กฎหมายน่ารู้

บทความพิเศษ คดี “แตงโม” ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในกระบวนการยุติธรรมไทย

%e0%b8%9a%e0%b8%97%e0%b8%84%e0%b8%a7%e0%b8%b2%e0%b8%a1%e0%b8%9e%e0%b8%b4%e0%b9%80%e0%b8%a8%e0%b8%a9-%e0%b8%84%e0%b8%94%e0%b8%b5-%e0%b9%81%e0%b8%95%e0%b8%87%e0%b9%82%e0%b8%a1

เหตุใด? เมื่อ “พนักงานสอบสวน” แถลงปิดคดี (ความจริงเป็นการแถลงให้ประชาชนทราบว่า พนักงานสอบสวน สรุปสำนวน และดำเนินคดีกับผู้ต้องหาคนใด ในข้อหาใด โดยมีพยานหลักฐาน (บางส่วน) อย่างไร ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานของ “พนักงานสอบสวน” แล้วส่งสำนวนให้ “พนักงานอัยการ” พิจารณาสั่งสำนวนคดีนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 142 ต่อไป

แต่พอ “พนักงานสอบสวน” แถลงปิดคดีเสร็จ แทนที่ ประชาชนผู้รับชมรับฟังการแถลงปิดคดีของพนักงานสอบสวน จะชื่นชมการทำงานของ “พนักงานสอบสวน” ทั้งที่ มีการนำเสนอข้อมูลการสอบสวนคดีแตงโมได้อย่างเป็นระบบ มีการใช้เทคโนโลยีในการนำเสนอข้อมูลได้ดี ทำให้น่าเชื่อว่า สำนวนคดีนี้ และผู้ต้องหาจะได้กระทำความผิดตามที่ “พนักงานสอบสวน” ได้สรุปสำนวน และมีความเห็นทางคดี

แต่ทำไม? ….กระแสสังคมกลับตีกลับ ไม่เชื่อถือ ตามที่ “พนักงานสอบสวน” ได้สรุปสำนวน และมีความเห็นทางคดี และได้แถลงปิดคดีดังกล่าว

นอกจากนี้ ยังมี “นักสืบโซเชี่ยล” ช่วยกันขุดคุ้ยหาความจริง (จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง) นำเสนอต่อสื่อมวลชน จนทำให้ “สังคมสับสน” และเกิดความไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมในชั้นสอบสวนของ พนักงานสอบสวน
คดี ”แตงโม” ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อระบบกระบวนการยุติธรรมไทยอย่างมาก กล่าวคือ

ก่อนอื่นต้องมาทำความเข้าใจก่อนว่า “ระบบวิธีพิจารณาคดี” ของทุกประเทศทั่วโลกแบ่งออกเป็น “สองระบบ” หลักๆ คือ

1.ระบบกล่าวหา (Accusatorial System) – ใช้กับกฎหมายในระบบ Common law

2.ระบบไต่สวน (Inquisitorial System) – ใช้กับกฎหมายในระบบ Civil law

“ระบบกล่าวหา” มีที่มาจากประเทศอังกฤษ และกลุ่มประเทศที่ใช้กฎหมายระบบคอมมอนลอว์ (Common Law) เช่น สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ แคนาดา รวมทั้งกลุ่มประเทศอาณานิคมของอังกฤษ โดยมีพื้นฐานวิธีคิดมาจากการแก้แค้นกันระหว่าง “ผู้กระทำผิด” กับ “ผู้เสียหาย” โดยผู้เสียหายจะฟ้องคดีอาญาเพื่อลงโทษผู้กระทำผิดด้วยตนเอง แล้ว “รวบรวมพยานหลักฐานมานำสืบความผิดของจำเลยในศาล”

ส่วน “ศาล” หรือผู้พิพากษาจะวางตัวเป็นกลางโดยเคร่งครัด ไม่ถามหรือ ไม่แสวงหาพยานหลักฐานใดเพิ่มเติม (แม้พยานหลักฐานนั้นจะมีอยู่จริง และเป็นพยานหลักฐานสำคัญในคดี)

หากขาด “พยานหลักฐาน” ในส่วนใด ศาลจะถือว่าเป็น ”ความบกพร่อง” ของผู้เสียหายเอง และจะยกประโยชน์ในข้อนี้ให้แก่จำเลย “

กระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยในปัจจุบัน ก็ใช้ “ระบบกล่าวหา” ดังจะเห็นได้จากหลัก “ผู้ใดกล่าวหาผู้อื่นด้วยข้อเท็จจริงใด ผู้นั้นมีหน้าที่นำสืบข้อเท็จจริงเพื่อพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกกล่าวหา”

และ หลัก “ให้ศาลใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง อย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่า มีการกระทำผิดจริง” และจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น

และ “เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย” ( ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227)

ส่วน “ระบบไต่สวน” เป็นระบบที่ใช้อยู่ในกลุ่มประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร (Civil Law) เช่น ประเทศฝรั่งเศส ประเทศเยอรมัน เป็นต้น

ระบบไต่สวน มีพื้นฐานและวิธีคิดมาจาก ผู้มีอำนาจในการไต่สวนควรจะเป็นผู้มีอำนาจในบ้านเมือง เช่น ผู้มีอิทธิพลจากศาสนา ระบบไต่สวนมีที่มาจากศาลทางศาสนาของคริสต์ศาสนา นิกายคาทอลิคในสมัยกลาง ซึ่งทางศาสนจักรโดยเฉพาะอย่างยิ่งสันตปาปาแห่งกรุงโรม มีอิทธิพลเหนือฝ่ายอาณาจักรคือ กษัตริย์หรือเจ้าผู้ครองนครต่าง ๆ ในสมัยกลาง ศาลศาสนาของยุโรปมีวิธีการพิจารณาคดีผู้กระทำผิดเกี่ยวกับกฎหมายของทางศาสนาด้วยวิธีการ ”ซักฟอกพยาน” โดย พระผู้ทำการไต่สวนจะมีอำนาจซักฟอก ซักถามตัวผู้กระทำความผิดได้โดยตรง

“ระบบไต่สวน ศาลจะทำหน้าที่ ค้นหาความจริง” ซึ่งระบบนี้ศาลสามารถเรียกพยานหลักฐานอื่นใดมาสืบหรือมารับฟัง แม้คู่ความจะมิได้นำสืบแสดงมาก็ตาม ศาลก็สามารถค้นหาความจริง และพยานหลักฐานนอกสำนวนคดีได้ เพื่อให้เกิดความยุติธรรม

ทั้งระบบ “กล่าวหา” และระบบ “ไต่สวน” ต่างก็มีทั้งข้อดี และข้อเสีย

ประเทศไทยความจริงแล้วใช้ สองระบบ กล่าวคือ ในคดีปกครอง หรือ ในคดีความผิดตามกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา หรือ ความผิดตามกฎหมายค้ามนุษย์ กระบวนการพิจารณาในชั้นศาลของไทย ใช้ระบบ “ไต่สวน” ให้ศาลสามารถลงไปค้นหาข้อเท็จจริงได้

คดี ”แตงโม” เป็นคดีอาญาทั่วไป จึงต้องใช้ระบบการพิจารณาคดีแบบ “ระบบกล่าวหา”

เมื่อเป็นระบบ “กล่าวหา” พนักงานสอบสวน จึงต้องสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อที่จะดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหา ว่า ได้กระทำความผิดฐานใด ตามกฎหมายใด เป็นการร่วมกันกระทำผิด หรือเป็นการแยกกันกระทำผิด (ซึ่งความจริงแล้ว พนักงานสอบสวนจักต้องรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความถูก-ผิดของผู้ถูกกล่าวหา) และเมื่อ รวบรวมพยานหลักฐานเสร็จก็จะสรุปสำนวนคดี และมีความเห็นทางคดี เช่น เห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาคนใด ในความผิดฐานใด หรือ เห็นควรสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาคนใด ในความผิดฐานใด เพราะเหตุใด แล้วเสนอสำนวนคดีนั้นไปยัง พนักงานอัยการ เพื่อพิจารณาสั่งสำนวนคดีตามอำนาจ และหน้าที่ตามกฎหมายต่อไป

คดี “แตงโม” ก็เช่นกัน เมื่อ พนักงานสอบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานแล้วเสร็จ ก็จะต้องสรุปสำนวนคดี และมีความเห็นทางคดีว่า มีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาคนใด (บุคคลบนเรือ) ในความผิดฐานใด ด้วยพยานหลักฐานใด รวมถึงบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องที่ (น่าเชื่อว่า) ได้กระทำผิด หรือ ได้ร่วมกระทำผิด กับ บุคคลบนเรือ (หากมี) แล้วส่งสำนวนคดี ”แตงโม” ไปยัง “พนักงานอัยการจังหวัดนนทบุรี” ซึ่งเป็นพนักงานอัยการผู้มีอำนาจ และหน้าที่ตามกฎหมายที่พิจารณาดำเนินคดี เนื่องจาก “มูลคดี” หรือเหตุในคดีนี้เกิดขึ้นในเขตจังหวัดนนทบุรี

ในอดีต “ไม่เคยมีคดีใดที่ พนักงานสอบสวน จะต้องนำ“ ข้อมูลการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานในคดี (แม้จะเป็นเพียงบางส่วนก็ตาม) นำเสนอต่อ สื่อมวลชน และประชาชน เพื่อให้ทราบถึง “พยานหลักฐานในสำนวนคดี ในลักษณะเปิดเผยต่อสาธารณชนหรือสื่อมวลชน” ดังเช่นคดี “แตงโม”

เพราะการเปิดเผยพยานหลักฐาน (แม้จะเป็นเพียงบางส่วน) ต่อสาธารณชน ย่อมอาจเป็นผลเสียต่อรูปคดี และเป็นการเปิดโอกาสให้คู่ความฝ่ายตรงข้าม ได้เห็น และได้ทราบข้อมูลพยานหลักฐาน และข้อเท็จจริง และมีโอกาสนำพยานหลักฐานมานำสืบหักล้างข้อมูลหรือข้อเท็จจริงที่ พนักงานสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานสรุปสำนวนคดีไว้ดังกล่าว
ประเด็นนี้ อาจมีทั้ง “คนที่เห็นด้วย” และ “คนที่ไม่เห็นด้วย”

ฝ่ายที่เห็นด้วย ก็บอกว่า “เพื่อความยุติธรรม” และเป็นการเปิดโอกาสให้คู่ความได้ต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ และหากคู่ความเห็นว่า พยานหลักฐานดังกล่าวเป็นเรื่องจริง และเห็นว่า รูปคดี ตนเองไม่อาจต่อสู้คดีได้ ก็อาจจะ “ให้การรับสารภาพ” ต่อศาล โดยไม่ต้องสืบพยานก็ได้ ทำให้คดีเสร็จสิ้นการพิจารณาโดยเร็ว

แต่อีกฝ่ายก็บอกว่า “เป็นผลเสีย“ เพราะเป็นการเปิดเผยพยานหลักฐานให้คู่ความฝ่ายตรงข้าม ได้รู้ ได้เห็น พยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ หรือฝ่ายที่กล่าวหา ก่อน และอาจเป็นเหตุให้คู่ความฝ่ายตรงข้ามไปเสาะแสวงหาพยานหลักฐานเพื่อนำสืบหักล้างพยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวนได้เปิดเผยต่อสาธารณชนดังกล่าว

และหาก พยานหลักฐานนั้น มีความไม่น่าเขื่อถือ เช่น อ้างอิงข้อมูลไม่ถูกต้อง หรือมีความไม่ชัดเจน คลุมเครือ ก็อาจถูกหยิบยกขึ้นเป็นประเด็นต่อสู้คดีได้

คดี “แตงโม” ก็เป็นเช่นนั้น มีการอ้างอิงภาพถ่าย ที่ (อาจจะ) ไม่ถูกต้อง และเป็นคนละกรณีของเรื่อง จึงถูก ”หยิบยก” ขึ้นเป็นประเด็นให้สังคมเกิดความเคลือบแคลงสงสัย และหากความสงสัยนี้ไปเกิดขึ้นในชั้นศาล ศาลอาจหยิบยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย และพิพากษายกฟ้องได้

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง “ให้ศาล ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย “
เราจึงมักเห็นคำพิพากษาในลักษณะ

“ทางนำสืบของโจทก์ยังมีความสงสัยตามสมควร ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย จึงพิพากษายกฟ้อง”

การเปิดเผยพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวนในคดี “แตงโม” แม้จะเป็นเพียงบางส่วน (แม้จะกระทำในรูปแถลงปิดคดี) หรือ แถลงให้ทราบความคืบหน้าว่า พนักงานสอบสวน ได้สอบสวนคดี ”แตงโม” เสร็จสิ้นแล้ว และพร้อมจะส่งสำนวนให้พนักงานอัยการเพื่อพิจารณาก็ตาม ก็อาจจะเป็นผลเสียต่อรูปคดีดังที่กล่าว

แม้จะเป็นการแถลงให้ทราบถึงความคืบหน้า และการสิ้นสุดของการสอบสวนในชั้นของ “พนักงานสอบสวน” ก็ตาม และ แม้จะเป็นการแถลงให้สาธารณชนทราบตามที่สังคมเรียกร้องก็ตาม

การแถลงการณ์ปิดสำนวนการสอบสวนในชั้นพนักงานสอบสวนต่อสาธารณชน แม้จะเป็นการดำเนินการเพื่อให้ “สังคมคลายความสงสัย” และ เพื่อให้เกิด “ความเชื่อมั่น” ในกระบวนการสอบสวนในชั้นพนักงานสอบสวนก็ตาม แต่มีข้อจำกัด คือ การไม่สามารถเปิดเผยพยานหลักฐานทั้งหมดที่พนักงานสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานไว้ในสำนวนการ สอบสวน เพราะจะเป็นการเปิดเผยความลับในคดี หรือ เปิดเผยพยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวนได้สอบสวน และรวบรวมพยานหลักฐานที่นำมาใช้ “กล่าวหา” ผู้ต้องหา ก่อนนำคดีขึ้นสู่การพิจารณาคดีของศาล

ดังนั้น เมื่อคดี “แตงโม” ภายหลังพนักงานสอบสวนได้แถลงปิดสำนวนการสอบสวน และพร้อมที่จะส่งสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการ โดยนำเสนอ รายละเอียดและพยานหลักฐาน “บางส่วน” แม้จะนำเสนออย่างเป็นระบบ ด้วย “เทคโนโลยี” จนทำให้ผู้ได้รับชมหรือดูการแถลงปิดสำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวน เชื่อตามที่ พนักงานสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานจนนำไปสู่การแจ้งข้อหา และสรุปสำนวนคดีส่งต่อพนักงานอัยการ แต่ด้วยข้อจำกัดดังที่กล่าว ตลอดจน ข้อมูลที่นำมาเสนอต่อสื่อมวลชน และประชาชนทั้งประเทศ หากมีความผิดพลาด ก็ทำให้เกิด “ประเด็นเคลือบแคลงสงสัย” ในกระบวนการสอบสวนของ พนักงานสอบสวน เพิ่มยิ่งขึ้น จนทำให้เกิด นักสืบโซเชี่ยล เกิด ผู้ที่สังคมเรียกว่า “หิวแสง” หรือ “ไม่หิวแสง” ก็ตาม พยายามค้นหา พยานหลักฐาน (จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง ชัดเจนบ้าง ไม่ชัดเจนบ้าง เบลอ เบลอบ้าง จิตนาการณ์บ้าง) มานำเสนอต่อสื่อมวลชน จนทำให้ พี่น้องประชาชนเกิดความสับสน สังคมแตกแยก เห็นด้วยบ้าง ไม่เห็นด้วยบ้าง

คดี “แตงโม” จึงก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย และอาจกลายเป็น “บรรทัดฐาน” ให้ คดีอาญาอื่น หากประชาชน หรือญาติผู้เสียหายเรียกร้องให้พนักงานสอบสวนเปิดเผยพยานหลักฐานในสำนวน โดยขอให้พนักงานสอบสวนแถลงการปิดสำนวนคดีให้ “ฝ่ายผู้เสียหาย” ทราบ ต่อสื่อมวลชนบ้าง หรือให้ สาธารณชนรับทราบบ้าง พนักงานสอบสวนจะทำอย่างไร และ หากฝ่าย “ผู้ต้องหา” ร้องขอให้พนักงานสอบสวน แถลงการณ์ปิดสำนวนคดี ต่อหน้าฝ่ายผู้ต้องหา หรือ ต่อสื่อมวลชน หรือสาธารณชนบ้าง พนักงานสอบสวนจะทำอย่างไร (หากอีกฝ่ายคัดค้านไม่ให้เปิดเผย)

แล้วท่านหละ……..อยากให้ พนักงานสอบสวน แถลงปิดสำนวนการสอบสวนต่อ คู่ความอีกฝ่าย หรือต่อคู่ความทั้งสองฝ่าย หรือ ต่อหน้าสาธารณชน หรือไม่ อย่างไร ?

คำถามนี้ อาจนำไปสู่ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย ก็อาจเป็นได้

นายวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์
อัยการศาลสูงจังหวัดสมุทรปราการ
รองประธานคณะอนุกรรมการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน (คนที่สี่) ในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร

0 Comments
Share

Admin

Reply your comment

Your email address will not be published. Required fields are marked*