กฎหมายน่ารู้

เหตุใด ผู้ก่อเหตุมักจะอ้างว่า “ผมป่วยเป็นโรคจิต” ครับ

%e0%b9%80%e0%b8%ab%e0%b8%95%e0%b8%b8%e0%b9%83%e0%b8%94-%e0%b8%9c%e0%b8%b9%e0%b9%89%e0%b8%81%e0%b9%88%e0%b8%ad%e0%b9%80%e0%b8%ab%e0%b8%95%e0%b8%b8%e0%b8%a1%e0%b8%b1%e0%b8%81%e0%b8%88%e0%b8%b0%e0%b8%ad

ทุกวันนี้ เมื่ออ่านข่าวอาชญากรรมมักจะเจอแต่คำว่า “คนร้ายหรือญาตพี่น้องมักจะอ้างเหตุป่วยเป็นโรคจิต หรือ ขาดยาหรือไม่ได้ทานยาที่รักษาโรคจิตอย่างต่อเนื่อง”

อ้างแล้ว ผู้ก่อเหตุไม่ต้องรับผิดเช่นนั้นได้….จริงหรือ ?

หากอ้างได้ ผู้ก่อเหตุทุกคนก็จะอ้างเหตุป่วยเป็นโรคจิต เพื่อมิให้ตนต้องรับผิด

แล้วผู้เสียหายหละ….. จะได้รับการคุ้มครองเยียวยาอย่างไร

แล้วกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน มุ่งคุ้มครอง “ผู้เสียหาย” หรือมุ่งคุ้มครอง “ผู้ก่อเหตุ” ท่านเคยสงสัยไหม?

ล่าสุด กรณีมีนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ฉายา “เค ร้อยล้าน”  ออกมาก่อเหตุวุ่นวายตามสถานที่สาธารณะจำนวนครั้ง ครั้งล่าสุด ได้ก่อเหตุเข้าทำร้ายร่างกาย นายธ.ธง ประธานคณะก. ขณะร่วมงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ พร้อมกับตะโกนข่มขู่คนในบริเวณนั้นว่า “มีระเบิด” ทำให้เกิดเหตุโกลาหล คนวิ่งหนีกันชุลมุนวุ่นวาย

จากพฤติการณ์ดังกล่าว นายเค. ต้องรับผิดในการกระทำของตนหรือไม่

ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 384  บัญญัติว่า  “ผู้ใด แกล้งบอกเล่าความเท็จให้เลื่องลือจนเป็นเหตุให้ประชาชนตื่นตกใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

การที่นาย เค.ตะโกนข่มขู่คนในบริเวณนั้นว่า “มีระเบิด”  (ทั้งที่ความจริงแล้วไม่ได้มีระเบิดแต่อย่างใด) ทำให้เกิดเหตุโกลาหล คนวิ่งหนีกันชุลมุนวุ่นวาย ย่อมเป็นความผิดตามบทบัญญัติ มาตรา 384 ดังกล่าว แต่บทบัญญัติดังกล่าวเป็นความผิด “ลหุโทษ” (ความผิดที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท) เมื่อผู้ต้องหาชำระค่าปรับตามที่พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมเป็นอันระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 37 (2), ( 3)

แต่ถ้า กรณีการตะโกนว่า “มีระเบิด” ดังกล่าว หากต่อมาปรากฏว่า มีระเบิดจริง ก็จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490  มาตรา 38 ห้ามมิให้ผู้ใด ทำ ซื้อ มี ใช้ สั่ง นำเข้า ค้า หรือจำหน่ายด้วยประการใด ๆ ซึ่งวัตถุระเบิด เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ หากฝ่าฝืนมีโทษตาม มาตรา 74 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 40,000 บาท

ส่วนความผิดฐาน “ทำร้ายร่างกาย นาย ธ.ธง”  จะเป็นความผิดฐาน “ทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือ จะเป็นความผิดฐาน “ทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส” ตามมาตรา 297 ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 200,000.-บาท นั้นขึ้นอยู่กับพฤติการณ์แห่งการกระทำและบาดแผลที่ได้รับว่า เข้ากรณีหนึ่งกรณีใดใน 8 กรณี หรือวงเล็บหรือไม่ หรือเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่า 20 วัน หรือประกอบกรณีกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า 20 วัน หรือไม่ (หากใช่ ถือว่า ได้รับอันตรายสาหัส ตามมาตรา 297 ) ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับ ใบรับรองผลการตรวจร่างกายของแพทย์และข้อเท็จจริงจากการรักษาพยาบาล

ความผิดฐาน “ทำร้ายร่างกาย” (ไม่ว่าจะเป็นกรณี มาตรา 295 หรือ 297 ก็ตาม ) ผู้เสียหาย คือ  นายธ.ธง  (แต่ก็เป็นความผิดต่อแผ่นดินเช่นกัน เพราะมุ่งคุ้มครองความสงบสุขของสังคม มิให้  ผู้หนึ่งผู้ใดมาทำร้ายร่างกายผู้อื่น) ส่วนความผิดฐานตะโกนว่า “มีระเบิด” ทำให้ผู้อื่นตกใจกลัว ตามาตรา 384 (หรือตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน ฯ  กรณีมีระเบิดจริง) ผู้เสียหาย คือ รัฐ (มุ่งคุ้มครองความสงบสุขของสังคม)

นาย เค. หรือผู้ก่อเหตุรายอื่นๆ จะอ้างเหตุ “วิกลจริต” หรือ “ป่วยเป็นโรคจิต” เพื่อให้ตนพ้นผิดได้หรือไม่ ?  มาดูหลักกฎหมายในเรื่องนี้

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 บัญญัติว่า “ บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา เว้นแต่ จะได้กระทำความโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดย แจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

มาตรา 65  ผู้ใดกระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น

แต่ถ้าผู้กระทำความผิดยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ผู้นั้นต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

นี่คือ ที่มาที่ผู้กระทำผิดมักจะกล่าวอ้างว่า ตนเองป่วยเป็นโรคจิต หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้

อย่างไรก็ตาม แม้ ผู้ก่อเหตุจะอ้างว่า “ตนเองป่วยเป็นโรคจิต หรือตนเองไม่สามารถบังคับตนเองได้” เพื่อให้ตนเองไม่ต้องรับผิด หรือรับผิดน้อยลงก็ตาม แต่ก็หาใช่ ผู้ก่อเหตุจะไม่ถูกจับกุมดำเนินคดี เพราะคำกล่าวอ้างดังกล่าว ผู้ก่อเหตุจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า

“ผู้นั้นได้กระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน”

ทั้งนี้ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 ใช้คำว่า “จิตบกพร่อง, โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน”(มิได้ใช้คำว่า “วิกลจริต” ดังที่ปรากฏใน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 14) โดยมิได้มีบทนิยามศัพท์คำว่า จิตบกพร่อง โรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน ว่ามีความหมายอย่างไร

แต่ใน พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ.2551 กลับใช้คำว่า “ ความผิดปกติทางจิต” และคำว่า  “ผู้ป่วยคดี”

เมื่อมีการจับกุมตัวผู้กระทำผิด ( ที่อ้างเหตุ จิตบกพร่อง,โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน หรือวิกลจริตก็ตาม) ได้แล้ว พนักงานสอบสวน จะทำการสอบสวน หรือศาลจะทำการไต่สวนมูลฟ้อง หรือพิจารณาคดีต่อไปได้หรือไม่นั้น จะต้องพิจารณา  ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา  14 ถ้ามีเหตุควรเชื่อว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้วิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ให้พนักงานสอบสวนหรือศาลแล้วแต่กรณี สั่งให้พนักงานแพทย์ตรวจผู้นั้นเสร็จแล้วให้เรียกพนักงานแพทย์ผู้นั้นมาให้ถ้อยคำ หรือให้การว่าตรวจได้ผลประการใด

ในกรณีที่พนักงานสอบสวนหรือศาลเห็นว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้วิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ให้งดการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาไว้จนกว่าผู้นั้นหายวิกลจริตหรือสามารถจะต่อสู้คดีได้ และให้มีอำนาจ ส่งตัวผู้นั้นไปยังยังโรงพยาบาลโรคจิตหรือมอบให้แก่ผู้อนุบาล ข้าหลวงประจำจังหวัดหรือผู้อื่นที่เต็มใจรับไปดูแลรักษาก็ได้ตามแต่จะเห็นสมควร

กรณีที่ศาลงดการไต่สวนมูลฟ้องและพิจารณาดังบัญญัติไว้ในวรรคก่อนศาลจะสั่งจำหน่ายคดีเสียชั่วคราวก็ได้

แสดงให้เห็นว่า พนักงานสอบสวน จะงดทำการสอบสวนได้ หรือศาลจะงดไต่สวนมูลฟ้อง หรืองดการพิจารณาคดีได้นั้น จักต้องได้ความว่า

1.ผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้วิกลจริต  และ

2.ไม่สามารถต่อสู้คดีได้

โดย พนักงานสอบสวน และ/หรือศาลจะต้องฟังความเห็นจากแพทย์ผู้ตรวจผู้นั้นก่อนว่า เข้าทั้งสองเหตุดังกล่าว และเมื่องดการสอบสวน หรืองดการไต่สวนมูลฟ้อง หรืองดการพิจารณาคดีแล้ว (อาจ) ส่งตัวผู้นั้นไปยังยังโรงพยาบาลโรคจิตหรือมอบให้แก่ผู้อนุบาล ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้อื่นที่เต็มใจรับไปดูแลรักษาก็ได้ และในกรณีที่ศาลมีคำสั่ง งดการไต่สวนมูลฟ้องและ/หรืองดการพิจารณาศาลจะสั่งจำหน่ายคดีเสียชั่วคราวเสียก็ได้

แต่อย่างไรก็ตาม กฎหมายไม่ได้กำหนดว่า ให้งดการสอบสวน หรืองดการไต่สวนมูลฟ้อง หรืองดการพิจารณาคดีได้นานเท่าใด หากต่อมา ระยะเวลาได้ล่วงเลยมาจนกระทั่งคดีขาดอายุความ แต่ผู้ต้องหาหรือจำเลยยังบำบัดรักษาไม่หายจากอาการวิกลจริต และยังไม่อยู่ในอาการที่สามารถต่อสู้คดีได้ ก็อาจเป็นผลเสียแก่คดีได้เพราะคดีขาดอายุความ

มีข้อน่าสังเกตว่า การงดการสอบสวนของพนักงานสอบสวนเพราะเหตุวิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ เป็นการงดเพื่อรอให้ผู้ต้องหาหายจากการวิกลจริตและสามารถต่อสู้คดีได้  มิใช่กรณีการงดการสอบสวนเพราะการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 140 ดังนั้น ในกรณีนี้ พนักงานสอบสวนจึงไม่ต้องส่งสำนวนการสอบสวนคดีนี้ไปยัง พนักงานอัยการเพื่อพิจารณาสั่ง รอจนกว่าเหตุวิกลจริตจะหมดไปแล้วจึงค่อยส่งสำนวนการสอบสวนไปให้พนักงานอัยการต่อไป  

ข้อน่าสังเกตประการที่สองคือ กฎหมายยังไม่ได้ให้อำนาจ “พนักงานอัยการ” ที่จะสั่งให้ แพทย์ตรวจตัวผู้ต้องหา และเรียกให้แพทย์ผู้ตรวจมาให้ถ้อยคำ เพื่อจะงดการสอบสวน หรืองดไต่สวนมูลฟ้อง หรืองดการพิจารณา ตลอดจนส่งตัวผู้ต้องหาซึ่งเป็นผู้วิกลจริตไปโรงพยาบาลโรคจิต หรือให้ผู้อนุบาลมารับตัวไปดูแลเช่นเดียวกับ พนักงานสอบสวนและศาล (ดังที่กล่าวแล้ว ตามมาตรา 14 ป.วิ.อ.)  ทำให้อาจเกิดปัญหาว่า เหตุข้อเท็จจริงดังกล่าวเกิดขึ้นในชั้นพนักงานอัยการจะทำเช่นไร

ในเรื่องนี้ ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2563 ข้อ93 ได้วางหลักเกณฑ์ว่า

กรณีผู้ต้องหาไม่สามารถต่อสู้คดีได้ เพราะป่วยหนักหรือ วิกลจริต หรือเหตุอื่นอันคล้ายคลึงกัน หากพนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหานั้น ให้พนักงานอัยการรอการยื่นฟ้องผู้ต้องหานั้นต่อศาลไว้ก่อนจนกว่าเหตุนั้นๆจะได้หมดไป แล้วจึงยื่นฟ้องผู้ต้องหานั้นต่อศาล

การรอจนกว่าเหตุนั้นจะหมดไปดังกล่าว ก็อาจเป็นเหตุให้คดีขาดอายุความได้เช่นกัน

ด้วยหลักกฎหมายดังกล่าว จึงอาจเป็นเหตุให้ผู้ต้องหาหรือผู้กระทำผิด มักจะกล่าวอ้างว่า ตนเองป่วยเป็นโรคจิต หรือไม่สามารถบังคับตัวเองได้ หรือมีประวัติการรักษาเกี่ยวกับโรคจิตแต่ขาดยาหรือไม่ได้รับประทานยาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ก่อเหตุ ทั้งนี้เพื่อให้ตนเองไม่ต้องรับผิด หรือรับผิดน้อยลง 

ยังมีกฎหมายอีกหนึ่งฉบับที่ยังไม่ได้กล่าว คือ พระราชบัญญัติสุขภาพจิตพ.ศ. 2551  มีผล 20 กุมภาพันธ์ 2551 ซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญที่จะเข้ามาช่วยคุ้มครองมิให้ประชาชนได้รับอันตรายจากผู้มีความผิดปกติทางจิต เช่น

มาตรา 22 บุคคลที่มีความผิดปกติทางจิตในกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้เป็นบุคคลที่ต้องได้รับการบำบัดรักษา

(1) มีภาวะอันตราย

(2) มีความจำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษา

มาตรา 23 ผู้ใดพบบุคคลซึ่งมีพฤติการณ์อันน่าเชื่อว่าบุคคลนั้นมีลักษณะตามมาตรา 22 ให้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงาน ฝ่ายปกครองหรือตำรวจโดยไม่ชักช้า

มาตรา 24 เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจได้รับแจ้งตามมาตรา 23หรือพบบุคคลซึ่งมีพฤติการณ์ อันน่าเชื่อว่าบุคคลนั้นมีลักษณะตามมาตรา 22 ให้ดำเนินการนำตัวบุคคลนั้นไปยังสถานพยาบาลของรัฐหรือสถานบำบัดรักษาซึ่งอยู่ ใกล้โดยไม่ชักช้า เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและประเมินอาการเบื้องต้นตามมาตรา 27 ทั้งนี้ โดยจะมีผู้รับดูแลบุคคลดังกล่าวไปด้วย หรือไม่ก็ได้ การนำตัวบุคคลตามวรรคหนึ่งไปยังสถานพยาบาลของรัฐหรือสถานบำบัดรักษาโดยการผูกมัดร่างกายบุคคลดังกล่าวจะกระทำ ไม่ได้ เว้นแต่เป็นความจำเป็นเพื่อป้องกันการเกิดอันตรายต่อบุคคลนั้นเอง บุคคลอื่น หรือทรัพย์สินของผู้อื่น

เนื่องจากยังมีสาระสำคัญของกฎหมายอีกมาก เอาไว้กล่าวต่อไปในครั้งหน้า

นายวรเทพ  สกุลพิชัยรัตน์ อัยการศาลสูงจังหวัดสมุทรปราการ รองประธานคณะอนุกรรมาธิการการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (คนที่สี่) ในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร

0 Comments
Share

Admin

Reply your comment

Your email address will not be published. Required fields are marked*