อาชญากรรม

ทำไม “พนักงานอัยการ” จึงไม่ฟ้องคดี ”กระติก” ทั้งที่ ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพ ?

%e0%b8%97%e0%b8%b3%e0%b9%84%e0%b8%a1-%e0%b8%9e%e0%b8%99%e0%b8%b1%e0%b8%81%e0%b8%87%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b8%ad%e0%b8%b1%e0%b8%a2%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3-%e0%b8%88%e0%b8%b6%e0%b8%87

ตามปกติ เมื่อ “พนักงานสอบสวน” ได้นำตัว “ผู้ต้องหา” ในคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง และถ้า “ผู้ต้องหา” ให้การรับสารภาพตลอดข้อหา ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๒๐ กำหนดให้ “พนักงานสอบสวน” นำตัว “ผู้ต้องหา” มายัง “พนักงานอัยการ” หรือ สั่งให้ “ผู้ต้องหา” ไปพบ “ พนักงานอัยการ” (ในกรณีทีผู้ต้องหาไม่ได้ถูกควบคุมตัว) เพื่อฟ้องคดีศาล “ทั้งนี้ โดยไม่ต้องทำการสอบสวน“ และ “ให้ฟ้องด้วยวาจา ”

เมื่อฟ้องคดีด้วยวาจาแล้ว ให้ศาลถาม ผู้ต้องหา ว่า จะให้การอย่างไร และ ถ้า ผู้ต้องหา ให้การรับสารภาพ ให้ศาลบันทึกคำฟ้อง คำรับสารภาพ และทำคำพิพากษาในบันทึกฉบับเดียวกัน แล้วให้ โจทก์ จำเลย ลงชื่อไว้ในบันทึกนั้น
แต่ถ้าผู้ต้องหาให้การปฎิเสธ ให้ศาลสั่งให้พนักงานอัยการ รับตัวผู้ต้องหาคืน เพื่อส่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไป

เมื่อคดีของ “กระติก” ปรากฏจากข่าวสารและสื่อมวลชนว่า พนักงานสอบสวน ได้แจ้งข้อหา“กระติก” ในความผิดฐาน “ แจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่พนักงานสอบสวน ” ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๒ ผู้ใด แจ้งข้อความอันเป็นเท็จ เกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานสอบสวน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่น หรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน ๒ ปี เดือน หรือ ปรับไม่เกิน ๔๐,๐๐๐ บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา๒๕ (๕) กำหนดให้ คดีอาญาที่มีอัตราโทษอย่างสูงจำคุกไม่เกิน ๓ ปี หรือปรับไม่เกิน ๖๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ให้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะ แต่จะลงโทษ จำคุกเกิน ๖ เดือน หรือปรับเกิน ๑๐,๐๐๐ บาท เกินกว่าอัตราดังกล่าวไม่ได้

หมายความว่า คดีที่อัตราโทษ จำคุกไม่เกิน ๓ ปี หรือโทษปรับไม่เกิน ๖๐,๐๐๐ บาทผู้พิพากษาคนเดียวสามารถเป็นองค์คณะ พิจารณาพิพากษาตัดสินคดีไปได้เลย

ศาลแขวง มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอย่างไร ?
ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา ๑๗ บัญญัติให้ ศาลแขวง มีอำนาจพิจารณาพิพากษา คดีและมีอำนาจทำการไต่สวนหรือมีคำสั่งใดๆ ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจตามมาตรา ๒๔ และมาตรา ๒๕ วรรคหนึ่ง

จึงอาจกล่าวได้ว่า “คดีศาลแขวง” คือ คดีที่ “ ผู้พิพากษาคนเดียว” สามารถพิจารณาพิพากษา คดีและมีอำนาจทำการไต่สวนหรือมีคำสั่งใดๆ ตามมาตรา ๒๔ และมาตรา ๒๕ วรรคหนึ่ง ได้

และหากเป็น “คดีอาญา” จะต้องเป็น “คดีอาญา” ที่มีอัตราโทษอย่างสูงจำคุกไม่เกิน ๓ ปี หรือปรับไม่เกิน ๖๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เมื่อคดี “แจ้งข้อความอันเป็น เท็จ” ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๒ มีอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน ๒ ปีหรือ ปรับไม่เกิน ๔๐,๐๐๐ บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง และผู้พิพากษาคนเดียว สามารถพิจารณาพิพากษาได้เลย

ดังนั้น คดีศาลแขวง จึง “รวดเร็ว” การดำเนินคดีที่ ”รวดเร็ว” ต่อเนื่อง และ เป็นธรรม ย่อมเป็นผลดีต่อกระบวนการยุติธรรม

แต่ การ ”รวดเร็ว” ก็มิได้หมายความว่า จะเป็นผลดีหรือเป็นธรรมต่อคู่ความทุกฝ่าย เพราะอาจมีคู่ความฝ่ายหนึ่งได้รับผลประโยชน์ และมีคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเสียประโยชน์

ยกตัวอย่างเช่น มีการทำร้ายร่างกายกัน พนักงานสอบสวน แจ้งข้อหาผู้ต้องหาว่า “ทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕ ซึ่งมีโทษ จำคุกไม่เกิน ๒ ปี หรือ ปรับไม่เกิน ๔๐,๐๐๐ บาท ซึ่งโทษจำคุกไม่เกิน ๓ ปี หรือปรับไม่เกิน ๖๐,๐๐๐ บาท จึงอยู่ในอำนาจ พิจารณาพิพากษาของศาลแขวง และอยู่ในอำนาจพิจารณาของผู้พิพากษาคนเดียว ดังนั้น ผู้ต้องหา จึง “รีบรับสารภาพ” เพื่อให้พนักงานสอบสวน ส่งตัวผู้ต้องหาให้พนักงานอัยการ เพื่อฟ้องคดีด้วยวาจา ต่อศาลแขวง เพื่อให้ศาลตัดสินคดีทันที เพื่อคดีจะได้จบและยุติโดยเร็ว ซึ่งหาก ผู้ต้องหาคนนั้นไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน หรือเคยรับโทษจำคุกมาก่อน แต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือลหุโทษ หรือเป็นโทษจำคุกไม่เกิน ๖ เดือน และ ไม่อยู่ในเงื่อนไขการเพิ่มโทษหรือนับโทษต่อ โอกาสที่ศาลจะพิพากษาลงโทษแต่ให้ “รอการลงโทษ” หรือ “รอการกำหนดโทษ” ก็มี ( ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖, ๕๘ )

แต่หากคดีนั้น พนักงานสอบสวน ไม่ได้สอบสวนแพทย์ให้ได้ความชัดแจ้งว่า บาดแผลที่ผู้เสียหายถูกทำร้ายมีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด และ บาดแผลดังกล่าวมีผล อาจทำให้ ผู้เสียหาย หรือ ผู้ได้รับบาดเจ็บ อาจถึงแก่ความตายได้หรือไม่ และ (บังเอิญ) ต่อมาผู้ได้รับบาดเจ็บได้รับผลกระทบต่อ ระบบสมองและการสั่งการ ทำให้ระบบสมองและระบบการควบคุมอวัยวะภายในล้มเหลว และถึงแก่ความตาย (แม้ว่า บาดแผลภายนอกอาจไม่เห็นประจักษ์ก็ตาม)
แต่การที่ “ผู้ได้รับบาดเจ็บ” ต่อมา ถึงแก่ความตาย อันมีผลทำให้ การกระทำของ ผู้ต้องหา เป็นความผิดฐาน “ทำร้ายผู้อื่นจนถึงแก่ความตาย” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๐ ซึ่งมีโทษ จำคุกตั้งแต่ ๓ ปี ถึง ๑๕ ปี และถ้าการกระทำนั้น มีเหตุฉกรรจ์ด้วย เช่น ผู้บาดเจ็บ เป็น บุพการี เป็นเจ้าพนักงาน หรือ มีลักษณะไตร่ตรองไว้ก่อน ฯ เป็นต้น ”ย่อมมีโทษหนักขึ้น” คือ จำคุก ตั้งแต่ ๓ ปี ถึง ๒๐ ปี

แต่การรีบฟ้องผู้ต้องหาไปในความผิดฐาน “ทำร้ายร่างกาย” ตามมาตรา ๒๙๕ ซึ่งมีโทษเพียง จำคุกไม่เกิน ๒ ปี หรือ ปรับไม่เกิน ๔๐,๐๐๐ บาท ทั้งที่ หากผู้บาดเจ็บต่อมาถึงแก่ความตาย ย่อมเป็นความผิด ตามมาตรา ๒๙๐ ซึ่งมีอัตราโทษ “ จำคุกตั้งแต่ ๓ ปี ถึง ๑๕ ปี หรือ จำคุก ตั้งแต่ ๓ ปี ถึง ๒๐ ปี (แล้วแต่กรณี)

แต่ พนักงานอัยการ ไม่สามารถไปฟ้องใหม่ (ฟ้องในความผิดที่มีโทษหนักกว่า หรือ ในฐานความผิดที่ปรากฏขึ้นในภายหลังได้ ทั้งที่ ความจริงและพฤติการณ์ของผู้ต้องหาเป็นเช่นนั้น ) ทั้งนี้ เนื่องจาก “สิทธินำคดีอาญามาฟ้องเป็นอันระงับ” เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง ตามป.วิ.อ. มาตรา ๓๙ (๔) และ จะนำกลับมาฟ้องใหม่ก็ไม่ได้ เป็น “ฟ้องซ้ำ” ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๔๘ ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา ๑๕

ดังนั้น การเร่งรีบให้ “พนักงานอัยการ” ฟ้องคดี เพื่อให้ คดีเสร็จเด็ดขาด ทั้งที่คดียังไม่สิ้นกระแสความ จึงอาจไม่เป็นผลดีแก่ผู้เสียหาย แต่ก็อาจเป็นผลดีแก่ผู้ต้องหา ก็อาจเป็นได้

มาถึง คดี ”กระติก” แม้คดีนี้พนักงานสอบสวนมีอำนาจนำผู้ต้องหามายังพนักงานอัยการเพื่อฟ้องศาลโดยมิต้องสอบสวนและให้ฟ้องด้วยวาจา ดังที่กล่าวแล้วก็ตาม

แต่เนื่องจากคดีนี้เป็น คดีสำคัญที่สังคม สื่อมวลชน ตลอดจนประชาชนให้ความสนใจ เพราะคดีนี้เป็นการกล่าวหา “ผู้ต้องหา” เนื่องจาก “การให้การของผู้ต้องหา” ซี่งให้การกับพนักงานสอบสวนสืบเนื่องจากการเสียชีวิตของ นางสาวภัทรธิดา หรือแตงโม พัชรวีระพงศ์ ซึ่งปรากฎข้อเท็จจริงที่สังคมและประชาชนรับทราบจากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนว่า มีผู้เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการเสียชีวิตคนอื่นและข้อหาอื่นอีกอยู่ในเหตุการณ์ ในชั้นนี้ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการคดีศาลแขวงนนทบุรีจึงยังไม่ทราบข้อเท็จจริงคดีอื่น ๆ ซึ่งอาจเป็น “คดีเอกภาพ” ตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2563 รวมทั้งเพื่อให้การอำนวยความยุติธรรมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและคดีนี้เป็นคดีที่มีข้อเท็จจริงที่ยุ่งยากและชับซ้อน ตามหนังสือเวียนสั่งการของสำนักงานอัยการสูงสุดที่ อส (สฝปผ.) 0018/ว 169 ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2544 ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติว่า หากต้องด้วยกรณีดังกล่าว

ด้วยเหตุ และผลดังกล่าว แม้ผู้ต้องหาจะให้การรับสารภาพ แต่พนักงานอัยการจะไม่ยื่นฟ้องตามบันทึกคำให้การรับสารภาพของผู้ต้องหา โดยให้คืนตัวผู้ต้องหาพร้อมบันทึกคำให้การรับสารภาพให้พนักงานสอบสวนเพื่อทำการสอบสวนจนเสร็จสิ้นกระบวนการสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเสียก่อน และเมื่อทำการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว ให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนให้พนักงานอัยการพิจารณาเพื่อมีคำสั่งต่อไป

การเร่งรีบให้ฟ้องคดีด้วยวาจาต่อศาลแขวง เพื่อให้คดีเสร็จเด็ดขาดไปก่อน จึงอาจไม่เป็นผลดี และอาจไม่ยุติธรรมต่อผู้ตาย เพราะเมื่อความจริงย่อมฟังไปตามทางที่ฟ้องและคดีที่เสร็จเด็ดขาดไปแล้วและอาจทำให้มีผลกระทบต่อคดีหลักได้

นายวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์
อัยการศาลสูงจังหวัดสมุทรปราการ
รองประธานคณะอนุกรรมการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน (คนที่๔) ในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร

0 Comments
Share

Admin

Reply your comment

Your email address will not be published. Required fields are marked*