กฎหมายน่ารู้

“ 149 ” กับ “ 157 “ เลขเด็ด ที่ไม่มีใครอยากได้ ?

149-%e0%b8%81%e0%b8%b1%e0%b8%9a-157-%e0%b9%80%e0%b8%a5%e0%b8%82%e0%b9%80%e0%b8%94%e0%b9%87%e0%b8%94-%e0%b8%97%e0%b8%b5%e0%b9%88%e0%b9%84%e0%b8%a1%e0%b9%88

นับแต่ คดีทุนจีนสีเทา, คดีเน็ตไอดอลไต้หวัน, คดีอดีตอธิบดีแห่งหนึ่งกับเงินสดมากมาย (ความจริงต้องนับแต่คดีผู้กำกับคลุมถุงดำ) มีการกล่าวอ้างถึง เลขเด็ด “157” กับ “149” เป็นจำนวนมาก ว่าแต่ว่า…..เลขเด็ด 149 และ 157 หมายความว่าอย่างไร

มาดูหลักกฎหมายในเรื่องนี้กัน
มาตรา 157 ”ละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต…”

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
ผู้ใดเป็น เจ้าพนักงาน ปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ”

มาตรานี้ สามารถแยกองค์ประกอบความผิด ได้ดังนี้
(1) ผู้กระทำต้องเป็น “เจ้าพนักงาน” และ ต้องเป็นเจ้าพนักงานที่มี “หน้าที่” กระทำการตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ (รวมถึงหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาด้วย) และ

(2) ในการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่นั้น
2.1ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด

คำว่า “โดยมิชอบ” หมายความถึง “โดยมิชอบด้วยหน้าที่ซึ่งเจ้าพนักงานมีอยู่ตามกฎหมาย”

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1403/2521 “การกระทำโดยมิชอบนั้น เฉพาะตามหน้าที่ของเจ้าพนักงานนั้นโดยตรงที่ได้รับมอบให้มีหน้าที่นั้นๆ แต่ถ้าการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติ ไม่เกี่ยวกับหน้าที่ ของเจ้าพนักงานผู้นั้นโดยตรงแล้ว ย่อมไม่มีความผิด”

แต่ถ้า ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัตินั้นไม่อยู่ในหน้าที่หรือแม้แต่จะอยู่ในหน้าที่ก็ตาม แต่ถ้าเป็น การกระทำที่ชอบด้วยหน้าที่และโดยสุจริต ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้

ดังนั้น ถ้า “มีหน้าที่” แต่ได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่นั้น โดยมิชอบ แล้วเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ก็จะเป็นการกระทำความผิดตามมาตรานี้

องค์ประกอบความผิดที่สำคัญของมาตรา 157 คือ จะต้องมีมูลเหตุชักจูงใจ (“มีเจตนาพิเศษ”) คือ ต้องการกระทำเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด (รวมถึงความเสียหายในทุกๆด้านโดยไม่จำกัดเฉพาะความเสียหายที่เป็นทรัพย์สินเท่านั้น เช่น ความเสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเสียหายแก่เสรีภาพ เป็นต้น)

ถ้าไม่มี “เจตนาพิเศษ” เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดแล้ว ก็อาจจะเป็นความผิดฐาน “บกพร่องต่อหน้าที่ราชการ” แต่ไม่ผิดตามมาตรา 157

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7630/ 2549 “เจ้าพนักงานตำรวจ ไม่ยอมรับแจ้งความ หรือคำร้องทุกข์ อาจเป็นความผิดฐาน ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 157″ ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4436/2531 “เมื่อจับคนร้ายได้แล้ว กลับปล่อยตัวคนร้ายไป ก็จะเป็นความผิดตามมาตรา 157 และ มาตรา 200 วรรคแรก”

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2577/ 2534 “การที่เจ้าพนักงาน ประวิงการปฏิบัติหน้าที่ให้ดำเนินไปอย่างช้า หรือไม่อำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่มาติดต่อตามที่ควรจะเป็น และกระทำไปเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด” ถือว่า เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ”

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3509/ 2549 “การใช้ดุลพินิจที่ไม่ได้อยู่บนรากฐานของความสมเหตุสมผล หรือ เป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ ตามอำเภอใจ โดยมีเจตนาให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น เป็นความผิดตามมาตรา 157 ได้ ”

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 292/2479 เจ้าพนักงานตำรวจไปจับกุมผู้กระทำความผิดฐาน “มีสุราผิดกฎหมายไว้ในครอบครอง” ภายหลังจับกุมได้ไปทำร้ายร่างกายผู้ถูกจับกุม การทำร้ายร่างกายผู้ถูกจับนี้ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจขณะจับกุม เพราะเป็นทำร้ายหลังการจับกุมแล้ว กรณีจึงไม่มีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157

(เจ้าพนักงานตำรวจมีหน้าที่จับกุมผู้กระทำผิด แต่ไม่มีหน้าที่ไปทำร้ายร่างกายผู้ถูกจับกุม ดังนั้น การไปทำร้ายร่างกายผู้ถูกจับจึงไม่ใช่การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ แม้จะโดยมิชอบ หรือโดยทุจริต ก็ไม่ผิดตามมาตรา 157 แต่อาจจะเป็นความผิดฐานอื่นได้ เช่น ทำร้ายร่างกายผู้อื่น เว้นแต่ว่า จะมีการต่อสู้ขัดขวางการจับกุมของเจ้าพนักงาน)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1399/2508 แต่ถ้าเป็น “พนักงานสอบสวน” (มีหน้าที่สอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน) ในระหว่างสอบสวนกลับไปทำร้ายผู้ต้องหา เพราะผู้ต้องหาไม่ยอมรับสารภาพ เช่นนี้ ถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ (การสอบสวน) โดยมิชอบ และเมื่อเกิดความเสียหายแก่ผู้ต้องหา ย่อมเป็นความผิดตามมาตรา 157 นี้

2.2 ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยทุจริต
คำว่า “โดยทุจริต” หมายถึง การใช้อำนาจในหน้าที่เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง หรือผู้อื่นจากการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่นั้น และ ที่สำคัญคือ “ต้องมีหน้าที่” คือ การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัตินั้นต้องอยู่ในหน้าที่

ดังนั้น หากไม่อยู่ในหน้าที่หรือแม้แต่จะอยู่ในหน้าที่ก็ตาม แต่ถ้าได้ทำโดยชอบและโดยสุจริตแล้ว ก็อาจจะไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้ก็ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 700/2503 เจ้าพนักงานเทศบาลมีหน้าที่เก็บเงิน แต่ได้ ลักเอาใบเสร็จเก็บค่ากระแสไฟฟ้าซึ่งอยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่อีกผู้หนึ่งไป เพื่อไปเรียกเก็บค่ากระแสไฟฟ้าแล้วเอาเป็นประโยชน์ส่วนตัวเสีย ถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1677/2525 นายตำรวจจับคนนำพลอยหนีภาษี แต่ไม่นำส่งดำเนินคดี แต่กลับยึดเอา “พลอย” ของกลาง เอาไว้เสียเอง เช่นนี้ถือว่า เป็นการปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ “โดยทุจริต”

การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต กับ การปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มีลักษณะล้ายคลึงกัน แต่มีข้อแตกต่าง คือ

การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบนั้น จะต้องเป็นการกระทำเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด แต่ถ้า การกระทำนั้นไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดเลย ก็จะไม่เป็นความผิดตามมารา 157

ส่วนการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตนั้น ไม่ต้องคำนึงว่า การกระทำนั้นจะมีจุดมุ่งหมายที่จะให้ผู้อื่นเกิดความเสียหายหรือไม่ ดังนั้น แม้จะยังไม่เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดเลย แต่ถ้าได้กระทำโดยทุจริต แสวงหาประโยชน์มิควรได้โดยชอบแล้ว ก็อาจเป็นการกระทำความผิดได้

เจ้าพนักงาน คือใคร…?
“เจ้าพนักงาน” หมายความถึง ผู้ปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 700/2490 ได้วางหลักกฎหมาย “เจ้าพนักงาน” หมายถึง
1.ต้องมีการแต่งตั้ง และ
2.เป็นการแต่งตั้งให้ปฏิบัติราชการ ( ไม่ว่าจะเป็นประจำ หรือชั่วคราว และไม่ว่าจะได้รับค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตาม)

ดังนั้น ถ้าไม่มี “การแต่งตั้ง” แม้จะได้ “ปฏิบัติราชการ” ก็ไม่เป็นเจ้าพนักงาน (เพราะไม่ได้รับการแต่งตั้ง) หากจะเอาผิดก็ต้องมีกฎหมายบัญญัติขึ้นโดยเฉพาะ หรือแม้จะมี “การแต่งตั้ง” หรือ “มอบหมาย” ให้มีหน้าที่โดยเฉพาะ แต่มิได้ “แต่งตั้งให้ปฏิบัติราชการ” ก็จะไม่เป็นเจ้าพนักงานเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ราษฎรแม้จะไปช่วยจับคนร้าย ซึ่งเป็นงานของทางราชการก็ตาม แต่ราษฎรผู้นั้นก็ไม่มีฐานะ เป็นเจ้าพนักงาน การที่นายอำเภอตั้งราษฎรให้ช่วยคุมตัวผู้ต้องหา ก็ไม่ทำให้ราษฎรผู้นั้นมีฐานะเป็น เจ้าพนักงาน และมีอำนาจควบคุมตัวผู้ต้องหานั้นไม่ ดังนั้น การที่ราษฎรผู้นั้นปล่อยตัวผู้ต้องหาไปจึงไม่เป็นความผิดฐานเจ้าพนักงานปล่อยผู้ต้องคุมขังให้หลบหนีไป (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 294/2474)

หรือแม้แต่ในกรณีผู้ปฏิบัติงานในองค์กรของรัฐ หรือ รัฐวิสาหกิจ เช่น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค, การประปา ฯลฯ ที่ไม่ได้รับการแต่งตั้งเป็น “เจ้าพนักงาน” แต่ได้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ ก็ไม่มีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน เพราะไม่มีการแต่งตั้งให้ให้เป็น เจ้าพนักงาน (ขาดองค์ประกอบที่ 1) ดังนั้น หากจะให้มีฐานะเป็น เจ้าพนักงาน จะต้องมีกฎหมาย (พระราชบัญญัติว่าด้วยความรับผิดของพนักงานในองค์กรของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 ) บัญญัติให้ชัดแจ้ง

มีข้อสังเกต – แม้จะมีการแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ แต่ถูกให้ไปทำงานอื่นนอกเหนือจากงานในหน้าที่ราชการของตน ก็ไม่มีฐานะเป็น “เจ้าพนักงาน” เช่น ให้ ข้าราชการครู ไปทำงาน “คุรุสภา” ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ราชการ (ครู) ก็ไม่มีฐานะเป็น “เจ้าพนักงาน”

ความผิดฐาน “เจ้าพนักงานเรียกรับสินบน” ตามมาตรา 149

มาตรา 149 “ผู้ใดเป็น “เจ้าพนักงาน” สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เรียก รับ หรือยอมจะรับ ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือประหารชีวิต”

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 238-244/2489 ปลัดอำเภอประจำตำบล รับผ้าไว้เป็นสินน้ำใจ (ถือว่ารับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด) โดย (เพื่อกระทำการ) ไม่จับกุมผู้กระทำผิดฐานมีผ้าผิดบัญชีที่แจ้งปริมาณไว้ จึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 149

พฤติการณ์ที่ถือว่า “เรียกทรัพย์สิน” แล้ว แม้จะยังไม่กำหนดจำนวนเงิน ก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3155/2531 จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีอำนาจสืบสวนจับกุมผู้กระทำผิด ได้จับกุมผู้กระทำผิดฐานเล่นการพนันสลากกินรวบพร้อมของกลางแล้วไม่นำส่งสถานีตำรวจทันที กลับพาไปที่ป้ายรถโดยสารประจำทางในหมู่บ้านโดยไม่มีเหตุผลและความจำเป็น และให้ผู้ถูกจับกุมโทรศัพท์ติดต่อกับบุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มาตกลงกันที่ป้ายรถโดยสารประจำทางและรออยู่เป็นเวลานานเมื่อพาผู้ถูกจับไปสถานีตำรวจจำเลยเข้าไปแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเท่านั้น ไม่มอบบันทึกการจับกุมและของกลางให้ ทั้งไม่นำตัวผู้ต้องหาเข้าไปด้วย แสดงว่าเป็นเพียงแผนการของจำเลยให้ผู้ต้องหากลัวและหาทางตกลงกับจำเลย จำเลยไม่มีเจตนาที่จะมอบผู้ต้องหาให้แก่พนักงานสอบสวนจริงจัง พฤติการณ์ของจำเลยถือได้ว่าเป็นการ “เรียกทรัพย์สิน” จากผู้ต้องหาแล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้กำหนดจำนวนเงิน และฝ่ายผู้ต้องหายังไม่ได้ตอบตกลงเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐาน เจ้าพนักงานเรียกสินบน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149

แต่ถ้าไม่มีการ “เรียกรับสินบน” เลย ก็ไม่ผิดตามมาตรานี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3677/2525 จำเลยรับราชการเป็นตำรวจซึ่งมีหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยได้รับแต่งตั้งตามกฎหมาย ย่อมเป็น ”เจ้าพนักงาน” แม้จำเลยจะรับราชการประจำกองกำกับการตำรวจม้า มีหน้าที่ในการถวายอารักขาแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรอบเขตพระราชฐาน ก็เป็นเพียงหน้าที่เฉพาะตามคำสั่งแต่งตั้งของทางราชการ แต่โดยทั่วไปจำเลยยังมีอำนาจสืบสวนคดีอาญาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 17 ดังนั้นการที่จำเลยจับกุมโจทก์ร่วม กล่าวหาว่า มี “พลอย” หนีภาษีและยึด ”พลอย” ของกลางเอาไว้ จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าพนักงานตามกฎหมาย เมื่อจำเลยจับกุมโจทก์ร่วมและยึดพลอยของกลางไว้แล้วแต่กลับปล่อยโจทก์ร่วมไป โดยไม่นำส่งพนักงานสอบสวน เพื่อสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมาย ย่อมเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ “โดยทุจริต” (ยึดเอาพลอยของกลางไป) อันเป็นความผิดตาม มาตรา 157

หมายเหตุ -คดีนี้ ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลย เรียก รับ หรือยอมจะรับ ทรัพย์สินเพื่อประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการ อย่างใด หากแต่ใช้อำนาจยึดเอาพลอยของกลางไปจากโจทก์ร่วม โดยทุจริต การกระทำของจำเลยจึง ไม่เป็นความผิดฐาน เจ้าพนักงานเรียกสินบน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 (แต่ผิดตาม มาตรา 157 ปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตดังกล่าว)

เจตนาเรียกรับ “เงินส่วนเกิน” จากเงินที่ผู้เสียหายต้องจ่ายตามกฎหมาย ก็ผิดมาตรานี้แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1532/2543 จำเลยเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่รับคำขอต่าง ๆ เกี่ยวกับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่ดินทุกประเภท รวมทั้งงานในด้านเกี่ยวกับการเงินและบัญชี โดยมีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องการกรอกข้อความในเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องของหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน และนำเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น ทั้งได้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวมาก่อนเกิดเหตุนานประมาณ 7 ปี จำเลยย่อมทราบและคำนวณค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนที่ดินในพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบเป็นอย่างดี การที่จำเลย “ เรียกหรือรับเงิน” จำนวน 7,800 บาท ไว้แล้วนิ่งเฉยเสีย แสดงโดยชัดแจ้งว่าจำเลยมีเจตนา “เรียกหรือรับเอา” เงินส่วนที่เกินไว้ สำหรับตนเองโดยมิชอบเพื่อกระทำการในตำแหน่ง จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 149

จำเลยพร้อมที่จะเสนอเรื่องราวขอจดทะเบียนขายที่ดินระหว่าง น. กับ ส. ต่อเจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดินเพื่อดำเนินการต่อไปตามอำนาจหน้าที่ แต่จำเลยกลับ ละเว้นไม่ดำเนินการนับแต่วันดังกล่าวเป็นต้นมา ดังนั้น ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่ โดยมิชอบตาม ป.อ. มาตรา 157 จึงเป็นความผิดกรรมเดียวกับความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงาน “เรียกรับหรือยอมจะรับ” ทรัพย์สินสำหรับตนเองโดยมิชอบเพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งตาม ป.อ. มาตรา 149 เมื่อปรับบทลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 149 อันเป็นบทเฉพาะแล้ว จึงไม่จำต้องปรับบทลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 157 อันเป็นบททั่วไปอีก

เมื่อเปรียบเทียบ อัตราโทษระหว่าง มาตรา 149 (บทเฉพาะ ) และมาตรา 157 ( บททั่วไป ) :

มาตรา 157 (บททั่วไป) “จำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี” หรือ “ปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ”

มาตรา 149 (บทเฉพาะ) “จำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี” หรือ “จำคุกตลอดชีวิต” และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือ ประหารชีวิต”

จะเห็นได้ว่า มาตรา 149 (บทเฉพาะ) มีอัตราโทษที่หนักกว่า มาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1524/2551 จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีหน้าที่สืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดอาญา ได้พบเห็น ส. กับพวกเล่นการพนันชนไก่อันเป็นความผิดอาญา จำเลยมีหน้าที่ต้องทำการจับกุมผู้กระทำความผิด แต่กลับไม่ทำการจับกุมและเรียกรับเงินจำนวน 1,500 บาท จาก ส. เพื่อจะไม่จับกุมตามหน้าที่ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 149 (เรียกเงินเพื่อไม่จับกุม)

แต่ถ้าเป็นเรื่อง “นอกหน้าที่ หรือ นอกตำแหน่ง” แล้วก็จะไม่เป็นความผิด ตามมาตรา 149

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 514/2536 จำเลยเป็นข้าราชการตำแหน่งสหกรณ์อำเภอ สังกัดกรมส่งเสริมสหกรณ์คณะกรรมการสหกรณ์การเกษตร ส. จำกัด แต่งตั้งจำเลยเป็นกรรมการออกข้อสอบและตรวจข้อสอบเพื่อรับบรรจุพนักงาน เมื่อสหกรณ์ดังกล่าวเป็นนิติบุคคลต่างหากไม่ใช่หน่วยงานในกรมส่งเสริมสหกรณ์ที่จำเลยจะต้องรับผิดชอบโดยตรง ทั้งมติคณะกรรมการสหกรณ์ดังกล่าวก็ไม่มีระเบียบของทางราชการว่าให้ทำได้และจำเลยจะต้องปฏิบัติตาม และการเป็น ”กรรมการสอบ” ก็ไม่ใช่งานในหน้าที่รับผิดชอบของจำเลย การเป็น ”กรรมการสอบ” ของจำเลยจึงไม่ใช่ “เจ้าพนักงาน” กระทำการในตำแหน่งของจำเลย จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงาน เรียก รับทรัพย์สินโดยมิชอบหรือกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 แต่อย่างใด

“เจ้าพนักงานเรียกสินบน” ตามมาตรา 149 ไม่จำเป็น ต้องเรียกรับสินบนจากผู้กระทำผิดเท่านั้น แม้จะเรียกจาก “บุคคลอื่น” ก็มีความผิดเช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1338/2538 การที่จำเลยเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวนและติดตามจับกุมคนร้าย เรียกรับเงินจากผู้เสียหาย ในคดีที่สามีผู้เสียหายถูกคนร้ายฆ่าและชิงทรัพย์ (แม้จำแลยจะไม่ได้เรียกเงินจากคนร้าย หากแต่เรียกเอาเงินจากฝ่ายผู้เสียหายก็ตาม) ถือได้ว่าเป็นการเรียกรับทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ตนเองโดยมิชอบเพื่อกระทำการในตำแหน่งหน้าที่ จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149

ความแตกต่างระหว่าง ความผิดตามมาตรา 148 “เจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ” กับ ความผิดตามมาตรา 149 “เจ้าพนักงานเรียกสินบน” คือ

1.มาตรา 148 เจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบนั้น เจ้าพนักงานมี จตนามาตั้งแต่แรกที่จะกระทำการทุจริต โดยใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ เช่น ผู้อื่นไม่ได้กระทำผิด หรือไม่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นเลย แต่เจ้าพนักงานกลับไปแจ้งแกล้งกล่าวหาว่า เขาทำผิดแล้วไปเรียกร้องให้ผู้นั้นมอบเงินหรือทรัพย์สินให้ เพื่อไม่ให้จับกุม หรือ แกล้งจับกุมแล้วเรียกเอาทรัพย์สินเพื่อปล่อยตัวไป

2.ส่วน มาตรา 149 เจ้าพนักงานเรียกสินบน เป็นเรื่องที่ เจ้าพนักงาน เริ่มต้นใช้อำนาจในตำแหน่งของตนโดยชอบ แล้วต่อมาเกิดกลับทุจริตในภายหลัง เช่น ผู้ถูกจับได้กระทำความผิดจริง และเจ้าพนักงานได้จับกุมตามอำนาจหน้าที่แล้ว เรียกหรือรับทรัพย์สินแล้วปล่อยตัวไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1230/2510 “ตรวจค้น” ผู้มิได้กระทำความผิด แล้วเรียกเอาทรัพย์โดยขู่ว่า “จะจับ” เป็นความผิดตามมาตรา 149 (จพง. เรียกรับ ยอมจะรับสินบน)

มาตรา 148 “เจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ”

มาตรา 148 บัญญัติว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใด มอบหรือหามาให้ ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น

คำพิพากษาฎีกาที่ 2573/2553 จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจกองปราบปราม ขู่ให้โจทก์ร่วมนำเงินมามอบให้โดยอ้างว่า เพื่อลบชื่อโจทก์ร่วมออกจากบัญชีผู้ค้ายาเสพติดของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และเพื่อที่จะไม่จับกุมโจทก์ร่วม จึงเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามมาตรา 148 ฐาน “ เป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจและจูงใจเพื่อให้โจทก์ร่วมมอบให้ซึ่งทรัพย์สินแก่ตนเอง

คำพิพากษาฎีกาที่ 599/2505 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ลงโทษเจ้าพนักงาน ผู้เรียกรับ หรือ ยอมรับทรัพย์สินโดยมิชอบ เพื่อกระทำการในตำแหน่งของตน แต่การที่ จำเลยแกล้งจับผู้เสียหายมาแล้วขู่เอาเงิน จึงเป็นความผิดตามมาตรา 148 (ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ) ไม่ใช่ตามมาตรา 149 (จพง.เรียก รับ ยอมจะรับ)

มาตรา 157 เป็นบททั่วไปที่บัญญัติไว้อย่างกว้าง แต่เมื่อการกระทำของจำเลยต้องด้วยบทที่บัญญัติเป็นความผิดไว้โดยเฉพาะ เช่นมาตรา148 หรือมาตรา149 แล้วย่อมไม่ผิดตามมาตรา 157 อีก

คำพิพากษาฎีกาที่ 1084/2536 จำเลยเป็นเจ้าพนักงานยศสิบตำรวจเอกได้พูดกับโจทก์ร่วมว่า “ร้านของโจทก์ร่วมเป็นเจ้ามือหวยเถื่อน อย่างนี้ต้องมีผลประโยชน์และให้เอาเงินใส่ซองมาให้บ้าง ถ้าไม่ให้จะตาม สวป. (สารวัตรปกครองป้องกัน) มาดำเนินการจับกุม“ เมื่อโจทก์ร่วมไม่ให้เงินแก่จำเลย จำเลยได้ไปแจ้งเหตุต่อสารวัตรปกครองป้องกันว่า พวกในตลาดกำลังเล่นการพนันสลากกินรวบขอให้ไปทำการจับกุมตามที่จำเลยขู่โจทก์ร่วม แต่ปรากฏว่าไม่มีการเล่นแต่อย่างใด ถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาจูงใจเพื่อให้โจทก์ร่วมจ่ายเงินให้ โดยใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148

คำพิพากษาฎีกาที่ 1749/2545 พฤติการณ์ที่จำเลยจับกุมผู้เสียหายในข้อหาลักทรัพย์ของ ส. แล้วให้ผู้เสียหายลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุม จากนั้นนำผู้เสียหายไปควบคุมไว้ที่สถานีตำรวจประมาณ30 นาที จึงเรียกร้องเอาเงินจากผู้เสียหายเพื่อแลกเปลี่ยนกับการปล่อยตัวไม่ดำเนินคดีโดยนำผู้เสียหายออกมาโทรศัพท์หา ก. ภริยาผู้เสียหาย ต่อมาเมื่อจำเลยได้รับเงิน3,000 บาท จากผู้เสียหายแล้ว จึงปล่อยผู้เสียหายไปนั้น จำเลยมีความผิด ฐาน เป็นเจ้าพนักงานเรียกสินบน ตามมาตรา 149

เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว ย่อมไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก แม้ว่าการกระทำของจำเลยจะเข้าหลักเกณฑ์อันเป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 157 ด้วยก็ตาม

มาถึงบรรทัดนี้ หวังว่า ผู้อ่านคงจะได้รู้จัก เลขเด็ด 157, 148, 149 และหากเกิดเหตุการณ์ที่ เจ้าพนักงานมาปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยมิชอบ หรือ โดยทุจริต(มาตรา 157 ) หรือ เจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใด มอบหรือหามาให้ ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น (มาตรา 148 ) หรือ เป็น “เจ้าพนักงาน เรียก รับ หรือยอมจะรับ ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือ ไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ (มาตรา 149 ) ท่านจะได้มี “ ภูมิคุ้มกัน” และจะได้ดำเนินคดีกับเจ้าพนักงานซึ่งได้มากระทำความผิดแก่ท่านได้อย่างถูกต้องและครบถ้วน ตามกฎหมาย

เมื่อการกระทำของจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานเป็นความผิด ไม่ว่าจะเป็นความผิด มาตรา 148 หรือ มาตรา 149 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว ย่อมไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก ( แม้ว่าการกระทำของจำเลยอาจจะเข้าหลักเกณฑ์อันเป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 157 ด้วยก็ตาม )

การเร่งรีบดำเนินคดีกับเจ้าพนักงานผู้กระทำผิด ตามบททั่วไป (มาตรา 157) โดยละเลย หรือล่าช้าไม่ดำเนินการตามพฤติการณ์และการกระทำความผิดของเจ้าพนักงาน ซึ่งอาจเป็นความผิดตาม บทเฉพาะ เช่น มาตรา 148, มาตรา 149 ซึ่งมีอัตราโทษหนักกว่า ย่อมเป็นการดำเนินคดีที่ยังไม่ถูกต้องและครบถ้วน ตามพฤติการณ์และการกระทำผิดของผู้ต้องหาและตามกฎหมาย

คงจะไม่มีใครที่อยากจะได้เลขเด็ด 157, 148 หรือ 149 เป็นแน่แท้ ท่านว่า จริงม๊ะ*

• นายวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์
อัยการศาลสูงจังหวัดสมุทรปราการ
รองประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน (คนที่สอง) ในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร

0 Comments
Share

Admin

Reply your comment

Your email address will not be published. Required fields are marked*