กฎหมายน่ารู้

บทความทางกฎหมาย เรื่อง “ดุลพินิจกำหนดโทษเด็กและเยาวชน”

%e0%b8%9a%e0%b8%97%e0%b8%84%e0%b8%a7%e0%b8%b2%e0%b8%a1%e0%b8%97%e0%b8%b2%e0%b8%87%e0%b8%81%e0%b8%8e%e0%b8%ab%e0%b8%a1%e0%b8%b2%e0%b8%a2-%e0%b9%80%e0%b8%a3%e0%b8%b7%e0%b9%88%e0%b8%ad%e0%b8%87

“ดุลพินิจกำหนดโทษเด็กและเยาวชน”  ชื่อนี้ เป็นชื่อ “การศึกษาอิสระ” หรือ IS หรือ Independent Study หรือ Baby Thesis ที่ผู้เขียนได้นำเสนอ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาหลักสูตรปริญญานิติศาสตรมหาบัณฑิต ปีการศึกษา ๒๕๔๖

เหตุผลที่ศึกษาเรื่อง “ดุลพินิจกำหนดโทษเด็กและเยาวชน”

เนื่องจาก ขณะนั้น (ปี ๒๕๔๕) ผู้เขียนรับราชการเป็น “พนักงานอัยการ” สำนักงานอัยการคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสมุทรปราการ เห็นว่า เด็กและเยาวชนกระทำผิดเพิ่มมากขึ้น และนับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น และมีพฤติการณ์ พฤติกรรมไม่แตกต่างจากผู้ใหญ่กระทำผิด เช่น ไปฆ่าเขาตาย หรือ ไปข่มขืนกระทำชำเรา รุมโทรมหญิง และยังพบว่า เด็กกลับมากระทำผิดซ้ำอีก หรือโทษที่กำหนดสำหรับเด็กและเยาวชนมันน้อยไป  หรือเบาไปหรือไม่?  เด็กจึงไม่กลัวการลงโทษ  และศาลเยาวชนฯจะกำหนดโทษให้แก่เด็กและเยาวชนให้หนักกว่านี้ หรือจะลงโทษให้เหมือนผู้ใหญ่กระทำผิดเลยได้หรือไม่ เช่น ลงโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิตได้หรือไม่ ?  แต่หากไม่ได้ เหตุใดจึงทำไม่ได้ ศาลเยาวชนฯ  มีข้อห้าม หรือ มีข้อจำกัดดุลพินิจในการกำหนดโทษเด็กและเยาวชน หรือไม่ อย่างไร ?  

มาปี ๒๕๖๖ ต่อเนื่องปี ๒๕๖๗ ปรากฏข่าว เด็กและเยาวชนกระทำผิดคดีอาญาที่รุนแรงและอุจฉกรรจ์เพิ่มมากขึ้น เช่น เด็ก ๑๔ ปีก่อเหตุกราดยิงที่ห้างพารากอน ล่าสุดเด็กและเยาวชนที่จังหวัดสระแก้ว ก่อเหตุร่วมกันฆ่าผู้อื่น ( ป้าบัวผัน หรือป้ากบ ) อย่างโหดเหี้ยม และยังมีคดีอาญาอื่น เช่น ข่มขืนกระทำชำเรา , วางเพลิงเผาทรัพย์ , ขว้างปาระเบิดควัน ฯลฯ

แสดงว่า ปัญหาเด็กและเยาวชนกระทำผิดโดยเฉพาะคดีอาญามีมานานแล้ว และทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่เพิ่งจะมีตอนนี้

ทุกครั้งที่มีข่าว “เด็กและเยาวชน” ก่อเหตุคดีอาญาที่รุนแรง สังคมก็จะถามหา

 “การแก้กฎหมายเพื่อให้เด็กและเยาวชนได้รับโทษเหมือนกับผู้ใหญ่ที่กระทำผิด โดยการลดอายุของเด็กและเยาวชนให้น้อยลง เพื่อให้เด็กได้รับโทษเพิ่มมากขึ้น

ล่าสุด ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ผู้ใต้บังคับบัญชารวบรวมสถิติตัวเลขคดีที่เด็กและเยาวชนกระทำผิดอาญา เพื่อนำเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ศาล อัยการ หน่วยงานสังกัดกระทรวงยุติธรรม เพื่อพิจารณาและนำไปสู่การแก้กฎหมายต่อไป

ฉับพลัน ก็มี เอ็นจีโอ , นักสิทธิเด็กและสตรี  ออกมาแสดงความคิดเห็น ไม่เห็นด้วยกับการแก้กฎหมายเพื่อลดอายุเด็กและเยาวชนลง เพื่อให้ไปรับโทษเหมือนผู้ใหญ่ที่กระทำผิดต่อกฎหมายอาญา โดยอ้างอิง อนุสนธิสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ฯ , กฎแห่งกรุงปักกิ่ง ฯลฯ

จึงเป็นการ “มองคนละมุม” ระหว่าง “สังคมที่ถามหาความรับผิดชอบของเด็กและเยาวชนรวมถึงพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็ก” กับ “นักสิทธิเด็กฯ”  

ศาลเยาวชนและครอบครัว มีข้อจำกัดดุลพินิจในการกำหนดโทษเด็กและเยาวชนหรือไม่ ?

การพิจารณาคดีอาญาเด็กและเยาวชนกระทำผิดนั้น นอกจากจะพิจารณาตาม “โครงสร้างความรับผิดทางอาญา” ดังเช่นผู้ใหญ่กระทำผิดแล้ว ยังจะต้องพิจารณาถึง “พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๓” ซึ่งเป็นกฎหมายโดยเฉพาะอีกด้วย  เช่น

(๑) “เด็ก” หมายความว่า บุคคลอายุยังไม่เกินสิบห้าปีบริบูรณ์

     “เยาวชน”หมายความว่า บุคคลอายุเกินสิบห้าปีบริบูรณ์แต่ยังไม่ถึงสิบแปดปีบริบูรณ์

(๒) การพิจารณาคดีอาญาที่เด็กหรือเยาวชนเป็นจําเลย ไม่ต้องดําเนินการ ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาโดยเคร่งครัด (มาตรา๑๑๔)

(๓) แม้จะได้ความว่า เด็กและเยาวชนกระทำผิดจริง  แต่หากศาลเห็นว่า ตามพฤติการณ์แห่งคดียังไม่สมควรจะมีคําพิพากษา หรือบิดามารดาผู้ปกครองหรือบุคคลซึ่งจําเลยอาศัยอยู่ด้วยร้องขอ  และเมื่อศาลสอบถามผู้เสียหายแล้ว ศาลอาจมีคําสั่ง

ให้ปล่อยตัวเด็กและเยาวชนชั่วคราว”  (โดยยังไม่ต้องมีคำพิพากษา) โดยไม่มีประกัน หรือ มีประกันหรือมีประกันและหลักประกันด้วยก็ได้ แต่ต้องกําหนดเงื่อนไข ฯ  เช่นให้จําเลยรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติหรือเจ้าพนักงานอื่นเพื่อเข้ารับการแก้ไขบําบัดฟื้นฟูภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด  แต่ต้องไม่เกินกว่าจําเลยนั้นมีอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์

แต่ถ้าศาลเห็นว่า ยังไม่สมควร”ปล่อยตัวชั่วคราวโดยมีเงื่อนไข”  ศาลจะส่งตัวจําเลยไปยัง สถานพินิจ หรือ สถานที่อื่นฯ  ก็ได้ แต่ต้องไม่เกินกว่าจําเลยนั้นมีอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์ ( มาตรา ๑๓๒ )

(๔) ถ้า จําเลย สามารถ ปฏิบัติได้ตามเงื่อนไข และ ภายในระยะเวลาที่ศาลกําหนด ก็ให้ศาล  “สั่งยุติคดี” โดยไม่ต้องมีคําพิพากษาเกี่ยวกับการกระทําความผิดของจําเลย

เว้นแต่ คําสั่งเกี่ยวกับของกลาง และ ให้ถือว่าสิทธินําคดีอาญามาฟ้องเป็นอันระงับ

แต่ถ้าจําเลยผิดเงื่อนไข ตามมาตรา๑๓๒ ก็ให้ศาล “ยกคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาต่อไป”            ( มาตรา๑๓๓)

(๕) แม้ศาลจะได้มีคําพิพากษา หรือคําสั่งให้ลงโทษ หรือใช้วิธีการสําหรับเด็กและเยาวชนและ ไปแล้ว แต่ต่อมา ปรากฏว่าข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ ตามมาตรา๑๑๕ หรือ มาตรา๑๑๙ ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และถ้าศาลเห็นสมควรก็ให้มีอํานาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงคําพิพากษาหรือคําสั่งเกี่ยวกับการลงโทษหรือวิธีการสําหรับเด็กและเยาวชนได้(มาตรา๑๓๗)

กฎแห่งกรุงปักกิ่ง ค.ศ.๑๙๘๕” และ “อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ค.ศ.๑๙๘๙” ที่มาของหลัก “มุ่งแก้ไข มากกว่าการลงโทษ”

“กฎแห่งกรุงปักกิ่ง ค.ศ.๑๙๘๕” และ “อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ค.ศ.๑๙๘๙”ถือเป็นมาตรฐานขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการบริหารงานยุติธรรมสำหรับเด็ก โดยมีหลักการสำคัญ คือ คุ้มครองปกป้องสิทธิเด็กทั้งการถูกเอารัดเอาเปรียบทางเพศ การถูกทำร้ายร่างกาย การปกป้องคุ้มครองจากการทรมาน หรือการลงโทษ หรือการกระทำที่โหดร้าย  และเป็น “หน้าที่”ของรัฐที่จะต้องดำเนินมาตรการที่เหมาะสมต่างๆ เพื่อคุ้มครองสิทธิเด็กเพื่อให้บังเกิดผลตามอนุสัญญาฯดังกล่าว  ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันแก่อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ค.ศ.๑๙๘๙ จึงเป็นที่มาที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดเด็กในประเทศไทย “มุ่งคุ้มครองเด็กผู้กระทำผิด”  ( โดยลืมคุ้มครองผู้เสียหายที่ได้รับผลร้ายจากการกระทำของเด็กและเยาวชน)

ทางออกของเรื่องนี้ คือ “ การรักษาดุลยภาคระหว่าง การคุ้มครองเด็ก กับ  การแก้ไขเด็ก”

เมื่อปี ๒๕๔๕ ผู้เขียนได้นำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา (ข้อจำกัดของศาลในการใช้) “ ดุลพินิจในการกำหนดโทษเด็กและเยาวชน” (ศาลจะลงโทษเด็กที่กระทำผิดโหดร้าย โดยใช้มาตรการและบทลงโทษแบบผู้ใหญ่ได้หรือไม่) 

และในขณะเดียวกัน “การลงโทษเด็ก จะต้องแก้ปัญหาเด็กได้ด้วย” ดังนี้

(๑) เสนอให้นำเอา “กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ มาใช้กับการดำเนินคดีเด็กและเยาวชน โดยเปิดโอกาสให้ “เด็ก และเยาวชน”สามารถกำหนดโทษด้วยตนเอง โดยเริ่มจากการ “รู้สำนึกถึงการกระทำผิด” รับทราบความเจ็บปวดทุกข์ทรมานของผู้เสียหาย และ ต้องมีการชดเชยเยียวยาผลร้ายแก่ผู้เสียหาย  หากเด็กรู้สำนึก ผู้เสียหายให้อภัย จากนั้นครอบครัวและชุมชนต้องเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหา ร่วมกำหนดแนวทางแก้ไข ในลักษณะสามประสาน คือ “เด็กรู้สึกผิด ผู้เสียหายให้อภัย ครอบครัวชุมชนเข้ามาควบคุมกำหนดเงื่อนไขในการแก้ไขปรับปรุงพฤติกรรมและความประพฤติ”  มีการเยียวยา และมีการ “สมานฉันท์” ความรู้สึกเจ็บปวด ความรู้สึกไม่ได้รับความยุติธรรมของผู้เสียหายก็จะลดน้อยลง เกิดการอภัย เกิดการแก้ไข เกิดการร่วมมือของครอบครัว ชุมชนในการมาควบคุมดูแลไม่ให้เด็กและเยาวชนกลับไปกระทำผิดอีก เมื่อใช้หลัก “กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์”แล้ว ศาลก็ไม่ถูกจำกัดการใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษ

(๒) เสนอให้ออกกฎหมาย “พระราชบัญญัติฟื้นฟูเด็กและเยาวชน พ.ศ………” โดยให้มี คณะกรรมการฟื้นฟูเด็กและเยาวชนกลาง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการตลอดจนนโยบายในการฟื้นฟูเด็กและเยานผู้กระทำผิด และมีคณะอนุกรรมการฟื้นฟูเด็กและเยาวชนจังหวัด โดยให้มีอำนาจและหน้าที่พิจารณาก่อนที่คดีจะเข้าสู่การพิจารณาคดีของศาลเยาวชนฯ

โดยคดีที่มีอัตราโทษ จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท (ยกเว้นคดียาเสพติด) ให้พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องให้ศาลเยาวชนฯ พิจารณาและมีคำสั่งให้ส่ง หรือไม่ส่งเด็กไปฟื้นฟู โดยการฟื้นฟูนี้ หากเด็กอยู่ในระหว่างการศึกษาไม่ให้ถือว่าขาดเรียน โดยการฟื้นฟูจะมีการอบรมทั้งทางโลก และทางธรรม อาจนำตัวเด็กไป บำเพ็ญประโยชน์ที่โรงพยาบาลเพื่อให้เด็กเห็นถึงความเจ็บปวด ทนทุกข์ทรมาน หากไปทำร้ายเขา การส่งเด็กและเยาวชนไปฝึกจิต ฝึกสมาธิ และการส่งตัวเด็กและเยาวชนไปดูงานราชทัณฑ์ หากต้องถูกควบคุมตัว ถูกขัง ถูกจำกัดอิสรภาพจะมีความรู้สึกเช่นใด ทั้งนี้เป็น “แนวทางแก้ไขเชิงจิตวิทยาควบคู่ไปกับแนวทางกฎหมาย”

หากเด็กและเยาวชนนั้นสามารถเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูได้สำเร็จตามเงื่อนไขที่กำหนด ก็ให้ถือว่า เด็กและเยาวชนนั้น ไม่ได้กระทำผิดและพ้นจากการเป็นผู้กระทำผิดไป

แต่ถ้าไม่ผ่านการประเมิน ก็ให้นำเด็กและเยาวชนนั้น เข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีอาญาต่อไป

ผู้เขียนได้นำเสนอหลักการนี้ไว้ในปี ๒๕๔๕ แต่ไม่น่าเชื่อว่า ต่อมา พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยานและครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๓ มาตรา ๘๖ มาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญา (แผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูโดยผู้อำนวยการสถานพินิจ) และมาตรา ๙๐ (แผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูโดยศาลสั่ง) มีหลักการคล้ายกับ แผนฟื้นฟูเด็กและเยาวชน ที่ผู้เขียนได้นำเสนอไว้ในปี ๒๕๔๕

(๓) ผู้เขียนเสนอให้นำบทบัญญัติ แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนฯ พ.ศ. ๒๕๓๔   

มาตรา  ๖๑ วรรคสอง มาบังคับใช้อย่างจริงจัง

“ในกรณีเด็กและเยาวชนกระทำผิดที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินกว่า ๕ ปีขึ้นไป  หากศาลเยาวชนฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า มีเหตุอันควรโอนคดีไปยังศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดา  ก็ให้ศาลเยาวชน โอนคดีไปยังศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดาได้

แต่หากศาลเยาวชน เห็นว่ายังไม่สมควร ก็ให้ศาลเยาวชนพิจารณาไปตามอำนาจหน้าที่

และต่อมา  พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๓ มาตรา  ๙๗ วรรคสอง ก็ได้บัญญัติในหลักการเดียวกัน คือ

คดีอาญาที่อยู่ในอำนาจศาลเยาวชนและครอบครัว ถ้าศาลเยาวชนฯพิจารณาโดยคำนึงถึงสภาพร่างกาย สภาพจิต  สติปัญญาและนิสัยแล้ว เห็นว่า ในขณะกระทำผิดหรือในระหว่างการพิจารณา เด็ก หรือเยาวชนที่ต้องหาว่ากระทำผิดมีภาพเช่นเดียวกับบุคคลที่มีอายุตั้งแต่สิบแปดปีบริบูรณ์ขึ้นไป ให้มีอำนาจโอนคดีไปพิจารณาในศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดาได้ ”

 แสดงว่า หลักการโอนคดีเด็กและเยาวชนไปพิจารณาที่ศาลคดีธรรมดา หรือศาลผู้ใหญ่มีมานานแล้ว แต่กลับไม่ค่อยได้นำหลักการโอนคดีไปใช้กับ เด็กและเยาวชนที่มีพฤติกรรมก่อเหตุด้วยความรุนแรง โดยยังคงยึดติดกับ “ความเป็นเด็ก และเยาวชน”

นับวันความรุนแรงของการกระทำผิดของเด็กและเยาวชนยิ่งจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ไม่แพ้หรืออาจจะมากกว่าผู้ใหญ่กระทำผิดเสียด้วยซ้ำ แต่บทกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดของเด็กและเยาวชนจะเป็นไปในแนวทาง “มุ่งแก้ไขมากกว่าการลงโทษ” จึงเกิดการไม่เข็ดหลาบ และไม่หลาบจำ เด็กทำผิด แต่กลับไม่ได้รับการลงโทษเท่าที่ควร

แท้จริงแล้ว…ศาลถูกจำกัดดุลพินิจในการกำหนดโทษสำหรับเด็กและเยาวชนจริงหรือ ? ผู้อ่านคงได้รับคำตอบแล้ว

การรักษาดุลภาคระหว่าง “การลงโทษเด็ก” และ “การแก้ไขเด็ก” และ “การได้รับการเยียวยาของผู้เสียหาย” จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้เขียนเห็นว่าจะเป็นทางออกสำหรับปัญหาเรื่องนี้

นายวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์
อัยการศาลสูงจังหวัดสมุทรปราการ
(อดีต) รองประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร

0 Comments
Share

Admin

Reply your comment

Your email address will not be published. Required fields are marked*