ข่าวประชาสัมพันธ์

ปวดเอว หลัง ร้าวลงขา เสี่ยงหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

%e0%b8%9b%e0%b8%a7%e0%b8%94%e0%b9%80%e0%b8%ad%e0%b8%a7-%e0%b8%ab%e0%b8%a5%e0%b8%b1%e0%b8%87-%e0%b8%a3%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%a7%e0%b8%a5%e0%b8%87%e0%b8%82%e0%b8%b2-%e0%b9%80%e0%b8%aa%e0%b8%b5

ภาวะหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท คือภาวะหมอนรองกระดูกที่อยู่ระหว่างปล้องกระดูกสันหลังได้รับแรงกระแทก มีการทรุดตัว หรือมีการเสื่อมสภาพ และปลิ้นออกไปกดทับเบียดเส้นประสาทจนทำให้เกิดปัญหาของเส้นประสาทอักเสบ

อาการเบื้องต้นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
ปวดหลังและปวดบริเวณเอว ซึ่งอาจมีอาการเรื้อรัง หรือเป็นๆ หายๆ เป็นเวลาประมาณ 2-3 เดือน และมีอาการปวดมากขึ้นคือ ปวดวิ่งจากเอว หลัง ร้าวลงขา ต้นขา จนถึงปลายเท้า อาจมีอาการชาร่วมด้วย ขาและกล้ามเนื้ออ่อนแรงเดินได้ไม่ไกลเดินแล้วต้องหยุดพักถึงจะเดินต่อได้ หากในบางรายรุนแรงมากขึ้นถึงขั้นหมอนรองกระดูกไปกดทับศูนย์ควบคุมการขับถ่ายทำให้คนไข้ไม่สามารถขับถ่ายได้จนทำให้กลั้นอุจจาระหรือปัสสาวะไม่อยู่

สาเหตุโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

  1. น้ำหนักตัวที่มากเกินไป จนทำให้ไปกดทับตำแหน่งที่เป็นกระดูกสันหลังและหมอนรองกระดูกจนทำให้มีโอกาสที่หมอนรองกระดูกปลิ้นออกแล้วกดทับเส้นประสาทได้
  2. การใช้ท่าทางที่ไม่ถูกต้อง เช่น การทำงานหนัก การก้มหลัง ยกของหนัก มีโอกาสกระตุ้นให้มีการบิดตัวและทำให้หมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทขึ้นได้
  3. นั่งท่าเดียวนานๆ เช่น การนั่งทำงานออฟฟิศ หรือว่าขับรถระยะทางไกล แล้วมีการสะเทือนหมอนรองกระดูกจะถูกแรงกระทำมากขึ้นทำให้เกิดการกดทับเส้นประสาทได้
  4. การเกิดอุบัติเหตุ มีโอกาสทำให้หมอนรองกระดูกได้รับแรงกระแทกจนแตกและปลิ้นออกไปกดทับเส้นประสาทได้ ซึ่งอุบัติเหตุที่ทำให้เกิดได้ส่วนใหญ่จะเป็นการลื่นล้มแล้วก้นกระแทกพื้น หรือตกจากที่สูงลงมาก้นกระแทกพื้น
  5. การสูบบุหรี่ เป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับหนึ่งที่ทำให้เกิดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เพราะการสูบบุหรี่จะส่งผลทำให้เกิดความยืดหยุ่นของตัวหมอนรองกระดูกเสื่อมสภาพลง ทำให้ทรุดตัวแล้วไปกดทับเส้นประสาทได้

แนวทางการตรวจและวินิจฉัยโรค

  1. ตรวจร่างกายทั่วไป เช่น ตรวจเรื่องของกำลังกล้ามเนื้อ ซึ่งในรายที่มีปัญหาจะมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง
  2. ตรวจเรื่องของระบบประสาท ซึ่งเราจะให้คนไข้นอนราบและยกขาขึ้นทีละข้าง ขณะที่ยกขาขึ้นตรงๆ ทีละข้างหากคนไข้มีอาการปวดวิ่งจากเอวร้าวลงมาที่ด้านหลังข้อพับไปจนถึงน่อง นั่นแสดงให้เห็นถึงคนไข้กำลังมีภาวะปลายประสาทถูกกดทับ
  3. การตรวจเอกซเรย์ ในเบื้องต้นจะเอกซเรย์แบบธรรมดาจะเห็นลักษณะว่าแนวของกระดูกสันหลังของเราเป็นอย่างไร เพราะแนวกระดูกสันหลังของคนปกติจะแอ่นโค้งตรงเอว แต่คนที่มีปัญหาเหล่านี้จะมีอาการปวดเรื้อรังมานานกล้ามเนื้อจะตึง ทำให้ส่วนที่โค้ง คด เอว ตรงแอ่งด้านหลังจะตรงขึ้นเกิดความผิดปกติได้ ในบางรายที่มีอาการหนักมากจะเห็นการแคบลงของกลุ่มหมอนรองกระดูกระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละอันได้ แต่หากคนไข้มีอาการหนักขึ้นเรื่อยๆ จะต้องทำการเอกซเรย์แบบพิเศษมากขึ้น คือ การทำ MRI คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้เห็นรอยโรคและระดับของโรคที่เป็นได้ดีขึ้น

วิธีการรักษา

  1. รักษาแบบไม่ผ่าตัด คือ คนไข้ต้องรู้สาเหตุของการเกิดภาวะเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท และพยายามเสี่ยงสิ่งกระตุ้นเหล่านี้ เช่น การนั่งนานๆ การก้มเงยหลังผิดท่า การยกของหนัก หรือขับรถไกลๆ และควรบริหารกล้ามเนื้อหลังอยู่เป็นประจำ
  2. การรักษาแบบผ่าตัด แบ่งออกเป็น 2 แบบด้วยกันคือ
  3. การผ่าตัดแบบเปิด คือการผ่าตัดแบบทั่วไป ข้อดีคือสามารถเข้าถึงตำแหน่งที่ต้องรักษาได้ง่าย แต่หลังผ่าตัดจะมีพังผืดที่แผลเยอะและมีโอกาสเสียเลือดมากกว่า
  4. การผ่าตัดแบบส่องกล้อง ข้อดีคือ แผลเล็กทำให้โดนเนื้อเยื่อน้อยลง เสียเลือดน้อย ไม่ค่อยเกิดพังผืด และภาวะการติดเชื้อน้อยกว่า ฟื้นตัวได้ไว

โดย นพ.พรยศ มีจันทร์
แพทย์ชำนาญการด้านศัลยกรรมกระดูกออร์โธปิดิกส์
แผนกศัลยกรรมกระดูกและข้อ โรงพยาบาลบางปะกอกสมุทรปราการ โทร. 0-2109-3222 ต่อ 10145-10146

0 Comments
Share

Admin

Reply your comment

Your email address will not be published. Required fields are marked*