได้จับ “แตงโม” ไว้ให้มั่นเป็นเหตุให้ “แตงโม” ตกลงไปจากเรือ เป็นต้น หรือ หากเกิดจากการกระทำโดยเจตนา กระทำอย่างไร เจตนาอย่างไร (ฆ่าอย่างไร, ทำให้ตกน้ำอย่างไร)

“การกระทำโดยเจตนา” ในทางกฎหมาย รวมถึงการกระทำทั้งโดยประสงค์ต่อผล และเล็งเห็นผลว่าจะเกิดขึ้นด้วย และรวมถึงการละเว้นการกระทำเพื่อป้องกันผลด้วย เช่น

“ช่วยได้แต่ไม่ช่วย โดยไม่ทำให้ผู้ช่วยเกิดอันตรายแล้วทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายจากการที่ตนไม่ช่วยนั้น ”ตัวอย่างเช่น เห็นคนตกน้ำ และตนเองเป็นคนที่ว่ายน้ำเป็นและว่ายน้ำแข็งแรง และสามารถจะช่วยคนตกน้ำได้ แต่กลับไม่ช่วย การไม่ช่วยดังกล่าวเป็นเหตุให้คนตกน้ำถึงแก่ความตาย กรณีเช่นนี้ในทางกฎหมายก็ถือว่า ผู้กระทำมีความผิดฐาน “ฆ่าผู้อื่น” โดยการละเว้นไม่กระทำหน้าที่ (ในฐานะพลเมืองดี) เพื่อป้องกันมิให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

“คนทั้งคน มาด้วยกันบนเรือ ตกลงไปในน้ำตอนไหน คนบนเรือจะไม่รู้เรื่องเลยหรือ ? ”

ไม่ว่าบทสรุปของคดี ”แตงโม” จะเป็นเช่นไร จะเป็น “การกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย” หรือ “เป็นการกระทำโดยเจตนา” ไม่ว่าจะเป็นประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผล รวมถึงการกระทำโดยละเว้นหน้าที่กระทำเพื่อป้องกันมิให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย (ช่วยได้แต่ไม่ช่วยแล้วเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย) จำเป็นต้องมี พยานหลักฐาน ไม่ว่าจะเป็น พยานบุคคล หรือ พยานวัตถุ รวมถึง พยานที่เป็นนิติวิทยาศาสตร์ การเก็บรวบรวมพยานหลักฐานให้ครบถ้วนสมบูรณ์และรวดเร็วใกล้ชิดกับเหตุมากที่สุด เป็นพยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือที่สุด

คนอาจพูดโกหกได้ แต่พยานหลักฐาน โดยเฉพาะพยานหลักฐานที่เป็น นิติวิทยาศาสตร์ ไม่อาจโกหกได้
และหากบุคคลใด ”แจ้ง หรือให้การ“ กับพนักงานสอบสวนซึ่งเป็นเจ้าพนักงานด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนได้รับความเสียหาย ย่อมเป็นความผิดฐาน “แจ้งความเท็จ” ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๗ มีโทษ จำคุกไม่เกิน ๖ เดือน หรือปรับไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

รวมถึง การที่ผู้หนึ่งผู้ใด แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับ ใช้เป็นพยานหลักฐาน โดยประการที่น่าจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ย่อมเป็นความผิดฐาน “แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จ” ต้องได้รับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๗ มีโทษ จำคุกไม่เกิน ๓ ปี หรือปรับไม่เกิน ๖๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

คนบนเรือทั้งห้า ใครจะเป็นคนร้ายที่ทำให้ “แตงโม” ถึงแก่ความตาย จะเป็นการกระทำโดยประมาท หรือ โดยเจตนา หรือจะเป็นกรณี “แตงโม” ตกลงไปในน้ำโดยอุบัติเหตุ (พลัดตกไปด้วยตนเอง) คงมีบทสรุปในเร็ววันนี้ ส่วนบทสรุปจะเป็นเช่นใด คงต้องติดตามตอนต่อไป

จากคดี “ชมพู่” ถึง คดี “แตงโม” เราคงได้อะไรจากเรื่องนี้ไม่มากก็น้อย

หมายเหตุ- บทความนี้มีวัตถุประสงค์ในการให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชนเท่านั้น ส่วนรูปคดีจะเป็นเช่นใด คงเป็นไปตามที่พนักงานสอบสวนจะได้รวบรวมพยานหลักฐานและสรุปสำนวนคดีส่งให้ พนักงานอัยการประจำท้องที่ที่เกิดเหตุพิจารณาต่อไป

นายวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์
อัยการศาลสูงจังหวัดสมุทรปราการ
รองประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาและสิทธิมนุษยชน (คนที่สี่) ในคณะกรรมาธิการกฎหมายการยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร
๒๓ มีนาคม ๒๕๖๕

0 Comments
Share

Admin

Reply your comment

Your email address will not be published. Required fields are marked*