กฎหมายน่ารู้

การแอบอัดเสียงการสนทนา สามารถนำมาใช้รับฟังเป็นพยานหลักฐานในชั้นศาลได้หรือไม่ ?

%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b9%81%e0%b8%ad%e0%b8%9a%e0%b8%ad%e0%b8%b1%e0%b8%94%e0%b9%80%e0%b8%aa%e0%b8%b5%e0%b8%a2%e0%b8%87%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b8%aa%e0%b8%99%e0%b8%97%e0%b8%99%e0%b8%b2

เคยไหมที่….มีคนนำ “เสียงที่บันทึกได้จากการสนทนาทางโทรศัพท์” ของเรา กับคู่สนทนาของเราไปเผยแพร่ต่อสาธารณะชน หรือ ถูกคู่กรณีนำเอาเสียงที่บันทึกได้จากโทรศัพท์ไปใช้อ้างอิงเป็นพยานในชั้นศาล (หากเคย) ท่านมีวิธีแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างไร

แต่เดิม เรื่องนี้เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4674/2543 ได้วางหลักเอาไว้ว่า “เมื่อการบันทึกเสียงดังกล่าวเกิดจากการกระทำของจำเลยซึ่งเป็นคู่สนทนาอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้บันทึกเสียงไว้เอง ซึ่งโดยปกติจำเลยย่อมมีสิทธิที่จะเบิกความอ้างถึงการสนทนาในครั้งนั้นได้อยู่แล้ว จึงไม่ถือว่า “เทปบันทึกเสียง” และเอกสารที่ถอดข้อความบันทึกการสนทนา ดังกล่าวเป็นการบันทึกถ้อยคำซึ่งเกิดจากการกระทำโดยมิชอบ อันจะต้องห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 243 วรรคสอง

ตามแนวฎีกานี้ การบันทึกเสียงการสนทนาโดยคู่กรณี (คู่สนทนา) เฉพาะคู่กรณี(คู่สนทนา) นำไปใช้อ้างอิงในศาลได้ ไม่ต้องห้ามมิให้รับฟังแต่อย่างใด แต่ต่อมาได้มีการแก้ไขกฎหมาย โดยมีการตราพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 28) พ.ศ.2551 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2551 โดยมาตรา 11 บัญญัติให้เพิ่มมาตรา 226/1 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งบัญญัติว่า

ในกรณีที่ความปรากฏแก่ศาลว่า พยานหลักฐานใดเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบ แต่ได้มาเนื่องจากการกระทำโดยมิชอบ หรือเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยอาศัยข้อมูลที่เกิดขึ้นหรือได้มาโดยมิชอบ ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานนั้น เว้นแต่ การรับฟังพยานหลักฐานนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรม มากกว่าผลเสียอันเกิดจากผลกระทบต่อมาตรฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญาหรือสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชน

นอกจากนี้ ยังมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2281/2555 ได้อธิบายอย่างชัดเจนว่า บทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/1 ที่ว่า ”พยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบ แต่ได้มาเนื่องจากการกระทำโดยมิชอบ” นั้นหมายความถึง เฉพาะแต่กรณีที่เอกชนผู้เสียหายเป็นผู้ที่ได้มาจากการกระทำโดยมิชอบด้วยเท่านั้น ไม่ได้ใช้บังคับเฉพาะกับกรณี “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ได้พยานหลักฐานมาโดยมิชอบแต่อย่างใด

อธิบายขยายความได้ว่า ในกรณีที่ เอกชน กับเอกชน โทรศัพท์คุยกัน (พยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบ) แต่คู่สนทนาแอบอัดเสียงการสนทนา (เป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบ) หลัก คือ ห้ามมิให้ศาลรับฟังบันทึกเสียงสนทนานั้น แต่มีข้อยกเว้นให้ศาลรับฟังบันทึกเสียงสนทนานั้นได้ ถ้าเป็นการรับฟัง “เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม”

หมายเหตุ- การที่เจ้าหน้าที่รัฐดักฟังโทรศัพท์นั้น เป็นการกระทำที่สามารถทำได้ โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐดักฟังและเข้าถึงข้อมูลและเอกสารที่ใช้บังคับอยู่หลายฉบับ (รวมแล้วได้ประมาณ 11 ฉบับ) เช่น พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 มาตรา 17, พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 มาตรา 30, พระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 มาตรา 25, พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2519 มาตรา 14 จัตวา, พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 46, พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 18, พระราชบัญญัติข่าวกรองแห่งชาติ พ.ศ. 2528 เป็นต้น

แต่ต่อมา มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3782 / 2564 ได้วางหลักการที่สำคัญ คือ “การแอบบันทึกเสียงการสนทนาของจำเลย” โดยที่จำเลยไม่ทราบว่ามีการบันทึกย่อมเป็นการกระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของจำเลย อันเป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ ซึ่งต้องห้ามมิให้รับฟัง

แม้หลักกฎหมายดังกล่าวจะใช้ตัดพยานหลักฐานของเจ้าพนักงานของรัฐเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่กฎหมายดังกล่าวก็ไม่ได้ห้ามนำไปใช้กับ “บุคคลธรรมดา” ด้วย ฉะนั้น จึงนำไปใช้บังคับกับกรณี “เอกชน” ได้พยานหลักฐานมาจากการกระทำโดยมิชอบด้วย (แอบอัดเสียงการสนทนาโดยคู่สนทนาไม่ได้อนุญาตหรือยินยอม) ส่วนเหตุยกเว้นที่ให้สามารถรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวได้ คือ “ต้องรับฟังด้วยความระมัดระวัง” และ “ต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์ทั้งปวงแห่งคดี”

เมื่อพฤติการณ์ในคดีนี้ มิใช่เรื่องร้ายแรงและโจทก์อาจหาพยานหลักฐานด้วยวิธีการอันสุจริต มาพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้ จึง ไม่อาจรับฟัง บันทึกเสียงสนทนาและข้อความจากการถอดเทปการสนทนา (ที่ถูกคู่กรณีแอบอัดเสียงบันทึกการสนทนา) เป็นพยานหลักฐานพิสูจน์ความผิดของจำเลย คราวนี้มาลองดู คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3782 / 2564 : การกระทำของนาย ธ. ที่แอบนำเอาโทรศัพท์เคลื่อนที่มาทำการบันทึกเสียงการสนทนาระหว่างจำเลยกับนาย ธ. และคู่สนทนาในระหว่างการพบปะพูดคุยกัน โดยจำเลยไม่ทราบว่าขณะที่ตนสนทนาอยู่นั้น การสนทนาได้ถูกบันทึกลงในโทรศัพท์เคลื่อนที่แล้ว ย่อมเป็นการกระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของจำเลยอย่างชัดแจ้ง จึงเป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบซึ่งต้องห้ามมิให้รับฟังพยานหลักฐานนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 แม้หลักกฎหมายดังกล่าวจะใช้ตัดพยานหลักฐานของเจ้าพนักงานของรัฐเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน มิให้เจ้าพนักงานของรัฐแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ แต่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 ไม่ได้บัญญัติห้ามมิให้นำไปใช้กับการแสวงหาพยานหลักฐานของบุคคลธรรมดาจึงนำไปใช้บังคับแก่กรณีที่เอกชนผู้เสียหายเป็นผู้ได้พยานหลักฐานนั้นมาจากการกระทำโดยมิชอบด้วย ส่วนเหตุยกเว้นให้สามารถรับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/1 ต้องรับฟังด้วยความระมัดระวังและต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์ทั้งปวงแห่งคดีโดยคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ดังที่กฎหมายกำหนดไว้ คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐาน “หมิ่นประมาท” อันเป็นการพิพาทระหว่างเอกชนด้วยกัน และเป็นความผิดอันยอมความได้ พฤติการณ์ของความผิดในคดีจึงมิใช่เรื่องร้ายแรงที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือผลประโยชน์สาธารณะของประชาชนโดยส่วนรวม ทั้งลักษณะของคดียังอยู่ในวิสัยที่โจทก์ทั้งสองสามารถหาพยานหลักฐานด้วยวิธีการอันสุจริต ชอบด้วยกฎหมาย มาพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้

การอนุญาตให้รับฟังพยานหลักฐานที่โจทก์ทั้งสองได้มาจากการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบเท่ากับอนุญาตให้โจทก์ทั้งสองนำพยานหลักฐานมาเพิ่มเติมในส่วนที่ตนนำสืบบกพร่องไว้ เพื่อจะลงโทษจำเลยแต่เพียงอย่างเดียว ทั้งที่เป็นการละเมิดต่อสิทธิส่วนบุคคลของจำเลยและกระทบกระเทือนต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน อันเป็นการขัดต่อหลักการพื้นฐานของการดำเนินคดีอาญาโดยทั่วไป การรับฟังพยานหลักฐานนั้น มิได้เป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรม แต่กลับจะเป็นผลเสียที่กระทบต่อมาตรฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญาหรือสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชนมากกว่า จึงไม่อาจรับฟังบันทึกเสียงสนทนาและข้อความจากการถอดเทปการสนทนาเป็นพยานหลักฐานพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้

บทสรุป – การแอบอัดเสียงเพื่อใช้เป็นหลักฐานในคดีนั้นโดยหลักไม่สามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 226/1 ที่ให้รับฟังได้โดยต้องคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ คือคุณค่าในเชิงพิสูจน์ ความสำคัญ และความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานนั้น พฤติการณ์และความร้ายแรงของความผิดในคดี ลักษณะและความเสียหายที่เกิดจากการกระทำโดยมิชอบ ผู้ที่กระทำการโดยมิชอบอันเป็นเหตุให้ได้พยานหลักฐานมานั้นได้รับการลงโทษหรือไม่เพียงใด.-

นายวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์
• อัยการศาลสูงจังหวัดสมุทรปราการ
รองประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (คนที่สี่) ในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร

0 Comments
Share

Admin

Reply your comment

Your email address will not be published. Required fields are marked*