รู้ทัน ภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน
ภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart Failure) คือภาวะที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม จึงทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เนื่องจากสมองและกล้ามเนื้อขาดเลือดไปเลี้ยง
อาการของโรคหัวใจวาย
มีอาการเหนื่อยง่าย การใช้ชีวิตประจำวันอาจเปลี่ยนแปลงได้ เช่น การเดิน วิ่ง ออกกำลังกาย หรือทำกิจวัตรประจำวันได้ไม่เท่าเดิม ซึ่งหากอาการหนักขึ้นจะมีภาวะเหนื่อยหอบ ไม่ว่าตอนนั่งหรือตอนนอน , ตัวบวม , ขาบวม , หมดสติ หรือกระทั่งเสียชีวิตฉับพลันได้
สาเหตุของโรคหัวใจวายแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม
- กลุ่มจากตัวหัวใจเอง เช่น ภาวะหลอดเลือดตัวใจตีบ ที่มักเกิดง่ายกับคนมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดัน โรคไขมันสูง
- กลุ่มจากกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง เป็นได้จากการติดเชื้อไวรัสต่างๆ แม้กระทั่งโควิด-19 ก็สามารถทำให้เกิดภาวะหัวใจวายได้ หรือกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงที่เกิดจากความดันโลหิตสูงระยะเวลานานทำให้หัวใจไม่สามารถบีบตัวได้อย่างเหมาะสมเหมือนเดิม
- กลุ่มที่มีสภาวะลิ้นหัวใจรั่วหรือหัวใจตีบมานาน ก็สามารถทำให้เกิดภาวะหัวใจวายได้
- กลุ่มนอกเหนือจากหัวใจ ได้แก่ อวัยวะต่างๆ หรือระบบต่างๆ ที่ทำให้หัวใจต้องสูบฉีดทำงานหนักมากขึ้นได้แก่ โรคโลหิตจาง โรคไทรอยด์เป็นพิษ โรคไตวายทั้งแบบฉับพลัน หรือเรื้อรัง ก็สามารถทำให้เกิดภาวะหัวใจวายได้
ปัจจัยเสี่ยงภาวะหัวใจวาย
- บุหรี่มวน/บุหรี่ไฟฟ้า เป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับ 1 ของโรคหัวใจทุกประเภท
- กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Metabolic Syndrome) ได้แก่ ไขมัน ความดัน เบาหวาน โรคอ้วน หากควบคุมไม่ได้อาจเกิดภาวะหัวใจวายได้ในอนาคต
- ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ปัจจัยทางพันธุกรรม คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคหัวใจวาย หรืออายุที่เพิ่มขึ้น
การป้องกันภาวะหัวใจวาย
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหาร ไม่รับประทานอาหารที่มีไขมันและแคลอรี่สูง หลีกเลี่ยงอาหารที่รสชาติเค็ม อาหารจานด่วนหรืออาหารสำเร็จรูป ลดเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาล และบริโภคผักผลไม้ให้มากขึ้น
- หยุดสูบบุหรี่
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- ตรวจสุขภาพประจำปี
หัวใจวายดูเป็นคำที่น่ากลัว แต่ความจริงแล้วเป็นภาวะที่สามารถป้องกันและรักษาได้ถ้าเราได้รับการวินิจฉัยอย่างเหมาะสม รวดเร็ว และติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่องก็สามารถใช้ชีวิตประจำวันปกติได้อย่างคนทั่วไป
โดย นพ.อดิกันต์ ภาษีผล
แพทย์ชำนาญการด้านหัวใจและหลอดเลือด
แผนกอายุรกรรม โรงพยาบาลบางปะกอกสมุทรปราการ โทร. 0-2109-3222 ต่อ 10115-10116